โดแฟ็งแห่งฝรั่งเศส
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
โดแฟ็งแห่งฝรั่งเศส (ฝรั่งเศส: Dauphin de France) หรือ โดแฟ็งแห่งเวียนัว (ฝรั่งเศส: Dauphin de Viennois) คืออิสริยยศที่มีไว้สำหรับทายาทผู้มีสิทธิโดยตรง ผู้ซึ่งจะขึ้นครองราชบัลลังก์แห่งฝรั่งเศสในอนาคต ในประวัติศาสตร์มีผู้ดำรงอิสริยยศนี้ในช่วงปี ค.ศ. 1350 - 1791 และช่วงปี ค.ศ. 1824 - 1830 คำว่า โดแฟ็ง แปลตรงตัวจากภาษาฝรั่งเศสได้ว่า โลมา ซึ่งอ้างอิงถึงสัตว์ในตราอาร์มประจำอิสริยยศนี้
โดแฟ็งแห่งฝรั่งเศส | |
---|---|
ตราอาร์ม | |
หลุยส์ อ็องตวนแห่งอาร์ตัว โดแฟ็งแห่งฝรั่งเศสพระองค์สุดท้าย | |
สถาปนา | ค.ศ. 1350 |
สิ้นสุด | 2 สิงหาคม ค.ศ. 1830 |
องค์แรก | ชาร์ลแห่งฝรั่งเศส |
องค์สุดท้าย | หลุยส์ อ็องตวนแห่งอาร์ตัว |
คู่สมรส | โดฟีนแห่งฝรั่งเศส |
ประวัติศาสตร์
แก้กีกที่ 8 เคานต์แห่งเวียนัว ผู้มีสัญลักษณ์ปลาโลมาอยู่บนตราอาร์มประจำตัวจึงได้รับชื่อเล่นว่า เลอโดแฟ็ง ต่อมายศ โดแฟ็งแห่งเวียนัว จึงสืบทอดมายังทายาทในตระกูลของเจ้าชายแห่งอีฟว์โต จนกระทั่งปี ค.ศ. 1349 เมื่อเอิงแบร์ที่ 2 ขายที่ดินซึ่งเป็นแคว้นในระบบมาเนอร์ที่เรียกว่า แคว้นโดฟีเน ให้แก่พระเจ้าฟิลิปที่ 6 ในเงื่อนไขที่ว่ารัชทายาทแห่งฝรั่งเศสจะเป็นผู้สืบทอดอิสริยยศ เลอโดแฟ็ง ต่อไป ส่วนมเหสีของรัชทายาทจะได้อิสริยยศ ลาโดฟีน
เจ้าชายฝรั่งเศสพระองค์แรกที่ทรงถูกเรียกขานว่า "เลอโดแฟ็ง" คือพระเจ้าชาร์ลที่ 5 ซึ่งยศนี้ประมาณเทียบเท่าได้กับยศ "เจ้าชายแห่งเวลส์" ของอังกฤษ, "ดยุกแห่งบรากันซา" ของโปรตุเกส หรือ "เจ้าชายแห่งอัสตูเรียส" ของสเปน ซึ่งพระยศเต็มของโดแฟ็งมีนามว่า "โดยพระคุณแห่งพระเจ้า, โดแฟ็งแห่งเวียนัว, เคานต์แห่งวาล็องตีนัวและดียัว" (ฝรั่งเศส: par la grâce de Dieu, dauphin de Viennois, comte de Valentinois et de Diois; ปาร์ลากรัสเดอดีเยอ, โดแฟ็งเดอเวียนัว, กงต์เดอวาล็องตีนัวเอเดอดียัว) ส่วนตราอาร์มประจำตำแหน่งจะเป็นการรวมเอาสัญลักษณ์ปลาโลมา (โดฟีเน) กับสัญลักษณ์ดอกลิลลี (เฟลอร์เดอลี) เข้าด้วยกัน และในบางกรณีอาจจะรวมเอาสัญลักษณ์ของตราอาร์มอื่นเข้าไว้ด้วย เช่น โดแฟ็งฟรานซิส (ค.ศ. 1518 - 1536) ซึ่งเป็นพระโอรสในพระเจ้าฟร็องซัวที่ 1 ทรงปกครองแคว้นเบรอตาญ ขณะทรงพระยศโดแฟ็งจึงมีเอารวมเอาสัญลักษณ์ของแคว้นดังกล่าวมาประดับไว้ในตราอาร์มประจำอิสริยยศโดแฟ็งด้วย หรือในกรณีของพระเจ้าฟร็องซัวที่ 2 ผู้ทรงดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์แห่งสกอตแลนด์จากการเสกสมรสกับพระราชินีนาถแมรีที่ 1 แห่งสกอตแลนด์ จึงได้มีการนำเอาสัญลักษณ์ตราอาร์มของราชอาณาจักรสกอตแลนด์เข้ามารวมในตราอาร์มของโดแฟ็งแห่งฝรั่งเศส
แต่เดิมแล้วผู้ทรงพระยศโดแฟ็งมีภาระรับผิดชอบปกครองแคว้นโดฟีเน ซึ่งตามกฎหมายเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ และพระจักรพรรดิทรงพระราชทานอำนาจให้แก่รัชทายาทฝรั่งเศสปกครอง แต่ทรงกำหนดห้ามมิให้รวมเข้ากับฝรั่งเศส เพราะแคว้นโดฟีเนเคยบอบช้ำจากระบอบอนาธิปไตยในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 - 15 เนื่องจากในขณะนั้นโดแฟ็งแห่งฝรั่งเศสถูกมองว่าไร้ซึ่งอำนาจและเป็นเพียงแค่ตำแหน่งเล็ก ๆ
ในช่วงที่เจ้าชายหลุยส์ พระโอรสในพระเจ้าชาร์ลที่ 7 ทรงดำรงพระยศโดแฟ็ง หลุยส์ทรงท้าท้ายพระบิดาด้วยการพำนักอยู่ในแคว้นโดฟีเนนานกว่าที่พระบิดาทรงอนุญาต และยังทรงเข้าไปยุ่งเกี่ยวการเมืองในทางที่เป็นประโยชน์ต่อโดฟีเนมากกว่าต่อฝรั่งเศส เช่น การเสกสมรสกับชาร์ล็อตต์แห่งซาวอยเพื่อต่อต้านพระประสงค์ของพระบิดา ซึ่งซาวอยถือว่าเป็นพันธมิตรของโดฟีเนและเจ้าชายหลุยส์มีพระประสงค์ในการกระชับความสัมพันธ์ในการที่จะกำจัดกลุ่มกบฏและกองโจรให้หมดไปจากแคว้นของพระองค์ ต่อมาในปี ค.ศ. 1456 เจ้าชายหลุยส์ทรงถูกบังคับให้เสด็จออกจากแคว้นโดยกองทหารของพระเจ้าชาร์ลที่ 7 ทำให้ทั้งแคว้นตกอยู่ในความสับสนวุ่นวาย แต่ต่อมาเมื่อทรงขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าหลุยส์ที่ 11 แห่งฝรั่งเศส พระองค์จึงทรงผนวกเอาโดฟีเนรวมเข้ามาอยู่ใต้อำนาจฝรั่งเศสโดยสมบูรณ์
พระอิสริยยศโดแฟ็งจะถูกพระราชทานโดยอัตโนมัติแก่ทายาทผู้มีสิทธิ์โดยตรงในราชบัลลังก์ฝรั่งเศสลำดับถัดไป ซึ่งลำดับดังกล่าวก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขต่าง ๆ เช่น ลำดับการประสูติ, ลำดับการสืบราชสมบัติของพระราชบิดา-พระราชมารดา หรือการสิ้นพระชนม์ลงของโดแฟ็งพระองค์ก่อนหน้า โดยการพระราชทานยศโดยอัตโนมัตินี้ไม่เหมือนกับการพระราชทานยศเจ้าชายแห่งเวลส์ของอังกฤษ ที่ซึ่งพระมหากษัตริย์อังกฤษจะพระราชทานให้ในรูปของการปูนบำเหน็จอยู่เสมอ ไม่ใช่การได้รับพระยศโดยอัตโนมัติหลังทรงประสูติ
พระราชโอรสในพระมหากษัตริย์แห่งฝรั่งเศสจะดำรงบรรดาศักดิ์ในชั้น ราชโอรสแห่งฝรั่งเศส (ฝรั่งเศส: Fils de France; ฟิสเดอฟร็องส์) ในขณะที่พระนัดดาสายพระโอรสของกษัตริย์จะดำรงบรรดาศักดิ์ในชั้น ราชนัดดาแห่งฝรั่งเศส ส่วนพระโอรส-ธิดาและพระนัดดาในโดแฟ็งแห่งฝรั่งเศสจะทรงบรรดาศักดิ์ในชั้นที่สูงกว่า ซึ่งจะทรงได้รับการปรณนิบัติเทียบเท่าพระราชโอรส-ธิดาและพระราชนัดดาของพระมหากษัตริย์ฝรั่งเศสตามลำดับ เช่น พระโอรสของโดแฟ็งซึ่งเป็นพระราชนัดดาในองค์กษัตริย์ (พระมหากษัตริย์เป็นพระบิดาของโดแฟ็ง โดแฟ็งเป็นพระบิดาของพระโอรสพระองค์นั้น) จะทรงบรรดาศักดิ์เป็นราชโอรสแห่งฝรั่งเศสเทียบเท่าบรรดาพระปิตุลา (ลุง, อา) พระมาตุจฉา (ป้า, น้า) แม้ในความเป็นจริงแล้วจะต้องทรงบรรดาศักดิ์เพียงแค่พระราชนัดดาก็ตาม ส่วนพระนัดดาของโดแฟ็ง (พระราชปนัดดาในพระมหากษัตริย์) ก็จะทรงบรรดาศักดิ์เป็นราชนัดดาแห่งฝรั่งเศส แม้ในความเป็นจริงแล้วจะต้องทรงบรรดาศักดิ์เพียงแค่พระราชปนัดดาเท่านั้น ในขณะที่พระราชปนัดดาในพระมหากษัตริย์พระองค์อื่น ๆ จะทรงบรรดาศักดิ์เป็นเพียง เจ้าชายสืบสายพระโลหิต (ฝรั่งเศส: Prince du sang; แพร็งส์ดูว์ซ็อง)
อิสริยยศโดแฟ็งแห่งฝรั่งเศสถูกยกเลิกโดยรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ค.ศ. 1791 ซึ่งนิยามฝรั่งเศสให้เป็นประเทศราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญ และภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่นี้ได้นิยามให้รัชทายาทผู้สืบราชบัลลังก์ฝรั่งเศส (ในขณะนั้นคือ โดแฟ็งหลุยส์-ชาร์ล) เปลี่ยนพระยศไปเป็น ราชกุมาร (ฝรั่งเศส: Prince royale; แพร็งส์รัวยาล) ส่วนเจ้าชายสืบสายพระโลหิตถูกเปลี่ยนพระยศไปเป็น เจ้าชายฝรั่งเศส (ฝรั่งเศส: Prince français; แพร็งส์ฟร็องแซ) การเปลี่ยนแปลงถูกประกาศรับรองโดยสภานิติบัญญัติและมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1791 ต่อมาเมื่อมีการฟื้นฟูราชวงศ์บูร์บงขึ้น และพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 เสด็จขึ้นครองราชย์ พระยศโดแฟ็งก็ถูกนำกลับมาใช้อีกครั้ง อย่างไรก็ดีในช่วงรัชสมัยดังกล่าวกลับไม่มีผู้ได้ดำรงพระยศโดแฟ็งไปจนกระทั่งพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 เสด็จสวรรคต ต่อมาด้วยการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระอนุชาในพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ซึ่งก็คือ พระเจ้าชาร์ลที่ 10 พระโอรสของพระเจ้าชาร์ลนามว่า หลุยส์-อ็องตวน ดยุกแห่งอ็องกูแลม ผู้เป็นรัชทายาทโดยตรง จึงได้ทรงพระยศโดแฟ็งโดยอัตโนมัติ
ต่อมาเมื่อพระเจ้าชาร์ลที่ 10 ทรงสละราชสมบัติและพระโอรสของพระองค์ก็ทรงปฏิเสธที่จะขึ้นครองราชย์ ทำให้ราชวงศ์บูร์บงพ้นจากการปกครองฝรั่งเศส ตำแหน่งนี้ก็ถูกล้มเลิกไปอีกครั้ง (รัชทายาทของพระเจ้าหลุยส์-ฟิลิปป์ที่ 1 กษัตริย์แห่งฝรั่งเศสพระองค์ต่อมา ทรงบรรดาศักดิ์เป็น "ราชกุมาร") ในภายหลังพระยศโดแฟ็งยังถูกใช้โดยเชื้อพระวงศ์บูร์บงในสเปนในฐานะผู้อ้างสิทธิในราชบัลลังก์สเปนสายสืบสิทธิโดยนิติธรรมอีกด้วย
รายพระนามโดแฟ็งแห่งฝรั่งเศส
แก้รูปภาพ | พระนาม | รัชทายาทใน | ประสูติ | เริ่มต้น | สิ้นสุด | สิ้นพระชนม์ | พระอิสริยยศอื่น | เสวยราชย์เป็น | พระชายา |
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
ชาร์ล โดแฟ็งที่ 1 แห่งฝรั่งเศส | พระเจ้าจอห์นที่ 2 | 21 มกราคม 1338 | 22 สิงหาคม 1350 | 8 เมษายน 1364 เสวยราชสมบัติ |
16 กันยายน 1380 | ดยุกแห่งนอร์ม็องดี | พระเจ้าชาร์ลที่ 5 | ฌานแห่งบูร์บง | |
ฌ็อง โดแฟ็งที่ 2 แห่งฝรั่งเศส | พระเจ้าชาร์ลที่ 5 | 7 มิถุนายน 1366 | 21 ธันวาคม 1366 | – | – | – | |||
ชาร์ล โดแฟ็งที่ 3 แห่งฝรั่งเศส | พระเจ้าชาร์ลที่ 5 | 3 ธันวาคม 1368 | 16 กันยายน 1380 เสวยราชสมบัติ |
21 ตุลาคม 1422 | – | พระเจ้าชาร์ลที่ 6 | – | ||
ชาร์ล โดแฟ็งที่ 4 แห่งฝรั่งเศส | พระเจ้าชาร์ลที่ 6 | 26 กันยายน 1386 | 28 ธันวาคม 1386 | – | – | – | |||
ชาร์ล โดแฟ็งที่ 5 แห่งฝรั่งเศส | 6 กุมภาพันธ์ 1392 | 13 มกราคม 1401 | ดยุกแห่งกุยแยน | – | – | ||||
หลุยส์ โดแฟ็งที่ 6 แห่งฝรั่งเศส | 22 มกราคม 1397 | 13 มกราคม 1401 | 18 ธันวาคม 1415 | ดยุกแห่งกุยแยน | – | มาร์เกอริตแห่งบูร์กอญ | |||
ฌ็อง โดแฟ็งที่ 7 แห่งฝรั่งเศส | 31 สิงหาคม 1398 | 18 ธันวาคม 1415 | 5 เมษายน 1417 | ดยุกแห่งตูแรน | – | ฌักเกอลีนแห่งแอโน | |||
ชาร์ล โดแฟ็งที่ 8 แห่งฝรั่งเศส | 22 กุมภาพันธ์ 1403 | 5 เมษายน 1417 | 21 ตุลาคม 1422 เสวยราชสมบัติ |
22 กรกฎาคม 1461 | เคาน์แห่งปงตีเยอ | พระเจ้าชาร์ลที่ 7 | – | ||
