เสือ เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในวงศ์ฟิลิดีซึ่งเป็นวงศ์เดียวกับแมวโดยชนิดที่เรียกว่าเสือมักมีขนาดลำตัวค่อนข้างใหญ่กว่า[1]และอาศัยอยู่ภายในป่า ขนาดของลำตัวประมาณ 168 - 310 เซนติเมตร[2] และหนักประมาณ 180 - 300 กิโลกรัม[3] รูม่านตากลม เป็นสัตว์กินเนื้อกลุ่มหนึ่ง มีลักษณะและรูปร่างรวมทั้งพฤติกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ แตกต่างจากสัตว์ในกลุ่มอื่น หากินเวลากลางคืน มีถิ่นกำเนิดในป่า เสือส่วนใหญ่ยังคงมีความสามารถในการปีนป่ายต้นไม้ ซึ่งยกเว้นเสือชีต้า เสือทุกชนิดมีกรามที่สั้นและแข็งแรง มีเขี้ยว 2 คู่สำหรับกัดเหยื่อ ทั่วทั้งโลกมีสัตว์ที่อยู่ในวงศ์เสือและแมวประมาณ 37 ชนิด ซึ่งรวมทั้งแมวบ้านด้วย[4]

เสือ
เสือโคร่งไซบีเรีย (Panthera tigris altaica) สัตว์จำพวกเสือที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอต
Eukaryota
อาณาจักร: สัตว์
Animalia
ไฟลัม: สัตว์มีแกนสันหลัง
Chordata
ชั้น: สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
Mammalia
อันดับ: สัตว์กินเนื้อ
Carnivora
อันดับย่อย: เฟลิฟอเมีย
Feliformia
วงศ์ใหญ่: Feloidea
Feloidea
วงศ์: เสือและแมว
Felidae
สายพันธุ์

เสือจัดเป็นสัตว์นักล่าที่มีความสง่างามในตัวเอง โดยเฉพาะเสือขนาดใหญ่ที่แลดูน่าเกรงขาม ไม่ว่าจะเป็นเสือโคร่งหรือเสือดาว ผู้ที่พบเห็นเสือในครั้งแรกย่อมเกิดความประทับใจในความสง่างาม แต่ในขณะเดียวกันก็เกิดความหวาดหวั่นเกรงขามในพละกำลังและอำนาจภายในตัวของพวกมัน เสือจึงได้รับการยกย่องให้เป็นราชาแห่งสัตว์ป่าอย่างแท้จริง [5][6]

ปัจจุบันจำนวนของเสือในประเทศไทยลดจำนวนลงเป็นอย่างมาก ในระยะเวลาไม่ถึง 10 ปี เสือกลับถูกล่า ป่าภายในประเทศถูกทำลายเป็นอย่างมาก สภาพธรรมชาติในพื้นที่ต่าง ๆ ถูกเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมาย ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ของมนุษย์เอง ทุกวันนี้ปริมาณของเสือที่จัดอยู่ในลำดับสุดท้ายของห่วงโซ่อาหารถือเป็นสิ่งจำเป็น เพราะการสูญสิ้นหรือลดจำนวนลงอย่างมากของเสือซึ่งเป็นสัตว์กินเนื้อ จะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างและระบบนิเวศทั้งหมด การลดจำนวนอย่างรวดเร็วของเสือเพียงหนึ่งหรือสองชนิดในประเทศไทย ทำให้ปริมาณของสัตว์กินพืชเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทำให้ธรรมชาติเสียความสมดุลในที่สุด

ลักษณะทั่วไป

แก้
 
เสือโคร่งเบงกอล (Panthera tigris tigris)

เสือส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในป่าและทุ่งหญ้า ส่วนใหญ่ไม่ชอบน้ำเช่นเดียวกับแมวทั่วไป มีเพียงเสือโคร่ง[7]และเสือจากัวร์เท่านั้นที่ชอบน้ำ[8] ยิ่งกว่านั้นสถานที่ที่พบเสือโคร่งบ่อยที่สุดมักจะเป็นแอ่งน้ำ ทะเลสาบ หรือแม่น้ำ เสือเป็นสัตว์ที่หากินโดยลำพัง อาหารหลักมักจะเป็นสัตว์กินพืชขนาดกลางอย่างเช่น กวาง หมูป่า และควาย ซึ่งจะล่าเหยื่อด้วยวิธีการเดิน ย่อง วิ่งไล่และตะครุบเหยื่อ อย่างไรก็ตามพวกมันอาจจะออกล่าสัตว์ที่ขนาดใหญ่กว่าหรือเล็กกว่าในสถานการณ์ที่คับขัน

เสือมีลักษณะพิเศษคือสามารถซ่อนเล็บไว้ในปลายนิ้วเท้าได้ เมื่อต้องการจับยึดเหยื่อจะกางเล็บเท้าหน้าออก ส่วนเล็บเท้าด้านหลังจะใช้เป็นอาวุธสำหรับฉีกกระชากเหยื่อ และในขณะที่เสือวิ่งเล็บเท้าหลังจะช่วยยึดเกาะ ทำให้สามารถตะกุยพื้นเร่งความเร็วได้เร็วขึ้น นอกจากนี้วิธีการหดซ่อนเล็บของเสือยังเป็นวิธีการรักษาความแหลมคมของเล็บไว้ เพื่อป้องกันการขูดขีดขณะเดินหรือเคลื่อนไหวตามปกติ ศัตรูเพียงชนิดเดียวของเสือก็คือมนุษย์ ปัจจุบันเสือถูกล่าอย่างผิดกฎหมายเพื่อนำไปทำเสื้อขนสัตว์ และเป็นความเชื่อในการทำยาบำรุงกำลังของผู้ชาย

จากความเสียหายของถิ่นที่อยู่ รวมทั้งการล่าเพื่อทำหนังขนสัตว์ จำนวนเสือตามธรรมชาติจึงลดน้อยลง เสือจึงเป็นสัตว์ที่อยู่รายการสปีชีส์ที่กำลังอยู่ในอันตราย เสือเป็นหนึ่งในสัตว์ที่อยู่ในระดับเหนือสุดของห่วงโซ่อาหาร เพราะการสูญสิ้นหรือลดปริมาณลงอย่างรวดเร็วของเสือ ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างและความสัมพันธ์ของห่วงโซ่อาหารและระบบนิเวศทั้งหมด การสูญพันธุ์ของสัตว์กินเนื้อเพียงหนึ่งหรือสองชนิด จะทำให้กลุ่มของสัตว์กินพืชเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างรวดเร็วจนกระทั่งธรรมชาติเสียความสมดุล ปัจจุบันได้มีมาตรการคุ้มครองสัตว์กินเนื้อ โดยเฉพาะสัตว์ในกลุ่มเสือให้รอดพ้นจากการล่าของมนุษย์ เพื่อให้สัตว์กินเนื้อเหล่านี้ไม่สูญพันธุ์ไปจนหมด

วิวัฒนาการของเสือ

แก้

สัตว์ในกลุ่มเสือซึ่งหมายรวมถึงเสือและแมวทุกชนิด ถูกจัดอยู่ในกลุ่มของสิ่งที่มีชีวิตในวงศ์ฟิลิดี เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมซึ่งมีขนปกคลุมทั่วทั้งร่างกาย มีปอดไว้สำหรับหายใจ หัวใจมี 4 ห้องและมีลักษณะที่สำคัญที่สุดคือ ตัวเมียมีเต้านมและน้ำนมไว้สำหรับเลี้ยงลูกอ่อน ซึ่งส่วนใหญ่การปฏิสนธิและเจริญเติบโตของลูกอ่อน จะเกิดขึ้นภายในมดลูกของตัวเมีย มีเขี้ยวที่ใช้ฆ่าเหยื่อ มีฟันกรามที่คมเหมือนมีดไว้สำหรับตัดเนื้อ ซึ่งพัฒนามาจากฟันกรามที่ทำหน้าที่สำหรับบดเคี้ยว มีข้อต่อสำหรับกระดูกสันหลังที่ยืดหยุ่นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการวิ่ง การเร่งความเร็วในการวิ่ง และการกระโจน มีนิ้วเท้า 5 นิ้วและเล็บแหลมคม

สัตว์กินเนื้อเริ่มปรากฏตัวขึ้นเป็นครั้งแรกในโลกเมื่อต้นมหายุคซีโนโซอิก (อังกฤษ: Cenozoic) หรือเมื่อประมาณ 65 ล้านปีก่อน ซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์กินเนื้อในยุคนี้ คือกลุ่มของสัตว์ที่เรียกกันว่าไมเอซิดี (อังกฤษ: Miacidae)[9] ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนาดเล็ก ลักษณะลำตัวยาว มีหางสั้น มีอวัยวะที่ยื่นออกมาจากลำตัวและข้อต่อที่สามารถยืดหยุ่นได้เป็นอย่างดี ลักษณะของไมเอซิดีจะคล้ายกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กในปัจจุบันคือ จีเน็ต (อังกฤษ: Genets) ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีลักษณะคล้ายกับสัตว์จำพวกชะมด (อังกฤษ: Civet) มีขนาดสมองที่เล็กและกะโหลกแบน มีอุ้งเท้าที่กว้างและนิ้วเท้าที่แยกออกจากกัน อาศัยในป่า แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือไวเวอร์ราวิน (อังกฤษ: Viverravines) และไมเอซิน (อังกฤษ: Miachines) ซึ่งมีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ในหินที่มีอายุประมาณ 39 ล้านปี และในช่วงระยะเวลา 39 ล้านปีก่อนนี้เอง ปลายสมัยอีโอซีน (อังกฤษ: Eocene) ซึ่งต่อกันกับสมัยโอลิโกซีน (อังกฤษ: Oligocene) เป็นช่วงเวลาที่สัตว์กินเนื้อปรากฏขึ้นบนโลกมากมายหลากหลายชนิด กระจายถิ่นฐานตามพื้นที่ต่าง ๆ อย่างกว้างขวางจนก้าวขึ้นมาเป็นผู้ปกครองโลกแทนไดโนเสาร์ที่พึ่งจะสูญพันธุ์ไป[10]

สัตว์กินเนื้อที่เรียกว่า ไมเอซิดี คือ ไวเวอร์ราวินและไมเอซิน เป็นจุดเริ่มต้นวิวัฒนาการของสัตว์กินเนื้ออีก 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ อาร์กทอยเดีย (อังกฤษ: Arctoidea) และ แอลูรอยเดีย (อังกฤษ: Aeluroidea) ซึ่งลักษณะของอาร์กทอยเดีย คือสัตว์กินเนื้อที่มีรูปร่างคล้ายหมี ได้แก่สัตว์จำพวกหมี แร็กคูน แมวน้ำ วอลรัส เพียงพอน (วีเซิล) หมูหริ่ง (แบดเจอร์) และหมีแพนด้า ส่วนแอรูรอยเดีย คือสัตว์กินเนื้อที่มีรูปร่างคล้ายเสือหรือแมว ได้แก่เสือหรือแมวทุกชนิด ไฮยีน่า จีเน็ตหรือสัตว์ในกลุ่มชะมดทุกชนิด ซึ่งมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับสัตว์ประเภทไวเวอร์ราวิน ในส่วนของลักษณะโครงสร้างของร่างกาย เช่นโครงสร้างของกะโหลก ฟันและเท้าซึ่งได้รับการพัฒนาจากการปีนป่ายมาเป็นการวิ่งแทน

สำหรับสัตว์ในกลุ่มของเสือในปัจจุบันคือ ฟิลิดี หรือที่เรียกว่า "สัตว์ในกลุ่มเสือที่แท้จริง" (อังกฤษ: True Cats) ซึ่งในที่นี้รวมถึงเสือเขี้ยวดาบบางชนิดที่สูญพันธุ์ไปแล้วด้วย แต่สำหรับเสือเขี้ยวดาบนั้นไม่จัดอยู่ในกลุ่มเสือที่แท้จริงและสัตว์กินเนื้อที่มีลักษณะรูปร่างคล้ายเสือ แต่จัดอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า นิมราวิดี (อังกฤษ: Nimravidae) ซึ่งสูญพันธ์ไปจากโลกนี้เมื่อประมาณ 2 - 5 ล้านปีก่อน[11]

สัตว์ที่มีลักษณะคล้ายเสือและเสือที่แท้จริง

แก้

ในปี พ.ศ. 2488 นักโบราณชีววิทยากลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นชาวฝรั่งเศส ได้ศึกษาและเปรียบเทียบซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์ที่มีลักษณะรูปร่างคล้ายเสืออายุประมาณ 24 - 39 ล้านปีก่อน กับซากดึกดำบรรพ์ของเสือในยุคสมัยประมาณ 25 ล้านปีจนถึงปัจจุบัน พบว่าสัตว์ทั้ง 2 กลุ่มนั้นมีลักษณะพื้นฐานทางกายภาพที่แตกต่างกัน จึงตั้งชื่อสัตว์ในกลุ่มแรกว่า พาลีโอฟีดิลิดส์ (อังกฤษ: Paleofeilds) และสัตว์ในกลุ่มสองว่า นีโอฟีลิดส์ (อังกฤษ: Neofelids) และต่อมาในภายหลังนักวิทยาศาสตร์ได้ตั้งชื่อวงศ์ให้แก่สัตว์ในกลุ่มพาลีโอฟีดิลิดส์ว่า "นิมราวิดี" และสัตว์ในกลุ่มนีโอฟิลิดส์ว่า "ฟิลิดี" ซึ่งก็คือกลุ่มของสัตว์คล้ายเสือหรือลักษณะของสัตว์ในกลุ่มเสือที่แท้จริง

สิ่งที่นิมราวิดิกับฟิลิดีวิวัฒนาการมาแตกต่างกันก็คือ กล่องหู (อังกฤษ: Auditory Bulla) ซึ่งเป็นโครงสร้างภายในกะโหลกและเป็นที่ตั้งของหูส่วนกลาง ซึ่งโครงสร้างของหูส่วนกลางนั้นประกอบไปด้วย กระดูกค้อน กระดูกทั่ง และกระดูกโกลน ซึ่งทำหน้าที่เชื่อมระหว่างเยื่อแก้วหูกับหูด้านใน สัตว์ในกลุ่มแอลูรอยเดียทั้งหมดจะมีลักษณะโครงสร้างส่วนนี้คล้ายคลึงกัน ยกเว้นก็แต่เพียงสัตว์คล้ายเสือในกลุ่มนิมราวิดีเท่านั้น ซึ่งสัตว์กินเนื้อในกลุ่มแอลูรอยเดีย จะมีกล่องหูที่โป่งพองเป็นโพรงขนาดใหญ่กว่าสัตว์ชนิดอื่น ๆ ซึ่งกล่องหูมีขนาดใหญ่มากขึ้นเท่าใด ความสามารถในการได้ยินก็จะดีมากขึ้นเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีแผ่นเยื่อบาง ๆ (อังกฤษ: Septum) ทำหน้าที่กั้นแบ่งกล่องหูเป็น 2 ห้อง แต่สัตว์ในกลุ่มนิมราวิดีจะไม่มีแผ่นเยื่อบาง ๆ ในกล่องหู ซึ่งแผ่นเยื่อบาง ๆ และกล่องหูเป็นโครงสร้างสำคัญที่ใช้แยกระหว่างสัตว์คล้ายเสือกับเสือที่แท้จริง

สัตว์คล้ายเสือในกลุ่มนิมราวิดี ส่วนมากจะมีเขี้ยวบนที่มีขนาดยาวและตัน จนมองดูเหมือนกับว่ามีลักษณะคล้ายกับดาบโค้งขนาดใหญ่ ส่วนเขี้ยวที่อยู่ด้านล่างจะมีขนาดลดลงอย่างสัมพันธ์กัน นอกจากนี้กระดูกบริเวณกรามล่างก็จะสั้นลงเพื่อป้องกันไม่ให้เขี้ยวโค้งบดเนื้อตัวเอง สำหรับฟันบริเวณด้านข้างหรือฟันกรามก็จะลดจำนวนลง และวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงจนมีลักษณะคล้ายใบมีด สัตว์คล้ายเสือที่แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดคือ บาบัวโรฟีลิส (Barbourofelis) ซึ่งลักษณะของ เขี้ยวดาบ เคยปรากฏในกลุ่มเสือที่แท้จริงหรือตัวอย่างที่รู้จักกันเป็นอย่างดีก็คือ สมิโลดอน (Smilodon) ซากของสมิโลดอนถูกขุดพบเป็นจำนวนมากในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา มีอายุประมาณ 2 ล้านปี ในขณะที่ซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์กินเนื้อรูปร่างคล้ายเสือในกลุ่มนิมราวิดี ซึ่งมีอายุเก่าแก่กว่า คืออยู่ระหว่าง 7 - 37 ล้านปี

บรรพบุรุษของเสือที่แท้จริงหรือสัตว์ในกลุ่มฟิลิดี ได้แก่ โพรไอลูรัส (Proailurus) และ ซูดีรูรัส (Pseudaelurus) เป็นสัตว์ที่มีขนาดเล็ก มีโครงสร้างของระบบฟัน คล้ายกับเสือในปัจจุบันมาก โพรไอลูรัสอยู่ในสมัยโอลิโกซีน (Oligocene) พบซากดึกดำบรรพ์ในทวีปยุโรปส่วนซูดีรูรัสนั้นเป็นสัตว์ในสมัยไมโอซีน (Miocene) ซึ่งพบซากดึกดำบรรพ์ทั้งในทวีปยุโรปและทวีปอเมริกา ซึ่งทั้งสองชนิดจะมีแผ่นเยื่อบาง ๆ กั้นระหว่างกล่องหูเป็น 2 ส่วน ปัจจุบันสัตว์คล้ายเสือที่อยู่ในกลุ่มซูดีลูรัส ได้วิวัฒนาการมาเป็นเสือสกุลแพนเทอรา (Panthera) เช่น เสือโคร่ง และอย่างน้อยครั้งหนึ่งในอดีต สัตว์ในกลุ่มนี้ได้วิวัฒนาการรูปร่างและขนาดให้เล็กลง จนกระทั่งกลายมาเป็นเสือที่มีขนาดเล็กหลายชนิดหรือแมวในสกุล ฟิลิส (Felis) เช่น แมวดาว แมวป่า เป็นต้น[12]

สปีชีส์

แก้

เสือแบ่งเป็นหลายชนิด ได้แก่

ลักษณะทางกายวิภาค

แก้

เสือมีต้นตระกูลและบรรพบุรุษที่มีลักษณะคล้ายชะมด เมื่อประมาณ 39 ล้านปีก่อน วิวัฒนาการจากดึกดำบรรพ์จนกลายมาเป็นเสือในปัจจุบัน ซึ่งลักษณะโครงสร้างของร่างกายและลายขน ช่วยเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพในการล่าเหยื่อ สัตว์ในตระกูลเสืออาศัยอยู่กระจัดกระจายทั่วทุกแห่งในโลก ยกเว้นในเขตแอนตาร์กติกา หมู่เกาะออสเตรเลีย หมู่เกาะอินดิสตะวันตก เกาะมาดากัสการ์และหมู่เกาะบางแห่งในคาบมหาสมุทร

สัตว์ในกลุ่มเสือและแมวปัจจุบันจัดอยู่ในวงศ์ ฟิลิดี (Felidae) จำแนกออกเป็น 4 สกุลหลัก ๆ คือ

  1. แพนเทอรา (Panthera)
  2. ฟีลีส (Felis)
  3. นีโอฟีลีส (Neofelis)
  4. อาซินโอนิกซ์ (Acinonyx)
  • เสือในสกุล แพนเทอรา เป็นเสือขนาดใหญ่ที่สามารถส่งเสียงคำรามได้ เพราะมีเส้นเอ็นหรือสายเสียงพิเศษเฉพาะ เสือในสกุลนี้ได้แก่ สิงโต เสือโคร่ง เสือดาว และเสือจากัวร์ และบางครั้งยังรวมถึงเสือดาวหิมะ และ เสือพูม่า (puma) [13] แต่สำหรับเสือดาวหิมะ ซึ่งเป็นเสือที่มีขนาดใหญ่แต่ไม่สามารถคำรามได้ ซึ่งสามารถจัดแบ่งสกุลของเสือดาวหิมะไว้ในสกุล อันเซีย (Uncia) เสือในสกุลแพนเทอราเป็นเสือที่มีขนาดใหญ่ เหยื่อของเสือสกุลนี้จึงเป็นสัตว์กินพืชขนาดใหญ่เช่นกัน แต่ในบางครั้งก็กินซากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนาดเล็ก นก หรือแม้แต่แมลง
  • แมวในสกุลฟีลีส เป็นสัตว์ในกลุ่มเสือและแมวขนาดเล็กที่สุดในบรรดาเสือทุกสกุล เสือในสกุลนี้ไม่สามารถคำรามได้เช่นเดียวกับเสือดาวหิมะ แต่สามารถส่งเสียงขู่ได้ เช่น แมวดาว แมวป่า หรือ เสือไฟ
  • เสือในสกุลอาซินโอนิกซ์ เป็นเสือที่มีเพียงชนิดเดียวคือ เสือชีต้า ซึ่งเป็นสัตว์บกที่วิ่งเร็วที่สุดในโลก

เสือเป็นสัตว์ที่มีกล้ามเนื้อแข็งแรง มีหัวที่ค่อนข้างกลม รูปร่างและร่างกายปราดเปรียวคล่องแคล่วว่องไว สามารถย่อง วิ่งไล่หรือจู่โจมเข้าหาเหยื่อได้อย่างรวดเร็ว ใช้เท้าหน้าทั้งสองข้างจับเหยื่อ เท้าหลังมี 4 นิ้ว เท้าหน้ามี 5 นิ้ว มีหัวแม่เท้าเล็กและอยู่สูงกว่านิ้วอื่น ๆ เสือทุกชนิดจะมีลักษณะรวมกันที่ทำให้ถูกจัดไว้ในกลุ่มของเสือแต่ก็แตกต่างจนทำให้ต้องจำแนกออกเป็นหลายชนิด โดยดูจากลักษณะของกะโหลก สีขน ขนาดและรูปร่างของเสือ สัดส่วนของขาทั้งสีรวมไปถึงหาง ซึ่งลักษณะที่มีร่วมกันทั้งหมดสามารถที่จะอธิบายถึงลักษณะทางกายภาพเฉพาะของเสือในแต่ละชนิด ทำให้สามารถอธิบายถึงพฤติกรรมและสภาพแวดล้อมได้ ซึ่งลักษณะโครงสร้างทางกายภาพของเสือ สามารถแบ่งออกได้ดังนี้[14]

กะโหลก

แก้

เสือเป็นสัตว์ที่มีใบหน้าสั้นเนื่องจากลักษณะของกะโหลกซึ่งอยู่ภายใน แต่กะโหลกของเสือในแต่ละชนิดไม่เหมือนกันจะมีความแตกต่างกันตามแต่ละชนิดของเสือเช่นกะโหลกของเสือโคร่งซึ่งเป็นเสือที่มีขนาดใหญ่ เสือชีต้าซึ่งเป็นเสือที่มีขนาดกลางและแมวดาวหรือแมวป่าซึ่งเป็นเสือที่มีขนาดเล็กหรือแมวในสกุลฟีลีสชนิดหนึ่ง กะโหลกเสือโคร่งจะมีลักษณะที่ค่อนข้างยาว กะโหลกเสือชีต้าจะมีลักษณะค่อนข้างสูง นอกจากนี้กะโหลกเสือโคร่ง เมื่อนำมาเทียบส่วนกับสมองภายในแล้วจะใหญ่กว่ามาก ในขณะที่เสือขนาดเล็กจะไม่มีความแตกต่างกันเท่าใดนัก

ความแตกต่างของกะโหลกเสือที่มีขนาดใหญ่และกะโหลกเสือที่มีขนาดเล็ก เป็นผลมาจากการวิวัฒนาการของขนาดร่างกาย เพราะในช่วงที่เสือวิวัฒนาการร่างกายให้ใหญ่ขึ้น ส่วนสมองกลับไม่ได้เพิ่มขนาดให้ใหญ่ขึ้นในอัตราเดียวกันกับขนาดของร่างกาย เพราะฉะนั้นสัดส่วนของสมองต่อกะโหลกของเสือที่มีขนาดใหญ่ จะเล็กกว่าเสือที่มีขนาดเล็ก ทั้งนี้รวมทั้งขนาดของขนาดเบ้าตาต่อกะโหลก เสือที่มีขนาดใหญ่ก็มีขนาดที่เล็กกว่าเสือขนาดเล็กด้วย เพราะลูกนัยน์ตาของเสือไม่ได้ขยายใหญ่ขึ้นตามขนาดของร่างกายเช่นเดียวกับสมอง

สำหรับกะโหลกเสือโคร่งที่มีลักษณะค่อนข้างยาวมีสาเหตุมาจากเมื่อร่างกายของเสือมีขนาดใหญ่ขึ้น กล้ามเนื้อบนใบหน้าโดยเฉพาะกล้ามเนื้อบริเวณกรามต้องการพื้นที่ยึดเกาะมากยิ่งขึ้น ส่วนด้านบนและด้านหลังของกะโหลกจึงต้องยืดขยายออกมารองรับ ทำให้กะโหลกเสือที่มีขนาดใหญ่มีสัดส่วนที่ยาวกว่ากะโหลกของเสือที่มีขนาดเล็ก

ส่วนเสือชีต้ามีกะโหลกที่สูงแตกต่างจากเสือทั้งสองประเภท เนื่องจากจะมีช่องโพรงจมูกที่มีขนาดใหญ่และลึกกว่าเข้าไปภายในกะโหลก ซึ่งถ้าพิจารณาจากบริเวณด้านหน้าจะเห็นว่าระยะห่างของเบ้าตากับฟันบนจะห่างกันมากกว่าเสือชนิดอื่น ๆ เนื่องจากเสือชีต้าเป็นสัตว์ที่วิ่งไล่จับเหยื่อด้วยความเร็วสูง ช่องโพรงจมูกที่มีขนาดใหญ่นี้จึงช่วยให้การหายใจของเสือชีต้ามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

สมอง

แก้

สมองคืออวัยวะส่วนที่สำคัญที่สุดส่วนหนึ่งของสัตว์มีชีวิตทุกประเภท เพราะสมองคือศูนย์รวบรวมของระบบประสาทต่าง ๆ เช่นการสัมผัส การรับรู้ การเคลื่อนไหวหรือการสั่งการ ทุกอย่างจะต้องผ่านสมองแทบทั้งสิ้น ซึ่งสมองของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ประกอบไปด้วยส่วนต่าง ๆ จำนวนมาก บริเวณสมองชั้นนอกหรือที่เรียกว่า คอร์เทกซ์ (Cortex) จะทำหน้าที่ประมวลข้อมูลต่าง ๆ จากระบบประสาทโดยทำการแบ่งแยกพื้นที่สำหรับแต่ละระบบออกเป็นส่วน ๆ เช่นพื้นที่บริเวณสมองชั้นนอกจะทำหน้าที่จัดการกับระบบประสาทการเคลื่อนไหว

ผิวสมองบริเวณด้านนอกไม่เรียบ แต่เป็นร่องหยักเป็นคลื่น ซึ่งจำนวนของร่องหยักนี้จะเป็นตัวบ่งบอกถึงความสามารถของระบบประสาทในส่วนนั้น ระบบประสาทในส่วนใดที่มีความสามารถมากก็ย่อมที่จะมีข้อมูลเป็นจำนวนมาก ทำให้สมองในส่วนนี้มีรอยหยักมากยิ่งขึ้น ถ้าส่วนใดที่มีความสามารถน้อยก็ต้องการรอยหยักของสมองน้อย เป็นต้น แต่ถึงอย่างไรสำหรับสัตว์ที่สูญพันธ์ไปแล้วย่อมที่จะไม่มีสมองเหลือไว้ให้ศึกษา แต่ผิวด้านในกะโหลกของสัตว์กินเนื้อจะคงร่องและรอยหยักทุกอย่างเหมือนสมองชั้นนอก ทำให้นักโบราณชีววิทยา ศึกษาดูการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการของสมองภายในระบบประสาทจากซากดึกดำบรรพ์ได้ เหมือนกับตัวอย่างที่ยังคงมีชีวิตอยู่

สำหรับการศึกษาซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์ในกลุ่มเสือพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงในยุคแรก ๆ ของสมองของเสือในกลุ่มนิมราวิดีและฟิลิดี คือระบบประสาทการดมกลิ่นลดพื้นที่ลง จากหลักฐานตรงส่วนนี้สอดคล้องกับสัดส่วนบริเวณหน้าที่หดสั้นเข้า ซึ่งแสดงว่าสัตว์ในกลุ่มเสือนั้นมีความสามารถในการดมกลิ่นได้ไม่ดีเท่าสัตว์กินเนื้อกลุ่มอื่น เช่น หมาป่าและหมาจิ้งจอก การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่ยังคงเหลือในปัจจุบันในสัตว์ที่มีลักษณะคล้ายเสือในกลุ่มฟิลิดี คาดการณ์ว่าอาจจะเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 10 ล้านปีก่อน คือสมองของเสือที่มีขนาดใหญ่ได้ขยายพื้นที่ส่วนที่ทำการควบคุมการเคลื่อนไหว ส่งผลให้เสือมีประสิทธิภาพการเคลื่อนไหวร่างกายดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังเกิดการเปลี่ยนแปลงในส่วนอื่น ๆ อีกด้วย เช่นสมองส่วนที่ทำหน้าที่จัดการเกี่ยวกับระบบประสาทการได้ยินก็จะมีพื้นที่เพิ่มมากยิ่งขึ้น

นัยน์ตาเสือ

แก้
 
นัยน์ตาเสือ

เสือเป็นสัตว์ที่มีระบบประสาทสัมผัสที่ดีมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะระบบประสาทในด้านการมองเห็น เสือเป็นสัตว์ที่มีวิวัฒนาการในหลาย ๆ ด้านเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการล่าเหยื่อ ลูกนัยน์ตาของเสือมีเซลล์ที่สามารถรับภาพที่มีความสำคัญต่อการมองเห็น 2 ชนิด คือ เซลล์รูปแท่ง (Rod Cell) และ เซลล์รูปกรวย (Cone Cell) เซลล์รูปแท่งเป็นเซลล์ที่มีความไวต่อแสงมาก ทำหน้าที่รับภาพที่มีแสงสว่างน้อย ๆ เช่น การมองเห็นของเสือในเวลากลางคืน หรือการมองเห็นความเคลื่อนไหวของเหยื่อ ส่วนเซลล์รูปกรวยจะทำหน้าที่รับภาพที่มีแสงมาก เช่น การมองเห็นของเสือในเวลากลางวัน รวมทั้งการมองเห็นภาพที่เป็นสี ซึ่งเซลล์รูปกรวยจะให้รายละเอียดของวัตถุที่อยู่นิ่งกับที่ได้เป็นอย่างดี ซึ่งการที่เสือสามารถมองเห็นได้ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน มีสาเหตุมาจากการที่เสือสามารถขยายรูม่านตาและแก้วตาได้กว้างเมื่อเทียบกับขนาดของจอรับภาพ โดยปกติแล้วรูม่านตาของเสือจะมีลักษณะกลม แต่เมื่อเสือต้องอยู่ในที่ที่มีแสงจ้า เสือในสกุลแพนเทอราจะหดรูม่านตาให้เป็นรูปวงกลม ในขณะที่แมวในสกุลฟิลิสจะหดรูม่านตาให้เป็นรูปวงรี เพราะเซลล์รูปแท่งมีจำนวนมากกว่าเซลล์รูปกรวยซึ่งตรงกันข้ามกับสัตว์ที่หากินในเวลากลางวันซึ่งจะมีเซลล์รูปกรวยมากกว่าเซลล์รูปแท่ง

เสือสามารถมองเห็นภาพเป็นมิติได้เช่นเดียวกับมนุษย์หรือลิง ซึ่งลักษณะพิเศษอีกอย่างที่ช่วยให้การมองเห็นของเสือคือ ตำแหน่งของดวงตา ในบรรดาสัตว์กินเนื้อด้วยกันทั้งหมด เสือมีตำแหน่งของดวงตาที่คล้ายกับมนุษย์มากที่สุด โดยดวงตาทั้งคู่จะตั้งอยู่บนใบหน้าที่สั้น ภาพจากดวงตาแต่ละข้างของเสือจะเหลื่อมซ้อนทับกันพอดีเป็นพื้นที่กว้าง ทำให้เสือสามารถมองเห็นภาพเป็นมิติและสามารถกำหนดระยะวัตถุได้อย่างแม่นยำ คุณสมบัตินี้มีความจำเป็นมากสำหรับสัตว์กินเนื้อเช่นเสือ นัยน์ตาทั้งคู่ที่ตั้งอยู่ชิดกันบนบริเวณใบหน้า จะแตกต่างจากสัตว์กินพืชที่มีนัยน์ตาทั้งคู่อยู่ในบริเวณด้านข้างของลำตัว เพื่อการมองเห็นที่รอบตัวและเป็นการป้องกันอันตรายจากสัตว์กินเนื้อ จอรับภาพของเสือสามารถตอบสนองต่อแสงได้มากขึ้นโดยอาศัยฉากสะท้อนแสงจากด้านหลังของ จอตา (Retina) มีชื่อว่า เทปมัม (Tepetum) ซึ่งโดยปกติแล้วแสงที่เข้าสู่นัยน์ตาบางส่วนจะผ่านจอรับภาพไป โดยที่ไม่ถูกเซลล์รับภาพรับรู้หรือดูดกลืนเก็บเอาไว้ เทปมัมจะช่วยสะท้อนแสงส่วนนี้กลับมาเพื่อให้โอกาสแก่เซลล์รับภาพอีกครั้ง

แต่ถึงอย่างไรแสงบางส่วนเมื่อสะท้อนฉากเทปมัมแล้วก็ยังไม่ถูกจอภาพรับภาพ ดูดกลืนเก็บเอาไว้และจะเดินทางกลับออกมาทาง รูม่านตา (Pupil) ด้วยเหตุนี้เมื่อแสงไฟไปกระทบโดนตาเสือในเวลากลางคืน จึงเห็นนัยน์ตาเสือสะท้อนแสงไฟเป็นดวง ซึ่งแสงที่สะท้อนในนัยน์ตาเสือก็คือแสงไฟที่เข้าไปสะท้อนกับเทปมัมแล้วกลับออกมานั่นเอง นัยน์ตาของเสือจะสะท้อนแสงเหมือนมีกระจกอยู่ด้านใน เพราะมีฉากสะท้อนแสงที่หลังจอรับภาพ ทำให้สามารถรับแสงได้มากกว่าปกติ ช่วยในการมองเห็นในเวลากลางคืน

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมส่วนใหญ่ซึ่งรวมทั้งเสือและมนุษย์จะมีรูม่านตาเป็นรูปวงกลม เวลาเสือหรี่ตาหรือหดรูม่านตาให้เล็กลงก็จะยังคงรูปวงกลมเอาไว้ แต่สำหรับแมวในสกุลฟิลิส ซึ่งบางครั้งคนไทยเรียกเป็นเสือขนาดเล็ก เช่น แมวป่า แมวลายหินอ่อน ฯลฯ รวมทั้งแมวบ้าน จะมีกล้ามเนื้อม่านตาที่สามารถบังคับการหดขยายรูม่านตาแตกต่างกันออกไป คือจะหดรูม่านตาเป็นรูปวงรีในแนวตั้ง เรียกว่า รูม่านตาแบบสลิต (Slit Pupil) รูม่านตาจะหดได้แคบกว่าในรูปแบบวงกลม ทำให้แสงสามารถผ่านเข้าสู่ตาได้น้อยกว่า เสือที่มีขนาดเล็กและสัตว์หากินในเวลากลางคืนจึงจำเป็นต้องมีรูม่านตาแบบสลิต เพื่อเป็นการป้องกันแสงจ้าในช่วงเวลากลางวัน ไม่ให้เข้าไปทำลายจอรับภาพซึ่งมีความไวต่อแสง ส่วนเสือที่มีขนาดใหญ่มักออกหากินทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน จึงไม่จำเป็นต้องมีรูม่านตาแบบสลิต

เสียงคำราม

แก้
 
การคำรามของเสือ

เสียงคำรามของเสือนั้นจะดังก้องกังวานไปทั่วบริเวณ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวซึ่งสัตว์อื่นไม่สามารถทำได้ แต่เสือไม่สามารถคำรามได้ทุกชนิด มีเสือที่มีขนาดใหญ่เพียง 4 ชนิดเท่านั้นที่สามารถคำรามได้ คือ

  1. สิงโต
  2. เสือโคร่ง
  3. เสือจากัวร์
  4. เสือดาว

เพราะเสือจะมีโครงสร้างกระดูกบริเวณกล่องเสียงซึ่งเรียกว่า กลุ่มกระดูกลิ้น (Hyoid) [15] แตกต่างจากเสือในชนิดอื่น ๆ ซึ่งเสือทั้ง 4 ชนิดนี้จัดอยู่ในสกุลแพนเทอรา (Pahthera) มีเสือดาวหิมะเป็นเสือเพียงชนิดเดียวในสกุลแพนเทอราที่ไม่สามารถคำรามได้[16][17] รวมถึงเสือขนาดกลาง เสือขนาดเล็ก และแมวบ้านด้วยที่ไม่สามารถคำรามได้

วิวัฒนาการของกระดูกลิ้นของเสือนั้น เคยเป็นส่วนหนึ่งของกระดูกเหงือกในสัตว์คล้ายปลาในยุคดึกดำบรรพ์ ซึ่งต่อมาได้วิวัฒนาการมาเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ส่วนหนึ่งของกระดูกเหงือกนี้จึงเปลี่ยนแปลงไปจากลักษณะดั้งเดิมและกลายมาเป็นกระดูกลิ้นของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในปัจจุบัน สำหรับกลุ่มกระดูกของเสือ ประกอบด้วยกระดูกหลายชิ้นต่อกันเป็นสายคล้อง มีลักษณะคล้ายกับรูปตัว H ซึ่งทำหน้าที่เชื่อมหลอดลมและกล่องเสียงไว้ด้วยกล้ามเนื้อ รวมทั้งมีหน้าที่ในการช่วยเหลือการทำงานของลิ้น และกล้ามเนื้อบริเวณลิ้นอีกด้วย

โดยทั่วไปกลุ่มกระดูก ลิ้นของเสือที่ไม่สามารถคำรามได้ ประกอบด้วยสายกระดูกขนานกัน 2 สาย ในแต่ละสายจะมีกระดูก 5 ชิ้นเรียงต่อกันคือ

  • ทิมพาโนฮายอัล (Tympanohyal)
  • สตายโลฮายอัล (Stylohyal)
  • อิพิฮายอัล (Epihal)
  • ซีราโตฮายอัล (Ceratohyal)
  • ทายโรฮายอัล (Thyrohyal)

สายกระดูกทั้ง 2 จะเชื่อมต่อกันในบริเวณข้อต่อระหว่างกระดูกซีราโตฮายอัลกับกระดูกทายโรฮายอัล โดยกระดูกชิ้นหนึ่งที่เรียกว่า แกนกระดูกไฮออยด์ (Body of Hyoid) ซึ่งสำหรับเสือขนาดใหญ่ที่สามารถคำรามได้ เช่นสิงโต กลุ่มกระดูก ลิ้น จะมีลักษณะคล้ายกับของเสือที่ไม่สามารถคำรามได้ แต่จะมีเส้นเอ็นยาว ๆ เข้ามาแทนที่กระดูกอิพิฮายอัล ขณะที่กระดูกชิ้นต่อมาคือ ซีราโตฮายอัลและแกนกระดูกฮาออย จะมีขนาดที่ใหญ่ขึ้นเมื่อนำมาเทียบกับกระดูกทิมพาโนฮายอัลและสตายโลฮายอัล ทั้งนี้เพื่อเป็นการช่วยค้ำจุนกล่องเสียงที่มีขนาดใหญ่มากนั่นเอง

ในปี พ.ศ. 2377 ริชาร์ด โอเวน นักโบราณชีววิทยารายงานว่าสิงโตมีเส้นเอ็นที่ยาวถึง 6 นิ้วและสามารถยืดออกไปได้ถึง 8 - 9 นิ้ว ส่วนกล่องเสียงจะอยู่ลึกลงไปในบริเวณลำคอมากยิ่งขึ้น เพดานด้านบนและลิ้นก็จะยาวขึ้นเพื่อให้ช่องหายใจยาวและใหญ่ขึ้น โครงสร้างเหล่านี้จะทำให้สิงโตสามารถที่จะเปล่งเสียงคำรามดังกังวาน แต่สำหรับเสือที่มีขนาดใหญ่ที่สามารถคำรามได้เช่นกัน ได้แก่ เสือโคร่ง เสือดาว และ เสือจากัวร์ ก็จะพบเส้นเอ็นพิเศษทำหน้าที่เหมือนสายเสียงนี้เช่นกัน ซึ่งสำหรับเสือจากัวร์จะมีกลุ่มกระดูกลิ้นที่แตกต่างจากเสือที่สามารถคำรามได้ชนิดอื่น ๆ เล็กน้อย คือยังคงมีกระดูกอิพิฮายอัลและมีเส้นเอ็นสายเสียงอยู่ระหว่างกระดูกอิพิฮายอัลกับกระดูกซีราโตฮายอัลด้วย ซึ่งนักวิทยาศาสตร์บางคนได้ให้ความเห็นว่าเสือจากัวร์นั้น อาจจะมีวิวัฒนาการต่ำที่สุดในบรรดากลุ่มเสือที่สามารถคำรามได้ทั้ง 4 ชนิด เพราะเส้นเอ็นสายเสียงยังไม่ได้แทนที่กระดูกอิพิฮายอัลจนหมด สิงโต เสือโคร่ง และ เสือดาวบางตัวมีปุ่มกระดูกตรงบริเวณปลายเส้นเอ็น ซึ่งอาจจะเป็นกระดูกอิพิฮายอัลที่ยังคงหลงเหลืออยู่

นอกจากนี้ยังพบว่าสิงโตตัวหนึ่งมีกระดูกสตายโลฮายอัลข้างหนึ่ง เป็นกระดูกชิ้นเดียวกันในลักษณะที่เหมือนปกติของสิงโต เสือโคร่ง และ เสือดาวทั่วไป แต่กระดูกสตาลโลฮายอัลอีกข้างหนึ่งนั้น กลับเห็นได้ชัดเจนว่าเกิดจากกระดูก 2 ชิ้นที่เชื่อมเข้าหากัน โดยกระดูกชิ้นที่ต่อเข้ากับเส้นเอ็น จะเล็กกว่ากระดูกชิ้นที่อยู่ใกล้กับใบหู ซึ่งตำแหน่งของกระดูกชิ้นเล็ก ๆ นี้ก็คือตำแหน่งเดิมของกระดูกอิพิฮายอัลนั่นเอง และจากการตรวจพบกระดูกอิพิฮายอัลในเสือที่สามารถคำรามได้ แสดงความแตกต่างระหว่างเสือจากัวร์และเสือชนิดอื่น ๆ หรือแม้กระทั่งความแตกต่างของกระดูกภายในเสือตัวเดียวกันเองก็ตาม เป็นหลักฐานทางวิวัฒนาการของเส้นเอ็นสายเสียง ซึ่งเข้ามาแทนที่กระดูกอิพิฮายอัลและทำให้เสือที่มีขนาดใหญ่ทั้ง 4 ชนิดสามารถคำรามได้ แต่สำหรับแมวบ้านหรือเสือที่มีขนาดเล็กชนิดอื่น ๆ แม้ว่าจะส่งเสียงคำรามเช่นเดียวกันกับเสือที่มีขนาดใหญ่ทั้ง 4 ชนิด แต่มันสามารถที่จะส่งเสียงขู่ (Purr)

การส่งเสียงขู่คำรามของสิงโต เสือโคร่ง และ เสือดาวรวมทั้งเสือชีต้าด้วยนั้น โดยทั่วไปแล้วแมวบ้านจะทำเสียงขู่ได้ทั้งที่ขณะมันหายใจเข้าและออก และมักจะทำบ่อย ๆ ซึ่งแตกต่างกับเสียงขู่ของสิงโตที่เกิดจากการหายใจออกเพียงอย่างเดียวเท่านั้น และไม่ใช่สิ่งที่สามารถทำเป็นปกติ จากการสำรวจพบว่าเสือดาวหิมะนั้น สามารถส่งเสียงขู่ได้เหมือนกับแมวบ้าน แต่มันเป็นเสือที่มีขนาดใหญ่ที่ไม่สามารถคำรามได้เช่นเดียวกับสิงโต เสือโคร่งและเสือดาว ซึ่งเสือที่มีขนาดใหญ่ 7 ชนิดได้แก่สิงโต เสือโคร่ง เสือดาว เสือดาวหิมะ เสือจากัวร์ สิงโตภูเขา (Puma) และเสือลายเมฆ พบว่ามีเพียงสิงโตภูเขาเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่สามารถส่งเสียงขู่ได้เหมือนกับแมวบ้าน

ขนและลาย

แก้
 
ขนและลายของเสือจากัวร์
 
ขนและลายของเสือโคร่ง

เสือเป็นสัตว์ที่มีขนปกคลุมทั่วทั้งร่างกาย และลายของเสือนับว่ามีรูปแบบที่สวยงามโดดเด่นกว่าลายของสัตว์ชนิดอื่น ความสวยงามของลายเสือเป็นสิ่งล่อตาล่อใจให้มนุษย์ออกล่าเพื่อเอาหนังมาทำเป็นเครื่องประดับบ้านหรือเครื่องนุ่งห่ม เช่นหนังของเสือโคร่ง เสือดาว เป็นที่น่าสงสัยว่าเสือแต่ละชนิดนั้นมีลายขนที่แตกต่างกัน เช่น ลายดอก ลายจุด ลายทางยาวหรือสีขนที่เรียบ ๆ ไม่มีลวดลาย เนื่องจากลายของเสือนั้นเกิดจากอิทธิพลของสภาพแวดล้อมที่เสืออาศัย เพราะเสือจะใช้ลายและสีขนเพื่อปกปิดตัวจากศัตรูหรือใช้สำหรับพรางตัวในการออกล่าเหยื่อ เช่น สิงโต จะมีขนสีน้ำตาลปนเหลืองที่กลมกลืนกับทุ่งหญ้าในแอฟริกา เสือไฟหรือแมวป่าที่ออกล่าเหยื่อในบริเวณทุ่งหญ้าเตี้ย ๆ จึงไม่มีลายไว้สำหรับพรางตัว

เสือโคร่งที่มีลายขวางบริเวณลำตัวจะช่วยซ่อนตัวของมันไว้อย่างมิดชิดในบริเวณป่าและต้นไม้หรือพงหญ้า เสือจากัวร์ เสือดาวและเสือลายเมฆจะใช้ลายดอกดวงบริเวณลำตัวพรางตัวในแดดใต้ร่มเงาของต้นไม้ ซึ่งใช้สำหรับพักผ่อนหรือดักคอยเหยื่อ ลายเสือเกิดจากการประกอบขึ้นของสีความเข้มของสีและรูปแบบของลายในแต่ละชนิดจะปรากฏบนขนแต่ละเส้นบริเวณลำตัว ถึงแม้ว่าลักษณะลายและขนโดยรวมของเสือแต่ละชนิดจะมีความแตกต่างกัน แต่จะมีลักษณะปลีกย่อยที่คล้ายกันบ้างเช่น เสือที่มีขนาดใหญ่มักจะมีหย่อมขนหรือแถบขนสีขาวปรากฏ ณ ตำแหน่งที่น่าสนใจบางแห่งในร่างกาย เช่น เสือโคร่งนั้นจะมีหย่อมขนสีขาวตรงบริเวณหลังใบหู ซึ่งสามารถมองเห็นได้ชัดเจนในที่ที่มีแสงน้อย ซึ่งลูกเสือโคร่งจะใช้หย่อมขนสีขาวนี้ติดตามแม่เสือไปยังที่ต่าง ๆ

เสือดาวและเสือดาวหิมะจะมีแถบขนสีขาวที่บริเวณใต้หาง ส่วนเสือชีต้าจะมีกระจุกขนสีขาวหรือวงแหวนสีดำสลับสีขาวที่บริเวณส่วนปลายของหาง ซึ่งเสือทั้ง 3 ชนิดนี้จะมักจะยกบริเวณปลายส่วนหางหรือม้วนปลายหางในขณะเดิน เพื่อให้ขนสีขาวที่บริเวณปลายหางจะเป็นจุดสังเกตสำหรับลูกเสือตัวเล็ก ๆ ที่เดินตามหลังแม่เสือ

กรงเล็บ

แก้
 
อุ้งเท้าของเสือในขณะซ่อนเล็บ

เสือเป็นสัตว์ที่สามารถหดและกางกรงเล็บได้ โดยใช้หลักการทำงานร่วมกันของอวัยวะหลายส่วน ซึ่งจะมีเส้นเอ็นที่มีลักษณะพิเศษทำหน้าที่ควบคุมการหดและกางเล็บซึ่งจะต้องรักษาสภาพสมดุลและความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน รวมทั้งกล้ามเนื้อซึ่งจะทำหน้าที่ป้องกันเป็นปลอกหุ้มเล็บไว้ภายใน กลไกโดยทั่วไปคือเสือจะใช้กล้ามเนื้อบริเวณขาหน้า ทำหน้าที่บังคับดึงหรือคลายเส้นเอ็น ซึ่งจะยึดกระดูกเท้าทุก ๆ นิ้วให้หดหรือกางเล็บตามต้องการ กลุ่มของเส้นเอ็นนี้จะถูกหุ้มด้วยหนังพังผืดแผ่นหนึ่งตรงบริเวณข้อเท้า ทำให้เมื่อกล้ามเนื้อส่วนนี้หดตัวดึงเส้นเอ็น เส้นเอ็นจะเคลื่อนไหวได้โดยไม่เลื่อนหลุดออกจากข้อเท้า

อุ้งเท้าของเสือในเวลาปกติจะหดเล็บไว้ในปลอกเนื้อ ซึ่งจะติดอยู่กับกระดูกนิ้วชิ้นปลาย (กระดูกนิ้วของเสือมี 3 ชิ้น คือ ชิ้นปลายซึ่งจะมีเล็บติดอยู่ ชิ้นกลางและชิ้นโคน) ในสภาพเช่นนี้กล้ามเนื้อจะไม่ได้หดตัวจึงไม่มีเส้นเอ็นใดถูกดึง แต่แผ่นพังผืดที่หุ้มเอ็นตรงบริเวณข้อเท้าจะเหนี่ยวรั้งเอ็นเอาไว้ ทำให้กระดูกนิ้วชิ้นปลายเลื่อนมาอยู่ที่ข้างกระดูกนิ้วชิ้นกลาง และเล็บที่ปลายนิ้วก็จะเข้ามาซ่อนอยู่ใบริเวณปลอกเนื้อ ซึ่งการที่เสือหดเล็บนี้ รอยเท้าของเสือจึงไม่ปรากฏรอยเล็บให้เห็นบนดินเวลามันเดิน ส่วนรอยเท้าเสือก็คือรอยของอุ้งนิ้วซึ่งจะรองรับข้อต่อของกระดูกระหว่างกระดูกชิ้นปลายและกระดูกชิ้นกลาง

เมื่อกล้ามเนื้อหดตัวจะดึงเอาเส้นเอ็นบนและล่างของกระดูก ทำให้ข้อต่อระหว่างกระดูกชิ้นต่าง ๆ เคลื่อนไหวและจะกางเล็บออกพร้อมใช้งาน ซึ่งก็คือการหดตัวของกล้ามเนื้อ เอกซ์เทนเซอร์ (Extensor) จะดึงกระดูกนิ้วชิ้นกลางโดยผ่านทางเส้นเอ็นบน ทำให้นิ้วเท้าของเสือเหยียดออกแต่เล็บจะยังคงไม่กาง เพราะเส้นเอ็นด้านบนนี้ไม่ได้ดึงเอากระดูกนิ้วชิ้นปลายโดยตรง ซึ่งหน้าที่ที่จะทำให้เล็บของเสือกางออกนั้นต้องอาศัยกล้ามเนื้อเฟล็กซอ (Flexo) หดตัวดีงเอาเส้นเอ็นส่วนล่างทำให้กระดูกนิ้วชิ้นปลายดีดตัวออกมา ผลลัพธ์สุดท้ายของกลไกลนี้ก็คือกรงเล็บที่กางออกมาจากปลอกเนื้อบริเวณอุ้งเท้าของเสือ จะกางออกเต็มที่พร้อมตะปบเหยื่อในการล่า

หาง

แก้
 
เสือดาวจะมีหางใหญ่และยาวเพื่อใช้ถ่วงน้ำหนักตัวเวลาปีนต้นไม้

สัตว์ในกลุ่มเสือแต่ละชนิดแต่ละสกุลจะมีหางที่ยาวไม่เท่ากัน สัตว์ในกลุ่มเสือและแมวที่มีหางยาวและใหญ่แสดงว่าชอบหากินหรือพักผ่อนบนต้นไม้ เช่นเสือดาว เสือลายเมฆ แมวลายหินอ่อน แมวดาวเป็นต้น เสือเหล่านี้จะมีลักษณะหางที่ยาวและใหญ่เมื่อเทียบกับขนาดของลำตัว ซึ่งหางที่ยาวและใหญ่นี้จะช่วยถ่วงน้ำหนักและเลี้ยงตัวขณะที่มันไต่ไปตามกิ่งไม้

สัตว์ในกลุ่มเสือที่มีหางสั้นและเล็กแสดงว่าชอบหากินบนพื้นดินเป็นส่วนใหญ่ ถ้าไม่มีความจำเป็นหรือเหตุจวนตัวก็จะไม่ไต่ขึ้นไปบนต้นไม้เช่น เสือปลา แมวป่าหัวแบน เป็นต้น ซึ่งถ้าเปรียบเทียบระหว่างเสือโคร่งและเสือดาวจะพบว่าเสือดาวมีหางที่ยาวและใหญ่กว่าเสือโคร่งมาก ซึ่งแสดงว่าเสือดาวชอบปีนป่ายต้นไม้และใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่บนต้นไม้มากกว่าเสือโคร่ง แม้เสือดาวอาจจะกระโดดได้ไม่สูงเท่ากับเสือโคร่งแต่มันก็ปีนต้นไม้เก่งเหมือนกับแมวเพราะใช้หางที่ยาวและใหญ่ช่วยในการเลี้ยงลำตัวไม่ให้พลาดตกลงมาจากต้นไม้

เขี้ยวและฟัน

แก้
 
เขี้ยวของเสือ

เสือมีเขี้ยวและฟันอันแหลมคมเป็นอาวุธในการสังหารเหยื่อ โดยปกติแล้วฟันของเสือประกอบไปด้วยฟันตัดหรือฟันหน้า เขี้ยว ฟันกรามหน้า และฟันกราม ลักษณะของฟันหน้าจะเล็กและตั้งตรง ไม่มีหน้าที่ใดพิเศษในการใช้งาน เขี้ยวจะมีลักษณะที่แหลมยาวและโค้งเล็กน้อยทำหน้าที่สำหรับกัดสังหารเหยื่อและไว้จับชิ้นเนื้อไม่ให้หลุดออกจากปาก ส่วนฟันกรามทั้งหมดมีลักษณะที่แหลมคมเหมือนกับใบมีดทำหน้าที่สำหรับตัดชิ้นเนื้อ

เสือมีโครงสร้างของฟันโดยแบ่งออกเป็นฟันน้ำนม 24 ซี่และจะผลัดเปลี่ยนเป็นฟันแท้ทั้งหมดเมื่อเสืออายุย่างเข้า 5 เดือน โดยจะมีฟันหน้าซ้ายขวาอย่างละ 3 ซี่ เขี้ยวด้านซ้ายและขวาอย่างละ 1 ซึ่ ฟันกรามด้านหน้าข้างซ้าย 2 - 3 ซี่ ฟันกรามด้านหน้าขวา 2 ซี่ ฟันกรามซ้ายขวาข้างละ 1 ซี่ เมื่อรวมจำนวนฟันบนและล่างทั้งหมดแล้ว เสือมีฟันทั้งหมด 28 ซี่หรือ 30 ซี่ โครงสร้างฟันของเสือถูกพัฒนามาให้เหมาะกับลักษณะการกินอาหารของสัตว์กินเนื้อ โดยจะเน้นที่การจับและตัดชิ้นเนื้อของอาหารมากกว่าบดเคี้ยว สัตว์กินเนื้อมีโครงสร้างของฟันที่แตกต่างกันเนื่องจากการใช้งานของฟันที่แตกต่างกัน เช่น ฟันกรามของสุนัขจิ้งจอกมีหน้าตัดที่กว้างเพื่อใช้บดเคี้ยวกระดูกหรือพืช รวมทั้งยังใช้ตัดชิ้นเนื้อได้เช่นเดียวกับสัตว์กินเนื้อในกลุ่มอื่น ๆ แต่สำหรับเสือจะมีแต่ฟันกรามแหลมคมไว้สำหรับตัดชิ้นเนื้อ ไม่มีฟันกรามไว้สำหรับบดเคี้ยว

หมาจิ้งจอกและหมาป่ามีฟันกรามมากกว่าฟันของเสือจึงจำเป็นต้องมีลักษณะใบหน้าที่ยื่นออกมารองรับ แสดงให้เห็นว่าสัตว์จำพวกสุนัขมักจะกัดและจับเหยื่อด้วยกราม ในขณะที่เสือใช้เท้าช่วยจับเหยื่อด้วย เสือมีหน้าสั้นกว่าสัตว์กินเนื้อชนิดอื่น ๆ เพราะจำนวนฟันของเสือน้อยกว่าแต่ก็เป็นข้อได้เปรียบทำให้เสือเพิ่มแรงกดที่เขี้ยวได้มากยิ่งขึ้นเพราะเขี้ยวของเสือจะอยู่ใกล้กับจุดต่อของกราม รวมทั้งกรามก็ได้พัฒนาการให้แข็งแรงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย การกัดได้อย่างรุนแรงและหนักหน่วงก็เพื่อฆ่าเหยื่อให้ตายเร็วขึ้นนั่นเอง

เสือเป็นสัตว์กินเนื้อซึ่งจับสัตว์กินพืชเป็นอาหารมากกว่าสัตว์ชนิดอื่น ๆ ขนาดของเหยื่อมักจะมีน้ำหนักประมาณครึ่งหนึ่งของน้ำหนักของมัน เสือจะซุ่มย่องเข้าหาเหยื่อ วิ่งไล่ตะครุบและกัดเหยื่อด้วยเขี้ยวคมและฟันกรามอันแข็งแรง มักจะออกล่าเหยื่อตามลำพังโดยไม่มีการแบ่งปันอาหาร และจะล่าเหยื่อเมื่อมันหิวเท่านั้น เมื่ออิ่มเสือจะไม่ล่าเหยื่อจนกว่ามันจะเริ่มหิวอีกครั้งเท่านั้น

การสืบสายพันธุ์

แก้
 
เสือจะอยู่ตามลำพังตัวเดียวยกเว้นฤดูผสมพันธุ์

เสือเป็นสัตว์ที่ใช้ชีวิตโดดเดี่ยวอยู่ภายในป่านอกจากในช่วงฤดูผสมพันธุ์เท่านั้นเสือจึงจะอยู่เป็นคู่[18][7][19] (ยกเว้นสิงโตเท่านั้นที่จะอยู่รวมกันเป็นฝูง โดยมีสิงโตตัวผู้เป็นจ่าฝูง[20]) ในช่วงเวลาจับคู่เพื่อผสมพันธุ์กันนี้ เสือตัวเมียจะส่งเสียงร้องดังเป็นช่วง ๆ เพื่อเรียกร้องความสนใจจากเสือตัวผู้ เสือจะเริ่มผสมพันธุ์ได้ตั้งแต่อายุ 2 - 8 ปี แต่เสือจะให้ลูกเสือที่แข็งแรงดีก็ต่อเมื่อเสือตัวเมียมีอายุมากขึ้น โดยปกติแล้วเสือตัวเมียเกือบทุกชนิดจะตกไข่หลายครั้งใน 1 ปี แต่มักจะให้กำเนิดลูกเสือเพียงครั้งเดียว ซึ่งเสือบางชนิดอาจให้กำเนิดลูกเสือ 2 ตัวได้ 2 ครั้งต่อ 1 ปี ขณะที่เสือที่มีขนาดใหญ่อาจให้ลูกเพียง 1 ครั้งในช่วงระยะเวลา 2 - 3 ปี

ระยะเวลาตั้งครรภ์ของเสือและแมวอยู่ระหว่าง 55 - 119 วัน ขึ้นอยู่กับชนิด มักให้ลูกครอกหนึ่งตั้งแต่ 1 - 6 ตัว ลูกอ่อนของเสือจะมองไม่เห็นในช่วงระยะเวลา 7 - 10 วันแรกหลังจากคลอดและจะไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ลูกเสือเกิดใหม่มักจะมีจุดอยู่ตามลำตัวและจะอยู่กับแม่เสือตลอดเวลา เรียนรู้วิธีการใช้ชีวิตในธรรมชาติจนกว่าจะเจริญเติบโตแข็งแรง สามารถที่จะออกล่าเหยื่อได้ด้วยตนเอง จึงจะออกไปใช้ชีวิตหากินตามลำพังเช่นเดียวกับพ่อและแม่ของมัน[21]

ความสามารถในการสืบสายพันธุ์นั้น สัตว์ชนิดเดียวกันเท่านั้นจึงจะผสมพันธุ์กันได้ สัตว์ต่างสายพันธุ์จะไม่สามารถผสมพันธุ์กันได้แม้ว่าจะอาศัยอยู่ร่วมกันก็ตาม ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งในกระบวนการวิวัฒนาการ การจำกัดวงของการสืบพันธุ์ไม่ใช่กฎตายตัวของกลุ่มสิ่งมีชีวิตที่มีสายพันธุ์ใกล้ชิดกัน ลูกผสมของสิ่งมีชีวิตอาจจะเกิดขึ้นได้ไม่ว่าจะเป็นพืชหรือสัตว์ เช่นเสือขนาดใหญ่ในกรงเลี้ยงที่สามารถผสมพันธุ์ข้ามสายพันธุ์สำเร็จได้แก่ การผสมสายพันธุ์ระหว่างเสือโคร่งกับสิงโต ลูกผสมระหว่างเสือโคร่งและสิงโตคือ เสือโต หรือ Tigon (Tiger+Lion) เกิดจากเสือโคร่งเพศผู้กับสิงโตเพศเมีย และ สิงโคร่ง หรือ Liger (Lion+Tiger) เกิดจากสิงโตเพศผู้กับเสือโคร่งเพศเมีย นอกจากนี้ยังสามารถที่จะผสมสิงโตกับเสือดาว เสือจากัวร์กับเสือดาว ได้อีกด้วย

เสือโคร่งกับสิงโตจะให้ลูกผสมที่มีขนาดใหญ่กว่าเสือดาวและสิงโต มีขนสีน้ำตาลเหลืองแบบเดียวกับสิงโตแต่จะเข้มกว่ามาก และมีลายขวางลำตัวสีน้ำตาลเข้มแบบเดียวกับเสือโคร่งแต่ลายมักจะไม่ต่อเนื่อง บางแห่งอาจจะมีลายดอกที่แตกออกเป็นแฉก ๆ ส่วนลูกผสมระหว่างสิงโตกับเสือดาวจะเป็นเสือที่มีขนาดใหญ่พอ ๆ กับสิงโตและจะมีรูปร่างลักษณะคล้ายกับสิงโตมากกว่าเสือดาว ลูกผสมตัวผู้จะมีขนที่แผงคอ หางฟูและมีลายขยุ้มตีนหมาตามลำตัวแบบเดียวกับเสือดาวอีกด้วย

การผสมพันธุ์ข้ามสายพันธุ์นั้นเกิดขึ้นได้ยากมากในธรรมชาติ เพราะสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดจะผสมพันธุ์เฉพาะในกลุ่มของตนเอง เพื่อสืบทอดลักษณะต่าง ๆ ต่อไปยังลูกหลาน ถึงแม้ว่าสิ่งมีชีวิตต่างชนิดกันนั้นจะมีความสัมพันธ์กันมาก่อน แต่การวิวัฒนาการก็ทำให้สัตว์แต่ละชนิดที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของตนเอง จนทำให้ไม่สามารถผสมพันธุ์กับเครือญาติของมันได้ในธรรมชาติ

ถิ่นอาศัยและการล่าเหยื่อ

แก้

เสือเป็นสัตว์ที่หวงถิ่นที่อยู่อาศัยเป็นอย่างมากเสือที่มีขนาดใหญ่เมื่อย้ายที่อยู่ชั่วคราวจะแผดเสียงร้องคำรามเป็นเวลานาน เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์ชนิดอื่นหรือเสือด้วยกัน เข้าไปอาศัยในป่าหรือถ้ำเดิมของมัน ซึ่งเสือมักจะอาศัยอยู่อย่างโดดเดี่ยวลำพังเพียงตัวเดียว ออกหากินเฉพาะในอาณาเขตหรือถิ่นของมัน และจะคุ้มครองเขตแดนของตนไว้ หากมีการล้ำเขตแดนก็อาจจะเกิดการเผชิญหน้ากับจนถึงขั้นต่อสู้ เว้นเสียแต่ว่าเสือจ้าวถิ่นจะมีขนาดเล็กกว่า

โดยปกติแล้วเสือจะพยายามหลีกเลี่ยงการต่อสู้หรือการเผชิญหน้ากัน โดยจะใช้วิธีการสื่อสารให้เสือตัวอื่นรู้ว่าได้ล้ำเขตแดนของตนเข้ามาแล้ว เช่น ทิ้งรอยขูดหรือรอยข่วนตามต้นไม้หรือทางเดินในอาณาเขตของเสือแต่ละตัว[22] บางครั้งเสือจะปัสสาวะรดรอยเอาไว้เมื่อเสือตัวอื่นเห็นรอยและได้กลิ่นเสือเจ้าถิ่นที่ทำเอาไว้[23] มันจะรู้ว่าเป็นรอยเก่าหรือรอยใหม่ ถ้ายังเป็นรอยใหม่มันจะหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากันและไปใช้พื้นที่อื่น การเผชิญหน้ากันระหว่างเสือจ้าวถิ่นและเสือตัวอื่นจึงไม่เกิดขึ้นได้ง่ายนัก โดยปกติแล้วเสือเป็นสัตว์กินเนื้อไม่ใช่สัตว์กินซากพืชหรือซากสัตว์ การล่าเหยื่อจึงเป็นสิ่งสำคัญของการมีชีวิตรอดในธรรมชาติ แม้ว่าเสือจะมีร่างกายที่มีพละกำลัง ปราดเปรียวว่องไวและเขี้ยวเล็บที่แหลมคม แต่การมีชีวิตรอดในธรรมชาติไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ การแย่งอาหารหรือการเผชิญหน้ากันก็อาจจะเกิดขึ้นไปตลอดเวลา

เสือเป็นสัตว์รักสงบแต่เมื่อต้องล่าเหยื่อมันจะกลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่อันตรายและดุร้ายที่สุด เสือมีความอดทนสูงในการรอคอยให้เหยื่อเผลอ มันจะพรางตัวซุ่มรอคอยเหยื่อโดยอาศัยสีขนและลายตามลำตัวที่กลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อม หากเหยื่อทำท่าเหมือนจะรู้ตัวมันจะแสร้งทำเป็นไม่สนใจ มันจะคอยหรือเดินตามเหยื่อไปห่าง ๆ ขณะที่ตาก็จับจ้องเหยื่ออยู่ตลอดเวลา และมีการมองเห็นเป็นเลิศ โดยสามารถสังเกตเห็นแม้ว่าเหยื่อจะแอบอยู่ในพุ่มไม้หรือพงหญ้า และเคลื่อนไหวเพียงเล็กน้อยเสือใช้ความสามารถในการมองเห็นร่วมกับการดมกลิ่นและการฟังด้วย เสือสามารถได้ยินเสียงจากระยะไกล และสามารถจำแนกเสียงทั่วไปที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ กับเสียงที่เกิดจากการเคลื่อนไหวของเหยื่อได้[24]

การจู่โจมเหยื่อของเสือเป็นไปตามสัญชาตญาณ ในกรณีของเหยื่อที่มีขนาดเล็กและขนาดกลาง เสือจะเข้าจู่โจมทางทิศที่เหยื่อป้องกันตัวเองไม่ได้ คือจะกระโดดเข้าตระครุบเหยื่อในแนวเฉียงจากทางด้านหลัง เมื่อเสือได้ยินเสียงมันจะยกหางขึ้นและหันหน้าไปทางต้นกำเนิดเสียง ถ้าหากเป็นเสียงเหยื่อเคลื่อนไหวเสือจะสำรวจบริเวณโดยรอบก่อนแล้ว จึงจะนั่งซุ่มมองดูท่าทีของเหยื่อผ่านดงหญ้าหรือพุ่มไม้ด้วยดวงตาแหลมคม และค่อย ๆ ขยับเข้าใกล้เหยื่อจนกระทั่งอยู่ในระยะที่สามารถกระโจนเข้าหาเหยื่อได้อย่างง่ายโดยอาศัยฝีเท้าอันเงียบกริบโดยการหดเล็บซ่อนเอาไว้ในอุ้งเท้า ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษที่ไม่พบในสัตว์กินเนื้อชนิดอื่น และเมื่ออยู่ในระยะที่เหมาะสมมันจะย่อขาหลังลงอยู่ในท่าพร้อมกระโจนออกไป ปลายหางมีอาการกระตุกไปมา ขาด้านหน้าแยกออกจากกันเพื่อเป็นหลักในการทรงตัวและกระโจนเข้าตะปบเหยื่อ แต่สำหรับการจู่โจมเหยื่อที่มีขนาดใหญ่ของเสือที่มีขนาดใหญ่นั้น ในจังหวะสุดท้ายเสือจะเข้าตะครุบเหยื่อในระยะประชิดตัวโดยใช้เท้าหลังยึดกับพื้น ส่งกำลังโถมตัวสูงขึ้นพร้อมกับใช้อุ้งเท้าหน้าเข้าตะปบเหยื่อ

ข้อได้เปรียบของการใช้เท้าหลังยึดกับพื้นแทนการกระโดดเข้าตะครุบคือ การทรงตัวอันมั่นคงที่พร้อมจะจู่โจมหรือรับมือกับการต่อสู้ ในจังหวะต่อมาหรือผละถอยถ้าจำเป็น นอกจากนี้เท้าหลังยังช่วยให้มันเคลื่อนตัวไล่ติดตามเหยื่อได้อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าเหยื่อจะขยับตัวหนีในจังหวะเดียวกับที่มันโถมตัวเข้าตะครุบเหยื่อแล้วก็ตาม ซึ่งหลังจากที่เสือใช้อุ้งเท้าเพียงหนึ่งหรือสองข้างตะปบเหยื่อแล้ว มันจะกัดเหยื่อทันทีซึ่งเกิดขึ้นรวดเร็วมากและเป็นไปโดยอัตโนมัติ คือจะมุ่งยังตำแหน่งที่ใกล้ที่สุดกับอุ้งเท้าด้านหน้าข้างที่มันใช้ตะปบเหยื่อ โดยส่วนใหญ่จึงเป็นตำแหน่งบริเวณสันหลัง ไหล่หรือค่อนไปทางสะโพก แต่ตำแหน่งเหล่านี้ไม่ทำให้เหยื่อถึงแก่ความตาย ดังนั้นเสือจึงจะจู่โจมต่ออย่างรวดเร็วด้วยการกัดตรงหลังคอของเหยื่อซึ่งจะทำลายระบบประสาทและทำให้เหยื่อตายทันที

เสือในประเทศไทย

แก้

เสือและแมวที่ค้นพบในประเทศไทยมีทั้งหมด 9 ชนิด [14]ได้แก่ แมวลายหินอ่อน เสือปลา แมวดาว แมวป่าหัวแบน แมวป่า เสือไฟ เสือลายเมฆ เสือดาวและเสือโคร่ง ซึ่งจัดอยู่ใน 3 สกุล ซึ่งใช้วิธีการจำแนกสกุลตาม Ellerman และ Morrison-Scott คือ

