เทศบาลเมืองศรีราชา
ศรีราชา เป็นตำบลและเทศบาลเมืองแห่งหนึ่งในอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ตั้งอยู่ริมชายฝั่งอ่าวไทยทางภาคตะวันออกของประเทศไทย เป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญและเป็นเมืองเศรษฐกิจอีกเมืองหนึ่งของจังหวัดชลบุรี
เทศบาลเมืองศรีราชา | |
---|---|
การถอดเสียงอักษรโรมัน | |
• อักษรโรมัน | Thetsaban Mueang Sriracha |
จากบนซ้ายไปล่างขวา: ภาพมุมสูงเมืองศรีราชา สวนสุรศักดิ์มนตรี สำนักงานเทศบาลเมืองศรีราชา ถนนสุขุมวิท และเกาะลอย | |
พิกัด: 13°09′46″N 100°55′19″E / 13.16278°N 100.92194°E | |
ประเทศ | ไทย |
จังหวัด | ชลบุรี |
อำเภอ | ศรีราชา |
จัดตั้ง | เป็นเทศบาลเมือง พ.ศ. 2538 |
การปกครอง | |
• นายกเทศมนตรี | ฉัตรชัย ทิมกระจ่าง |
พื้นที่ | |
• ทั้งหมด | 4.058 ตร.กม. (1.567 ตร.ไมล์) |
ประชากร (2561)[1] | |
• ทั้งหมด | 24,127 คน |
• ความหนาแน่น | 5,945.54 คน/ตร.กม. (15,398.9 คน/ตร.ไมล์) |
รหัส อปท. | 04200702 |
ที่อยู่ สำนักงาน | ถนนเจิมจอมพล ตำบลศรีราชา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี |
เว็บไซต์ | srirachacity |
ประวัติ
แก้เมืองศรีราชาแต่เดิมเป็นหมู่บ้านชาวประมงเล็ก ๆ อยู่ทางทิศใต้ของจังหวัดชลบุรี ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางการประมง ในปี พ.ศ. 2443 จอมพล มหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เสนาบดีกระทรวงเกษตรพาณิชยการ (กระทรวงเกษตราธิการ) ในขณะนั้นได้ลาออกจากราชการมาประกอบอาชีพทำป่าไม้ตำบลศรีราชา ซึ่งได้พัฒนาและสร้างความเจริญให้กับศรีราชา ทำให้เป็นชุมชนการค้าและสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของภาคตะวันออก
ต่อมาในปี พ.ศ. 2446 ได้มีการย้ายที่ว่าการอำเภอบางพระมาตั้งที่ศรีราชา แต่ยังคงใช้ชื่ออำเภอบางพระตามเดิม และในปี พ.ศ. 2460 ได้เปลี่ยนชื่ออำเภอบางพระมาเป็นอำเภอศรีราชาตามที่ตั้งที่ว่าการอำเภอ
เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2488 ตำบลศรีราชาได้รับการยกฐานะให้จัดตั้งเป็นเทศบาลตำบลศรีราชา ตามพระราชกฤษฎีกาการจัดตั้งเทศบาลตำบลศรีราชา จังหวัดชลบุรี[2] โดยใช้บ้านพักของจอมพลและมหาอำมาตย์เอกเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีเป็นสำนักงาน และใช้บ้านพักนี้มาจนถึงปี พ.ศ. 2513 จึงได้ย้ายมาสร้างอาคารถาวรเป็นสำนักงานในสถานที่ปัจจุบัน และต่อมาเมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2538 จึงได้รับการเปลี่ยนแปลงฐานะจากเทศบาลตำบลศรีราชาเป็นเทศบาลเมืองศรีราชา[3]
ภูมิศาสตร์
แก้เทศบาลเมืองศรีราชาครอบคลุมพื้นที่ตำบลศรีราชาทั้งตำบล ในอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี และอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครเป็นระยะทาง ประมาณ 116 กิโลเมตร มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 4.058 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นดิน 2.153 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นน้ำ 1.905 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่เกาะลอย 0.112 ตารางกิโลเมตร ฝั่งทะเลยาวประมาณ 2 ตารางกิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับพื้นที่ข้างเคียง ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับเขตองค์การบริหารส่วนตำบลบางพระ
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับเขตเทศบาลนครเจ้าพระยาสุรศักดิ์
- ทิศใต้ ติดต่อกับเขตเทศบาลนครเจ้าพระยาสุรศักดิ์