หลุยส์ โดแฟ็งที่ 9 แห่งฝรั่งเศส | พระเจ้าชาร์ลที่ 7 | 3 กรกฎาคม 1423 | 22 กรกฎาคม 1461 เสวยราชสมบัติ |
30 สิงหาคม 1483 | – | พระเจ้าหลุยส์ที่ 9 | มาร์กาเร็ตแห่งสกอตแลนด์ ชาร์ล็อตต์แห่งซาวอย | ||
ฟร็องซัว โดแฟ็งที่ 10 แห่งฝรั่งเศส | พระเจ้าหลุยส์ที่ 9 | 4 ธันวาคม 1466 | – | – | – | ||||
ชาร์ล โดแฟ็งที่ 11 แห่งฝรั่งเศส | พระเจ้าหลุยส์ที่ 9 | 30 มิถุนายน 1470 | 30 สิงหาคม 1483 เสวยราชสมบัติ |
7 เมษายน 1498 | – | พระเจ้าชาร์ลที่ 8 | – | ||
ชาร์ล-ออล็อง โดแฟ็งที่ 12 แห่งฝรั่งเศส | พระเจ้าชาร์ลที่ 8 | 11 ตุลาคม 1492 | 16 ธันวาคม 1495 | – | – | – | |||
ชาร์ล โดแฟ็งที่ 13 แห่งฝรั่งเศส | พระเจ้าชาร์ลที่ 8 | 8 กันยายน 1496 | 2 ตุลาคม 1496 | – | – | – | |||
ฟร็องซัว โดแฟ็งที่ 14 แห่งฝรั่งเศส | พระเจ้าชาร์ลที่ 8 | กรกฎาคม 1497 | – | – | – | ||||
ฟร็องซัว โดแฟ็งที่ 15 แห่งฝรั่งเศส | พระเจ้าฟร็องซัวที่ 1 | 28 กุมภาพันธ์ 1518 | 10 สิงหาคม 1536 | ดยุกแห่งเบรอตาญ | – | – | |||
อ็องรี โดแฟ็งที่ 16 แห่งฝรั่งเศส | พระเจ้าฟร็องซัวที่ 1 | 31 มีนาคม 1519 | 10 สิงหาคม 1536 | 31 มีนาคม 1547 เสวยราชสมบัติ |
10 กรกฎาคม 1559 | ดยุกแห่งออร์เลอ็อง ดยุกแห่งเบรอตาญ |
พระเจ้าอ็องรีที่ 2 | แคทเธอรีน เดอ เมดีชี | |
ฟร็องซัว โดแฟ็งที่ 17 แห่งฝรั่งเศส | พระเจ้าอ็องรีที่ 2 | 19 มกราคม 1544 | 31 มีนาคม 1547 | 10 กรกฎาคม 1559 เสวยราชสมบัติ |
5 ธันวาคม 1560 | พระมหากษัตริย์พระราชสวามีแห่งสกอตแลนด์ | พระเจ้าฟร็องซัวที่ 2 | แมรี พระราชินีนาถแห่งชาวสกอต | |
หลุยส์ โดแฟ็งที่ 18 แห่งฝรั่งเศส | พระเจ้าอ็องรีที่ 4 | 27 กันยายน 1601 | 14 พฤษภาคม 1610 เสวยราชสมบัติ |
14 พฤษภาคม 1643 | – | พระเจ้าหลุยส์ที่ 13 | – | ||
หลุยส์ โดแฟ็งที่ 19 แห่งฝรั่งเศส | พระเจ้าหลุยส์ที่ 13 | 5 กันยายน 1638 | 14 พฤษภาคม 1643 เสวยราชสมบัติ |
1 กันยายน 1715 | – | พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 | – | ||
หลุยส์ โดแฟ็งที่ 20 แห่งฝรั่งเศส | พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 | 1 พฤศจิกายน 1661 | 14 เมษายน 1711 | – | – | มาเรีย อันนา วิกตอเรียแห่งบาวาเรีย | |||
หลุยส์ โดแฟ็งที่ 21 แห่งฝรั่งเศส | พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 | 16 สิงหาคม 1682 | 14 เมษายน 1711 | 18 กุมภาพันธ์ 1712 | ดยุกแห่งบูร์กอญ | – | มารี อะเดเลดแห่งซาวอย | ||
หลุยส์ โดแฟ็งที่ 22 แห่งฝรั่งเศส | พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 | 8 มกราคม 1707 | 18 กุมภาพันธ์ 1712 | 8 มีนาคม 1712 | ดยุกแห่งเบรอตาญ | – | – | ||
หลุยส์ โดแฟ็งที่ 23 แห่งฝรั่งเศส | พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 | 15 กุมภาพันธ์ 1710 | 8 มีนาคม 1712 | 1 กันยายน 1715 เสวยราชสมบัติ |
10 พฤษภาคม 1774 | ดยุกแห่งอองฌู | พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 | – | |
หลุยส์-แฟดีน็อง โดแฟ็งที่ 24 แห่งฝรั่งเศส | พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 | 4 กันยายน 1729 | 20 ธันวาคม 1765 | – | – | มารีอา เตเรซา ราฟาเอลาแห่งสเปน มาเรีย โจเซฟาแห่งซัคเซิน | |||
หลุยส์-ออกุสต์ โดแฟ็งที่ 25 แห่งฝรั่งเศส | พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 | 23 สิงหาคม 1754 | 20 ธันวาคม 1765 | 10 พฤษภาคม 1774 เสวยราชสมบัติ |
21 มกราคม 1793 | ดยุกแห่งแบร์รี | พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 | มาเรีย อันโทเนียแห่งออสเตรีย | |
หลุยส์-โฌแซ็ฟ โดแฟ็งที่ 26 แห่งฝรั่งเศส | พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 | 22 ตุลาคม 1781 | 4 มิถุนายน 1789 | – | – | – | |||
หลุยส์-ชาร์ล โดแฟ็งที่ 27 แห่งฝรั่งเศส | พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 | 27 มีนาคม 1785 | 4 มิถุนายน 1789 | 1 ตุลาคม 1791 ในฐานะเจ้าชายพระราชกุมาร |
8 มิถุนายน 1795 | ดยุกแห่งนอร์ม็องดี | พระเจ้าหลุยส์ที่ 17 | – | |
หลุยส์ อ็องตวน โดแฟ็งที่ 28 แห่งฝรั่งเศส | พระเจ้าชาร์ลที่ 10 | 6 สิงหาคม 1775 | 16 กันยายน 1824 | 2 สิงหาคม 1830 เสวยราชสมบัติ |
3 มิถุนายน 1844 | ดยุกแห่งอ็องกูแลม | พระเจ้าหลุยส์ที่ 19 | มารี-เตแรซแห่งฝรั่งเศส |
ตราอาร์ม
แก้-
ตราอาร์มของโดฟีน
-
ตราอาร์มของโดแฟ็งฟร็องซัว ดยุกแห่งเบรอตาญ
-
ตราอาร์มของพระเจ้าฟรานซิสที่ 2 พระมหากษัตริย์พระราชสวามีแห่งสกอตแลนด์
-
อาร์มของโดแฟ็งแห่งฝรั่งเศส ประกอบด้วยตราแผ่นดิน (เฟลอร์เดอลีส์) และภาพปลาโลมา
-
มงกุฎโดแฟ็งแห่งฝรั่งเศส