แคน
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
แคน เป็นเครื่องดนตรีพื้นเมืองชนิดหนึ่งของประเทศลาวและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ในประเทศไทย และถือเป็นสัญลักษณ์ประจำกลุ่มชาติพันธุ์ลาวอีกด้วย
แคนเป็นเครื่องดนตรีประจำชาติลาว[1][2] ดนตรีแคนเป็นส่วนสำคัญที่ส่งเสริมความสามัคคีในครอบครัวและสังคมของชีวิตชาวลาว[3] และได้รับการบรรจุในรายการมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโกใน ค.ศ. 2017[4]
เครื่องดนตรีชนิดนี้จะใช้ไม้ซางขนาดต่าง ๆ ประกอบกันเข้าเป็นตัวแคน แคนเป็นเครื่องเป่ามีลิ้นโลหะ เสียงเกิดจากลมผ่านลิ้นโลหะไปตามลำไม้ที่เป็นลูกแคน การเป่าแคนต้องใช้ทั้งเป่าลมเข้าและดูดลมออกด้วย จึงเป่ายากพอสมควรและแคนมีหลายขนาด ถือเป็นเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งที่ให้เสียงไพเราะ เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว สร้างเสียงประสานได้ในตัวเอง บ่งบอกถึงวิถีชีวิตของชาวพื้นเมืองบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงได้เป็นอย่างดี ใครเป็นผู้คิดประดิษฐ์เครื่องดนตรีที่เรียกว่า "แคน" เป็น คนแรก และทำไมจึงเรียกว่า "แคน" นั้น ยังไม่มีหลักฐานที่แน่นอนยืนยันได้
ประวัติ
แก้ประวัติความเป็นมาของเครื่องดนตรีแคนนั้นยังไม่มีความชัดเจนแต่ว่าคำว่า แคน ถูกกล่าวถึงครั้งแรกตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ในวรรณคดีประเภทกาพย์ เรื่องอนิรุทธ์คำฉันท์[5][6]
จำเรียงสานเสียง
ประอรประเอียง กรกรีดเพยียทอง
เต่งติงเพลงพิณ ปี่แคนทรลอง
สำหรับลบอง ลเบงเฉ่งฉันท์
ประเภทของแคน
แก้แคนมีหลายประเภทตามจำนวนลูกแคน คือ
- แคนหก มีลูกแคน 6 คู่ (12 ลูก) เป็นแคนขนาดเล็กที่สุด สำหรับเด็กหรือผู้เริ่มฝึกหัดใช้เป่าเพลงง่าย ๆ เพราะเสียงไม่ครบ บางทีก็จะทำเป็นของที่ระลึกสำหรับนักท่องเที่ยว
- แคนเจ็ด มีลูกแคน 7 คู่ (14 ลูก) เป็นแคนขนาดกลาง มีเสียงครบ 7 เสียง ตามระบบสากล และมีระดับเสียงสูง ต่ำ ทั้ง 7 เสียง หรือที่เรียกว่า คู่แปด คือ โด เร มี ฟา ซอล ลา ที (คู่แปด คือทุกเสียงเช่นเสียงโด ก็จะมีทั้งเสียงโดสูง และโดต่ำ ทุกเสียงมีคู่เสียงทั้งหมด) แคน 7 ไม่มีเสียงเสพที่เป็นเสียง ซอลสูง ด้านแพซ้าย และไม่มีเสียงเสพที่เป็นเสียง ลาสูง ทางด้านแพขวา
- แคนแปด ใหญ่กว่าแคนเจ็ด มีลูกแคน 8 คู่ (16 ลูก) คือ โด เร มี ฟา ซอล ลา ที โด เพิ่มคู่เสียงระดับสูงขึ้นไปให้เป็นเสียงประสานในการเล่นเพลงพื้นเมือง ได้แก่ เสียง ซอลสูง ด้านแพซ้าย และเสียงเสพที่เป็นเสียง ลาสูง ทางด้านแพขวา
- แคนเก้า มีลูกแคน 9 คู่ (18 ลูก) ใหญ่ที่สุด มีเสียงต่ำที่สุด เวลาเป่าต้องใช้ลมมาก มีจำนวนคู่เสียงครบเช่นเดียวกับแคนแปด แต่ที่เพิ่มขึ้นมาอีกก็คือเพิ่มเสียงเสพประสานด้านแพซ้ายที่เป็นเสียงซอลสูงอีกหนึ่งเสียง และเพิ่มเสียงเสพประสานที่แพขวาซึ่งเป็นเสียงลาสูงอีกหนึ่งเสียง สรุปแล้วจึงมีลูกแคนทั้งหมด 9 คู่ และที่สำคัญคือเป็นแคนเสียงต่ำที่ใช้เป่าให้เป็นเสียงเบสในการเป่าแบบแคนวง แต่ในปัจจุบันวงดนตรีพื้นเมืองนิยมใช้พิณเบสหรือเบสของดนตรีสากล แคน 9 จึงไม่เป็นนิยมอีก จึงทำให้เยาวชนรุ่นหลังไม่มีโอกาสได้เห็นได้ยินการบรรเลงของแคน 9 อีกเลย
- แคนสิบ เป็นแคนที่ปรับปรุงมาจากแคนแปด โดยผู้ประดิษฐ์และออกแบบ ชื่อ สำเร็จ คำโมง แต่ในระยะหลังไม่เป็นที่นิยมมากนักจึงไม่มีผู้สืบทอดผลงานนี้ไว้
แคนนอกจากบรรเลงเป็นวงแล้ว ก็ยังใช้บรรเลงประกอบการลำ (การขับร้อง) หรือใช้บรรเลงร่วมกับพิณ โปงลาง ฯลฯ
ประเภทของลิ้นแคน
แก้ใช้ทองแดงผสมเงิน ช่างที่มีฝีมือนิยมใช้เหรียญสมัยรัชกาลที่ห้า น้ำหนักเงิน 1 บาท ผสมกับเหรียญสตางค์ แบ่งออกเป็น
- ลิ้นเงิน แบ่งออกเป็น
- เงินสองทองหนึ่ง มีเนื้อเงินมากที่สุดให้เสียงนุ่มละมุน มีน้ำหนักลงลึกมีมิติ ส่วนมากมีในช่างอุบลรุ่นก่อน ๆ ปัจจุบันแทบไม่มีทำแล้ว
- เงินสองทองสาม มีเนื้อเงินน้อยกว่าแบบแรก ให้เสียงที่สดใสขึ้น แต่น้ำหนักเสียงลดลง
- ลิ้นเงินสับทอง (สลับหรือผสม) มีทองแดง 50% ขึ้นไป มีอัตราไม่แน่นอนแล้วแต่ช่างจะคิดขึ้นมาเฉพาะตัว ให้เสียงที่ดังกังวาน ดังไกล แต่น้ำหนักเสียงเบา เป่ายาก ใช้ลมมาก การอยู่ตัวของลิ้นยากขึ้นเช่น เงินหนึ่งทองสี่ เงินหนึ่งทองหก เงินหนึ่งทองสิบ
- ลิ้นทอง อาจเป็นทองแดง ทองสำริด ปลอกกระสุน ฯลฯ
อ้างอิง
แก้- ↑ "Exhibition: "Voices of the Wind: Traditional Instruments in Laos"". ASEF culture360 (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2021-05-27.
- ↑ "Laos Music - Everything about Laotian Traditional Music". Laos Tours (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2017-05-18. สืบค้นเมื่อ 2021-05-27.
- ↑ Yap, Jasmina (2018-04-14). "Laos Celebrates Khaen Music as UNESCO World Intangible Cultural Heritage". Laotian Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2021-05-27.
- ↑ "UNESCO - Khaen music of the Lao people". ich.unesco.org (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2021-05-27.
- ↑ ธนกฤต ก้องเวหา (February 7, 2023), "วรรณคดีสมัยอยุธยา เผยความเป็นไทยของ "แคน" ก่อนถูกผลักให้เป็นลาว", silpa-mag.com
- ↑ "อนิรุทธคำฉันท์", vajirayana.org, สืบค้นเมื่อ April 20, 2023