โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม
โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม (ย่อ: ส.ว.ค.) ชื่อเดิม โรงเรียนประจำจังหวัดเชียงรายสามัคคีวิทยาคม เป็นหน่วยงานราชการส่วนภูมิภาคของประเทศไทย ประเภทสถานศึกษาของรัฐที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน และเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดเชียงราย[1][2] มีสถานะเป็นนิติบุคคลมหาชนตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ[3] สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 36 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ
โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม Samakkhi Witthayakhom School | |
---|---|
ข้อมูล | |
ชื่ออื่น | ส.ว.ค., SWK |
ประเภทโรงเรียน | โรงเรียนรัฐประจำจังหวัด |
คำขวัญ | บาลี: พลํ สงฺฆสฺส สามคฺคี |
ก่อตั้ง | พ.ศ. 2451 |
ผู้ก่อตั้ง | พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (ศุข ดิษยบุตร) |
โรงเรียนพี่น้อง | โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม 2 |
เขตการศึกษา | เขต 36 |
สังกัด | สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ |
ผู้อำนวยการ | จรัล แก้วเป็ง |
ระดับปีที่จัดการศึกษา | มัธยมศึกษาปีที่ 1–6 |
เพศ | โรงเรียนสหศึกษาชาย หญิง |
ภาษาที่ใช้เป็นสื่อการสอน | ภาษาที่มีการเรียนการสอนในโรงเรียน |
ชั่วโมงเรียน | 23 |
สี | ขาว-น้ำเงิน |
คำขวัญ | ตัวอย่างที่ดี มีค่ากว่าคำสอน |
เพลง | มาร์ชสามัคคีวิทยาคม |
เว็บไซต์ | http://samakkhi.ac.th/ |
โรงเรียนสามัคคีวิทยาคมก่อตั้งขึ้นโดยพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (ศุข ดิษยบุตร) ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เมื่อ พ.ศ. 2451 ตรงกับปีที่ 41 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และมีอายุครบหนึ่งศตวรรษใน พ.ศ. 2551 จัดเป็นสถานศึกษาของรัฐซึ่งตั้งขึ้นเป็นอันดับที่ 15 ของประเทศไทย อันดับที่ 4 ของภาคเหนือ และอันดับที่ 1 ของจังหวัดเชียงราย[4] ปัจจุบัน จัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษา รูปแบบสหศึกษา และเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ
ประวัติ
แก้ยุคก่อนการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475
แก้พ.ศ. 2451 พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (ศุข ดิษยบุตร) แต่ครั้งมีบรรดาศักดิ์เป็น พระภักดีณรงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย รับนโยบายรัฐบาลมาเรียกประชุมข้าราชการ เอกชน พร้อมด้วยคณะสงฆ์ในจังหวัด เห็นชอบพร้อมกันให้จัดตั้งสถานศึกษาประจำจังหวัด ณ ที่ดินประมาณหนึ่งไร่บริเวณเชิงดอยวัดงำเมือง ขนานนามว่า "โรงเรียนประจำจำหวัดเชียงรายสามัคคีวิทยาคม" ด้วยเหตุที่ถือกำเนิดจากความพร้อมอกพร้อมใจและเห็นดีเห็นงามร่วมกัน[5]
ครั้งนั้น เปิดสอนระดับประถมศึกษาสายสามัญ รับนักเรียนทั้งชายและหญิง ไม่ว่าฆราวาสหรือสมณะ มีอาคารเรียนเป็นเรือนไม้ไต้ถุนสูง ประกอบด้วยห้องเรียนหกห้อง แยกเรียนหญิงชายเพราะเหตุที่รับสมณเพศเข้าศึกษาด้วย โดยเรียกฝ่ายหญิงว่า “โรงเรียนบำรุงกุมารี”[4]
พ.ศ. 2467 พระยาราชเดชดำรง (ผล ศรุตานนท์) ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เห็นว่าโรงเรียนคับแคบจนไม่อาจขยายได้อีก ไม่สนองความต้องการและความจำเป็นทางการศึกษา จึงดำริหาทุนด้วยการเรี่ยไร และสั่งให้ย้ายที่เรียนจากเชิงดอยวัดงำเมืองมายังที่ชั่วคราวเพื่อรอการสร้างที่ทำการถาวร โดยระดับประถมศึกษาทั้งชายและหญิงให้ไปเรียนยังศาลาวัดมิ่งเมือง ถนนบรรพปราการ อำเภอเมืองเชียงราย ส่วนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่เปิดเพิ่มขึ้นนั้น ให้ไปเรียนยังวัดเจ็ดยอด ถนนพหลโยธิน อำเภอเมืองเชียงราย ทั้งชายและหญิง[6]
พ.ศ. 2468 ปลายปีมีการยุบเลิกจังหวัดทหารบกเชียงรายไปรวมกับจังหวัดทหารบกลำปาง ฝ่ายทหารบกจึงโอนที่ทำการทั้งหมดให้จังหวัดเชียงราย จังหวัดจึงให้ย้ายนักเรียนมัธยมศึกษาทั้งชายและหญิงจากวัดเจ็ดยอดมาเรียนยังสโมสรทหารบก เชิงพระธาตุดอยทอง ส่วนประถมศึกษาทั้งชายและหญิงมีคำสั่งให้แยกไปตั้งเป็น “โรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์” โรงเรียนประจำจังหวัดเชียงรายสามัคคีวิทยาคมจึงมีแต่ระดับมัธยมศึกษานับแต่นั้น[6]
พ.ศ. 2470 หลวงกิตติวาท ศึกษาธิการจังหวัดเชียงราย อนุมัติงบประมาณบำรุงการศึกษาของจังหวัดให้ เรืออากาศตรีขุน มีนะนันทน์ ครูใหญ่ ไปปรับปรุงอาคารกองร้อยทหารบก ณ ดอยจำปีจำปา (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัดเชียงราย) และย้ายไปจัดการเรียนการสอนยังที่นี้ กับทั้งได้ขยายชั้นเรียนขึ้นถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย[6]
ยุคการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475
