แพรรีด็อก
แพรรีด็อก ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: ไพลโอซีนยุคสุดท้าย-ปัจจุบัน | |
---|---|
แพรรีด็อกหางดำ (C. ludovicianus) | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Mammalia |
อันดับ: | Rodentia |
อันดับย่อย: | Sciuromorpha |
วงศ์: | Sciuridae |
วงศ์ย่อย: | Xerinae |
สกุล: | Cynomys Rafinesque, 1817 |
ชนิด | |
|
แพรรีด็อก (อังกฤษ: prairie dog) เป็นสกุลของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสกุลหนึ่ง ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cynomys (/ไซ-โน-มีส/) ในวงศ์กระรอก (Sciuridae)
แพรรีด็อกมีลักษณะโดยทั่วไป คือ ใบหูเล็ก ดวงตากลมโต ฟันแข็งแรง ขาคู่หน้าจะมีเล็บที่แหลมคมและแข็งแรง มีหน้าที่ขุดคุ้ยดินเพื่อหาอาหารและขุดโพรงอยู่อาศัย ออกหาอาหารในเวลากลางวันซึ่งกินได้ทั้งพืชและสัตว์ จำพวกหญ้า ผัก เมล็ดพืชต่าง ๆ รวมถึง แมลงและหนอน
มีสีขนสีน้ำตาลทอง ปลายหางมีสีดำ ส่วนของหางมีความยาว 3-4 นิ้ว เท้ามีสีครีม ลำตัวอ้วนกลม เมื่อโตเต็มที่มีน้ำหนักประมาณ 1-2 กิโลกรัม
แม้แพรรีด็อกจะเป็นสัตว์ฟันแทะวงศ์เดียวกับกระรอก แต่จะไม่อาศัยและหากินบนต้นไม้เหมือนกระรอกทั่วไป แต่จะหากินและทำรังด้วยการขุดโพรงอยู่ตามพื้นดินทุ่งราบและพื้นที่ที่เป็นดินโล่ง เช่น ทุ่งหญ้าแพรรีในอเมริกาเหนือและเม็กซิโก มีทั้งหมด 5 ชนิด ได้แก่[1]
- Cynomys gunnisoni (Baird, 1855)
- Cynomys leucurus Merriam, 1890
- Cynomys ludovicianus (Ord, 1815)
- Cynomys mexicanus Merriam, 1892
- Cynomys parvidens J. A. Allen, 1905
แพรรีด็อกเป็นสัตว์สังคม จึงมักอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง มีตัวผู้คุมฝูง 1 ตัว ต่อตัวเมียประมาณ 4 ตัว มีความพร้อมเจริญพันธุ์เมื่ออายุ 1 ปีขึ้นไป ในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายนจะเป็นระยะผสมพันธุ์ ตัวเมียใช้เวลาตั้งท้องนานประมาณ 28-32 วัน (ประมาณ 1 เดือน) ออกลูกครอกละประมาณ 4-8 ตัวต่อปี แพรรีด็อกเกิดใหม่ยังไม่ลืมตาและขนยังไม่ขึ้น กระทั่งเข้าสู่สัปดาห์ที่ 6 หรือประมาณเดือนครึ่ง มีอายุขัยโดยเฉลี่ยในตัวเมียราว 8 ปี ส่วนตัวผู้เฉลี่ยที่ 5 ปี
แพรรีด็อกเป็นสัตว์ที่ขุดโพรงดินใช้เป็นที่อยู่อาศัย ที่ในแต่ละฤดูมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเป็นอย่างมาก โพรงที่อยู่ใต้ดินจึงต้องทนต่ออุณหภูมิที่สูงที่สุด ต่ำที่สุด ทนน้ำท่วมรวมทั้งไฟไหม้ลามทุ่ง โดยแบ่งออกเป็นห้อง ๆ แต่ละห้องจะอยู่ในระดับความลึกต่างระดับกัน เพื่อใช้ในวัตถุประสงค์ที่ต่างกัน เช่น ห้องเลี้ยงลูกอ่อน จะอยู่ในระดับที่มีอุณหภูมิค่อนข้างคงที่ ยังมีห้องใกล้กับพื้นผิวดินที่สามารถใช้หลบบรรดาสัตว์นักล่าจากด้านบนได้อย่างรวดเร็ว และยังมีห้องสำหรับการจัดเก็บเสบียงอาหาร ห้องที่สามารถใช้ฟังเสียงสัตว์นักล่าซึ่งอาจมาป้วนเปี้ยนอยู่นอกโพรง โพรงแพรรีด็อกยังมีการขยายอาณาเขตออกเป็นเมืองที่ครอบคลุมพื้นที่หลายเอเคอร์ โดยมีแพรรีด็อกประมาณ 5-35 ตัวต่อเอเคอร์ ในยุคสมัยก่อนที่มนุษย์จะเข้ามาอาศัยอยู่ในท้องทุ่ง เคยมีแพรรีด็อกครอบครองดินแดนอยู่ก่อนอย่างมากมายมหาศาล หนึ่งในเมืองของแพรรีด็อกที่พบในรัฐเท็กซัสเมื่อปี ค.ศ. 1900 ครอบคลุมพื้นที่ถึง 64,000 ตารางกิโลเมตร และมีจำนวนประชากรแพรรีด็อกอยู่ถึงประมาณ 400 ล้านตัว[2]
มีพฤติกรรมทางสังคมที่มักออกมาทักทายกันเองในฝูง ซึ่งเวลาที่เจอกันครั้งแรกจะทักทายกันด้วยการยิงฟันและแตะกันคล้ายกับการโอบกอดหรือจูบ จากนั้นก็จะช่วยกันทำความสะอาดขนให้กันและกัน
แพรรีด็อกมีจุดเด่นประการหนึ่งอันเป็นที่มาของชื่อ คือ เสียงร้องที่คล้ายกับเสียงสุนัขเห่า จึงเป็นที่มาของชื่อ
ปัจจุบัน นิยมเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง[3] [4]
อ้างอิง
แก้- ↑ จาก itis.gov (อังกฤษ)
- ↑ "ยอดสถาปนิก แห่งอาณาจักรสัตว์". ไทยรัฐ. 12 October 2014. สืบค้นเมื่อ 12 October 2014.
- ↑ [https://web.archive.org/web/20160305204201/http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9540000093799 เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน แพรรีด็อก กระรอกเห่าได้ จากผู้จัดการออนไลน์]
- ↑ "กระรอกดิน "แพรรีด็อก" เห็นศัตรู เสียงเห่าเหมือนสุนัข". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-04-23. สืบค้นเมื่อ 2012-04-08.
5. https://www.facebook.com/PrairieDogsClubV2/ 6. https://prairiedogsclub.business.site/
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Cynomys ที่วิกิสปีชีส์