เริงชัย ประภาษานนท์
เริงชัย ประภาษานนท์ (10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2472 – 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567) เป็นนักเขียนชาวไทย ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2562 เจ้าของนามปากกา "เศก ดุสิต" หรือ "ศ. ดุสิต" มีผลงานเขียนนวนิยายแนวบู๊ และอาชญนิยายที่มีชื่อเสียงเป็นจำนวนมาก มีตัวละครที่เป็นที่รู้จักกันดี ชื่อ "คมน์ พยัคฆราช" ในเรื่อง สี่คิงส์ ครุฑดำ และ "โรม ฤทธิไกร" ในเรื่องชุด อินทรีแดง อินทรีทอง
เริงชัย ประภาษานนท์ | |
---|---|
เกิด | 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2472 อำเภอดุสิต กรุงเทพ |
เสียชีวิต | 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 (94 ปี) โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ จังหวัดปทุมธานี ประเทศไทย |
นามปากกา | เศก ดุสิต ศ. ดุสิต สุริยา |
อาชีพ | นักเขียน |
ประวัติ
แก้เริงชัย ประภาษานนท์ เกิดที่เขตดุสิต กรุงเทพ เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนมัธยมนันทนศึกษา เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง โรงเรียนถูกปิด ออกมาทำงานที่โรงไฟฟ้าสามเสน เมื่อโรงไฟฟ้าถูกระเบิดทำลาย ได้งานใหม่เป็นช่างเรียงพิมพ์ในโรงพิมพ์ เริ่มงานเขียนเรื่องสั้น เรื่องแรกชื่อ “พรหมบันดาล” ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร "รัตนโกสินทร์" ใช้นามปากกาว่า “สุริยา”
ผลงาน
แก้เริงชัย ประภาษานนท์ เริ่มเขียนนวนิยายแนวบู๊ ใช้นามปากกา "เศก ดุสิต" เรื่อง สี่คิงส์ และครุฑดำ ตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์อักษรสมิต แล้วเขียนเรื่องในชุด อินทรีแดง ตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์บรรลือสาส์น มีชื่อเสียงเป็นที่นิยมจนต้องนำตัวละครจากทั้งสองเรื่อง คือ "คมน์ พยัคฆราช" และ "โรม ฤทธิไกร" มาร่วมงานกันในเรื่อง จ้าวนักเลง ในเวลาต่อมา และเรื่อง พยัคฆ์ร้ายไทยถีบ ตีพิมพ์ในนิตยสาร "อาทิตย์รายสัปดาห์" กับสำนักพิมพ์อักษรโสภณ ผลงานทั้งหมดถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์
นอกจากงานเขียนอาชญนิยาย เริงชัย ประภาษานนท์ ยังมีผลงานเขียนในแนวอื่น ใช้นามปากกา "เกศ โกญจนาศ" "ศิรษา" "ลุงเฉี่อย" ใช้เขียนนิทานพื้นบ้าน และ "ดุสิตา" ใช้เขียนบทกวี
เริงชัย ประภาษานนท์ หยุดเขียนนวนิยายตั้งแต่ พ.ศ. 2532 ต่อมาได้สนใจศึกษาวิชาโหราศาสตร์ และการพยากรณ์อย่างจริงจัง ต่อมาจึงเขียนบทความเกี่ยวกับการพยากรณ์และคอลัมน์ “รู้ชีวิต…ด้วยดวงดาว” ในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์
การเสียชีวิต
แก้อาจารย์เริงชัยถึงแก่กรรมอย่างสงบเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ สิริอายุได้ 92 ปี โดยมีกำหนดรดน้ำศพในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 ที่วัดศิริพงษ์ธรรมนิมิต และกำหนดสวดพระอภิธรรมศพในวันที่ 7–9 กุมภาพันธ์ 2567 และมีกำหนดฌาปนกิจศพในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2567[1]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้- พ.ศ. 2564 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 4 จตุตถดิเรกคุณาภรณ์ (จ.ภ.)[2]
อ้างอิง
แก้- ↑ สิ้น ‘เศก ดุสิต’ ศิลปินแห่งชาติ เจ้าของผลงานระดับตำนาน ‘อินทรีแดง’ รดน้ำศพ 7 ก.พ.ที่วัดศิริพงษ์ฯ
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ประจำปี ๒๕๖๔ เก็บถาวร 2022-06-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๓๙ ตอนพิเศษ ๒ ข หน้า ๗๕, ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕
- ประวัติ เศก ดุสิต เก็บถาวร 2008-01-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บบอร์ดสำนักพิมพ์มติชน
- คริส สารคาม. นักเขียนในอดีต 1. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แสงดาว, พ.ศ. 2542. 263 หน้า. ISBN 974-7343-79-7