เรือตอร์ปิโดยูโกสลาเวีย ที1
เรือตอร์ปิโดยูโกสลาเวีย ที1 เป็นเรือตอร์ปิโดเดินสมุทรที่ประจำการในราชนาวียูโกสลาเวียระหว่าง พ.ศ. 2464–2484 ชื่อเดิมคือ 76ที เป็นเรือตอร์ปิโดชั้น 250ที ของกองทัพเรือออสเตรีย-ฮังการีที่สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2457 มีปืนขนาด 66 มิลลิเมตร (2.6 นิ้ว) สองกระบอก และท่อยิงตอร์ปิโด 4 ท่อขนาด 450 มิลลิเมตร (17.7 นิ้ว) สี่ท่อ และสามารถบรรทุกทุ่นระเบิดเรือ 10-12 ลูก ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง มีการใช้เรือในภารกิจขบวนเรือ คุ้มกัน เก็บกวาดทุ่นระเบิด ปฏิบัติการต่อต้านเรือดำน้ำ และภารกิจโจมตีชายฝั่ง หลังจากนั้นใน พ.ศ. 2460 คำต่อท้ายของเรือตอร์บิโดทั้งหมดในออสเตรีย-ฮังการีถูกเอาออก จึงทำให้ชื่อของเรือเปลี่ยนเป็น เรือตอร์ปิโด 76 ระหว่างปฏิบัติการทางเรือ 76ที ทำหน้าที่เป็นหนึ่งในกองเรือคุ้มกันเดรดนอตแซ็นต์ อิชต์วาน ซึ่งส่งผลเรือดังกล่าวถูกเรือตอร์ปิโดอิตาลีจมในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2461 หลังออสเตรีย-ฮังการีพ่ายแพ้สงครามในปีเดียวกัน มีการจัดสรร 76ที ให้แก่กองทัพเรือราชอาณาจักรแห่งชาวเซิร์บ โครแอต และสโลวีน ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นราชนาวียูโกสลาเวีย และได้เปลี่ยนชื่อเป็น ที1 เรือดังกล่าวและเรือชั้น 250ที อื่น ๆ อีกเจ็ดลำเป็นเรือเดินสมุทรสมัยใหม่ไม่กี่ลำของกองทัพเรือใหม่นี้
เรือตอร์ปิโดยูโกสลาเวีย ที3 หนึ่งในเรือพี่น้องของรุ่น ที1
| |
ประวัติ | |
---|---|
ออสเตรีย-ฮังการี | |
ชื่อ | 76ที ต่อมาเป็น 76 |
อู่เรือ | Stabilimento Tecnico Triestino |
ปล่อยเรือ | 24 มิถุนายน พ.ศ. 2456 |
เดินเรือแรก | 15 ธันวาคม พ.ศ. 2456 |
เข้าประจำการ | 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2457 |
หยุดให้บริการ | พ.ศ. 2461 |
ความเป็นไป | ส่งมอบให้ราชอาณาจักรแห่งชาวเซิร์บ โครแอต และสโลวีน |
ราชอาณาจักรยูโกสลาเวีย | |
ชื่อ | ที1 |
ส่งมอบเสร็จ | มีนาคม พ.ศ. 2464 |
หยุดให้บริการ | เมษายน พ.ศ. 2484 |
ความเป็นไป | อิตาลียึด |
ราชอาณาจักรอิตาลี | |
ชื่อ | ที1 |
ส่งมอบเสร็จ | เมษายน พ.ศ. 2484 |
หยุดให้บริการ | กันยายน พ.ศ. 2486 |
ราชอาณาจักรยูโกสลาเวีย | |
ชื่อ | ที1 |
ส่งมอบเสร็จ | ธันวาคม พ.ศ. 2486 |
ความเป็นไป | ส่งคืนให้กองทัพเรือยูโกสลาเวียหลังสงคราม |
สหพันธ์สาธารณรัฐประชาชนยูโกสลาเวีย | |
ชื่อ | กอเลชนิตซา |
ส่งมอบเสร็จ | หลังสงครามโลกครั้งที่สอง |
Stricken | พ.ศ. 2498 |
ความเป็นไป | ถูกใช้เป็นเรือเป้าหมาย |
ลักษณะเฉพาะ | |
ชั้น: | เรือตอร์ปิโดชั้น 250ที, เรือตอร์ปิโดเดินสมุทรกลุ่มที |
ขนาด (ระวางขับน้ำ): |
|
ความยาว: | 57.3 เมตร (188 ฟุต) |
ความกว้าง: | 5.7 เมตร (18 ฟุต 8 นิ้ว) |
กินน้ำลึก: | 1.5 เมตร (4 ฟุต 11 นิ้ว) |
ระบบพลังงาน: | |
ระบบขับเคลื่อน: |
|
ความเร็ว: | 28 นอต (52 กิโลเมตรต่อชั่วโมง; 32 ไมล์ต่อชั่วโมง) |
พิสัยเชื้อเพลิง: | 1000 ไมล์ทะเล (1,900 กิโลเมตร; 1,200 ไมล์) ที่ 16 นอต (30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง; 18 ไมล์ต่อชั่วโมง) |
อัตราเต็มที่: | 41 |
ยุทโธปกรณ์: |
|
ในสมัยระหว่างสงคราม ที1 และกองทัพเรือที่เหลือเข้าร่วมการฝึกซ้อมและลาดตระเวนไปท่าเรือฝ่ายเดียวกัน แต่กิจกรรมถูกจำกัดด้วยงบประมาณกองทัพเรือที่ลดลง อิตาลียึดเรือดังกล่าวได้ระหว่างการบุกครองยูโกสลาเวียของฝ่ายอักษะที่มีเยอรมนีเป็นผู้นำในเดือนเมษายน พ.ศ. 2484 จากนั้นมีการปรับปรุงอาวุธหลักของเรือให้ทันสมัย เรือเข้าประจำการในราชนาวีอิตาลีภายใต้ชื่อยูโกสลาเวียเดิม ภายหลังการยอมจำนนของอิตาลีในเดือนกันยายน พ.ศ. 2486 เรือได้รับการส่งคืนให้แก่ราชนาวียูโกสลาเวียพลัดถิ่น เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองยุติ ก็มีการส่งมอบเรือให้กับกองทัพเรือยูโกสลาเวียใหม่ พร้อมทั้งปรับปรุงและเปลี่ยนอาวุธยุทโธปกรณ์ของเรือ และเปลี่ยนชื่อเป็น กอเลชนิตซา จนถึง พ.ศ. 2498 หลังจมเป็นเป้าหมายในอ่าวชันยิตซา ใกล้กับปากอ่าวกอตอร์ด้านตะวันตก ซึ่งในปัจจุบันสถานที่นี้กลายเป็นแหล่งดำน้ำเพื่อสันทนาการ
เบื้องหลัง
แก้ใน พ.ศ. 2453 คณะกรรมการเทคนิคทางเรือออสเตรีย-ฮังการีริเริ่มโครงการการออกแบบและพัฒนาเรือตอร์ปิโดชายฝั่งระวางขับน้ำ 275 ตัน (271 ลองตัน) และกำหนดว่าควรคงความเร็วได้ 30 นอต (56 กม./ชม.) เป็นเวลา 10 ชั่วโมง ข้อกำหนดนี้ตั้งอยู่บนการคาดการณ์ว่ากำลังข้าศึกจะปิดล้อมช่องแคบโอตรันโต ซึ่งเป็นที่บรรจบของทะเลเอเดรียติกกับทะเลไอโอเนียน ระหว่างความขัดแย้งในอนาคต ในพฤติการณ์เช่นนั้น มีความจำเป็นต้องใช้เรือตอร์ปิโดซึ่งสามารถแล่นจากฐานทัพเรือออสเตรีย-ฮังการี (เยอรมัน: kaiserliche und königliche Kriegsmarine, ฮังการี: Császári és Királyi Haditengerészet) ที่อ่าวกัตตาโร (อ่าวกอตอร์) ไปช่องแคบดังกล่าวในยามกลางคืน หาตำแหน่งและโจมตีเรือที่ปิดล้อมแล้วกลับสู่ท่าเรือก่อนเช้า มีการเลือกเครื่องยนต์กังหันไอน้ำสำหรับการขับเคลื่อน เนื่องจากไม่มีน้ำมันดีเซลที่มีพลังงานที่จำเป็น และกองทัพเรือออสเตรีย-ฮังการีไม่มีประสบการณ์เชิงปฏิบัติในการใช้เรือกังหันไฟฟ้า บริษัทต่อเรือด้านเทคนิคของตรีเยสเต (อิตาลี: Stabilimento Tecnico Triestino, ชื่อย่อ: STT) ได้รับคัดเลือกให้ทำสัญญาต่อเรือแปดลำแรกในชื่อกลุ่ม ที นำหน้าผู้เสนอรายอื่น ๆ[1] ซึ่งกลุ่มชื่อที หมายถึงตำแหน่งอู่ต่อเรือหลักของบริษัทที่ตรีเยสเต[2]
การออกแบบและการต่อเรือ
แก้เรือกลุ่มทีชั้น 250ที ได้รับการออกแบบให้ดาดฟ้าเรือยกขึ้นเล็กน้อยและมีสะพานเดินเรือแบบเปิด ซึ่งมีความรวดเร็วและว่องไว ออกแบบมาอย่างดีสำหรับการประจำการในทะเลเอเดรียติก[3] มีความยาวแนวน้ำเป็น 57.3 เมตร (188 ฟุต) ความกว้าง 5.7 เมตร (18 ฟุต 8 นิ้ว) และกินน้ำลึก 1.5 เมตร (4 ฟุต 11 นิ้ว) มีระวางขับน้ำตามการออกแบบ 237 ตัน (233 ลองตัน) แต่เมื่อบรรทุเต็มที่ ระวางขับน้ำเพิ่มเป็น 324 ตัน (319 ลองตัน) โดยประมาณ[4] สามารถบรรจุลูกเรือได้ 41 คน (เจ้าหน้าที่ทหาร 3 นาย และทหารเกณฑ์ 38 นาย)[5] เรือขับเคลื่อนด้วยกังหันไอน้ำ พาร์สันส์ 2 ใบพัด ขับเคลื่อนโดยหม้อไอน้ำแบบยาร์โรว์ 2 หม้อ หม้อหนึ่งเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิง และอีกหม้อหนึ่งเผาไหม้ถ่านหิน[6] มีห้องหม้อไอน้ำสองห้อง โดยห้องหนึ่งอยู่ด้านหลังอีกห้องหนึ่ง[3] กังหันทั้งสองจัดเป็น 5000-5700 แรงม้า (3,700–4,300 กิโลวัตต์) และออกแบบมาเพื่อขับเคลื่อนเรือให้มีความเร็วสูงสุด 28 นอต (52 กิโลเมตรต่อชั่วโมง; 32 ไมล์ต่อชั่วโมง) แม้ว่าความเร็วสูงสุดที่ทำได้จะเป็น 29.2 นอต (54.1 กิโลเมตรต่อชั่วโมง; 33.6 ไมล์ต่อชั่วโมง) บรรทุกถ่านหิน 18.2 ตัน (17.9 ลองตัน) และน้ำมันเชื้อเพลิง 24.3 ตัน (23.9 ลองตัน) ทำให้มีพิสัย 1,000 ไมล์ทะเล (1,900 กิโลเมตร; 1,200 ไมล์) ที่ความเร็ว 16 นอต (30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง; 18 ไมล์ต่อชั่วโมง)[6] กลุ่มทีมีปล่องควันหนึ่งปล่อง ซึ่งน้อยกว่ากลุ่มอื่นที่มีสองปล่อง[1] มีฝาครอบระบายอากาศขนาดใหญ่ใต้สะพานเดินเรือและปล่องควันท้ายเรือ[3] เนื่องจากการจัดหาทุนที่ไม่เพียงพอ ทำให้ 76ที และเรือตอร์ปิโดชั้น 250ที ลำที่เหลือกลายเป็นเรือชายฝั่งโดยสภาพ แม้ว่าเจตนาเดิมทีจะใช้สำหรับปฏิบัติการ "ทะเลน้ำลึก"[7] นับเป็นครั้งแรกที่กองทัพเรือเล็กของออสเตรีย-ฮังการีที่ใช้ระบบกังหัน และเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องกับระบบใหม่[1] ซึ่งทำให้เรือได้รับการซ่อมแซมอย่างต่อเนื่องเมื่อเข้าประจำการ[3]
เรือลำนี้มีปืนสโกดา 66 มิลลิเมตร (2.6 นิ้ว) แอล/30 3 กระบอก[a] และท่อยิงตอร์ปิโด 450 มิลลิเมตร (17.7 นิ้ว) 3 ท่อ[1] แต่มีการเปลี่ยนจำนวนปืนเป็นสองกระบอกและท่อยิงตอร์ปิโดเป็นสี่ท่อก่อนที่เรือลำแรกจะเสร็จสมบูรณ์ เพื่อเป็นไปตามมาตรฐานอาวุธแบบเดียวกับกลุ่มเอฟ[2] ท่อยิงตอร์ปิโดติดตั้งเป็นคู่ โดยคู่หนึ่งติดตั้งอยู่ระหว่างดาดฟ้าและสะพานเดินเรือ ส่วนอีกคู่อยู่บนส่วนของโครงสร้างส่วนบนที่ยกขึ้นเหนือห้องเครื่องจักรท้ายเรือ[6] สามารถพกทุ่นระเบิดเรือ 10-12 ลูก 76ที เป็นเรือลำที่สามของชั้นที่สร้างแล้วเสร็จ โดยเริ่มวางกระดูกงูเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2456 ถูกปล่อยลงน้ำในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2456 และขึ้นระวางวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2457[2] จากนั้นในปีเดียวกัน มีการติดปืนกล 8 มิลลิเมตร (0.31 นิ้ว) หนึ่งกระบอกสำหรับภารกิจต่อต้านอากาศยาน[1][5]
การใช้งาน
แก้สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
แก้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง 76ที เป็นเรือในกลุ่มเรือตอร์ปิโดที่ 1 ของกองเรือตอร์ปิโดที่ 3 แห่งทัพเรือตอร์ปิโดออสเตรีย-ฮังการีที่ 1[9] มโนทัศน์เดิมของปฏิบัติการสำหรับเรือชั้น 250ที นั้น คือการให้เรือแล่นในกองเรือที่ด้านหลังแนวรบลาดตระเวน และมีหน้าที่เข้าแทรกแซงการต่อสู้เฉพาะในกรณีที่เรือประจัญบานในแนวรบถูกทำลาย หรือเข้าโจมตีเรือประจัญบานฝั่งศัตรู[10] เมื่อมีคำสั่งโจมตีด้วยตอร์ปิโด เรือลาดตระเวนสอดแนมจะเป็นเรือนำและเรือพิฆาตสองลำจะคอยขับไล่เรือตอร์ปิโดฝ่ายตรงข้าม กลุ่มเรือตอร์ปิโดสี่ถึงหกลำจะส่งการโจมตีภายใต้คำสั่งโดยตรงของผู้บัญชาการกองเรือ[11]
ในระหว่างสงคราม 76ที ถูกนำมาใช้เพื่อลาดตระเวนคุ้มกันและกวาดทุ่นระเบิด รวมถึงปฏิบัติการต่อต้านเรือดำน้ำ[1] และภารกิจโจมตีชายฝั่ง[12] นอกจากนี้ยังดำเนินการลาดตระเวนและสนับสนุนการโจมตีชายฝั่งอิตาลีของเครื่องบินทะเล[7] เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2458 76ที และเรือยิงตอร์ปิโดชั้น 250 ที อีกเจ็ดลำเข้าร่วมปฏิบัติการโจมตีชายฝั่งอิตาลีหรือที่รู้จักกันในชื่อการระดมยิงที่อังโกนา[13] เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม กองเรือที่นำโดยเรือลาดตระเวนสอดแนมแอดมิรอลชเปาน์ และโนวารา คุ้มกันโดยเรือพิฆาตสองลำ พร้อมด้วย 76ที และเรือชั้น 250ที อีกสองลำ ระดมยิงเส้นทางรถไฟของอิตาลีที่เชื่อมระหว่างอังโกนาและเปซาโร[14] ปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2458 ทัพเรือออสเตรีย-ฮังการีได้ส่งกำลังจากฐานทัพเรือหลักที่ปูลาในเอเดรียติกตอนบน ไปยังกัตตาโรในเอเดรียติกตอนล่าง โดยกองกำลังนี้ประกอบด้วยเรือตอร์ปิโดกลุ่มทีหกลำจากทั้งหมดแปดลำ จึงเป็นไปได้ว่าหนึ่งในนั้นคือ 76ที กองกำลังนี้ได้รับมอบหมายให้ดูแลการลาดตระเวนชายฝั่งแอลเบเนียอย่างถาวร และขัดขวางการขนส่งกองทหารใด ๆ ที่ข้ามจากอิตาลี[15]
เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2459 76ที, เรือตอร์ปิโดชั้นไคมัน 70เอฟ, และเรือชั้น 250ที อีกสองลำได้วางทุ่นระเบิดป้องกันนอกท่าเรืออันตีวารี[16] ในวันที่ 3 พฤษภาคม 76ที และเรือชั้น 250ที ห้าลำ พร้อมกับเรือพิฆาตสี่ลำเข้าร่วมในปฏิบัติการเหนือผิวน้ำนอกท่าเรือกอร์ซินี ใกล้ราเวนนา และต่อสู้กับกองทัพอิตาลีที่มีเรือพิฆาตเชซาเร รอสซารอล และกูลยีเอลโม เปเปเป็นเรือนำกอง ในโอกาสนี้ กองทัพออสเตรีย-ฮังการีถอยกำลังกลับหลังทุ่นระเบิดโดยไม่มีความเสียหายต่อเรือตอร์ปิโด แต่มีเพียงความเสียหายเพียงเล็กน้อยต่อเรือฮูซาร์และชิโกช ใน พ.ศ. 2460 ปืน 66 มิลลิเมตร ของ 76ที หนึ่งกระบอกถูกเปลี่ยนเป็นปืนใหญ่ต่อต้านอากาศยาน[2] เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2460 คำต่อท้ายของเรือตอร์บิโดทั้งหมดในออสเตรีย-ฮังการีถูกเอาออก จึงทำให้ชื่อของเรือเหลือเพียงตัวเลขเท่านั้น[1] ในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม เครื่องบินออสเตรีย-ฮังการีปฏิบัติการทิ้งระเบิดเป้าหมายตามแนวชายฝั่งตะวันออกของอิตาลีอย่างต่อเนื่อง ในการโจมตีด้วยเครื่องบินทะเล 21 ครั้งโดยมุ่งเป้าไปที่ท่าเรือที่กราโดระหว่างเวนิสและตรีเยสเต และศูนย์กลางทางรถไฟหลักในบริเวณเดียวกันที่แชร์วิญญาโน เรือตอร์ปิโด 76 เป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังคุ้มกันซึ่งประกอบด้วยเรือพิฆาตสามลำและเรือชั้น 250ที อีกสามลำ เรือพิฆาตลำหนึ่งตกเป็นเป้าหมายของเรือดำน้ำศัตรู แต่ยังสามารถหลบเลี่ยงตอร์ปิโดได้[17]
ใน ค.ศ. 1918 ฝ่ายสัมพันธมิตรได้เสริมกำลังการปิดล้อมช่องแคบโอตรันโตอย่างต่อเนื่อง ตามที่กองทัพเรือออสเตรีย-ฮังการีคาดการณ์ไว้ เป็นผลให้เรืออูของเยอรมันและออสเตรีย-ฮังการีผ่านช่องแคบและลงสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนได้ยากขึ้น ทางผู้บัญชาการกองทัพเรือออสเตรีย-ฮังการีคนใหม่ พลเรือตรี มิกโลช โฮร์ตี จึงตัดสินใจเปิดฉากโจมตีกองกำลังป้องกันของฝ่ายสัมพันธมิตรด้วยเรือประจัญบาน เรือลาดตระเวนสอดแนม และเรือพิฆาต เพื่อโต้กลับการปิดล้อม[18] ในระหว่างคืนวันที่ 8 มิถุนายน โฮร์ตีนำทัพเรือออกจากฐานทัพเรือปูลาในทะเลเอเดรียติกตอนบนพร้อมเรือประจัญบานเดรดนอตริบัส ยูนิทิส และพรินซ์อ็อยเกน เมื่อเวลาประมาณ 23.00 นาฬิกา ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2461 หลังจากมีปัญหาในการนำโซ่กันเรือในท่าเทียบเรือออก เรือประจัญบานเดรดนอตแซ็นต์ อิชต์วาน และเทเก็ททอฟ[19] เรือพิฆาตหนึ่งลำและเรือยิงตอร์ปิโดหกลำซึ่งรวมถึงเรือตอร์ปิโด 76 ได้ออกจากปูลาไปยังสลานอ ทางตอนเหนือของรากูซา เพื่อนัดรวมกับกองเรือของโฮร์ตีสำหรับการเตรียมพร้อมเพื่อเข้าโจมตีกองเรือพันธมิตรบริเวณช่องแคบโอตรันโต ในวันที่ 10 มิถุนายน เวลาประมาณ 03:15 นาฬิกา[b] ในขณะที่เรือยนต์ตอร์ปิโดสองลำของราชนาวีอิตาลี (อิตาลี: Regia Marina) เอ็มเอเอส 15 และเอ็มเอเอส 21 กลับจากการลาดตระเวนนอกชายฝั่งแดลเมเชียได้เห็นควันจากเรือของออสเตรีย ทั้งสองลำประสบความสำเร็จในการเจาะการคุ้มกันส่วนหน้าและแยกทางกัน โดยเอ็มเอเอส 21 เข้าโจมตีเรือเทเก็ททอฟ แต่ตอร์ปิโดยิงพลาดเป้า[21] ลูกเรือของเรือ 76 ยังคงไม่สังเกตเห็นเรือเอ็มเอเอส จนกระทั่งตอร์ปิโดถูกปล่อยออกไป[22] ณ เวลา 03:25 นาฬิกา เอ็มเอเอส 15 ภายใต้การบังคับบัญชาของลุยจี ริซโซ ยิงตอร์ปิโดสองลูกถูกเรือแซ็นต์ อิชต์วาน ริซโซยังได้ข่มขวัญเรือ 76 โดยการปล่อยระเบิดน้ำลึก ซึ่งทำให้เรือเอ็มเอเอสทั้งสองลำรอดพ้นจากการไล่ตามของกองเรือศัตรู สำหรับตอร์ปิโดที่ยิงใส่เรือแซ็นต์ อิชต์วาน ส่งผลให้ห้องหม้อไอน้ำของเรือเป็นรูรั่ว น้ำได้เข้าท่วมตัวเรือแต่ไม่สามารถระบายได้ เนื่องจากน้ำได้ทำลายระบบพลังงานปั้มสูบน้ำไปแล้ว สามชั่วโมงต่อมาเรือแซ็นต์ อิชต์วาน ได้อับปางลง[20] ซึ่งจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ปฏิบัติการของทัพเรือออสเตรีย-ฮังการีในทะเลเอเดรียติกสิ้นสุดลงตลอดเวลาที่เหลือของสงคราม[23]
สมัยระหว่างสงคราม
แก้จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีร้องขอสงบศึกในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2461 และเรือตอร์ปิโด 76 สามารถรอดจากสงครามได้[1] ใน พ.ศ. 2463 ภายใต้เงื่อนไขของสนธิสัญญาแซ็ง-แฌร์แม็ง-อ็อง-แล ซึ่งออสเตรียประกาศยุติสงครามโลกครั้งที่หนึ่งอย่างเป็นทางการ ทำให้เรือตกเป็นของราชอาณาจักรแห่งชาวเซิร์บ โครแอต และสโลวีน (ภายหลังคือราชอาณาจักรยูโกสลาเวีย)[24] ทันทีหลังการยอมจำนนของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี กองทัพฝรั่งเศสได้เข้ายึดกัตตาโร ซึ่งฝ่ายสัมพันธมิตรรับรองว่าเป็นอาณาเขตของจักรวรรดิ[25] ในระหว่างการยึดครองของฝรั่งเศส เรือของกองทัพเรือออสเตรีย-ฮังการีที่จอดเทียบฝั่งในกัตตาโรถูกทอดทิ้ง และท่อยิงตอร์ปิโดเดิมของเรือ 76 ถูกกองทหารฝรั่งเศสทำลายหรือทำให้เสียหาย[26] เช่นเดียวกันกับเรือชั้น 250ที กลุ่มที สามลำ (77, 78 และ 79) และกลุ่มเอฟอีกสี่ลำได้เช้าประจำการในราชนาวียูโกสลาเวีย (เซอร์เบีย-โครเอเชีย: Kraljevska Mornarica, KM; Краљевска Морнарица) ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2464 หลังกองทหารฝรั่งเศสถอนกำลัง[24][26] ระหว่างประจำการในยูโกสลาเวีย เรือตอร์ปิโด 76 เปลี่ยนชื่อเป็น ที1[2] เรือดังกล่าวและเรือชั้น 250ที อื่น ๆ อีกเจ็ดลำเป็นเรือเดินสมุทรสมัยใหม่ไม่กี่ลำของกองทัพเรือใหม่นี้[27] ท่อยิงตอร์ปิโดท่อใหม่ที่ขนาดเหมือนกันได้รับการสั่งซื้อจากโรงงาน Strojne Tovarne ในลูบลิยานา[5]
ราชนาวียูโกสลาเวียมีความตั้งใจที่จะเปลี่ยนปืนหนึ่งหรือทั้งสองกระบอกบนเรือชั้น 250ที แต่ละลำด้วยปืนสโกดา 66 มิลลิเมตร (2.6 นิ้ว) แอล/45 ที่ยาวกว่า และตามที่นักประวัติศาสตร์ทางเรือ ซวอนิมีร์ ฟรีวอเกล (Zvonimir Freivogel) ได้ระบุไว้ เรือ ที1 ได้รับการเปลี่ยนปืนด้านหน้าเรือด้วย เรือยังได้ติดตั้งปืนกลซบรอยอฟกา 15 มิลลิเมตร (0.59 นิ้ว) อีกหนึ่งหรือสองกระบอก ในช่วงเวลานี้ มีลูกเรือเพิ่มขึ้นเป็น 52 นาย[5] และเข้าประจำการในกองทัพเรือเมื่อ พ.ศ. 2466[28] ใน พ.ศ. 2468 ได้มีการจัดการซ้อมรบตามชายฝั่งแดลเมเชีย ซึ่งเกี่ยวข้องกับกองทัพเรือส่วนใหญ่[29] ที1 ได้รับการปรับปรุงใหม่ใน พ.ศ. 2470[28] ในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน พ.ศ. 2472 เรือตอร์ปิโดชั้น 250ที จำนวน 6 ลำจากทั้งหมด 8 ลำ ซึ่งมาพร้อมกับเรือลาดตระเวน Dalmacija เรือสนับสนุนเรือดำน้ำ Hvar และเรือดำน้ำ Hrabri และ Nebojša ล่องเรือไปยังเกาะมอลตา เกาะคอร์ฟูของกรีซในทะเลไอโอเนียน และเมืองบีเซิร์ทในตูนิเซียในอารักขาของฝรั่งเศส โดยเรือและลูกเรือสร้างความประทับใจที่ดียิ่งขณะเยือนมอลตา[30] ใน พ.ศ. 2475 กองเรือราชนาวีอังกฤษรายงานว่าราชนาวียูโกสลาเวียอยู่ในช่วงขาดงบประมาณ ทำให้การซ้อมรบและการฝึกยิงปืนใหญ่ลดลง[31] ใน พ.ศ. 2482 ความเร็วสูงสุดที่เรือชั้น 250ที สามารถทำได้ระหว่างประจำการในยูโกสลาเวียลดลงเหลือ 24 นอต (44 กิโลเมตรต่อชั่วโมง; 28 ไมล์ต่อชั่วโมง)[5]
