เทศบาลของประเทศญี่ปุ่น
เทศบาลของประเทศญี่ปุ่น เป็นระดับเขตการปกครองรองจากระดับจังหวัด ประเทศญี่ปุ่นแบ่งออกเป็น 47 จังหวัด แต่ละจังหวัดประกอบด้วยเทศบาลจำนวนมาก ทั้งประเทศมีเทศบาลรวม 1,719 แห่ง (ข้อมูลเดือนมกราคม ค.ศ. 2013)[1] เทศบาลมีอยู่ด้วยกัน 4 ประเภท ได้แก่ นคร เมือง หมู่บ้าน และเขตพิเศษของโตเกียว ซึ่งในภาษาญี่ปุ่นเรียกระบบนี้ว่า ชิกุโจซง (ญี่ปุ่น: 市区町村; โรมาจิ: shikuchōson) โดยที่คันจิแต่ละตัวแทนเทศบาลแต่ละประเภท นครใหญ่จะแบ่งเป็นหลายเขต แต่ไม่เหมือนกับเขตพิเศษของโตเกียว เนื่องจากเขตของนครใหญ่ไม่มีสถานะเป็นเทศบาล
สถานะ
แก้สถานะของเทศบาล ถ้าเป็นหมู่บ้าน เมือง หรือนคร จะได้รับการจัดตั้งโดยจังหวัด โดยทั่วไป หมู่บ้านหรือเมืองสามารถเลื่อนสถานะเป็นนครได้เมื่อมีประชากรมากกว่าห้าหมื่นคน และนครก็สามารถลดสถานะเป็นเมืองหรือหมู่บ้านได้เมื่อมีประชากรลดลงน้อยกว่าห้าหมื่นคน (แต่ไม่จำเป็น) นครที่มีประชากรน้อยที่สุด คือ อูตาชิไน จังหวัดฮกไกโด มีประชากรเพียงสามพันกว่าคน ในขณะที่เมืองที่อยู่ในจังหวัดเดียวกันอย่าง โอโตฟูเกะ มีประชากรกว่าสี่หมื่นคน และหมู่บ้านที่มีประชากรมากที่สุดของประเทศ คือ โยมิตัน มีประชากร 40,517 คน
โตเกียวมีสถานะเป็น "มหานคร" (ญี่ปุ่น: 都; โรมาจิ: to) ซึ่งประกอบด้วยเทศบาล 62 แห่งได้แก่ 23 เขตพิเศษ, 26 นคร, 5 เมือง และ 8 หมู่บ้าน ซึ่งตั้งอยู่ทั้งในแผ่นดินใหญ่และหมู่เกาะห่างไกล แต่ละเทศบาลมีการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีและสภาเทศบาลของตนเอง
ตัวอย่าง
แก้ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างของนครในประเทศญี่ปุ่น
- ฟูกูโอกะ นครที่มีประชากรมากที่สุดในภูมิภาคคีวซู
- ฮิโรชิมะ นครแห่งอุตสาหกรรมการผลิตในภูมิภาคชูโงกุในเกาะฮนชู
- โคเบะ เมืองท่าสำคัญริมทะเลในเซโตะ ตั้งอยู่ใกล้กับโอซากะ
- คิตะกีวชู นครที่มีประชากรกว่าเก้าแสนคนในเกาะคีวชู
- เกียวโต อดีตเมืองหลวงของประเทศญี่ปุ่น
- นางาซากิ เมืองท่าบนเกาะคีวชู
- นาโงยะ ศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ที่สำคัญของภูมิภาคบนชายฝั่งตะวันออกของเกาะฮนชู
- โอซากะ นครแห่งอุตสาหกรรมการผลิตริมทะเลในเซโตะ
- ซัปโปโระ เมืองใหญ่สุดในจังหวัดฮกไกโด
- เซ็นได ศูนย์กลางหลักของฮนชูตะวันออกเฉียงเหนือ (หรือเรียกว่า ภูมิภาคโทโฮกุ)
- โยโกฮามะ เมืองท่าทางใต้ของโตเกียว