เจ้าหญิงมารี หลุยส์แห่งชเลสวิก-โฮลชไตน์

เจ้าหญิงมารี หลุยส์ หรือพระนามเต็ม ฟรันซิสกา โยเซฟา หลุยส์ ออกัสตา มารี คริสตินา เฮเลนา (พระอิสริยยศแบบเดิม เจ้าหญิงมารี หลุยส์แห่งชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์ (อังกฤษ: Princess Marie Louise of Schleswig-Holstein ; 12 สิงหาคม ค.ศ. 1872 - 8 ธันวาคม ค.ศ. 1956) ทรงเป็นสมาชิกในพระราชวงศ์อังกฤษ โดยเป็นพระราชนัดดาในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย

มารี หลุยส์
ประสูติ12 สิงหาคม ค.ศ. 1872(1872-08-12)
โอลดวินด์เซอร์ ประเทศอังกฤษ สหราชอาณาจักร
สิ้นพระชนม์8 ธันวาคม ค.ศ. 1956(1956-12-08) (84 ปี)
ลอนดอน ประเทศอังกฤษ สหราชอาณาจักร
ฝังพระศพ14 ธันวาคม 1956
โบสถ์น้อยเซนต์จอร์จ ปราสาทวินด์เซอร์
3 เมษายน 1957
สุสานหลวงฟร็อซมอร์
พระสวามีเจ้าชายอาริเบิร์ตแห่งฮันลัลด์
พระนามเต็ม
ฟรันซิสกา โยเซฟา หลุยส์ ออกัสตา มารี คริสตินา เฮเลนา
ราชวงศ์ชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์-เซินเนอร์บอร์-ออกัสเตินบวร์ค
พระบิดาเจ้าชายคริสเตียนแห่งชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์
พระมารดาเจ้าหญิงเฮเลนาแห่งสหราชอาณาจักร

ชีวิตในวัยเยาว์

แก้

เจ้าหญิงมารี หลุยส์ประสูติ ณ ตำหนักคัมเบอร์แลนด์ ในราชอุทยานวินด์เซอร์ พระชนกของพระองค์คือ เจ้าชายคริสเตียนแห่งชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์ พระโอรสองค์ที่สามในดยุคคริสเตียน ออกุสต์แห่งชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์ และเคานท์เตสหลุยส์แห่งเดนส์คโยลด์-ซัมซอเอ ส่วนพระชนนีคือ เจ้าหญิงเฮเลนา พระราชธิดาพระองค์ที่สามและห้าในสมเด็จพระบรมราชินีนาถวิกตอเรีย และ เจ้าชายอัลเบิร์ตแห่งแซ็กซ์-โคบูร์กและก็อตธา พระชนกและพระชนนีของเจ้าหญิงประทับอยู่ในประเทศอังกฤษ พระองค์ทรงเป็นสมาชิกองค์หนึ่งของพระราชวงศ์อังกฤษ ตามพระราชหัตถเลขาในปี ค.ศ. 1866 มีผลให้เจ้าหญิงทรงดำรงพระอิสริยยศ พระองค์หญิงมารี หลุยส์แห่งชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์ (Her Highness Princess Marie Louise of Schleswig-Holstein) พระองค์ทรงเข้ารับศีลจุ่มเมื่อวันที่ 18 กันยายน ค.ศ. 1872 โดยมีพ่อและแม่ทูนหัวคือ สมเด็จพระจักรพรรดิแห่งออสเตรีย และ สมเด็จพระราชินีแห่งฮาโนเวอร์

อภิเษกสมรส

แก้

เจ้าหญิงอภิเษกสมรสวันที่ 6 กรกฎาคม ค.ศ. 1891 ณ โบสถ์เซนต์จอร์จ ปราสาทวินด์เซอร์ กับ เจ้าชายอาริเบิร์ตแห่งอันฮัลต์ (18 มิถุนายน ค.ศ. 1866 - 24 ธันวาคม ค.ศ. 1933) เจ้าชายอาริเบิร์ตเป็นพระโอรสพระองค์ที่สามในเจ้าชายเลโอโพลด์ ดยุคแห่งอันฮัลต์ กับ เจ้าหญิงอ็องตัวเน็ตแห่งแซ็กซ์-อัลเต็นบูร์ก จักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 2 แห่งเยอรมนี ซึ่งเป็นพระญาติชั้นที่หนึ่งของเจ้าหญิง ทรงเป็นสื่อสำคัญในการจัดการอภิเษกสมรส