สงครามโลกครั้งที่สองและหลังสงคราม
แก้ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2484 ยูโกสลาเวียเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สองเมื่อฝ่ายอักษะที่มีเยอรมนีเป็นผู้นำบุกครองประเทศ โดยในช่วงเวลาการรุกราน ที1 ได้รับมอบหมายให้อยู่เขตทางใต้ของกองบัญชาการป้องกันชายฝั่งแห่งราชนาวียูโกสลาเวีย ซึ่งตั้งอยู่ที่อ่าวกอตอร์[32] พร้อมด้วยเรือพี่น้อง ที8 แม้ว่า ที1 จะประจำอยู่ในกองเรือตอร์ปิโดที่ 3 อย่างเป็นทางการ แต่กลับถูกทอดทิ้งอยู่ที่กอตอร์ เมื่อกำลังส่วนอื่นของกองเรือเคลื่อนพลไปที่ท่าเรือชิเบนีก ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนกลางของแดลเมเชียก่อนการบุกครอง ตามแผนการโจมตีซาราของอิตาลี ทางตอนเหนือของแดลเมเชีย[33] ไม่นานหลังจากการยอมจำนนของยูโกสลาเวีย ที1 ถูกราชนาวีอิตาลียึดและใช้เรือต่อไปภายใต้ชื่อเดิมของยูโกสลาเวีย โดย ที1 มีหน้าที่ลาดตระเวนคุ้มกันชายฝั่งในเอเดรียติก มีการเปลี่ยนปืนของเรือเป็นปืนต่อต้านอากาศยาน 76 มิลลิเมตร (3.0 นิ้ว) แอล/40 สองกระบอก[34] และสะพานเดินเรือถูกปิด[3] ตัวเรือยังถูกทาสีลายพรางที่ทำให้ลายตา[35] เรือได้รับการจัดสรรให้กับมารีดัลมาเซีย กองบัญชาการทหารทางทะเลประจำแดลเมเชีย (อิตาลี: Comando militare maritime della Dalmatia) ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ตั้งแต่เกาะเปรมูดาในเอเดรียติกเหนือถึงท่าเรือบาร์ในเขตผู้ว่าการมอนเตเนโกรของอิตาลี[36] เมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2486 ขณะที่ ที1 กำลังปฏิบัติการคุ้มกันเรือกลไฟ กัสซาลา ใกล้แหลมเมนเดอร์ส (ปัจจุบันคือแหลมเมนดรา ใกล้เมืองอูลตซิญ ประเทศมอนเตเนโกร ซึ่งตอนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของแอลเบเนียในอารักขาของอิตาลี) ได้ถูกโจมตีโดยเรือดำน้ำ ไทกริส ของอังกฤษ โดย ไทกริส ยิงตอร์ปิโดสี่ลูกแต่พลาดเปเาหมายทั้งสองลำ[37]
หลังอิตาลียอมจำนนเมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2486 ที1 ได้รับภารกิจคุ้มกันเรือบรรทุกน้ำมัน Annarella และเรือบรรทุกสินค้า Milano ร่วมกับเรือพิฆาตชั้นโรโซลีโน ปีโล Giuseppe Cesare Abba กองทหารเยอรมันบนเรือ Milano ได้รับอนุญาตให้ขึ้นฝั่ง แต่อิตาลีเริ่มถอนกำลังออกจากอ่าวกอตอร์ในตอนเย็นของวันที่ 10 กันยายน และในวันรุ่งขึ้น เรือหลายลำถูกเคลื่อนย้ายไปยังท่าเรือของฝ่ายสัมพันธมิตรในอิตาลีหรือมอลตา รวมถึง ที1, Giuseppe Cesare Abba, เอ็มอี47 และเรือกวาดทุ่นระเบิดบางลำที่บรรทุกลูกเรืออิตาลีประมาณ 400 นาย[28][38] เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2486 ที1 ได้รับการส่งคืนให้กับราชนาวียูโกสลาเวียพลัดถิ่นในมอลตา[28][39][c] ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488 ที1 ถูกโอนย้ายการดูแลไปยังรัฐบาลสหพันธ์ประชาธิปไตยยูโกสลาเวียใหม่ เช่นเดียวกับเรือของราชนาวีพลัดถิ่นที่เหลือ[42]
