หญ้าแพรก

(เปลี่ยนทางจาก Cynodon dactylon)
หญ้าแพรก
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
ไม่ได้จัดลำดับ: Angiosperms
ไม่ได้จัดลำดับ: Monocots
ไม่ได้จัดลำดับ: Commelinids
อันดับ: Poales
วงศ์: Poaceae
สกุล: Cynodon
สปีชีส์: C.  dactylon
ชื่อทวินาม
Cynodon dactylon
(L.) Pers.

หญ้าแพรก (ชื่อวิทยาศาสตร์: Cynodon dactylon) เป็นพืชพื้นเมืองในทวีปแอฟริกา ทวีปเอเชีย ทวีปออสเตรเลีย และยุโรปใต้ ส่วนชื่อ หญ้าเบอร์มิวดา มาจากการที่หญ้าแพรกเป็นพืชต่างถิ่นรุกรานในเบอร์มิวดา แต่ไม่ได้เกิดขึ้นที่นั่น

ในประเทศไทย ชาวเหนือ เรียกว่า "หญ้าเป็ด" ส่วนชาวกะเหรี่ยง เรียกว่า "หน่อเก่เด" ซึ่งหญ้าแพรกนั้นเป็นสัญลักษณ์ของการไหว้ครู ของประเทศไทย มีความหมายว่า หญ้าแพรกสื่อถึงขอให้เรียนได้เร็วเหมือนหญ้าแพรก ที่โตได้เร็วและทนต่อสภาพดินฟ้า อากาศ ทนต่อการเหยียบย่ำ ซึ่งเปรียบเสมือน คำสั่งสอนของครูบาอาจารย์

ลักษณะ

แก้

เป็นพืชที่ขึ้นบนผิวดินและมีลำต้นอยู่ใต้ดิน ใบเรียวปลายแหลม บริเวณใบมีขนปกคลุมเล็กน้อย มีช่อดอกที่ปลายยอด ดอกออกตลอดทั้งปี พบได้ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเล 40-400 เมตร บนพื้นที่แห้งแล้ง ทนดินเค็มและทนที่น้ำท่วมขัง แพร่พันธุ์เร็วมาก

ประโยชน์

แก้

ในสภาพแวดล้อมและการดูแลที่เหมาะสม เป็นหญ้าที่มีความสม่ำเสมอ คุณภาพดีพอใช้จึงจะได้หญ้าที่สีเขียวสด ใช้ปลูกเป็นสนามหญ้า ทั่ว ๆ ไป เช่น สนามฟุตบอล รักบี้ ในสวนสาธารณะ ปลูกตามขอบถนน สนามเด็กเล่น ปลูกเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ หรือปลูกในพื้นที่ ที่กว้าง ๆ เพียงเพื่อต้องการปลูกปกคลุมดินป้องกันไม่ให้เกิดการพังทลายของดินได้ หญ้านี้มีความต้องการดูแลในระดับที่ปานกลางถึงระดับสูง จึงจะได้คุณภาพดี ถึงแม้จะทนต่อความแห้งแล้งและความร้อนได้สูงก็ตาม แต่หญ้านี้จะคุณภาพไม่ดี ถ้าไม่ได้ให้น้ำอย่างเพียงพอ การใช้หญ้าแพรกทำสนามหญ้าต้องระมัดระวังอย่างหนึ่งคือ หญ้านี้จะกลายเป็นวัชพืชที่สำคัญได้ เนื่องจากการเจริญเติบโตเร็ว ทั้งยังมีเมล็ดแพร่พันธุ์ได้อีก และจะเป็นวัชพืชที่เข้าไปในแปลงดอกไม้ ไม้พุ่มเล็ก ๆ แม้กระทั่งตามถนนที่มีรอยแตก หญ้านี้จะแทรกตัวไปขึ้นได้ แต่ไม่พบว่ามีคุณสมบัติในการชะลอน้ำแต่อย่างใด สรรพคุณทางสมุนไพรทั้งต้น รสขมเย็น ตำกับสุราพอกหรือทาแก้พิษอักเสบ ปวด บวม [1] ในการไหว้ครูก็ใช้หญ้าแพรก เปรียบเสมือนกับให้นักเรียนทุกคนมีความอดทน นอกจากนี้ สารสกัดจากหญ้าแพรกยังมีคุณสมบัติในการเพิ่มภูมิต้านทานไวรัสในกุ้งก้ามกราม (กุ้งแม่น้ำ) ซึ่งทำให้ลูกกุ้งมีความทนต่อการเกิดโรคหางขาว ซึ่งมีไวรัสเป็นสาเหตุ และทำให้ลูกกุ้งตายเป็นจำนวนมาก [2]

ในพุทธประวัติ

แก้

ในพุทธประวัติกล่าวว่าพระสิทธัตถะได้ทรงพระสุบินก่อนที่จะสำเร็จพระสัมมาสัมโพธิญาณคำรบสองว่า ต้นหญ้าแพรกต้นหนึ่งได้ขึ้นแต่พื้นพระนาภี และเจริญสูงขึ้นไปจนจดคัดนาดลนภากาศ ซึ่งทำนายว่าการที่หญ้าแพรกงอกจากพระนาภี สูงไปจดอากาศนั้น เป็นบรรพนิมิตที่ได้ตรัสเทศนาพระอริยมรรคมีองค์ 8 แก่เทพยดาและมนุษย์ทั้งปวง[3]

อ้างอิง

แก้
  1. http://thaiherb-tip108.blogspot.com/2011/03/blog-post_7645.html
  2. https://doi.org/10.1111/are.12789
  3. หญ้าแพรก เก็บถาวร 2009-09-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ข้อมูลพรรณไม้ สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุ กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี