โคอาลา
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: 0.7–0Ma
สมัยไพลสโตซีนตอนกลาง – ปัจจุบัน
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
ชั้นฐาน: Marsupialia
อันดับ: Diprotodontia
อันดับย่อย: Vombatiformes
วงศ์: Phascolarctidae
สกุล: Phascolarctos
สปีชีส์: P.  cinereus
ชื่อทวินาม
Phascolarctos cinereus
(Goldfuss, 1817)
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ของโคอาลา

โคอาลา (อังกฤษ: koala) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมีกระเป๋าหน้าท้อง จำพวกพอสซัม (ไม่ใช่หมี) ตัวเมียจะมีกระเป๋าหน้าท้อง สำหรับให้ลูกอ่อนอาศัยอยู่ จากการที่มีลักษณะรูปร่างหน้าตาคล้ายสัตว์ในตระกูลหมี ทำให้ส่วนใหญ่นิยมว่า "หมีโคอาลา" หรือ "หมีต้นไม้"[2][3]

โคอาลา นับเป็นซากดึกดำบรรพ์มีชีวิตอีกชนิดหนึ่ง เนื่องจากพบหลักฐานเป็นฟอสซิลอายุนานกว่า 20 ล้านปีมาแล้ว ในออสเตรเลียตอนใต้ เป็นโคอาลาขนาดยักษ์[4]

ศัพท์มูลวิทยา

แก้

ใน ค.ศ. 1798 มีบันทึกครั้งแรกสุดที่พบโคอาลา ข้อมูลรายละเอียดของโคอาลาเริ่มถูกตีพิมพ์ในซิดนีย์กาเซ็ตต์ ค.ศ. 1816 นักธรรมชาติวิทยาชาวฝรั่งเศส อองรี-มารีย์ ดูโครเตย์ เดอ แบลงวิลล์ ตั้งชื่อทางวิทยาศาสตร์ให้ ชื่อว่า Phascolarctos ซึ่งมาจากภาษากรีก โดยเกิดจากคำ 2 คำ รวมกัน คือคำว่า "กระเป๋าหน้าท้องของจิงโจ้" และคำว่า "หมี" ต่อมานักธรรมชาติวิทยาชาวเยอรมัน ยอร์จ ออกัส โกลด์ฟัสส์ ได้ตั้งชื่อที่เฉพาะเจาะจงลงไปเป็น cinereus ซึ่งหมายถึง "สีขี้เถ้า"[3]

ส่วนชื่อสามัญคำว่า "โคอาลา" มาจากภาษาอะบอริจินี มีความหมายว่า "ไม่กินน้ำ" เนื่องจากพฤติกรรมที่เป็นสัตว์ที่ไม่ดื่มน้ำเลย เพราะได้รับน้ำในปริมาณที่เพียงพอจากใบยูคาลิปตัสอยู่แล้ว[2]

ขนาดและน้ำหนัก

แก้

โคอาลาที่อยู่ทางตอนใต้จะมีขนาดใหญ่กว่าที่อื่น โดยตัวผู้สูงประมาณ 30.8 นิ้ว หรือ 78 เซนติเมตร ในขณะที่ตัวเมียสูงประมาณ 28 นิ้ว หรือ 72 เซนติเมตร โคอาลาที่อยู่ทางตอนใต้ ตัวผู้มีน้ำหนักเฉลี่ย 26 ปอนด์ หรือ 11.8 กิโลกรัม ในขณะน้ำหนักเฉลี่ยของตัวเมียอยู่ที่ 17.4 ปอนด์ หรือ 7.9 กิโลกรัม โคอาลาที่อยู่ทางตอนเหนือ ตัวผู้มีน้ำหนักเฉลี่ย 14.3 ปอนด์ หรือ 6.5 กิโลกรัม ในขณะน้ำหนักเฉลี่ยของตัวเมียอยู่ที่ 11.2 ปอนด์ หรือ 5.1 กิโลกรัม โคอาลาแรกเกิดมีน้ำหนักเพียง 0.5 กิโลกรัม เท่านั้น โคอาลาที่อยู่ทางตอนใต้มีขนที่หนาเหมือนขนแกะ บริเวณหลังจะมีขนที่หนาและยาวกว่าบริเวณท้อง โคอาลาที่อยู่ทางตอนเหนือมีขนที่สั้นกว่า โคอาลามีขนหนาที่สุดเมื่อเทียบกับสัตว์มีกระเป๋าหน้าท้องอื่น ๆ ขนมีสีเทา ถึง น้ำตาลปนเหลือง และมีสีขาวบริเวณคาง หน้าอก และด้านหน้าของแขน–ขา ขนบริเวณหูมีลักษณะเป็นปุย และมีขนสีขาวที่ยาวกว่าบริเวณอื่น

ถิ่นที่อยู่อาศัย

แก้

โคอาลาอาศัยอยู่ในป่าที่มีต้นยูคาลิปตัส ปัจจุบันจะพบโคอาลาได้ที่ รัฐควีนส์แลนด์, รัฐนิวเซาท์เวลส์, รัฐวิกตอเรีย และรัฐเซาท์ออสเตรเลีย

ศัตรู

แก้

ศัตรูที่สำคัญที่สุดของโคอาลา คือ มนุษย์ที่ล่าเพื่อเอาขน เนื่องจากไม่ค่อยมีศัตรูตามธรรมชาติ จนกระทั่งเกือบถึงขั้นสูญพันธุ์ ในปี ค.ศ. 1963 จึงมีการออกกฎหมายห้ามล่าโคอาลาขึ้นมา[3]

อาหาร

แก้

โคอาลากินใบยูคาลิปตัสเป็นอาหาร ฟันและระบบย่อยอาหารถูกพัฒนามาให้สามารถกินและย่อยใบยูคาลิปตัสได้ ใบยูคาลิปตัสมีสารอาหารน้อยมาก และยังมีสารที่มีพิษต่อสัตว์ แต่ระบบย่อยอาหารของโคอาลามีการปรับตัว ทำให้สามารถทำลายพิษนั้นได้ โคอาลามีอวัยวะที่ทำหน้าที่ในการย่อยไฟเบอร์ (ส่วนประกอบหลักของใบยูคาลิปตัส) ยาวมากถึง 200 เซนติเมตร ที่บริเวณอวัยวะนี้ จะมีแบคทีเรียที่ช่วยในการย่อยไฟเบอร์ให้กลายเป็นสารอาหารที่ดูดซึมได้ อย่างไรก็ตาม โคอาลามีการดูดซึมสารที่ได้จากการย่อยไฟเบอร์ไปใช้เพียงแค่ร้อยละ 25 ของที่มันกินไปเท่านั้น ส่วนน้ำในใบยูคาลิปตัสส่วนใหญ่ถูกดูดซึม ทำให้โคอาลาไม่ค่อยหาน้ำกินจากแหล่งน้ำ ส่วน ใหญ่โคอาลากินใบยูคาลิปตัสประมาณวันละ 2,000 ถึง 5,000 กรัม โดยปกติมันจะนอนถึง 16–24 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อรักษาพลังงานไว้ ทำให้โคอาลาวิวัฒนาการตัวเองให้มีสมองขนาดเท่ากับมะเขือเทศหนึ่งผลเท่านั้น[5]

อย่างไรก็ตาม ใบของยูคาลิปตัสมีความเหนียวมาก ทำให้โคอาลาต้องใช้การเคี้ยวในแต่ละครั้งอยู่เป็นเวลานานกว่าจะกลืนลงไป โดยอาจจะเคี้ยวมากถึง 16,000 ครั้งต่อวัน ทำให้โคอาลาตัวที่มีอายุมาก ฟันจะสึกหมดปาก[6]

การสืบพันธุ์

แก้

ฤดูการสืบพันธุ์ของโคอาลาอยู่ในช่วงฤดูฝน (ราวเดือนกันยายน–มีนาคม) โดยปกติโคอาลาโดยเฉพาะตัวผู้เป็นสัตว์ที่ก้าวร้าว ดุร้าย จึงมักอยู่อย่างสันโดษ ตัวผู้และตัวเมียจะอยู่ด้วยกันก็ต่อเมื่อในฤดูผสมพันธุ์เท่านั้น[7] ตัวเมียเริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุ 3 ถึง 4 ปี และมักมีลูกปีละตัว แต่ทั้งนี้อาจมีลูกปีเว้นปี หรือ ปีเว้น 2 ปี ก็ได้ ขึ้นกับอายุของตัวเมียและสภาพแวดล้อม อายุขัยเฉลี่ยของโคอาลาตัวเมียประมาณ 12 ปี ทำให้มีลูกได้อย่างมาก 5–6 ตัว ตลอดอายุขัยของมัน มันใช้เวลาตั้งท้องประมาณ 34–36 วัน ลูกโคอาลาที่เกิดใหม่ มีความยาวเพียง 2 เซนติเมตร และมีน้ำหนักไม่ถึง 1 กรัม ผิวหนังสีชมพู ไม่มีขน ยังไม่ลืมตา และยังไม่มีหู ลูกโคอาลาจะอาศัยอยู่ในกระเป๋าหน้าท้องของแม่ และกินนมแม่อยู่นาน 7–8 เดือน หลังจากอายุได้ 6–7 สัปดาห์ ลูกโคอาลามีความยาวของหัวประมาณ 26 มิลลิเมตร และเมื่อเริ่มสัปดาห์ที่ 13 จะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเป็น 50 กรัม และมีความยาวของหัวเพิ่มขึ้นเป็น 50 มิลลิเมตร เมื่ออายุได้ 22 สัปดาห์ ตาของลูกโคอาลาจะเริ่มเปิด และมันจะเริ่มโผล่หัวออกมาจากกระเป๋าหน้าท้องของแม่ พออายุได้ 24 สัปดาห์ จะมีขนเต็มตัว และฟันซี่แรกเริ่มงอก สัปดาห์ที่ 30 ลูกโคอาลาจะมีน้ำหนักประมาณ 0.5 กิโลกรัม และมีขนาดของหัวยาว 70 มิลลิเมตร ตอนนี้มันเริ่มใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ข้างนอกกระเป๋าหน้าท้องของแม่ สัปดาห์ที่ 36 ลูกโคอาลามีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเป็น 1 กิโลกรัม และไม่เข้าไปอยู่ในกระเป๋าหน้าท้องแม่อีกแล้ว ส่วนมากมันมักจะเกาะอยู่ที่หลังของแม่ แต่ในช่วงอากาศหนาว หรืออากาศชื้น มันก็จะกลับเข้าไปอยู่ในกระเป๋าหน้าท้องของแม่อีก สัปดาห์ที่ 37 ลูกโคอาลาเริ่มออกห่างจากแม่เพื่อเดินเที่ยวเล่น แต่ยังอยู่ในระยะใกล้ ๆ สัปดาห์ที่ 44 ลูกโคอาลากล้าเดินออกมาไกลมากขึ้น แต่ยังไปเกินระยะทาง 1 เมตร ที่ห่างจากแม่ สัปดาห์ที่ 48 ลูกโคอาลายิ่งมีความอยากผจญภัย หรืออยากรู้อยากเห็นยิ่งขึ้น และไม่ส่งเสียงร้องอีกแล้วเมื่อแม่ของมันเดินห่างออกไป มันจะอยู่กับแม่ของมันถึงอายุประมาณ 1 ปี ซึ่งช่วงนี้มันจะมีน้ำหนัก 2 กิโลกรัมกว่าเล็กน้อย

ในระยะแรก ๆ ลูกโคอาลาจะกินมูลของแม่ด้วย เพื่อให้ร่างกายได้สะสมแบคทีเรียจำพวกเพปไทด์ซึ่งมีฤทธิ์ในการย่อยใบยูคาลิปตัส ซึ่งจะเป็นประโยชน์เมื่อโตขึ้น[6]

อายุขัย

แก้

ขึ้นกับปัจจัยรอบข้าง โดยเฉลี่ยมีอายุประมาณ 13–20 ปี เนื่องจากยีนส์

การติดต่อสื่อสาร

แก้

โคอาลาใช้เสียงในการติดต่อสื่อสาร ซึ่งเสียงที่ใช้มีหลายลักษณะ โดยทั่วไปตัวผู้มักส่งเสียงร้องดังเพื่อประกาศหรือบอกบริเวณที่ตนอาศัยอยู่ ในขณะที่ตัวเมียจะไม่ค่อยส่งเสียงร้อง ตัวเมียจะส่งเสียงร้องดังเมื่อมีอาการก้าวร้าว สำหรับโคอาลาตัวเมียที่มีลูกอ่อน จะใช้เสียงที่มีความอ่อนโยนกับลูกของตนเอง เมื่อเกิดความกลัวขึ้น โคอาลาทั้งตัวผู้และตัวเมียจะใช้ส่งเสียงคล้ายเสียงเด็กร้องไห้ นอกจากนี้ โคอาลายังใช้กลิ่นของตนเองทำเครื่องหมายตามต้นไม้ที่ต่าง ๆ ในการติดต่อถึงกัน

ในสถานที่เลี้ยง

แก้

ปัจจุบัน โคอาลาได้กลายเป็นสัตว์ที่มีจัดแสดงตามสวนสัตว์ต่าง ๆ ทั่วโลก โดยสามารถเพาะขยายพันธุ์ในสถานที่เลี้ยงได้ สำหรับในประเทศไทย จนถึงปัจจุบัน (ค.ศ. 2016) สามารถเพาะขยายพันธุ์โคอาลาได้แล้วถึง 20 ตัว และจำหน่ายไปยังสวนสัตว์ต่าง ๆ ทั่วโลก[7]

รูปภาพ

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. Gordon, G.; Menkhorst, P.; Robinson, T.; Lunney, D.; Martin, R.; Ellis, M. (2008). "Phascolarctos cinereus". IUCN Red List of Threatened Species. Version 2012.2. สืบค้นเมื่อ 2013-03-08.
  2. 2.0 2.1 สัตว์น่ารู้ :โคอาลา จากช่อง 7
  3. 3.0 3.1 3.2 หมีโคอาลา, หน้า 22-24 "สัตว์สวยป่างาม" โดย ชมรมนิเวศวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล (สิงหาคม, 2518)
  4. "12 Amazing Living Animal Fossils". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-02-13. สืบค้นเมื่อ 2013-01-03.
  5. Australia. "Mutant Planet" สารคดีทางอนิมอลพลาเน็ต ทางทรูวิชั่นส์: เสาร์ที่ 29 ธันวาคม 2555
  6. 6.0 6.1 "สารคดี BBC : อัศจรรย์แดนจิงโจ้ ตอนที่ 7 คลิป 2/2". ช่อง 7. 6 November 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-09-17. สืบค้นเมื่อ 6 November 2014.
  7. 7.0 7.1 หน้า 5, โคอาล่าอาโนเนะ ดาวสวนสัตว์เชียงใหม่. "สกู๊ปพิเศษ". ไทยรัฐปีที่ 67 ฉบับที่ 21350: วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 8 ปีวอก

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

  ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Phascolarctos cinereus ที่วิกิสปีชีส์