แก้พ.ศ. 2478 บรรดาผู้ปกครองได้ร้องขอต่อทางราชการให้จัดสร้างที่ทำการโรงเรียนใหม่ เพราะที่ปัจจุบันไม่เอื้ออำนวยแก่การคมนาคม ข่วง สุคนธสรรค์ รักษาการครูใหญ่ จึงประสานกับ บุญสิงห์ บุญค้ำ ศึกษาธิการจังหวัด ผนวกกับความร่วมแรงร่วมใจของหัวหน้าส่วนราชการทั้งหลายในจังหวัด อันรวมถึง เสม พริ้งพวงแก้ว ผู้ต่อมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เจรจาจัดซื้อจัดหาที่ดินใช้สถาปนาอาคารถาวร ได้ซื้อที่ดินบริเวณวัดป่าแดง ถนนบรรพปราการ อำเภอเมืองเชียงราย ประมาณห้าไร่เศษ ราคาสามร้อยห้าสิบบาท และที่ดินข้างเคียงอีกอีกหนึ่งแปลง ราคาหนึ่งร้อยห้าสิบบาท จาก เรย์ ดับเบิลยู. แบตแทลล์ (Ray W. Battelle) หัวหน้าคณะมิชชันนารีชาวอเมริกาประจำจังหวัด จังหวัดเชียงราย ประกอบกับที่ดินที่มีผู้บริจาคให้ ได้แก่ คำปัน ปิ่นแก้ว ยกที่ดินตอนหน้าด้านตะวันตกให้ห้าไร่เศษ, ฝุ่น อุดมทรัพย์ ยกที่ดินทางด้านตะวันออกให้หนึ่งไร่ และร้อยโทเคลื่อน รักษ์คมนา ยกที่ดินอันติดต่อกับด้านตะวันตกให้อีกหนึ่งไร่ กับทั้งได้ที่ป่าหลังวัดสันป่าแดงมาสมทบ รวมทั้งสิ้นประมาณห้าสิบไร่ โดยห้าสิบไร่นี้ไม่ปรากฏหลักฐานการจับจองหรือได้มาแต่อย่างใด พ.ศ. 2480[6]
เมื่อได้ที่ดินสำหรับสร้างอาคารถาวรแล้ว ก็ยังมิได้ดำเนินเสียทีเดียว แต่ได้จัดสร้างอาคารชั่วคราวสองหลังให้ย้ายที่เรียนจากสโมสรทหารบกมาใช้ที่นี่ไปพลางก่อน โดยประชาชนเชียงรายได้ร่วมกันบริจาคเงินสมทบงบประมาณของจังหวัดที่อนุมัติเพื่อปรับปรุงพื้นที่เตรียมก่อสร้างอาคารถาวร ในการนี้ ใช้แรงงานนักโทษตามคำสั่งผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดในขณะนั้น[6] ครั้งนั้น ขุดพบพระพุทธรูปโบราณองค์หนึ่ง ณ บริเวณซึ่งต่อมาเป็นเสาธงโรงเรียน โดยกรมศิลปากรสันนิษฐานว่ามีอายุกว่าห้าร้อยปีย้อนหลังไปถึงสมัยหิรัญนครเงินยางเชียงราว แต่ก็ยังไม่มีนามพระ กระทั่งอีกหกสิบเก้าปีให้หลัง ใน พ.ศ. 2547 สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก จึงประทานนามว่า "พระพุทธมณีไมตรีรัตนะ" ให้เป็นพระประธานของโรงเรียนสืบไป
พ.ศ. 2479 จัดสร้างหอสมุดประจำโรงเรียนซึ่งใช้เป็นหอสมุดประจำจังหวัดและห้องเรียนชั่วคราวแห่งใหม่ด้วย[6]
พ.ศ. 2480 กระทรวงศึกษาธิการอนุมัติงบประมาณก่อสร้างอาคารถาวร วงเงินหกร้อยบาท และคณะกรรมการควบคุมการก่อสร้างอันมี บุญสิงห์ บุญค้ำ เป็นประธาน ออกเรี่ยไรทรัพย์สินของประชาชน ได้เงินเพิ่มอีกสองหมื่นเก้าร้อยแปดสิบบาท ได้จัดประกวดราคารับเหมาก่อสร้าง ปรากฏว่า ฮุยหย่วน ฮังตระกูล ให้ราคาต่ำสุดเพียงหนึ่งหมื่นหกพันห้าร้อยบาท จึงชนะประกวด และมีการวางรากฐานอาคารหลักในวันที่ 2 มีนาคม ปีนี้[7]
พ.ศ. 2481 ร้อยเอก พระพนมนครานุรักษ์ (ฮกไก่ พิศาลบุตร) ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานพิธีเปิดตึกบัญชาการโรงเรียน เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ และประกาศให้ใช้ชื่อโรงเรียนใหม่ว่า “โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม”[7]
ตึกบัญชาการดังกล่าวปัจจุบันคืออาคาร 1 ส่วนหอสมุดนั้นถูกรื้อเพื่อนำวัสดุไปสร้างบ้านพักครู โอกาสนี้ได้ใช้เงินที่เหลือจำนวนสามพันแปดร้อยเจ็ดสิบบาท จัดสร้างอาคารประกอบอีกสองหลัง ได้แก่ โรงพลศึกษา สภาพสมัยนั้นเป็นอาคารไม้ชั้นเดียว พื้นติดดิน ล้อมรอบด้วยซี่กรงเหล็ก และโรงอาหารหลังตึกบัญชาการเป็นโรงเรือนขนาดใหญ่ (ซึ่งใน พ.ศ. 2522 ได้รื้อไปและสร้างอาคาร 5 ขึ้นแทนที่)[7]
พ.ศ. 2482 ในระหว่างนี้ เปลี่ยนจัดการศึกษาเป็นระดับมัธยมศึกษา ตอนต้นให้เรียนหลักสูตรสายสามัญ ตอนปลายให้เรียนสายพาณิชยการ แต่ต่อมายกเลิกโดยให้เรียนสายสามัญต่อเนื่องกันทั้ง 6 ชั้นปี นอกจากนี้ ภายในการนำของ อุทิศ ปัจฉิมาภิรมย์ ครูใหญ่ ได้จัดวิชาพิเศษตามนโยบายของจังหวัดเพื่อผลิตครูประชาบาล โดยเมื่อสำเร็จแผนกฝึกหัดครูตั้งแต่มัธยมศึกษาปีที่ 1-4 จะได้รับประกาศนียบัตรและไปเป็นครูประชาบาลตามอำเภอต่าง ๆ ได้ทันที แต่หลายปีต่อมาก็ยกเลิกแผนกนี้ไปเสีย มีแต่สายสามัญสืบมา[8]
ในปีเดียวกันเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 และฝ่ายทหารใช้โรงเรียนเป็นที่ตั้งพลรบ ครั้งนั้นมีการโจมตีทางอากาศทิ้งระเบิดลงมาหลายลูก แต่ไม่ตกยังอาณาบริเวณของโรงเรียนเลย ทั้งที่ตึกบัญชาการโรงเรียน (ปัจจุบันคืออาคาร 1) ตั้งสูงเด่นเป็นสง่า ทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่าอานุภาพของพระพุทธมณีไมตรีรัตนะ ที่เพิ่งขุดพบเมื่อคราวสร้างโรงเรียนใน พ.ศ. 2478 และเป็นพระประธานของตึกบัญชาการนั้น คุ้มครองให้แคล้วคลาดกันมาได้พ.ศ. 2483 สภาข้าราชการครูของโรงเรียนจัดทำธงและเพลงประจำโรงเรียนเพื่อใช้เชียร์กีฬา เริ่มใช้อักษรย่อว่า “ส.ว.ค.” และตั้งคติพจน์ “พลํ สงฺฆสฺส สามคฺคี” ในปีนี้ ยังจัดตั้งสมาคมนักเรียนเก่าเป็นครั้งแรกโดยจดทะเบียนต่อกรมตำรวจ มี บุญโรจน์ อินทรลาวัลย์ เป็นนายกสมาคมคนแรก[8]
พ.ศ. 2498 เปลี่ยนตำแหน่งครูใหญ่เป็นอาจารย์ใหญ่ โดย ประสิทธิ์ ธนะปัญโญ อาจารย์ใหญ่ และวิสิษฐ์ เรืองอำพร ศึกษาธิการจังหวัด พิจารณาจัดสร้างหอประชุมโรงเรียน ขนาด 20x45 เมตร ราคาก่อสร้างไม่ปรากฏ เพียงทราบจากคำบอกเล่ากันมาว่าใช้เงิน ก.ศ.ส. และเงินที่คณะศิษย์เก่าจัดหา ซึ่งต่อมาใช้เป็นโรงอาหารแทน (ใน พ.ศ. 2549 กิตติโชต ห้อยยี่ภู่ ผู้อำนวยการ ให้รื้อทำลายเพื่อจัดสร้างอาคารเรียนร้อยปี)[8]
พ.ศ. 2505 จัดสร้างห้องสมุดขึ้นหนึ่งหลัง ขนาด 8x16 เมตร ราคาก่อสร้างไม่ปรากฏ (ปัจจุบันเป็นสำนักฝ่ายนโยบายและแผนงาน)[8]
พ.ศ. 2506 จัดสร้างโรงฝึกงานขึ้นหนึ่งหลัง ขนาด 10x16 เมตร (พ.ศ. 2513 บรรจง พงศ์ศาสตร์ ผู้อำนวยการ ให้รื้อทำลายเพื่อจัดสร้างสนามบาสเกตบอลแทน)[8]
พ.ศ. 2507 จัดสร้างห้องวิทยาศาสตร์ขึ้นหนึ่งหลัง ขนาด 10x16 เมตร ราคารก่อสร้างไม่ปรากฏ (ปัจจุบันคืออาคารคหกรรม) และสร้างโรงเก็บจักรยานชั่วคราว ขนาด 10x12 เมตร เป็นอาคารหลังคาสังกะสีไม่มีผนัง (ใน พ.ศ. 2518 บรรจง พงศ์ศาสตร์ ผู้อำนวยการ ให้รื้อทำลายเพื่อจัดสร้างเป็นอาคารเรียนชั่วคราวตามแบบของกรมสามัญศึกษา เป็นอาคารชั้นเดียว พื้นคอนกรีตวางบนดินตามเดิม หลังคามุงกระเบื้องลอนคู่ จัดเป็นห้องเรียนได้ 3 ห้อง การจัดสร้างใช้เงินค่าภาคปฏิบัติและเงินที่สมาคมนักเรียนเก่าและสมาคมผู้ปกครอง-ครูร่วมกันบริจาค ประกอบเงินที่ได้จากการจัดงานวันขึ้นปีใหม่ พ.ศ. 2518 การจัดสร้างใช้แรงงานนักเรียนกลุ่มที่เลือกเรียนวิชาก่อสร้าง มีครูและภารโรงกำกับดูแลการตกแต่ง ผนังอาคารเป็นแบบก่ออิฐครึ่งแผ่น สูงได้ระดับหน้าต่าง มีประตูหน้าต่างและกั้นห้องเรียบร้อย สิ้นค่าก่อสร้างประมาณสี่หมื่นแปดพันแปดร้อยยี่สิบบาท สันนิษฐานว่าปัจจุบันคืออาคาร 8)[9]
นอกจากนี้ ยังมีการใช้วัสดุเหลือใช้จัดสร้างโรงเก็บจักรยานขึ้นอีก 1 โรงระหว่างบ้านพักครูและอาคารพลศึกษา ใช้แรงงานภารโรงก่อสร้าง[9]
อนึ่ง มีการสร้างบ้านพักครูขึ้น 3 หลัง โดยไม่ปรากฏปีที่สร้าง เป็นบ้านไม้หลังคามุงกระเบื้องเกล็ดสี่เหลี่ยม ปัจจุบันยังใช้เป็นบ้านพักครูอยู่[9]
ยุคพัฒนา
แก้พ.ศ. 2512 เข้าร่วมโครงการโรงเรียนมัธยมแบบประสม (ค.ม.ส.) โดยการสนับสนุนของ เรือง เจริญชัย ศิษย์เก่าและครูเก่าซึ่งต่อมาเป็นรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในโอกาสเดียวกัน กรมสามัญศึกษาอนุมัติเงินสี่ล้านสี่แสนแปดหมื่นสามพันหกร้อยบาท ให้ก่อสร้าง[10]
- อาคารเรียนรูปตัวยู ลักษณะเป็นตึกสองชั้น และห้องสมุดกลาง ซึ่งต่อมาขนานนามว่า "ห้องสมุดเจริญไชย" เพื่อเป็นเกียรติแก่ เรือง เจริญชัย ราคาก่อสร้างทั้งสิ้นสองล้านสามแสนบาท (พ.ศ. 2514 บรรจง พงศ์ศาสตร์ ผู้อำนวยการ ให้แต่งเติมชั้นล่างของอาคารเรียนดังกล่าวเป็นห้องพักครู ราคาก่อสร้างสี่พันบาท ปัจจุบันคืออาคาร 2)
- โรงคหกรรมและอุตสาหกรรมสามหลัง ราคาสร้างหนึ่งล้านห้าแสนบาท โรงทางใต้ใช้ฝึกสถาปัตยกรรมและมัณฑนศิลป์ โรงกลางใช้ฝึกงานทั่วไปและไฟฟ้า โรงทางเหนือใช้ฝึกยนตรกรรมและโลหกรรม
- อาคารเกษตรกรรมหนึ่งหลัง เป็นห้องเรียนภาคทฤษฎีหนึ่งห้อง และห้องปฏิบัติการหนึ่งห้อง ราคาก่อสร้างหนึ่งแสนแปดหมื่นบาท
- บ้านพักครูเก้าหลัง (สิบหน่วย) และบ้านพักผู้อำนวยการหนึ่งหลัง (สองหน่วย) ราคาก่อสร้างห้าแสนบาท เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2511 โดยบริษัท แม่ออน จำกัด จังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้รับดำเนินการ แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ปีถัดมา
พ.ศ. 2514 ปลูกอาคารเพิ่มและสร้างสนามกีฬากลางใหม่ เพื่อวางผังสถานที่ให้เหมาะสมแก่การขยายตัว โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท จังหวัดเชียงราย จัดรถมาช่วยปรับพื้นที่สนามฟุตบอลกลางและลู่วิ่งขนาดมาตรฐาน (400 เมตร)[11]
พ.ศ. 2515 ได้รับงบประมาณเพิ่มสองล้านหกแสนสามหมื่นห้าพันบาท ใช้ก่อสร้างอาคารเรียนแบบ 312 หนึ่งหลัง เป็นห้องเรียนแปดห้อง ห้องธุรกิจสองห้อง ห้องศิลป์หนึ่งห้อง และห้องแนะแนวหนึ่งห้อง กับทั้งอาคารพลศึกษาหนึ่งหลัง บ้านพักครูแปดหลัง บ้านพักภารโรงสามหลัง ห้องน้ำนักเรียนขนาด 14 คูหาหนึ่งหลัง (ได้รับการปรับปรุงใหม่ใน พ.ศ. 2548) และใช้ซ่อมแซมตึกบัญชาการโรงเรียน (อาคาร 1) โดยเปลี่ยนจากการปูกระเบื้องแบบโบราณเป็นแบบลอนคู่ เปลี่ยนเพดาน เดินสายไฟใหม่ จัดสร้างห้องน้ำภายใน ณ ใต้บันไดจำนวนสองห้อง และทาสีใหม่ทั้งหลัง บริษัทที่ประมูลรับเหมาก่อสร้างได้ คือ บริษัทจัดมิตรพัฒนา กรุงเทพมหานคร เริ่มดำเนินการในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2515 แล้วสิ้นเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน ปีเดียวกันนั้น[11]
ปลายปีได้เงินห้าหมื่นสามพันบาทจากการร่วมกับสมาคมนักเรียนเก่าและสมาคมผู้ปกครอง-ครู จัดงานวันขึ้นปีใหม่และฉลองอาคารเรียน นำมาจัดสร้างรั้วหน้าสถานศึกษาเป็นรั้วเหล็กก่อศิลาแลง และลาดยางถนนในสถานศึกษาซึ่งยาวประมาณ สี่ร้อยสามสิบเมตร เฉพาะรั้วด้านหน้าอีกฟากหนึ่งสร้างขึ้นด้วยเงินสามหมื่นหกพันบาทอันแบ่งมาร้อยละสามสิบจากกำไรที่ได้แก่ ทรงธรรม ปัญาดี ผู้เช่าพื้นที่จัดงานลอยกระทง[11]
พ.ศ. 2516 ได้เงินหนึ่งหมื่นสามพันบาทจากการร่วมกับสมาคมนักเรียนเก่าและสมาคมผู้ปกครอง-ครู จัดงานวันขึ้นปีใหม่ และเงินห้าพันบาทบริจาคโดย อรุณ ไพสุวรรณ นำมาจัดสร้างรั้วด้านหลังทางตะวันออกและตะวันตก โดยก่ออิฐสูง 0.50 เมตร ทำเสาปูน ล้อมด้วยสังกะสี[11]
ในปีนี้ ทรงธรรม ปัญาดี ยังติดต่อขอเช่าพื้นที่จัดงานลอยกระทงอีก และแบ่งกำไรให้แก่สถานศึกษาร้อยละยี่สิบห้า นำมาใช้สร้างรั้วและอาคารชั่วคราวอันได้ชื่อภายหลังว่า “อาคาร 2518” เริ่มสร้างใน พ.ศ. 2517 แล้วสิ้นเมื่อ พ.ศ. 2518 มี 3 ห้องเรียน[12]
พ.ศ. 2517 ร่วมกับเหล่ากาชาดจังหวัดเชียงราย สมาคมนักเรียนเก่า และสมาคมผู้ปกครอง-ครู จัดงานปีใหม่ครั้งที่ 3 ได้รับส่วนแบ่งร้อยละ 30 จึงนำมาสมทบทุนสร้าง “อาคาร 2518” จนแล้วเสร็จ[12]
พ.ศ. 2518 ได้รับงบประมาณประจำปี ใช้จัดสร้างบ้านพักครูเพิ่มอีกสองหลัง หลังแรกห้าหมื่นบาท หลังที่สองแปดหมื่นบาท และสร้างห้องน้ำนักเรียนสองหลัง หลังละสี่หมื่นบาท ครั้นปลายปีได้ร่วมกับจังหวัดเชียงราย สมาคมนักเรียนเก่า และสมาคมผู้ปกครอง-ครู จัดงานปีใหม่อีกครั้ง ได้รับส่วนแบ่งเป็นเงินหนึ่งหมื่นหนึ่งพันบาท มีผู้บริจาคสมทบสี่หมื่นบาท จึงจัดซื้อที่ดินเพื่อใช้ในการฝึกเกษตรกรรมยี่สิบห้าไร่ อยู่ห่างจากสถานศึกษาห้ากิโลเมตร[12]
พ.ศ. 2519 ได้รับงบประมาณประจำปี ใช้สร้างบ้านพักครูเพิ่มเติมอีกสามหลัง กับห้องน้ำนักเรียนอีกหนึ่งหลัง บ้านพักครูราคาหลังละแปดหมื่นบาท ห้องน้ำนักเรียนราคาสี่หมื่นบาท ครั้นกลางปีประสบปัญหาห้องเรียนไม่เพียงพอ จึงจัดสร้างอาคารเรียนชั่วคราวตามแบบของกรมสามัญศึกษา เป็นอาคารสองห้องเรียน ขนานนามว่า “อาคาร 2519”[12]
พ.ศ. 2520 ได้รับงบประมาณประจำปี จำนวนสามล้านสองแสนแปดหมื่นบาท ใช้จัดสร้างอาคารเรียนถาวรตามแบบ 318 ค. หนึ่งหลัง และบ้านพักครูสี่หลัง เปิดประมูลเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2520 บริษัทพัฒนานุภาพก่อสร้าง จังหวัดเชียงราย ชนะประมูล โดยบ้านพักครูนั้นจัดสร้างขึ้นบนที่ดินที่ซื้อมาใหม่ ติดถนนไปทางตำบลแม่ยาว ราคาสามหมื่นบาท[12]
พ.ศ. 2521 ได้รับงบประมาณประจำปี จำนวนหนึ่งแสนแปดหมื่นบาท ใช้จัดสร้างอาคารเรียนชั่วคราวแบบหกห้องเรียน ห้างหุ้นส่วนจำกัดเชียงรายชนะประมูล สิ้นค่าใช้จ่ายตามวงเงินงบประมาณพอดี ครั้นปลายปี ร่วมกับจังหวัดเชียงราย สมาคมนักเรียนเก่า และสมาคมผู้ปกครอง-ครู จัดงานปีใหม่อีกครั้ง ได้กำไรหนึ่งแสนสองหมื่นเจ็ดพันสี่ร้อยสามสิบห้าบาท นำมาจัดสร้างรั้วด้านตะวันตกและด้านใต้ให้แล้วเสร็จ เสียค่าใช่จ่ายในก่อสร้างห้าหมื่นห้าร้อยห้าสิบสามบาท[13]
พ.ศ. 2522 ได้รับงบประมาณประจำปี จำนวนสี่หมื่นห้าพันบาท ใช้จัดสร้างห้องน้ำนักเรียนหญิงจำนวนหนึ่งหลัง ไพบูลย์ ลิ้มบุญทรง เป็นผู้ประมูลได้ ปัจจุบันคือห้องน้ำหลังอาคารร้อยปี
พ.ศ. 2523 ได้รับงบประมาณประจำปี จำนวนสามล้านแปดแสนบาท ใช้จัดสร้างอาคารเรียนแบบ 318 ค. จำนวน 1 หลัง บริษัทเชียงรายซีเมนต์บล็อกเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 10 กันยายน ปีนั้น แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม ปีถัดมา (ปัจจุบันคืออาคาร 5)
พ.ศ. 2527 ได้รับเงินบริจาคจากศิษย์เก่ารุ่น 2514 รวมถึงผู้ปกครองและนักเรียน และได้รับงบประมาณจากสำนักเร่งรัดพัฒนาชนบท จำนวนเก้าหมื่นบาท จึงจัดสร้างอาคารพยาบาล
พ.ศ. 2528 ได้รับงบประมาณจากสำนักเร่งรัดพัฒนาชนบทตามที่ สมศาสตร์ รัตนสัค ศิษย์เก่าและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้เสนอ จึงจัดสร้างอาคารเรียนชั่วคราว (ปัจจุบันเป็นที่ทำการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชียงราย เขต 1)
พ.ศ. 2530 ได้รับงบประจำปี จำนวนหนึ่งแสนแปดหมื่นบาท ใช้จัดสร้างอาคารเรียนชั่วคราวแบบหกห้องเรียน ห้างหุ้นส่วนจำกัดเชียงรายชนะประมูลได้ตามวงเงินงบประมาณพอดี
พ.ศ. 2534 กรมสามัญศึกษาอนุมัติงบประมาณสองแสนแปดหมื่นบาท ใช้ปรับปรุงพื้นที่สนามกีฬากลางและลู่วิ่งให้เป็นมาตรฐานเพื่อจัดตั้งศูนย์กีฬาประจำจังหวัด ครั้นวันที่ 20 พฤษภาคม บุญส่ง ไชยลาม ผู้อำนวยการ เข้ารับพระราชทาน “รางวัลพระราชทานโรงเรียนมัธยมศึกษาดีเด่น ประจำปีการศึกษา 2533” จาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ ศาลาดุสิดาลัย พระราชวังดุสิต
พ.ศ. 2535 จัดงานฉลองรางวัลพระราชทานระหว่างวันที่ 14-15 กุมภาพันธ์
พ.ศ. 2536 ประกาศรับสมัครนักเรียนหญิงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 เป็นครั้งแรก รวมยอดผู้สมัครได้หนึ่งร้อยเจ็ดสิบคน โรงเรียนสามัคคีวิทยาคมจึงแปรสภาพเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาแบบสหศึกษา ปีเดียวกันนี้ ยังได้รับคัดเลือกเป็นศูนย์พัฒนาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) หรือศูนย์วิทย์-คณิต ประจำเขตการศึกษา 8 (ปัจจุบันคือเขตพื้นที่การศึกษาเชียงราย เขต 1)
พ.ศ. 2537 กรมสามัญศึกษาอนุมัติงบประมาณประจำปีจำนวนสิบห้าล้านหกแสนสองหมื่นบาท ใช้สร้างอาคารเอนกประสงค์หนึ่งหลัง เป็นอาคาร 4 ชั้น ชั้นล่างเป็นห้องสมุด ชั้นสองและชั้นสามเป็นห้องเรียนรวมกลุ่มสาระศิลปะ และสังคมศึกษา ส่วนชั้นสี่เป็นห้องฟิตเนสและสนามบาสในร่ม สัญญาก่อสร้างทำขึ้นตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2536 ผูกพันถึงงบประมาณประจำปี 2538 (ปัจจุบันคืออาคาร 6)
ปีเดียวกันนี้ กรมสามัญศึกษาจึงประกาศจัดตั้ง “โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม 2” ณ ที่ดินแปลงที่สองของโรงเรียนสามัคคีวิทยาคม โดยให้ฝากเรียนที่โรงเรียนสามัคคีวิทยาคมไปพลางก่อน
พ.ศ. 2539 ได้รับเกียรติบัตรจากหน่วยศึกษานิเทศก์ กรมสามัญศึกษา เขตการศึกษา 9 ในด้านการพัฒนาห้องเรียนดีเด่น
พ.ศ. 2542 ธารา จาตุประยูร ผู้อำนวยการ ได้ริเริ่มดำเนินโครงการหลักสูตรพิเศษภาคภาษาอังกฤษระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โดยได้รับอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการเมื่อวันที่ 27 เมษายน และดำเนินโครงการถึงปัจจุบัน
พ.ศ. 2544 ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณให้เป็นโรงเรียนแกนนำด้านการใช้หลักสูตรดีเด่น และได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณให้เป็นโรงเรียนแกนนำด้านการปฏิรูปการศึกษาดีเด่นประจำจังหวัด
พ.ศ. 2545 ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณให้เป็นสถานศึกษาดีเด่นด้านการประกันคุณภาพการศึกษา และได้รับคัดเลือกให้เป็นศูนย์ศิลปะ ข.