  • แมวสกุล ฟีลิส (Felis) มี 6 ชนิดจาก 29 ชนิดในโลกคือ แมวลายหินอ่อน เสือปลา แมวดาว แมวป่าหัวแบน แมวป่าและเสือไฟ
  • เสือสกุล นีโอฟีลีส (Neofelis) มี 1 ชนิดจาก 2 ชนิดทั่วโลกคือ เสือลายเมฆ
  • เสือสกุล แพนเทอรา (Panthera) มี 2 ชนิดจาก 5 ชนิดทั่วโลก ได้แก่ เสือดาว เสือโคร่ง

ปัจจุบันเสือโคร่ง เสือดาว เสือลายเมฆ เสือไฟ แมวป่า แมวป่าหัวแบนและแมวลายหินอ่อน นับเป็นสัตว์ป่าที่หายากใกล้สูญพันธุ์ไปจากเมืองไทย โดยเฉพาะแมวป่า แมวป่าหัวแบนและแมวลายหินอ่อนซึ่งไม่พบเห็นในป่าธรรมชาติมาเป็นระยะเวลานาน แม้แต่ในสวนสัตว์ก็หาดูได้ยากมาก ส่วนเสือที่ทำการเลี้ยงโดยมนุษย์ในสวนสัตว์ที่มีชื่อเสียงในประเทศไทย คือ สวนเสือศรีราชา

สถานะทางอนุกรมวิธานในปัจจุบัน

แก้

นักอนุกรมวิธาน จัดเสือและแมวทั้ง 9 ชนิดที่พบในประเทศไทย ให้อยู่ในอันดับสัตว์กินเนื้อ (Order Carnivora) วงศ์เสือและแมว (Family Felidae) แบ่งออกได้เป็น 2 วงศ์ย่อย (Subfamily) 6 สกุล (Genera) 9 ชนิด (Species) ดังนี้

เสือกับมนุษย์[25]

แก้

เสือถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของพลังอำนาจ ความน่าเกรงขาม ความแข็งแกร่งและความกล้าหาญมาตั้งแต่โบราณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรมทางแถบเอเชีย โดยเฉพาะเสือโคร่ง เสือที่มีขนาดใหญ่ที่สุด

ในโหราศาสตร์จีน เป็นหนึ่งใน 12 นักษัตร โดยเป็นนักษัตรที่ 3 เรียกในภาษาไทยว่า "ขาล" เรียกในภาษาจีนว่า "โฮ่ว" (虎) โดยเชื่อว่าคนที่เกิดปีขาลจะสมพงศ์กับคนที่เกิดปีกุน หรือปีหมู และจะเป็นปรปักษ์กับคนที่เกิดปีวอก หรือปีลิง

นอกจากนี้แล้วในความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์จีน ยังมียันต์รูปเสือคาบดาบ ที่เชื่อว่าสามารถขับไล่ภูตผีปีศาจหรือสิ่งอัปมงคลต่าง ๆ ให้ออกไปได้[26] โดยยันต์ชนิดนี้จะนิยมติดตามหน้าบ้านหรือเหนือบานประตูหรือตามทางแยกต่าง ๆ มักนิยมใช้ควบคู่กับยันต์ 8 ทิศ และยังมีนิทานพื้นบ้านเกี่ยวกับเสืออีกหลายเรื่อง เช่น เรื่องของบู๋ซ้ง ซึ่งเป็นผู้กล้าที่สามารถฆ่าเสือได้ด้วยมือเปล่า นับเป็นหนึ่งในผู้กล้าของวรรณคดีชิ้นเอกของจีน เรื่อง ซ้องกั๋ง เป็นต้น

ส่วนในวัฒนธรรมไทย เสือเป็นหนึ่งในพยัญชนะ 44 ตัว โดยเป็นตัวที่ 40 เรียกว่า ส.เสือ จัดอยู่ในอักษรสูง และความหมายโดยปริยายของเสือในภาษาไทย จะหมายถึง บุคคลที่มีความเก่งกล้า กล้าหาญ หรือดุร้าย จะถูกขนานนามให้เป็นเสือ เช่น ทหารเสือ, เสือป่า, เสือพราน และใช้เป็นคำนำหน้าชื่อของโจรร้ายในอดีตด้วย เช่น เสือดำ, เสือใบ, เสือมเหศวร เป็นต้น ในความเชื่อไสยศาสตร์ บุคคลที่เล่นเวทมนตร์คาถาต่าง ๆ จนไม่อาจควบคุมได้จะถูกมนต์ดำเหล่านี้เข้าสู่ตัว กลายเป็นเสือผีไป เรียกว่า "เสือสมิง" เชื่อว่าบุคคลที่เป็นเสือสมิงจะสามารถุแปลงร่างเป็นเสือได้ในเวลากลางคืน เพื่อหาเหยื่อที่ส่วนมากเป็นนายพรานที่ดักซุ่มยิงสัตว์ในป่า โดยแสร้งเป็นคนไปตามให้ลงจากห้าง เมื่อลงมาก็จะกลายร่างเป็นเสือเพื่อจัดการ และยังมีการสักยันต์ชนิดหนึ่งที่เชื่อว่า ทำให้ผู้สักมีอำนาจบารมี น่าเกรงขาม ชื่อว่า ยันต์เสือเผ่น โดยมากจะนิยมสักกันที่หน้าอกของชายหนุ่ม

นอกจากนี้แล้วยังมีภาษิตคำพังเพยหรือสำนวนเปรียบเทียบที่มีเสือเข้ามาเกี่ยวด้วยมากมาย เช่น เสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้ หมายถึง คนเก่งสองคนอยู่ร่วมกันไม่ได้, ชาติเสือไว้ลาย ชาติชายไว้ชื่อ หมายถึง ความเป็นชายชาตรีต้องไว้ชื่อลือชา, หน้าเนื้อใจเสือ หมายถึง คนที่มองดูภายนอกเหมือนคนซื่อหรือคนดี แต่ที่จริงแล้วเป็นคนร้าย เป็นต้น

อ้างอิง

แก้
  1. ศูนย์สารสนเทศ ราชบัณฑิตยสถาน เสือ เก็บถาวร 2009-03-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542
  2. [1]
  3. worldwildlife tiger
  4. สัตว์ประเภทเสือ
  5. "More About Tiger: Why is the tiger the 'true' king of the jungle?". news.cgtn.com (ภาษาอังกฤษ).
  6. เสือ จ้าวแห่งนักล่า, ศลิษา สถาปรวัฒน์, ดร.อลัน ราบิโนวิทซ์, สำนักพิมพ์สารคดี, 2538, หน้า 14
  7. 7.0 7.1 องค์การสวนสัตว์ เสือโคร่ง สารานุกรมสัตว์
  8. ธรรมชาติของเสือโคร่ง
  9. Polly, David, Gina D. Wesley-Hunt, Ronald E. Heinrich, Graham Davis and Peter Houde (2006). "Earliest Known Carnivoran Auditory Bulla and Support for a Recent Origin of Crown-Clade Carnivora (Eutheria, Mammalia)" (PDF). Palaeontology. 49 (5): 1019–1027. doi:10.1111/j.1475-4983.2006.00586.x. ISSN 0031-0239. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-05-24. สืบค้นเมื่อ 2010-07-04.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  10. ศลิษา สถาปนวัฒน์,ดร.อลัน ราบิโนวิทซ์, เสือ จ้าวแห่งนักล่า, สำนักพิมพ์สารคดี, 1995, หน้า 22
  11. "PaleoBiology Database: Nimravidae, basic info". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-04-30. สืบค้นเมื่อ 2010-07-04.
  12. Mott, Maryann (2006-01-11). "Cats Climb New family Tree". National Geographic News. สืบค้นเมื่อ 2006-07-15.
  13. "เสือในสกุลแพนเทอรา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-11-21. สืบค้นเมื่อ 2006-12-18.
  14. 14.0 14.1 เสือ จ้าวแห่งนักล่า, ศลิษา สถาปรวัฒน์, ดร.อลัน ราบิโนวิทซ์, สำนักพิมพ์สารคดี, 2538
  15. Weissengruber, GE (2002). "Hyoid apparatus and pharynx in the lion (Panthera leo), jaguar (Panthera onca), tiger (Panthera tigris), cheetah (Acinonyx jubatus) and domestic cat (Felis silvestris f. catus)". Journal of Anatomy. Anatomical Society of Great Britain and Ireland. pp. 195–209. doi:10.1046/j.1469-7580.2002.00088.x. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-08-01. สืบค้นเมื่อ 2009-01-16. {{cite web}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |coauthors= ถูกละเว้น แนะนำ (|author=) (help); ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |month= ถูกละเว้น (help)
  16. Nowak, Ronald M. (1999). Walker's Mammals of the World. Johns Hopkins University Press. ISBN 0-8018-5789-9.
  17. Weissengruber, GE (2002). "Hyoid apparatus and pharynx in the lion (Panthera leo), jaguar (Panthera onca), tiger (Panthera tigris), cheetah (Acinonyx jubatus) and domestic cat (Felis silvestris f. catus)". Journal of Anatomy. Anatomical Society of Great Britain and Ireland. pp. 195–209. doi:10.1046/j.1469-7580.2002.00088.x. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-08-01. สืบค้นเมื่อ 2007-05-20. {{cite web}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |coauthors= ถูกละเว้น แนะนำ (|author=) (help); ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |month= ถูกละเว้น (help)
  18. องค์การสวนสัตว์ เสือดาว,เสือดำ สารานุกรมสัตว์
  19. องค์การสวนสัตว์ เสือจากัวร์ สารานุกรมสัตว์
  20. องค์การสวนสัตว์ สิงโต สารานุกรมสัตว์
  21. บุญส่ง เลขะกุล, สัตว์ป่าเมืองไทย, บริษัทการพิมพ์สตรีสาร, กรุงเทพฯ, 2498
  22. องค์การสวนสัตว์ เสือโคร่งเบงกอล สารานุกรมสัตว์
  23. องค์การสวนสัตว์ เสือชีต้า สารานุกรมสัตว์
  24. บุญส่ง เลขะกุล, สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, กรุงเทพฯ, 2505
  25. Labhart, Karin (2022-02-01). "Heading towards the future with the strengths of the tiger". Feintool (ภาษาเยอรมัน).
  26. เสือคาบดาบกับยันต์แปดทิศ บ้านฮวงจุ้ย สืบค้นวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2553

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้