อย่างไรก็ตาม การอภิเษกสมรสครั้งนี้ไม่มีความสุขและไม่มีพระโอรสและธิดา (อีกหลายปีจากข้อเท็จจริงดังกล่าว เป็นที่สงสัยว่าเจ้าชายอาริเบิร์ตทรงชอบเพศเดียวกันและทรงถูกเจ้าหญิงมารี หลุยส์และพระชนกจับได้ว่าอยู่กับมหาดเล็กนายหนึ่งบนแท่นบรรทม) ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1900 พระสัสสุระของเจ้าหญิงก็ทรงใช้ราชสิทธิ์ในฐานะที่ทรงเป็นดยุกครองนครแห่งอันฮัลต์ในการล้มเลิกการอภิเษกสมรส เจ้าหญิงมารี หลุยส์ซึ่งทรงอยู่ระหว่างการเสด็จเยือนประเทศแคนาดาอย่างเป็นทางการก็รีบเสด็จกลับประเทศอังกฤษทันที ตามบันทึกความทรงจำของพระองค์ เจ้าหญิงทรงถือว่าการปฏิญาณในพิธีอภิเษกสมรสเป็นการผูกมัดบุคคลสองคนเข้าด้วยกัน จึงมิทรงคิดถึงการอภิเษกสมรสครั้งใหม่ อย่างไรก็ตาม บันทึกของพระองค์ยังชี้ให้เห็นถึงความเดือดดาลในประสบการณ์การอภิเษกสมรสและความเกลียดชังอดีตพระสวามี[1] ถึงกระนั้นยังมีเพื่อนสนิทชายในเชิงชู้สาวอยู่เป็นเวลาหลายปีเช่นกัน

พระกรณียกิจ

แก้

หลังจากการล้มเลิกการอภิเษกสมรสแล้ว เจ้าหญิงมารี หลุยส์ทรงอุทิสพระองค์ให้กับองค์กรการกุศลและการเป็นอุปถัมภกในงานศิลปะต่างๆ พระองค์ทรงผลักดันให้สร้างบ้านตุ๊กตาของพระราชินีแมรีขึ้นเพื่อเป็นการจัดแสดงผลงานของช่างฝีมือชาวอังกฤษ พระองค์ทรงก่อตั้งสมาคมสตรีในเมืองเบอร์มอนด์เซย์เพื่อใช้เป็นสถานพยาบาลช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 นอกจากนี้ยังทรงมีส่วนร่วมในงานของสถานพยาบาลเจ้าหญิงคริสเตียนที่เมืองวินด์เซอร์อีกด้วย

