วงศ์ปลากระเบนธง
วงศ์ปลากระเบนธง ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: ครีเทเชียสตอนปลาย-ปัจจุบัน | |
---|---|
ปลากระเบนชายธง (Pastinachus sephen) | |
ปลากระเบนทอง (Taeniura lymma) | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Chondrichthyes |
ชั้นย่อย: | Elasmobranchii |
อันดับใหญ่: | Batoidea |
อันดับ: | Myliobatiformes |
อันดับย่อย: | Dasyatoidea |
วงศ์: | Dasyatidae Jordan, 1888 |
สกุล | |
| |
ชื่อพ้อง | |
|
วงศ์ปลากระเบนธง (อังกฤษ: Whipray) เป็นวงศ์ของปลากระเบนวงศ์หนึ่ง ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dasyatidae (/แด-ซี-แอท-อิ-ดี้/) พบได้ทั้งน้ำจืดสนิท, น้ำกร่อย และทะเล มีรูปร่างแบนราบ ไม่มีครีบหลัง ส่วนครีบอกแผ่กว้างรอบตัว ปากอยู่ด้านล่าง ตาอยู่ด้านบน มีช่องน้ำเข้า 1 คู่อยู่ด้านหลัง มีขากรรไกรและฟันที่แข็งแรงจำนวนมากเรียงติดต่อกันเป็นแถว ใช้ขบกัดสัตว์เปลือกแข็งซึ่งเป็นอาหารหลักได้ดี ผิวหนังเรียบนิ่มไม่มีเกล็ด ยกเว้นบริเวณกลางหลัง
มีส่วนหางที่ยาวเหมือนแส้ ซึ่งคนโบราณนิยมตัดหางมาทำเป็นแส้ เรียกว่า "แส้หางกระเบน" ที่โคนหางมีเงี่ยงแหลมอยู่ 1-2 ชิ้น (พบมากสุดถึง 4 ชิ้น) ที่อาจยาวได้ถึง 31 เซนติเมตร[2] เป็นอาวุธใช้สำหรับป้องกันตัว มีพิษแรง มีค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) ประมาณ 6 และเมื่อหักไปแล้วงอกใหม่ได้ มักมีผู้ถูกแทงบ่อย ๆ เพราะไปแตะถูกเข้าโดยไม่ระวัง เช่น เท้าไปถูกเข้าระหว่างที่ปลาฝังตัวอยู่ใต้ทราย ขณะที่เดินบริเวณหาด เพราะมีพฤติกรรมมักฝังตัวอยู่ใต้พื้นทราย โดยโผล่มาแค่ส่วนตาและเงี่ยงหางเท่านั้น[2]
จากการที่มีตาอยู่ด้านบนแต่ปากอยู่ด้านล่างทำให้ไม่สามารถมองเห็นอาหารได้เวลาจะกิน จึงมีอวัยวะรับกลิ่นและอวัยวะรับคลื่นไฟฟ้าในการบอกตำแหน่งของอาหาร แพร่ขยายพันธุ์ด้วยการออกลูกเป็นตัว โดยมีการสืบพันธุ์ในฤดูหนาว ตัวผู้จะว่ายน้ำตามประกบตัวเมียอย่างใกล้ชิดและมักกัดบริเวณขอบลำตัวของตัวเมีย เมื่อจะผสมพันธุ์ตัวผู้จะว่ายไปอยู่ด้านบนแล้วปล่อยน้ำเชื้อเข้าสู่ตัวเมีย โดยส่วนมากจะออกลูกคราวละ 5-10 ตัว [2]
ในเลือดของปลาวงศ์นี้มีสารประกอบของยูเรีย จึงมีกลิ่นคล้ายปัสสาวะ[3]
สกุล
แก้ปัจจุบันพบทั้งหมด 8 สกุล ได้แก่[4] (บางข้อมูลจัดให้แค่ 7)[1]
- Dasyatis Rafinesque, 1810
- Himantura J. P. Müller & Henle, 1837
- Makararaja T. R. Roberts, 2007
- Neotrygon Castenau, 1873
- Pastinachus Rüppell, 1829
- Pteroplatytrygon Fowler, 1910
- Taeniura J. P. Müller & Henle, 1837
- Urogymnus J. P. Müller & Henle, 1837
ในประเทศไทย
แก้ปลาในวงศ์ปลากระเบนธงพบทั้งหมดประมาณ 70 ชนิด ที่พบในประเทศไทยมีทั้งหมด 21 ชนิด อาทิ [2]
- ที่พบในน้ำจืด
- ปลากระเบนแม่น้ำโขง (Dasyatis laosensis)
- ปลากระเบนราหู (Himantura chaophraya หรือ polylepis)
- ปลากระเบนแม่กลอง (Himantura kittipongi)
- ปลากระเบนขาว (Himantura signifer)
- ที่พบในน้ำกร่อยหรือทะเล
- ปลากระเบนบัว (Himantura bleekeri)
- ปลากระเบนแมลงวัน (Himantura gerrardi)
- ปลากระเบนลายเสือ (Himantura oxyrhynchus)
- ปลากระเบนชายธง (Pastinachus sephen)
- ปลากระเบนทอง (Taeniura lymma)
พิษปลากระเบน
แก้เงี่ยงหางของปลากระเบนนั้น มีลักษณะเป็นแท่งแบนยาว มีส่วนปลายแหลม ขอบทั้งสองข้างมีรอยหยักเป็นฟันเลื่อย ด้านบนมีร่องจากโคนถึงปลายกลุ่มเซลล์สร้างพิษหรือต่อมพิษ อยู่ใต้ผิวชั้นนอก
พิษจากเงี่ยงหางของปลาในวงศ์นี้ไม่อาจทำให้แก่ชีวิตได้ โดยพิษมีคุณสมบัติเป็นสารโปรตีนจะซึมผ่านทางบาดแผล โดยมีน้ำพิษสีเทาหรือใส และดูดซึมเข้าระบบทางเดินอาหาร จะเกิดการอักเสบ เจ็บปวด เช่นเดียวกับพิษของงูหางกระดิ่ง นอกจากนี้แล้วยังมีเอนไซม์ในการทำลายเนื้อเยื่อได้อีกด้วย ในบุคคลที่มีอาการแพ้มากจะทำให้มีไข้ได้ และบาดแผลอาจลุกลามได้ แต่ไม่ถึงขั้นเสียชีวิต แต่ในกรณีที่ สตีฟ เออร์วิน พิธีกรรายการโทรทัศน์ชาวออสเตรเลียที่เสียชีวิตเพราะถูกเงี่ยงของปลากระเบนชายธงแทงแล้วเสียชีวิตนั้น มิได้เกิดจากพิษโดยตรง แต่เป็นเพราะถูกแทงเข้าที่อวัยวะสำคัญคือ หัวใจ ประกอบอยู่ใต้น้ำด้วย ทำให้น้ำท่วมปอดจนเสียชีวิต[5][6]
ปัจจุบันนี้ยังไม่มีเซรุ่มแก้พิษปลากระเบน ซึ่งวิธีการปฐมพยาบาลขั้นต้น ให้กดบริเวณปากแผลด้วยผ้าสะอาดหนา ๆ เพื่อห้ามเลือด จากนั้นให้แช่บาดแผลในน้ำอุ่นจัดที่มีอุณหภูมิประมาณ 43–45 องศาเซลเซียส หรือใช้ผ้าชุบน้ำร้อนพันรอบบริเวณที่ปวดประมาณ 30–60 นาที หรือเอาอวัยวะส่วนที่โดนแทงไปอังไฟ เพราะความร้อนจะทำลายโปรตีนของพิษ อาการปวดจะค่อยทุเลาลง พิษจะคลายไปเองภายใน 24 ชั่วโมง หากมีอาการแพ้มากให้รีบนำส่งโรงพยาบาล[7]
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 จาก ITIS.gov (อังกฤษ)
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 [https://web.archive.org/web/20100411092705/http://www.fisheries.go.th/marine/KnowladgeCenter/knowledge/Stingray/Stingray.html เก็บถาวร 2010-04-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน กระเบน (Stingray) จากกรมประมง]
- ↑ สมโภชน์ อัคคะทวีวัฒน์, สาระน่ารู้ปลาน้ำจืดน้ำไทย เล่ม ๑ (พ.ศ. 2547) หน้า 1 ISBN 974-00-8701-9
- ↑ จาก fishbase.org (อังกฤษ)
- ↑ Australia mourns 'colourful son' จากบีบีซี
- ↑ "ปลากระแบน (stingray) หนึ่งในปลาทะเลที่มีพิษ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-14. สืบค้นเมื่อ 2010-12-08.
- ↑ สธ.ชี้พิษปลากระเบนไม่รุนแรง พิษแค่ปวดอักเสบเท่านั้น ประชาชนไม่ต้องตระหนก [ลิงก์เสีย]