เรือได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็น กอเลชนิตซา โดยกองทัพเรือยูโกสลาเวีย (เซอร์เบีย-โครเอเชีย: Jugoslavenska Ratna Mornarica, JRM; Југословенска Pатна Mорнарица) และเข้าประจำการในฐานะ stražarski brod (เรือคุ้มกัน) ด้วยสมญานาม เอ็สบีอาร์ 91 ต่อมาเรือได้รับการจัดประเภทใหม่เป็น patrolni brod (เรือลาดตระเวน) ด้วยสมญานาม พีบีอาร์ 91 มีการปรับแต่งเรือใหม่หลังสงครามยุติลง ทั้งการเปลี่ยนปืนของเรือเป็นปืน Bofors 40 มิลลิเมตร (1.6 นิ้ว) แอล/60 สองกระบอกบนแท่นเดี่ยว เป็นปืน Flakvierling 38 20 มิลลิเมตร (0.79 นิ้ว) บนแท่นสี่ส่วนและแท่นคู่อย่างละหนึ่งกระบอก และท่อยิงตอร์ปิโดหนึ่งชุดถูกเอาออก เรือได้รับการติดตั้งชั้นเก็บระเบิดน้ำลึกสองชั้น ระหว่างประจำในกองทัพเรือยูโกสลาเวีย เรือสามารถทำความเร็วสูงสุด 22 kn (41 km/h; 25 mph) ทำให้มีพิสัย 980 nmi (1,810 km; 1,130 mi) ที่ความเร็ว 12 kn (22 km/h; 14 mph) และสามารถบรรจุลูกเรือได้ 52 นาย กอเลชนิตซา เข้าประจำการในกองเรือที่ 6 สังกัดกองทัพเรือยูโกสลาเวีย ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วยเรือพิฆาตคุ้มกัน และยังได้รับการใช้งานในการฝึกด้วย จนกระทั่งเรือเริ่มเสียหายใน พ.ศ. 2498[43] หลังปลดประจำการและอาวุธ เรือถูกใช้เป็นเรือเป้าหมายและจมลงที่อ่าวชันยิตซา ใกล้กับปากอ่าวกอตอร์ด้านตะวันตก ซึ่งในปัจจุบันสถานที่นี้กลายเป็นแหล่งดำน้ำเพื่อสันทนาการ[28][44] ส่วนชุดท่อยิงตอร์ปิโดของเรือถูกจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์เทคนิคนิโคลา เทสลา ณ กรุงซาเกร็บ ประเทศโครเอเชีย[45]
หมายเหตุ
แก้- ↑ แอล/30 หมายถึงความยาวของปืน ในกรณีนี้ปืนแอล/30 เท่ากับปืนขนาด 30 คาลิเบอร์ ซึ่งหมายความว่าปืนยาว 30 เท่าของเส้นผ่านศูนย์กลางของปากกระบอกปืน[8]
- ↑ ไม่มีเวลาที่แน่นอนเมื่อมีการโจมตีเกิดขึ้นโดย Seiche ระบุว่าเวลาคือ 03:15 นาฬิกา เมื่อเรือแซ็นต์ อิชต์วาน ถูกโจมตี[20] ขณะที่ Sokol ระบุว่าเป็นเวลา 03:30 นาฬิกา[19]
- ↑ มีแหล่งข้อมูลหนึ่งระบุว่าเรือถูกยึดโดยเยอรมนีและได้รับการส่งมอบให้กับกองทัพเรือของรัฐเอกราชโครเอเชียซึ่งเป็นรัฐหุ่นเชิด[1] แต่นอกเหนือจากข้อมูลของ Freivogel และ Rastelli แล้ว แหล่งอื่น ๆ ระบุว่าเรือได้รับการส่งมอบให้กับราชนาวียูโกสลาเวียในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2486[34][40][41]
เชิงอรรถ
แก้- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 1.7 1.8 Gardiner 1985, p. 339.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 Greger 1976, p. 58.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 Freivogel 2020, p. 102.
- ↑ Freivogel 2020, p. 106.
- ↑ 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 Freivogel 2020, p. 103.
- ↑ 6.0 6.1 6.2 Freivogel 2020, pp. 102–103.
- ↑ 7.0 7.1 O'Hara, Worth & Dickson 2013, pp. 26–27.
- ↑ Friedman 2011, p. 294.
- ↑ Greger 1976, pp. 11–12.
- ↑ Freivogel 2019, p. 68.
- ↑ Freivogel 2019, p. 69.
- ↑ Cernuschi & O'Hara 2015, p. 171.
- ↑ Cernuschi & O'Hara 2015, p. 168.
- ↑ Freivogel 2019, p. 186.
- ↑ Halpern 2012, p. 229.
- ↑ Freivogel 2019, p. 221.
- ↑ Freivogel 2019, p. 320.
- ↑ Sokol 1968, pp. 133–134.
- ↑ 19.0 19.1 Sokol 1968, p. 134.
- ↑ 20.0 20.1 Sieche 1991, pp. 127, 131.
- ↑ Sokol 1968, p. 135.
- ↑ Freivogel 2019, p. 380.
- ↑ Cernuschi & O'Hara 2015, p. 37.
- ↑ 24.0 24.1 Vego 1982, p. 345.
- ↑ Djukanović 2023, p. 11.
- ↑ 26.0 26.1 Freivogel 2020, p. 12.
- ↑ Chesneau 1980, p. 355.
- ↑ 28.0 28.1 28.2 28.3 28.4 Freivogel 2020, p. 104.