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับอ่าวไทย
เมืองศรีราชาอยู่ติดชายฝั่งทะเล จึงทำให้อากาศเย็นสบายตลอดปี หน้าร้อนไม่ร้อนจัดและไม่หนาวมาก อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีมีค่าอยู่ในช่วง 39.6 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุดจะอยู่ในช่วง 17 องศาเซลเซียส ถึง 26.82 องศาเซลเซียส โดยอุณหภูมิสูงสุดที่วัดได้ 39.6 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนที่วัดได้จะอยู่ในช่วง 960.3 ถึง 1,577.2 มิลลิเมตร ฝนตกมากที่สุดวัดได้ถึง 1,577.2 มิลลิเมตร ส่วนฝนตกน้อยที่สุดวัดได้ 960.3 มิลลิเมตร
ประชากร
แก้ปัจจุบันคาดว่าประชากรในเขตเทศบาลเมืองศรีราชามีจำนวนไม่ต่ำกว่า 40,000 คน ในขณะที่สถิติของสำนักทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลเมืองศรีราชา ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2561 มีจำนวน 24,127 คน[1]
อาชีพหลักของประชาชนส่วนใหญ่ในเมืองศรีราชาจะทำการค้าและการประมง เนื่องจากมีทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลอยู่เป็นอันมาก และการเป็นเมืองที่มีสถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติ เช่น เกาะลอย สวนเต่า ชายทะเล มีนิคมอุตสาหกรรมล้อมรอบ และมีเขตที่อยู่อาศัยล้อมรอบเมือง เช่น บ้านจัดสรร ตึกแถว อาคารชุด โรงแรมขนาดใหญ่ มีผู้นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 90 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ในเขตเทศบาลมีวัด จำนวน 2 วัด มีผู้นับถือศาสนาคริสต์ร้อยละ 9 ของจำนวนประชากรทั้งหมด มีโบสถ์คริสต์ 1 แห่ง และนับถือศาสนาอื่นอีกร้อยละ 1 ของจำนวนประชากรทั้งหมด โดยมีวัดจีน 1 แห่ง
การขนส่ง
แก้ถนนภายในเขตเทศบาลเมืองศรีราชาประกอบด้วยถนนสายหลักจำนวน 8 สาย นอกนั้นเป็นถนนสายรองและซอยจำนวน 30 สาย ในด้านการจัดการขนส่งมวลชน มีการเดินรถโดยสารประจำทางแบบธรรมดา และแบบปรับอากาศ เส้นทางระหว่างศรีราชาไปยังกรุงเทพมหานคร
ส่วนการขนส่งทางราง สถานีรถไฟที่ใกล้ตัวเมืองศรีราชาที่สุดอยู่ที่ตำบลสุรศักดิ์ คือ สถานีชุมทางศรีราชา เป็นสถานีบนทางรถไฟสายตะวันออก สายชุมทางฉะเชิงเทรา–บ้านพลูตาหลวง จากสถานีนี้สามารถเดินทางต่อไปจนถึงแหลมฉบัง สัตหีบ และมาบตาพุด
วัฒนธรรมและประเพณี
แก้วัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่นที่ยึดถือกันในเมืองศรีราชา เช่น
- งานสงกรานต์ศรีมหาราชาและประเพณีกองข้าว
- ประเพณีงานรดน้ำดำหัว ในวันสงกรานต์
- ประเพณีวันเข้าพรรษา
- ประเพณีตักบาตรเทโว
- งานวันที่ระลึกคล้ายวันอสัญกรรมของท่านจอมพลมหาอำมาตย์เอกเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ซึ่งชาวเมืองศรีราชาถือว่าเป็นปูชนียบุคคลที่มีคุณค่าอันสูงสุดของชาวศรีราชา (วันที่ 1 กรกฎาคมของทุกปี)
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 "รายงานสถิติจำนวนประชากรและบ้าน ประจำปี พ.ศ. 2561 ท้องถิ่นเทศบาลเมืองศรีราชา". ระบบสถิติทางการทะเบียน กรมการปกครอง. สืบค้นเมื่อ 24 เมษายน 2562.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเทศบาลตำบลศรีราชา จังหวัดชลบุรี พุทธศักราช ๒๔๘๘" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 62 (36 ก): 412–415. 3 กรกฎาคม 2488.
- ↑ "พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเทศบาลเมืองศรีราชา จังหวัดชลบุรี พ.ศ. ๒๕๓๘" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 112 (40 ก): 45–48. 24 กันยายน 2538. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-05-28. สืบค้นเมื่อ 2019-04-24.