นักบุญจอร์จ
นักบุญจอร์จ (อังกฤษ: St. George) เกิดเมื่อประมาณปี ค.ศ. 275-281 และเสียชืวิตเมื่อวันที่ 23 เมษายน ค.ศ. 303 ตามวรรณกรรมนักบุญนักบุญจอร์จเป็นทหารของจักรวรรดิโรมันจากบริเวณที่ใช้ภาษากรีกในแคว้นอานาโตเลีย ปัจจุบันอยู่ในประเทศตุรกีและเป็นมรณสักขีในศาสนาคริสต์
นักบุญจอร์จ | |
---|---|
“นักบุญจอร์จ” โดย ราฟาเอล | |
มรณสักขี | |
เกิด | ราว ค.ศ. 275 - ค.ศ. 281 นิโคมีเดีย, บิธีเนีย |
เสียชีวิต | ราว ค.ศ. 303 ลิดเดีย, ปาเลสไตน์ |
นิกาย | โรมันคาทอลิก ออเรียนทัลออร์ทอดอกซ์ |
วันฉลอง | 23 เมษายน |
สัญลักษณ์ | หอก, มังกร, คนขี่ม้า, อัศวิน, กางเขนเซนต์จอร์จ |
องค์อุปถัมภ์ | เกษตรกร, คนยิงธนู, คนทำอาวุธ, คนแล่เนื้อ, ทหารม้า, ชาวนา, คนทำงานในไร่, ม้า, คนขี่ม้า, อัศวิน, โรคระบาด, คนทำอานม้า, แกะ, คนเลี้ยงแกะ, โรคผิวหนัง, ทหาร, อังกฤษ, และเมือง และประเทศต่างๆ |
นักบุญจอร์จเป็นเซนต์ที่นับถือกันมากในนิกายอีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์และออเรียนทัลออร์ทอดอกซ์ และเป็นที่รู้จักกันจากตำนานการต่อสู้กับมังกร นักบุญจอร์จเป็นหนึ่งในนักบุญผู้ช่วยศักดิ์สิทธิ์สิบสี่องค์
ประวัติ
แก้ประวัติของนักบุญจอร์จค่อนข้างจะคลุมเครือในเรื่องของหลักฐานที่แน่นอน เนื่องจากเอกสารต่าง ๆ เกี่ยวกับชีวิตของท่านส่วนใหญ่ถูกกล่าวหาว่าไม่มีหลักแหล่งน่าเชื่อถือ อย่างไรก็ดี อาศัยการค้นคว้านักวิชาการส่วนใหญ่เชื่อว่านักบุญจอร์จมีตัวตนอยู่จริง ตำนานของนักบุญจอร์จมาจากผู้เขียนประวัตินักบุญรุ่นหลัง หลักฐานที่สำคัญมาจากตำนานทองซึ่งเป็นที่รู้จักกันจากฉบับแปลของวิลเลียม แค็กซ์ตัน (William Caxton) เมื่อปี ค.ศ. 1483
นักบุญจอร์จเกิดในครอบครัวคริสต์ศาสนิกชนในคริสต์ศตวรรษที่ 3 บิดาของจอร์จเป็นนายทหารโรมันจากแคปพาโดเชีย (Cappadocia) ในประเทศตุรกี มารดามาจากลิดดาในประเทศอิสราเอลปัจจุบัน เมื่อบิดาเสียชีวิต แม่ก็นำนักบุญจอร์จกลับไปลิดดา ซึ่งเป็นที่ที่นักบุญจอร์จได้รับการศึกษา เมื่อโตขึ้นก็เป็นทหารตามบิดาและเป็นทหารที่ดีจนในที่สุดก็ได้รับตำแหน่งสูงทางทหาร พออายุเกือบสามสิบก็ได้รับแต่งตั้งเป็น “Tribune” และ “Comes” หรือ เคานต์ และไปประจำการที่นิโคมีเดียเป็นทหารรักษาพระองค์ของจักรพรรดิไดโอคลีเชียน
เมื่อปี ค.ศ. 303 จักรพรรดิไดโอคลีเชียนออกพระราชกฤษฎีกาประกาศให้กำจัดคริสต์ศาสนิกชนทั่วจักรวรรดิโรมัน กล่าวกันว่าซีซาร์กาเลริอุส (Caesar Galerius) เป็นผู้รับผิดชอบในการลงโทษคริสต์ศาสนิกชนและกระทำต่อมาในสมัยของตนเองระหว่างปี ค.ศ. 305 ถึงปี ค.ศ. 311 นักบุญจอร์จถูกสั่งให้มีส่วนร่วมในการกำจัดคริสต์ศาสนิกชนแต่แทนที่จะทำ กลับสารภาพว่าเป็นคริสตชนเสียเองและประณามกฤษฎีกา ซึ่งทำให้จักรพรรดิไดโอคลีเชียนพิโรธและสั่งให้จับนักบุญจอร์จไปทรมาน และสังหาร
บางตำนานกล่าวกันว่านักบุญจอร์จถูกทรมานจนตายถึง 3 ครั้ง และก็ถูกปลุกให้คืนชีพโดยพระเยซูทั้ง 3 ครั้ง จนกระทั่งถูกฆ่าจนเสียชีวิตในครั้งสุดท้าย แต่หลักฐานในเรื่องนี้ไม่เป็นที่ยอมรับนัก หลักฐานที่เป็นไปได้และมีความน่าเชื่อถือมากกว่าคือว่า นักบุญจอร์จหลังจากทรมานด้วยวิธีต่าง ๆ รวมทั้งมัดกับล้อที่มีดาบปัก เฆี่ยนอย่างทารุณ ถูกเล็บเหล็กครูดเนื้อ นำไปต้มในน้ำเดือด นักบุญจอร์จก็ถูกสังหารโดยถูกลากไปรอบเมืองและถูกตัดศีรษะหน้ากำแพงเมืองนิโคมีเดียเมื่อวันที่ 23 เมษายน ค.ศ. 303 ผู้ที่เป็นพยานในความทรมานของนักบุญจอร์จแล้วหันมานับถือศาสนาคริสต์คือ จักรพรรดินีอเล็กซานดราและอาทานาซีอุส ปุโรหิตนอกศาสนาคริสต์ ผู้ซึ่งถูกฆ่าตามนักบุญจอร์จ ร่างของนักบุญจอร์จถูกนำกลับไปลิดดา หลังจากนั้นก็มีผู้ศรัทธามาสักการะในฐานะที่เป็นมรณสักขี การอัศจรรย์ต่าง ๆ เกิดขึ้นอย่างมากมายกับผู้ที่เข้ามาแสวงบุญสักการะ ณ หลุมศพของท่าน