- ↑ Jarman 1997a, p. 733.
- ↑ Jarman 1997b, p. 183.
- ↑ Jarman 1997b, p. 451.
- ↑ Niehorster 2013.
- ↑ Freivogel & Rastelli 2015, p. 93.
- ↑ 34.0 34.1 Brescia 2012, p. 151.
- ↑ Freivogel & Rastelli 2015, p. 135.
- ↑ Freivogel & Rastelli 2015, pp. 126 & 130.
- ↑ Freivogel & Rastelli 2015, p. 142.
- ↑ Freivogel & Rastelli 2015, pp. 171–172.
- ↑ Freivogel & Rastelli 2015, p. 103.
- ↑ Chesneau 1980, p. 357.
- ↑ Whitley 1988, p. 186.
- ↑ Freivogel 2021, p. 14.
- ↑ Freivogel 2021, pp. 107–108.
- ↑ Freivogel 2021, p. 108.
- ↑ Freivogel 2021, p. 107.
อ้างอิง
แก้- Brescia, Maurizio (2012). Mussolini's Navy. บรานซ์ลี, เซาท์ยอร์กเชอร์: Seaforth Publishing. ISBN 978-1-59114-544-8.
- Cernuschi, Enrico & O'Hara, Vincent P. (2015). "The Naval War in the Adriatic Part I: 1914–1916". ใน Jordan, John (บ.ก.). Warship 2015. ลอนดอน: Bloomsbury. pp. 161–173. ISBN 978-1-84486-295-5.
- Chesneau, Roger, บ.ก. (1980). Conway's All the World's Fighting Ships 1922–1946. ลอนดอน: Conway Maritime Press. ISBN 978-0-85177-146-5.
- Djukanović, Bojka (2023). Historical Dictionary of Montenegro. แลนแฮม, แมริแลนด์: Rowman & Littlefield Publishers. ISBN 978-1-5381-3915-8.
- Freivogel, Zvonimir & Rastelli, Achille (2015). Adriatic Naval War 1940-1945. ซาเกร็บ, โครเอเชีย: Despot Infinitus. ISBN 978-953-7892-44-9.
- Freivogel, Zvonimir (2019). The Great War in the Adriatic Sea 1914–1918. ซาเกร็บ, โครเอเชีย: Despot Infinitus. ISBN 978-953-8218-40-8.
- Freivogel, Zvonimir (2020). Warships of the Royal Yugoslav Navy 1918-1945. ซาเกร็บ, โครเอเชีย: Despot Infinitus. ISBN 978-953-8218-72-9.
- Freivogel, Zvonimir (2021). Warships of the Royal Yugoslav Navy 1945-1991. ซาเกร็บ, โครเอเชีย: Despot Infinitus. ISBN 978-953-366-006-6.
- Freivogel, Zvonimir (2022). Austro-Hungarian Torpedo-Boats in World War One. ซาเกร็บ, โครเอเชีย: Despot Infinitus. ISBN 978-953-366-036-9.
{{cite book}}
: CS1 maint: ignored ISBN errors (ลิงก์) - Friedman, Norman (2011). Naval Weapons of World War One. แอนแนโพลิส, แมริแลนด์: Naval Institute Press. ISBN 978-1-84832-100-7.
- Gardiner, Robert, บ.ก. (1985). Conway's All the World's Fighting Ships 1906–1921. ลอนดอน: Conway Maritime Press. ISBN 978-0-85177-245-5.
- Greger, René (1976). Austro-Hungarian Warships of World War I. ลอนดอน: Allan. ISBN 978-0-7110-0623-2.
- Halpern, Paul G. (2012). A Naval History of World War I. แอนแนโพลิส, แมริแลนด์: Naval Institute Press. ISBN 978-0-87021-266-6.
- Jarman, Robert L., บ.ก. (1997a). Yugoslavia Political Diaries 1918–1965. Vol. 1. สเลา, บาร์กเชอร์: Archives Edition. ISBN 978-1-85207-950-5.
- Jarman, Robert L., บ.ก. (1997b). Yugoslavia Political Diaries 1918–1965. Vol. 2. สเลา, บาร์กเชอร์: Archives Edition. ISBN 978-1-85207-950-5.
- Niehorster, Leo (2013). "Balkan Operations Order of Battle Royal Yugoslavian Navy Coastal Defense Command 6th April 1941". Leo Niehorster. สืบค้นเมื่อ 27 มกราคม 2015.
- O'Hara, Vincent; Worth, Richard; Dickson, W. (2013). To Crown the Waves: The Great Navies of the First World War. แอนแนโพลิส, แมริแลนด์: Naval Institute Press. ISBN 978-1-61251-269-3.
- Sieche, Erwin F. (1991). "S.M.S. Szent István: Hungaria's Only and Ill-Fated Dreadnought". Warship International. แทลีโด, โอไฮโอ: International Warship Research Organization. XXVII (2): 112–146. ISSN 0043-0374.
- Sokol, Anthony Eugene (1968). The Imperial and Royal Austro-Hungarian Navy. แอนแนโพลิส, แมริแลนด์: U.S. Naval Institute. OCLC 1912.
- Vego, Milan (1982). "The Yugoslav Navy 1918–1941". Warship International. แทลีโด, โอไฮโอ: International Naval Research Organisation. XIX (4): 342–361. ISSN 0043-0374.
- Whitley, M. J. (1988). Destroyers of World War Two: An International Encyclopedia. แอนแนโพลิส, แมริแลนด์: Naval Institute Press. ISBN 978-0-87021-326-7.