พ.ศ. 2546 ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการธนาคารโลก มีการจัดตั้ง “ศูนย์พัฒนาการเรียนรู้ภาษาอังกฤษด้วยตนเอง” (Self English Access Room หรือ SEAR) และปรับรูปแบบสถานศึกษาใหม่เป็นโรงเรียนวิถีพุทธและโรงเรียนส่งเสริมการสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ
พ.ศ. 2547 ได้รับคัดเลือกจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติให้เป็นโรงเรียนวิถีพุทธดีเด่น ประจำปีการศึกษา 2547
พ.ศ. 2548 ได้รับคัดเลือกจากสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ให้เป็นโรงเรียนประชาธิปไตยตัวอย่าง ประจำปีการศึกษา 2548 โดย กิตติโชต ห้อยยี่ภู่ ผู้อำนวยการ เข้ารับโล่ประกาศเกียรติคุณจาก ศาสตราจารย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ในวันที่ 29 มีนาคม ปีนั้น
พ.ศ. 2549 กิตติโชต ห้อยยี่ภู่ ผู้อำนวยการ ให้รื้อทำลายโรงอาหาร 2 เพื่อเตรียมก่อสร้างอาคารร้อยปี เป็นอาคาร 4 ชั้น ใต้ถุนอาคารให้เป็นโรงอาหาร ปีนั้นยังได้เปิดหลักสูตรโครงการส่งเสริมความสามารถด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสต์ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
พ.ศ. 2550 อาคารร้อยปีสร้างแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม เริ่มใช้งานตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2550 เป็นห้องเรียนประจำของนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 และเพื่อรองรับการจัดงานครอบรอบร้อยปีของโรงเรียน ได้ปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบโรงเรียน เช่น ปรับปรุงพื้นลู่วิ่งจากเดิมเป็นดินแดงมาเป็นการเทคอนกรีตปูยางสังเคราะห์ให้เป็นลูวิ่งมาตรฐาน และปรับปรุงสภาพอาคารต่าง ๆ ที่ทรุดโทรมผ่านกาลเวลา
ปีนั้นยังได้จัดตั้งห้องเรียนพิเศษสำหรับนักเรียนสี่สิบคนคัดเลือกโดยการสอบจากมัธยมศึกษาปีที่ 4 ห้อง 8-15 แผนการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ เพื่อผลิตนักวิทยาศาสตร์ระดับชาติ นักเรียนสี่สิบคนจะได้รับการเพิ่มพูนศักยภาพและประสบการณ์ด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์กายภาพ เคมีวิทยา ชีววิทยา และคอมพิวเตอร์ ในระหว่างเวลา 15.10-17.00 นาฬิกา ของทุกวันอังคารและวันศุกร์
ยุคหลังมีอายุครบหนึ่งศตวรรษ
แก้พ.ศ. 2551 มีอายุครบหนึ่งร้อยปีแห่งการจัดตั้ง มีงานฉลองใช้ชื่อว่า “ร้อยใจ ร้อยไมตรี 100 ปี สามัคคีวิทยาคม พ.ศ. 2551” และพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรพระราชทานนามอาคารร้อยปีว่า “อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550” โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดอาคารในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ปีเดียวกัน
พ.ศ. 2555 เริ่มทำการก่อสร้างอาคารสูง 4 ชั้น แห่งใหม่หลังอาคารเฉลิมพระเกียรติ ก่อสร้างเมื่อภาคเรียนที่ 2 ของปีการศึกษาดังกล่าว
พ.ศ. 2556 โรงเรียนได้เข้าร่วมโครงการธนาคารโรงเรียนของธนาคารออมสิน ซึ่งมีจุดประสงค์ให้นักเรียนรู้จักการเก็บออมตั้งแต่เด็กและปลูกฝังเรื่องความประหยัดให้ตัวเอง อีกทั้งยังปรับทัศนียภาพของโรงเรียนให้ดูน่าอยู่มากขึ้นไม่ว่าจะเป็นการสร้างหลังคาบนทางเดินเพื่อความสะดวกของนักเรียนเวลาเปลี่ยนคาบเรียน การปรับปรุงซ่อมแซมอาคาร การนำพันธ์ไม้มาปลูก หรือการสร้างศาลาธรรมเป็นต้น
พ.ศ. 2557 สมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนสามัคคีวิทยาคม(สนส.)พร้อมด้วยสมาคมครูผู้ปกครองโรงเรียนสามัคคีวิทยาคม ได้สนับสนุน รถบัสให้แก่โรงเรียนหนึ่งคัน และสร้างสปอร์ตไลท์ขนาดใหญ่ให้แก่โรงเรียนสี่ต้นโดยติดไว้ที่มุมสนามทั้งสี่ด้านของโรงเรียน เปิดใช้งานอาคารใหม่ มีลักษณะเหมือนอาคารเฉลิมพระเกียรติหลังเดิม แต่เสริมห้องน้ำไว้บนอาคารเพื่อความสะดวกสบายของนักเรียนมากขึ้น ตั้งทับอยู่บนบ้านพักครูเก่าซึ่งอยู่หลังบริเวณอาคารอาคารเฉลิมพระเกียรติเดิม
พ.ศ. 2558 ศาลาธรรมบริเวณหน้าโรงเรียนได้สร้างเสร็จสิ้น ปลายปีโรงเรียนสามัคคีวิทยาคมได้ปลูกต้นซากุระโครงการสวนซากุระเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชจำนวน 188 ต้นโดยรับมอบจากสมาคมซากุระประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2558
พ.ศ. 2559 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จมาเป็นประธานในพิธีเปิดอาคารแห่งใหม่ พระราชทานชื่อว่า "อาคารเฉลิมพระเกียรติ"
ปัจจุบัน สถานศึกษายังคงจัดและส่งเสริมการศึกษาระดับมัธยมศึกษาให้แก่ประชาชนทั่วไป และมีวิวัฒนาการโดยไม่ขาดสาย
หัวหน้าสถานศึกษา
แก้ที่ | ชื่อ | ระยะเวลาอยู่ในตำแหน่ง[14] | หมายเหตุ |
---|---|---|---|
ครูใหญ่ | |||
1 | รองอำมาตย์ตรีจิตร | พ.ศ. 2457–2459 | |
2 | รองอำมาตย์ตรีปุย ยูววรรณ | พ.ศ. 2459–2465 | |
3 | รองอำมาตย์ตรีเชื้อ กุศลวงศ์ | พ.ศ. 2465–2468 | |
4 | รองอำมาตย์ตรีอำนวย มฆัษเฐียร | พ.ศ. 2468–2470 | |
5 | รองอำมาตย์ตรีขุน มีนะนันท์ | พ.ศ. 2470–2472 (สมัยแรก) พ.ศ. 2473–2475 (สมัยที่สอง) |
|
6 | รองอำมาตย์ตรีด้าย บูรณะกร | พ.ศ. 2472–2473 | |
7 | รองอำมาตย์ตรีอินทรทัต สิโรรส | พ.ศ. 2475–2478 | |
อาจารย์ใหญ่ | |||
8 | ข่วง สุคนธสรรค์ | พ.ศ. 2478–2481 | |
9 | อุทิศ ปัจฉิมาภิรมย์ | พ.ศ. 2481–2484 | |
10 | โสภิศ สุขเกษม | พ.ศ. 2484–2496 | |
11 | ประสิทธิ์ ธนะปัญโญ | พ.ศ. 2496–2505 | |
12 | ม้วน ธนะชัยขันธ์ | พ.ศ. 2505–2512 | |
13 | บรรจง พงศ์ศาสตร์ | พ.ศ. 2512–2520 | |
ผู้อำนวยการ | |||
14 | สมศักดิ์ ศรีสุวรรณ | พ.ศ. 2520–2527 | |
15 | ประสิทธิ์ แสนไชย | พ.ศ. 2527–2530 | |
16 | อรุณ อาษา | พ.ศ. 2530–2532 | |
17 | บุญส่ง ไชยลาม | พ.ศ. 2532–2537 | |
18 | ธารา จาตุประยูร | พ.ศ. 2537–2543 | |
19 | กิตติโชต ห้อยยี่ภู่ | พ.ศ. 2543 – 9 มกราคม พ.ศ. 2550 | |
20 | ปรีชา พัวนุกุลนนท์ | 10 มกราคม พ.ศ. 2550 – 25 มกราคม พ.ศ. 2551[15] | |
กิตติชัย ทองปัญญา |
26 มกราคม พ.ศ. 2551 – 30 มิถุนายน พ.ศ. 2551 | รองผู้อำนวยการ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการ | |
21 | ทวีศักดิ์ พิพัฒนาศักดิ์ | 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 – 30 กันยายน พ.ศ. 2553 | |
ยุทธศักดิ์ ศุภภัทรายุทธ์ | 1 ตุลาคม พ.ศ. 2553 – 23 ธันวาคม พ.ศ. 2553 | รองผู้อำนวยการ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการ | |
22 | ประเสริฐ กันธะวัง | 24 ธันวาคม พ.ศ. 2553 – 30 กันยายน พ.ศ. 2557 | |
23 | ธวัช ชุมชอบ | 21 ตุลาคม พ.ศ. 2557 – 30 กันยายน พ.ศ. 2561 | |
24 | อดุลย์ นันท์บัญชา | 22 ตุลาคม พ.ศ. 2561 – 30 กันยายน พ.ศ. 2562 | |
25 | คเณศ พงศ์สุวรรณ | 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 - 30 กันยายน พ.ศ. 2565 | |
26 | จรัล แก้วเป็ง | 4 ตุลาคม พ.ศ. 2565 - ปัจจุบัน[16] |
อาณาบริเวณ
แก้แผนที่
แก้แผนที่โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม |
---|
รายละเอียด
แก้โรงเรียนสามัคคีวิทยาคมตั้งอยู่กลางใจเมืองเชียงราย รายล้อมด้วยห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร หอพักนักเรียน โรงแรม ตลอดจนวัดพุทธศาสนา และศาสนสถานของลัทธิอื่น
โรงเรียนมีเนื้อที่ประมาณ 50 ไร่ 5 งาน 200 ตารางวา ประกอบด้วยอาคารเรียน 14 หลัง และอาคารเสริม 5 หลัง เป็นห้องเรียนทั้งหมด 114 ห้อง และห้องปฏิบัติการทางวิชาการ 14 ห้อง อาคารหลักมีดังต่อไปนี้
- อาคาร 1 เป็นตึกบัญชาการ เป็นอาคารที่เก่าแก่ที่สุด นับแต่ พ.ศ. 2481 เป็นต้นมา มีการบูรณะน้อยครั้ง เป็นสถาปัตยกรรมสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 บานประตูและบานหน้าต่างล้วนเป็นแบบพับสลักกลอน
- ชั้นหนึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานผู้อำนวยการ สำนักงานอำนวยการ สำนักงานฝ่ายกิจการนักเรียน สำนักงานกลุ่มบริหารงานทั่วไป สำนักบริหารวิชาการ สำนักงานการเงิน และห้องรับรองพิเศษ
- ส่วนชั้นสองเป็นห้องประชุม สำนักงานโยบายและแผนงาน และห้องพระโรงเรียน ประดิษฐานพระพุทธมณีไมตรีรัตนะ พระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันตุธาตุ
- อาคาร 2 เป็นที่ตั้งสำนักงานกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ 16 ห้อง ห้องปฏิบัติการวิศวกรรม (FabLab) และห้องสมุดศูนย์พัฒนาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
- อาคาร 3 เป็นที่ตั้งบ้านแนะแนว สำนักงานกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี แผนกคอมพิวเตอร์ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และห้องสืบค้นทางไกลภายในการสนับสนุนของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
- อาคาร 4 เป็นที่ตั้งสำนักงานกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ศูนย์การเรียนรู้ภาษาไทย ห้องสมุดภาษาไทย และเป็นห้องเรียนประจำของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
- อาคาร 5 เป็นที่ตั้งสำนักงานกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ห้องปฏิบัติการทางคณิตศาสตร์ และห้องเรียนประจำของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5
- อาคาร 6 เป็นที่ตั้งห้องสมุดกลาง ชื่อ "ห้องสมุดเจริญไชย" ตลอดจนสำนักงานกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะศึกษา ห้องศูนย์การเรียนศิลปะ ดนตรีไทย นาฏศิลป์ ดนตรีสากล และห้องเรียนรายวิชา IDP และสนามบาสเกตบอลแบบมาตรฐานในร่ม
- อาคาร 7 ชั้นบนเป็นที่ตั้งหอประชุมกลาง และชั้นล่าง สำนักงานคณะกรรมการบริหารงานสภานักเรียน ร้านค้าสวัสดิการ ห้องพักครูสุขศึกษาและพละศึกษา ร้านถ่ายเอกสาร อาคารพลศึกษา และธรรมสถานสำหรับใช้ปฏิบัติธรรมของบุคลากรและเป็นที่จำวัดของพระสงฆ์
- อาคาร 8 เคยเป็นที่ตั้งสำนักงานโครงการหลักสูตรพิเศษภาคภาษาอังกฤษ ปัจจุบันเป็นห้องที่ใช้ในการเรียนการสอนทางไกล
- อาคาร 9 อาคารร้อยปี มีชื่อว่า "อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550" เป็นที่ตั้งของห้องเรียนประจำของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 และห้องเรียนประจำของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 บางส่วน
- อาคาร 11 เป็นอาคาร 4 ชั้น รูปร่างลักษณะเหมือนอาคาร 9 มีห้องน้ำภายในอาคาร สร้างเสร็จในต้นปี 2557 เป็นที่ตั้งของห้องเรียนประจำของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น
- อาคาร 12 เป็นอาคาร 6 ชั้น มีลิฟต์จำนวน 2 ตัวภายในอาคาร สร้างเสร็จในต้นปี 2563 เป็นที่ตั้งของสำนักงานกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ ศูนย์อีริกจังหวัดเชียงราย ศูนย์เซียร์ สำนักงานโครงการหลักสูตรพิเศษภาคภาษาอังกฤษ เป็นที่ตั้งของห้องเรียนประจำของนักเรียนหลักสูตรโครงการ IP
- ศูนย์อาหาร ซึ่งมีร้านจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม และของว่างจำนวนทั้งสิ้น 16 ร้าน
ด้านหลังโรงเรียนยังเป็นที่ตั้งของ วิทยาลัยเทคนิคเชียงราย และวิทยาลัยพาณิชยการเชียงราย
การศึกษา
แก้การจัดการศึกษา
แก้- โรงเรียนสามัคคีวิทยาคมเปิดให้การศึกษาขั้นพื้นฐานระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 (ช่วงชั้นที่ 3-4) ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน แผนการศึกษาแห่งชาติ นโยบายของรัฐบาล กับทั้งมติคณะรัฐมนตรีและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และยังจัดโครงการพิเศษนอกเหนือไปจากหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อให้สอดคล้องกับความหลากหลายทางสมรรถภาพของผู้เรียน[17]
- ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 จัดชั้นเรียนปีละสิบสามห้อง รวมทั้งระดับได้สามสิบเก้าห้อง(ปีการศึกษา 2562เป็นต้นไป) ทั้งนี้ ในแต่ละปีแบ่งห้องเรียนตามการจัดการศึกษาดังนี้
- ห้องที่เจ็ดถึงห้องที่สิบ : สำหรับนักเรียนในโครงการจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ โดยนักเรียนเหล่านี้จะได้รับการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในขั้นสูงเป็นพิเศษกว่าระดับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน[18]
- ห้องที่สิบเอ็ดและห้องที่สิบสอง : สำหรับนักเรียนในโครงการหลักสูตรพิเศษภาคภาษาอังกฤษที่จัดการศึกษาทุกรายวิชาเป็นภาษาอังกฤษ ยกเว้นวิชาภาษาไทย โรงเรียนได้จ้างชาวต่างประเทศผู้ทรงคุณวุฒิเป็นครูสอน มีสถานะเป็นลูกจ้างชั่วคราว[19]
- ห้องที่สิบสาม : สำหรับนักเรียนในโครงการ IP ระดับมัธยมต้น
- ห้องที่หนึ่งถึงห้องที่หก : จัดการศึกษาทั่วไปตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน
- ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 จัดชั้นเรียนปีละสิบห้าห้อง รวมทั้งระดับได้สี่สิบห้าห้อง ทั้งนี้ ในแต่ละปีแบ่งห้องเรียนตามแผนการเรียนรู้ดังนี้[20]
- ห้องที่หนึ่ง : แผนการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และสังคมศึกษา
- ห้องที่สอง : แผนการเรียนรู้ภาษาอังกฤษและภาษาจีน
- ห้องที่สาม : แผนการเรียนรู้ภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่นและภาษาฝรั่งเศส
- ห้องที่สี่ถึงห้องที่หก : แผนการเรียนรู้ภาษาอังกฤษและคณิตศาสตร์
- ห้องที่เจ็ดถึงห้องที่เก้า : แผนการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์
- ห้องที่สิบถึงห้องที่สิบสองและห้องที่สิบสี่ถึงห้องที่สิบห้า :แผนการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ โดยใช้หลักสูตรพิเศษเพื่อการพัฒนาผู้มีความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์
- ห้องที่สิบถึงห้องที่สิบสาม : แผนการเรียนรู้ห้องเรียนพิเศษ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และ สิ่งแวดล้อม (SMTE)
- ห้องที่สิบหก : สำหรับนักเรียนในโครงการ IP ระดับมัธยมปลาย
- โครงการจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาต่างประเทศ และคอมพิวเตอร์
- เป็นโครงการที่สถานศึกษาจัดขึ้นเพิ่มเติมจากหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ริเริ่มโดยสภาการศึกษา มีสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษากำกับดูแลร่วมกับคณาจารย์และคณะวิจัยจากคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่[21][22][23]
- การดำเนินโครงการ เริ่มจากคัดกรองนักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษทางสาขาวิชานั้นมารับการศึกษาระดับสูงและรอบด้านเพื่อให้แตกฉานในสาขาวิชาดังกล่าวอย่างแท้จริง ผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการนี้เป็นนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 โดยจะมีการจัดการศึกษารูปแบบพิเศษดังกล่าวตลอดทั้งสามปี และผู้สำเร็จการศึกษาจากโครงการนี้จะได้รับอนุมัติประกาศนียบัตรรับรองเป็นรายปีจากสภาการศึกษา[23]
- โครงการนี้มักเรียกกันโดยชื่อภาษาอังกฤษว่า “กิฟเต็ด” (gifted) ซึ่งแปลว่า “มีพรสวรรค์” หรือ “ผู้มีพรสวรรค์” และมักเรียกนักเรียนในโครงการว่า “เด็กกิฟเต็ด” โดยในปัจจุบันมีโครงการกิฟเต็ดอยู่ทั้งสิ้น 6 โครงงานได้แก่ กิฟเต็ดคณิตศาสตร์, กิฟเต็ดชีววิทยา, กิฟเต็ดฟิสิกส์, กิฟเต็ดเคมี, กิฟเต็ดคอมพิวเตอร์ และกิฟเต็ดภาษาอังกฤษ
- โครงงารกิฟเต็ดภาษาไทย และโครงงานกิฟเต็ดสเตมศึกษาเป็นโครงงานที่ถูกยกเลิกไปในปัจจุบันแล้ว
- ปัจจุบัน องค์กรหลักของสถานศึกษาที่มีหน้าที่จัดการเรียนรู้ ได้แก่ กลุ่มสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ รวมแปดกลุ่ม คือ
|
|
การรับบุคคลเข้าศึกษา
แก้ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1
แก้- ผู้มีสิทธิเข้าศึกษาในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 เป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่า
- การคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษา ใช้การสอบคัดเลือก โดยผู้มีสิทธิเข้าศึกษาจะเข้ารับการทดสอบทางวิชาการในสาขาวิชาและตามวัน เวลา และพฤติการณ์ที่โรงเรียนกำหนด เครื่องมือในการทดสอบนั้นโรงเรียนจัดทำขึ้นตามมาตรฐานของกระทรวงศึกษาธิการ และสำหรับห้องเรียนพิเศษ (ห้องที่เจ็ดถึงห้องที่สิบสอง) ผู้ผ่านการทดสอบยังต้องเข้ารับการสอบสัมภาษณ์อีกชั้นหนึ่งด้วย โดยเฉพาะห้องที่สิบเอ็ดและห้องที่สิบสอง (โครงการหลักสูตรพิเศษภาคภาษาอังกฤษ) การสอบสัมภาษณ์จะใช้ภาษาอังกฤษ และผู้ปกครองจะต้องเข้ารับการสัมภาษณ์ด้วย[24]
ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4
แก้- ผู้มีสิทธิเข้าศึกษาในระดับนี้เป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 หรือเทียบเท่า
- การคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษา สถานศึกษาดำเนินการสามวิธีดังต่อไปนี้[24]
- ห้องที่แปดถึงห้องที่สิบห้า : ใช้การสอบคัดเลือก ผู้มีสิทธิเข้าศึกษาสมัครเข้าทดสอบทางวิชาการ เครื่องมือในการทดสอบนั้นโรงเรียนจัดทำขึ้นตามมาตรฐานที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด และเมื่อผ่านการทดสอบตามประกาศของสถานศึกษา และผู้ผ่านการทดสอบเข้ารายงานตัวแล้ว ก็ถือเป็นนักเรียนของโรงเรียนโดยสมบูรณ์
- นักเรียนเก่าของสถานศึกษา : ใช้วิธีการคัดเลือก โดยนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนสามัคคีวิทยาคมมีสิทธิยื่นคะแนนเฉลี่ยของการศึกษา (Grade Point Average) ที่ผ่านมาต่อคณะกรรมการที่โรงเรียนแต่งตั้งเพื่อให้พิจารณาคัดเลือก และต้องระบุแผนการเรียนรู้ที่ตนประสงค์สามแผนตามลำดับมากน้อย เมื่อผ่านการคัดเลือกตามประกาศและเข้ารายงานตัวแล้ว ก็ถือเป็นนักเรียนของโรงเรียนโดยสมบูรณ์ ในกรณีนี้ ผู้ที่ไม่ผ่านก็มักไปสอบคัดเลือกต่อไป
- นักเรียนทั่วไป : ใช้วิธีการสอบคัดเลือก
ในแต่ละปีมักมีผู้สมัครเข้าคัดเลือกเพื่อเข้าศึกษาต่อทั้งระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 และปีที่ 4 จำนวนหลายหมื่นคน แต่สถานศึกษาสามารถรับได้เพียงระดับละหกร้อยคนเท่านั้น[25]
การสำเร็จการศึกษา
แก้ผู้เรียนสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 จะได้รับอนุมัติประกาศนียบัตรรับรองการสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และผู้เรียนที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 จะได้ประกาศนียบัตรรับรองการสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
อ้างอิง
แก้หนังสือ
แก้- โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม.
- (2535). หนังสือที่ระลึกงานฉลองรางวัลพระราชทานโรงเรียนดีเด่น ประจำปีการศึกษา 2533 วันที่ 14-15 กุมภาพันธ์ 2535. เชียงราย : เชียงรายโฆษณาและการพิมพ์.
- (2546). โครงการสำคัญ ปีการศึกษา 2546. (อัดสำเนา).
- (2549). คู่มือนักเรียน ผู้ปกครอง โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม. ลำปาง : ลำปางบรรณกิจพริ้นติ้ง.
บทความ
แก้- ทวีศักดิ์ พิพัฒนาศักดิ์. (2552). "สืบเนื่อง...จากปก". เบิกฟ้าบรรดาเรา, (ฉบับที่ 17).
- นงนุช ไตรแสง.
- (2548).
- “ศิษย์เก่าที่เราภูมิใจ : ร้อยตรีทัญพิสิษฐ์ ผ่องใส”. เบิกฟ้าบรรดาเรา, (ฉบับที่ 9).
- “อันเนื่องมาจากปก : นักเปียโนรางวัลชนะเลิศแห่งประเทศไทย ณิชมน องคะสุวรรณ”. เบิกฟ้าบรรดาเรา, (ฉบับที่ 9).
- “สายสัมพันธ์...บรรดาเราขาวน้ำเงิน : อาจารย์ประสิทธิ์ แสนไชย”. เบิกฟ้าบรรดาเรา, (ฉบับที่ 9),
- “สายสัมพันธ์...บรรดาเราขาวน้ำเงิน : แนะนำนายก สนส”. เบิกฟ้าบรรดาเรา, (ฉบับที่ 9).
- (2549).
- “จากพี่ถึงน้อง : หยดน้ำแห่งประสบการณ์”. เบิกฟ้าบรรดาเรา, (ฉบับที่ 11).
- “เรื่องเล่าของบรรดาเรา : ก่อนฝากให้น้อง”. เบิกฟ้าบรรดาเรา, (ฉบับที่ 10).
- “สายสัมพันธ์...บรรดาเราขาวน้ำเงิน : ศิษย์เก่าที่เราภูมิใจ พล.ต.ต.ยงยุทธ ฮงประยูร” . เบิกฟ้าบรรดาเรา, (ฉบับที่ 10) .
- (2548).
- โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม. (2552). "ศิษย์เก่าที่เราภูมิใจ". เบิกฟ้าบรรดาเรา, (ฉบับที่ 17).
- สุนิพิฐ นันทชัย. (2549). “จากพี่ถึงน้อง : ‘เยอรมนีที่ฉันรู้จัก’”. เบิกฟ้าบรรดาเรา, (ฉบับที่ 11).
- สุภาณี สิงห์ปัน. (2546). “โรงเรียนส่งเสริมนักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษ”. เบิกฟ้าบรรดาเรา, (ฉบับที่ 5).
แหล่งข้อมูลออนไลน์
แก้- กรมประชาสัมพันธ์. (2549, 26 ธันวาคม). ผู้บริหารโรงเรียนไม่พอใจ หลัง สพท.ชร.เขต 1 สั่งโยกย้าย ผอ.32 ราย. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก:<ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 25 มกราคม 2553).
- กลุ่มวิจัยติดตามและประเมินผลโครงการ กองแผนงาน กรมสามัญศึกษา. (ม.ป.ป.). รายงานผลการวิจัย เรื่อง การรับนักเรียนเข้าศึกษาต่อ ม.1, 4 ปีการศึกษา 2541. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก:<ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 25 มกราคม 2553).
- “ความเป็นมาและการดำเนินการสร้างวัตถุมงคล งาน ‘ร้อยใจ ร้อยไมตรี หนึ่งร้อยปีสามัคคีวิทยาคม’”. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก:<ลิงก์ เก็บถาวร 2008-04-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (เข้าถึงเมื่อ: 25 มกราคม 2553).
- “ครูเชียงรายฮือไล่รอง ผอ.โรงเรียนดังพัวพันสารพัดเรื่องฉาว”. (2552, 29 กรกฎาคม).
- เชียงรายทูเดย์. (2551, 11 กันยายน). เพลิงไหม้ห้องเก็บของแผนกศิลปะ โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม กำลังสอบสวนหาสาเหตุ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก:<ลิงก์ เก็บถาวร 2009-05-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (เข้าถึงเมื่อ: 25 มกราคม 2553).
- ดร. เรือง เจริญชัย (Dr. Ruang Chareonchai). (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก:<ลิงก์ เก็บถาวร 2008-10-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (เข้าถึงเมื่อ: 25 มกราคม 2553).
- ทำเนียบผู้บริหารโรงเรียนสามัคคีวิทยาคม. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก:<ลิงก์ เก็บถาวร 2011-10-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (เข้าถึงเมื่อ: 25 มกราคม 2553).
- ไทยรัฐ.
- (2550, 13 มกราคม). พัลลภ-โต้ โยงพัวพันบึม ไม่ทำบัดซบ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก:<ลิงก์ เก็บถาวร 2008-10-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (เข้าถึงเมื่อ: 25 มกราคม 2553).
- (2551, 21 มีนาคม). ชี้เปิดสอบ 100% ทำยอดสมัคร ร.ร. ดังลด. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก:<ลิงก์ เก็บถาวร 2009-01-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (เข้าถึงเมื่อ: 25 มกราคม 2553).
- ประวัติ ETC - อีทีซี etc. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก:<ลิงก์ เก็บถาวร 2010-07-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (เข้าถึงเมื่อ: 25 มกราคม 2553).
- ประวัติโรงเรียนสามัคคีวิทยาคม. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก:<ลิงก์ เก็บถาวร 2009-07-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (เข้าถึงเมื่อ: 25 มกราคม 2553).
- พัฒนาการทางด้านการศึกษาของเชียงราย . (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก:<ลิงก์ เก็บถาวร 2009-05-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (เข้าถึงเมื่อ: 25 มกราคม 2553).
- ฟ้าล้านนาเน็ต. (2549, 26 ธันวาคม). ครู ชร.ป่วน หลัง สพท.เชียงรายเขต 1 สั่งโยกย้าย ผ.อ.32 ราย. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก:<ลิงก์ เก็บถาวร 2009-05-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (เข้าถึงเมื่อ: 25 มกราคม 2553).
- “รอง ผอ. ร.ร. ‘เชียงราย’ แจ้งหมิ่น หลังถูกร้องเก็บค่าแป๊ะเจี๊ย”. (2552, 28 กรกฎาคม). มติชนรายวัน. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก:<ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 25 มกราคม 2553).
- โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม. (ม.ป.ป.). การรับนักเรียนเข้าเรียน ปีการศึกษา 2551. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก:<ลิงก์ เก็บถาวร 2008-04-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (เข้าถึงเมื่อ: 25 มกราคม 2553).
- เลอศักดิ์ พูลพิพัฒน์. (2551, 19 มกราคม). ลิ่วล้อประจำวัน. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก:<ลิงก์[ลิงก์เสีย]>. (เข้าถึงเมื่อ: 25 มกราคม 2553).
- วงดนตรีสากลสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (ม.ป.ป.). รายชื่อสมาชิกที่ผ่านการคัดเลือกตำแหน่ง "นักร้อง". [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก :<ลิงก์[ลิงก์เสีย]>. (เข้าถึงเมื่อ: 25 มกราคม 2553).
- เว็บบอร์ด สพท.ชร. 1. (2549, 30 ธันวาคม). เอาไงดี กับบทบาทประธานสมาพันธ์ครูเขต 1. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก:<ลิงก์ เก็บถาวร 2009-05-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (เข้าถึงเมื่อ: 25 มกราคม 2553).
- สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. (2549, 14 กรกฎาคม). พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก:<ลิงก์ เก็บถาวร 2010-03-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (เข้าถึงเมื่อ: 25 มกราคม 2553).
- สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. (2549, 18 ธันวาคม). หนังสือด่วนที่สุด ที่ ศธ 04009/13966 เรื่อง การย้ายและแต่งตั้งข้าราชการครูสายงานบริหารสถานศึกษา. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: ลิงก์ เก็บถาวร 2007-03-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (เข้าถึงเมื่อ: 25 มกราคม 2553).
- สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา. (ม.ป.ป.) นางบุษรินทร์ ติยะไพรัช วรพัฒนานันต์ สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดเชียงราย. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก:<ลิงก์ เก็บถาวร 2006-05-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (เข้าถึงเมื่อ: 25 มกราคม 2553).
- สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. (ม.ป.ป.). เครือข่าย. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก:<ลิงก์ เก็บถาวร 2008-04-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (เข้าถึงเมื่อ: 25 มกราคม 2553).
- “หนุ่ม ม.กรุงเทพ สาวรั้วจามจุรี ชนะเลิศ ทาเลนท์ บอย แอนด์ เกิรลส์ 2009”. (2552, 26 พฤศจิกายน). เข้าถึงได้จาก:<คลิก[ลิงก์เสีย]>. (เข้าถึงเมื่อ: 25 มกราคม 2553).
- Aksorn.com. (ม.ป.ป.). หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก:<ลิงก์ เก็บถาวร 2008-09-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (เข้าถึงเมื่อ: 25 มกราคม 2553).
- INNnews.
- (2551, 2 มีนาคม). ผลนับคะแนนเลือกตั้ง ส.ว. ไม่เป็นทางการครบ 100%. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก:<ลิงก์ เก็บถาวร 2009-05-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (เข้าถึงเมื่อ: 25 มกราคม 2553).
- (2551, 9 กันยายน). เพลิงไหม้ ร.ร. จ.เชียงราย นร.หนีตายอลหม่าน. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก:<ลิงก์ เก็บถาวร 2008-10-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (เข้าถึงเมื่อ: 25 มกราคม 2553).
- เว็บบอร์ดผู้เข้ารับการพัฒนาก่อนการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรอง ผอ.สถานศึกษา รุ่นที่ 31-36 [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก:<ลิงก์[ลิงก์เสีย]>. (เข้าถึงเมื่อ: 3 มกราคม 2554).
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- ↑ พัฒนาการทางด้านการศึกษาของเชียงราย, ม.ป.ป. : ออนไลน์.
- ↑ ประวัติโรงเรียนสามัคคีวิทยาคม, ม.ป.ป. : ออนไลน์.
- ↑ พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546
“มาตรา 34 ให้จัดระเบียบบริหารราชการของเขตพื้นที่การศึกษา ดังนี้
(1) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
(2) สถานศึกษาที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานหรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น
การแบ่งส่วนราชการภายในตาม (1) ให้จัดทำเป็นประกาศกระทรวงและให้ระบุอำนาจหน้าที่ของแต่ละส่วนราชการไว้ในประกาศกระทรวง ทั้งนี้ โดยคำแนะนำของคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
การแบ่งส่วนราชการภายในตาม (2) และอำนาจหน้าที่ของสถานศึกษาหรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นให้เป็นไป ตามระเบียบที่คณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาแต่ละเขตพื้นที่การศึกษากำหนด
การแบ่งส่วนราชการตามวรรคสองและวรรคสามให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา 35 สถานศึกษาที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานตามมาตรา 34 (2) เฉพาะที่เป็นโรงเรียน มีฐานะเป็นนิติบุคคล
เมื่อมีการยุบเลิกสถานศึกษาตามวรรคหนึ่ง ให้ความเป็นนิติบุคคลสิ้นสุดลง” - ↑ 4.0 4.1 โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม, 2535 : 21.
- ↑ โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม, 2549 : 4.
- ↑ 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 6.5 โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม, 2535 : 22.
- ↑ 7.0 7.1 7.2 โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม, 2535 : 23.
- ↑ 8.0 8.1 8.2 8.3 8.4 โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม, 2535 : 24.
- ↑ 9.0 9.1 9.2 โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม, 2535 : 25.
- ↑ โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม, 2535 : 25-26.
- ↑ 11.0 11.1 11.2 11.3 โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม, 2535 : 26.
- ↑ 12.0 12.1 12.2 12.3 12.4 โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม, 2535 : 27.
- ↑ โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม, 2535 : 28.
- ↑ ทำเนียบผู้บริหารโรงเรียนสามัคคีวิทยาคม, ม.ป.ป. : ออนไลน์.
- ↑ INNnews, 2551 : ออนไลน์.
- ↑ "โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม ต้อนรับนายจรัล แก้วเป็ง ผู้อำนวยการโรงเรียนคนใหม่ – โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-28. สืบค้นเมื่อ 2022-11-28.
- ↑ Aksorn.com, ม.ป.ป. : ออนไลน์.
- ↑ โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม, 2546 : 29-46.
- ↑ โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม, 2546 : 13-18.
- ↑ โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม, ม.ป.ป. : ออนไลน์.
- ↑ สุภาณี สิงห์ปัน, 2546 : 16-19.
- ↑ โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม, 2546 : 31.
- ↑ 23.0 23.1 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา, ม.ป.ป. : ออนไลน์.
- ↑ 24.0 24.1 กลุ่มวิจัยติดตามและประเมินผลโครงการ กองแผนงาน กรมสามัญศึกษา, ม.ป.ป. : ออนไลน์.
- ↑ ไทยรัฐ, 2551 : ออนไลน์.
- เว็บไซต์โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม เก็บถาวร 2007-04-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
19°54′24″N 99°49′38″E / 19.90667°N 99.82718°E
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม
- แผนที่ จาก มัลติแมป โกลบอลไกด์ หรือ กูเกิลแผนที่
- ภาพถ่ายทางอากาศ จาก เทอร์ราเซิร์ฟเวอร์
- ภาพถ่ายดาวเทียม จาก วิกิแมเปีย