เพลงมหาฤกษ์
เพลงมหาฤกษ์ เป็นเพลงที่ใช้บรรเลงในเวลาได้ฤกษ์เปิดงานที่เป็นพิธีสำคัญ สำหรับเชื้อพระวงศ์ที่ต่ำกว่าชั้นพระบรมวงศ์ลงมา ข้าราชการที่มีระดับต่ำกว่านายกรัฐมนตรี และทหารที่มียศต่ำกว่าจอมพลลงมา จนถึงสามัญชนทั่วไป ประพันธ์ทำนองโดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงพระนิพนธ์ดัดแปลงจากทำนองไทยของเดิม เพลงมหาฤกษ์นี้เป็นเพลงที่มีทำนองใช้สำหรับบรรเลงอย่างเดียวไม่มีบทร้อง เช่นเดียวกับเพลงมหาชัย
โน้ตเพลงมหาฤกษ์ ทางสากล ฉบับเผยแพร่โดยคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ตามมติคณะรัฐมนตรีลงวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2546 | |
ทำนอง | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต, พ.ศ. 2438 |
---|---|
รับไปใช้ | พ.ศ. 2438 |
รัฐบาลไทยได้จัดเพลงนี้ให้เป็น 1 ใน 6 เพลงสำคัญของแผ่นดิน ตามมติคณะรัฐมนตรีลงวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2546
ประวัติ
แก้เพลงมหาฤกษ์เป็นเพลงคู่กันกับเพลงมหาชัย มาตั้งแต่โบราณ จนเรียกติดปากกันว่า มหาฤกษ์มหาชัย ใช้บรรเลงคู่กันเพื่อแสดงฤกษ์งามยามดี และความสวัสดีมีโชคชัย ในโอกาสต่าง ๆ เพลงมหาฤกษ์นั้น สันนิษฐานว่ามีมาแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นเพลงทำนองอัตรา 2 ชั้น พอมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ถูกนำบรรจุอยู่ในเพลงปี่พาทย์ เรื่องทำขวัญหรือเวียนเทียน ที่เริ่มต้นด้วย เพลงนางนาค ออกเพลงมหาฤกษ์ มหากาล สังข์น้อย มหาชัย ดอกไม้ไทร และดอกไม้ไพร ตามลำดับ โดยทั่วไปแล้ว เพลงมหาฤกษ์ ใช้ในการเปิดสถานที่ หรือเปิดงานต่างๆตามฤกษ์ยามที่กำหนด เนื่องจากการดำเนินทำนองเพลงมหาฤกษ์นั้น ดำเนินทำนองแบบไทยแท้ ตามลักษณะการแปรลูกฆ้องออกเป็นทำนองเต็มจากเครื่องดนตรีที่บรรเลงร่วมกัน ทำให้ผู้ฟังได้รับฟัง จะได้ยินเสียงครึ้มกระหึ่มของเสียงดนตรีที่บรรเลงพร้อมเพรียงกัน ก่อให้เกิดความปีติยินดี และความศรัทธา แก่ผู้ฟังเป็นอย่างยิ่ง
ต่อมาจอมพลเรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ได้ทรงดัดแปลงเพลงมหาฤกษ์ทางไทย ออกเป็นทางประสานเสียงตามแบบสากล โดยพระองค์ท่านได้ยึดหลักทำนองของเก่า แต่เพียงแก้ไขเฉพาะตอนขึ้นต้นและลงท้ายให้สง่าผ่าเผยขึ้น ซึ่งทำให้การประสานเสียงตามแบบสากล จะช่วยให้ผู้ฟังเกิดความเร้าใจขึ้นเป็นอันมาก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสสั่งให้บรรเลงเป็นเพลงเกียรติยศ ต่อมาก็ใช้บรรเลงกล่าวคำอวยพรซึ่งกันและกัน ในพิธีมงคลฤกษ์ต่าง ๆ เช่น เปิดป้ายหรือเจิมศิลาฤกษ์ ก็ใช้บรรเลงเพลงมหาฤกษ์ขึ้น หรือในการกล่าวคำปราศรัย หรือกล่าวสุนทรพจน์ ก็ใช้บรรเลงเพลงมหาฤกษ์ ทุกคนในงานก็จะยืนขึ้น เป็นการให้เกียรติพร้อมกัน.
เนื้อร้อง
แก้- พระศุลีเถลิงศรีอุสุภราช จากไกรลาศลอยละลิ่ว (อัมพร)ปลิวเวหน
- กฤษณุรักษ์จากมหา (กะษิระ)ชะเลวน ทรงครุทยุทธณ(ราวะนะ)ระเห็จจร
- พรหมาจารุพักตร์จากอักขนิษฐ์ เสด็จสถิตหงสะอาสนะหงาดหงอน
- พระเป็นเจ้าทั้งสามตามอวยพร ให้ภูธรทั้งพระวงศ์ทรงพระเจริญ.
เงาะป่า พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
แก้- แล้วดับเทียนชัยโบกควัน กระแจะจันทน์เจิมหน้า
- เจิมสองไหล่หลังและอุรา ด้ายขอดกลางมาผูกข้อมือ
- เสร็จแล้วอำนวยอวยพร เจริญสุขสถาพรอย่าดึงดื้อ
- ให้ทำดีมียศเลื่องลือ ออกชื่อระบือนามสืบไป.
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- ฟังเพลงสำคัญของแผ่นดิน บรรเลงโดยวงดนตรีต่างๆ จาก เว็บไซต์ของสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ เก็บถาวร 2008-08-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- เพลงสำคัญของแผ่นดินจากเว็บไซต์ กรมประชาสัมพันธ์เก็บถาวร 2008-07-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน