ไอดอลญี่ปุ่น (อังกฤษ: Japanese idol) หรือมักเรียกเพียง ไอดอล (ญี่ปุ่น: アイドルโรมาจิaidoru) เป็นบุคคลในวงการบันเทิงตามวัฒนธรรมญี่ปุ่น โดยมักมีอายุตั้งแต่สิบปีจนถึงยี่สิบปีต้น ๆ และมีรูปโฉมน่ารักดังที่เรียก "คาวาอี" (kawaii) บุคคลเหล่านี้มักปรากฏในสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ เช่น การดนตรี การแสดง การเป็นแบบให้แก่นิตยสารหรือสินค้า และการโทรทัศน์ (เรียกบทบาทอย่างหลังนี้ว่า "ทาเลนต์") โดยการปรากฏตัวดังกล่าวมักกินระยะเวลาตั้งแต่เพียงไม่กี่เดือนไปจนถึงสองสามปี แล้วจะถูกแทนที่ด้วยไอดอลหน้าใหม่ แต่ก็มีไอดอลจำนวนหนึ่งที่สามารถคงความนิยมไว้ได้ยาวนานกว่านั้น[2]

ไอ ชิโนซากิ ตัวอย่างไอดอลประเภทกราวียัวร์ไอดอล (gravure idol)
โมโมอิโระโคลเวอร์แซด กลุ่มไอดอลหญิงที่ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2551[1]

ค่ายเพลงต่าง ๆ ใช้คำว่า "ไอดอล" ในเชิงพาณิชย์ โดยเปิดรับสมัครไอดอลจากบุคคลที่ไม่มีประสบการณ์ในวงการบันเทิง หรือมีประสบการณ์ดังกล่าวน้อย เพื่อใช้ภาพลักษณ์ความเป็นเยาวชนเป็นจุดขาย มากกว่าทักษะในการขับร้อง[3][4]

เนื่องจากไอดอลมาพร้อมกับภาพลักษณ์อันใสซื่อบริสุทธิ์ตามวัฒนธรรมญี่ปุ่น เพื่อรักษาความนิยม ไอดอลจึงไม่สามารถประพฤติตนไปในทางที่ขัดต่อภาพลักษณ์ดังกล่าวได้ เช่น มีความรักเชิงชู้สาวไม่ได้ หรือต้องแสดงออกว่าไม่จัดเจนในทางรักใคร่หรือทางเพศ อย่างไรก็ดี สื่อมวลชนญี่ปุ่นเองมักตีแผ่ข่าวคราวเกี่ยวกับไอดอลกับคู่รักฉันชู้สาว บางคราวก็มีภาพแอบถ่ายไอดอลแสดงความรักใคร่กับคู่รัก เช่น จุมพิตกัน หรือเดินจูงมือกัน แนบมาด้วย ถ้าองค์กรตัวแทนของไอดอลที่ตกเป็นข่าวไม่สามารถชี้แจงแถลงไขข้อกล่าวหาให้กระจ่างได้ ไอดอลผู้นั้นจะประสบความหายนะในหน้าที่การงานอย่างรวดเร็ว

นักดนตรีร็อกส่วนใหญ่ในวัฒนธรรมญี่ปุ่นมักแสดงกิริยาก้าวร้าวหรือหัวขบถ เพื่อต่อต้านการตีตราไอดอลไว้กับภาพลักษณ์ดังกล่าว

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. "ももクロ、初のAKB超え タレントパワーランキング" (ภาษาญี่ปุ่น). Nihon Keizai Shimbun. 2013-06-24. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-08-07. สืบค้นเมื่อ 2013-07-26.
  2. William D. Hoover. Historical Dictionary of Postwar Japan. p. 202.
  3. William W. Kelly (บ.ก.). Fanning the Flames: Fans and Consumer Culture in Contemporary Japan. p. 65.
  4. "8 Popular Female Idol Groups Dominating the J-Pop Industry". Fast Japan. 2016-10-12. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-09-09. สืบค้นเมื่อ 2017-10-08.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้