สงครามโลกครั้งที่ 1

แก้

ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1917 เมื่อสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 ทรงเปลี่ยนชื่อพระราชวงศ์อังกฤษจากราชวงศ์ซัคเซิน-โคบวร์คและโกทาเป็นราชวงศ์วินด์เซอร์ ในนามของพระญาติและพระกนิษฐภรรดาซึ่งทรงมีสัญชาติอังกฤษ พระองค์ได้ทรงถอดถอนพระอิสริยยศ ฐานันดรศักดิ์ และราชสกุลเยอรมันต่างๆ ออกทั้งหมด เจ้าหญิงมารี หลุยส์และเจ้าหญิงเฮเลนา วิกตอเรีย พระภคินีที่ไม่ได้อภิเษกสมรสของพระองค์ ซึ่งไม่เคยใช้พระอิสริยยศหรือราชสกุลอื่น ทรงเป็นที่รู้จักเพียงแค่ว่า "พระองค์หญิงมารี หลุยส์" และ "พระองค์หญิงเฮเลนา วิกตอเรีย" ซึ่งทำให้มีลักษณะเด่นที่แปลกไปจากการเป็นเจ้าหญิง เพราะมิได้เป็นสมาชิกในราชวงศ์ใดเลย วิธีการนี้แตกต่างไปจากของพระญาติองค์อื่นในสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 ซึ่งได้ทรงสละฐานันดรศักดิ์ทั้งหมด ไม่เพียงแต่ราชทินนามเยอรมัน แต่ยังได้พระยศของผู้ดีชาวอังกฤษมาด้วย ดังเช่นนั้นเจ้าหญิงมารี หลุยส์และพระภคินีควรจะต้องทรงเป็น "เลดี้ มารี หลุยส์ ราชสกุลใหม่" และ "เลดี้ เฮเลนา วิกตอเรีย ราชสกุลใหม่" แม้ว่าพระอิสริยยศของทั้งสองพระองค์จะตกทอดมาจากราชทินนามของพระชนกและชนนีเป็นแบบอังกฤษ ดังที่สมเด็จพระบรมราชินีนาถวิกตอเรียทรงแต่งตั้งให้ แต่ก็มิได้ทรงเป็นเจ้าหญิงแห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์อย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม สภาพที่ยังไม่ได้อภิเษกสมรสทำให้สภาวการณ์ของทั้งสองพระองค์เป็นที่น่าอึดอัด[2] จึงเป็นการง่ายกว่าที่ให้ทรงคงสถานภาพเจ้าหญิงไว้ขณะที่หลบเลี่ยงข้อสงสัยเกี่ยวกับการเป็นสมาชิกในราชวงศ์หนึ่งไปด้วย

ปลายพระชนม์ชีพ

แก้

เจ้าหญิงมารี หลุยส์ทรงร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่มหาวิหารเวสต์มินส์เตอร์สี่ครั้งคือ สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 แห่งสหราชอาณาจักร และ อเล็กซานดราแห่งเดนมาร์ก ในปี ค.ศ. 1902 สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 แห่งสหราชอาณาจักร และ มาเรียแห่งเท็ค ในปี ค.ศ. 1911 สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 แห่งสหราชอาณาจักร และ สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชชนนี ในปี ค.ศ. 1937 และสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร ในปี ค.ศ. 1953 ในปี ค.ศ. 1956 พระองค์ทรงพิมพ์ "บันทึกความทรงจำในหกรัชกาล" (My Memories of Six Reigns) จากนั้นอีกไม่กี่เดือน พระองค์ได้สิ้นพระชนม์ ณ ที่ประทับในกรุงลอนดอน เลขที่ 10 ฟิตซ์มอริสเพลซ จัตุรัสเบิร์คเลย์ และพระศพฝังอยู่ที่สุสานหลวงฟร็อกมอร์ พระราชอุทยานวินด์เซอร์ สิริรวมพระชันษา 84 ปี

พระอิสริยยศและเครื่องราชอิสริยาภรณ์

แก้

พระอิสริยยศ

แก้
  • 1872-1891: พระองค์หญิงมารี หลุยส์แห่งชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์ (Her Highness Princess Marie Louise of Schleswig-Holstein)
  • 1891-1900: พระองค์หญิงอาริเบิร์ตแห่งอันฮัลต์ (Her Highness Princess Aribert of Anhalt)
  • 1900-1917: พระองค์หญิงมารี หลุยส์แห่งชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์ (Her Highness Princess Marie Louise of Schleswig-Holstein)
  • 1917-1956: พระองค์หญิงมารี หลุยส์ (Her Highness Princess Marie Louise)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

แก้
  • เครื่องราชอิสริยาภรณ์แห่งจักรวรรดิอังกฤษชั้นที่ 1 (Dame Grand Cross of the Order of the British Empire)
  • เครื่องราชอิสริยาภรณ์ราชวิกตอเรีย ชั้นที่ 1 (Dame Grand Cross of the Royal Victorian Order)
  • เครื่องราชอิสริยาภรณ์วิกตอเรียและอัลเบิร์ต ชั้นที่ 1 (Lady of the Order of Victoria and Albert)
  • เครื่องราชอิสริยาภรณ์มหามงกุฎแห่งอินเดีย ชั้นที่ 1 (Lady of the Order of the Crown of India)

อ้างอิง

แก้
  1. รายละเอียดในการยุติการอภิเษกสมรสของเจ้าหญิงมารี หลุยส์และเจ้าชายอาริเบิร์ตยังไม่แน่ชัด ในหนังสือ Almanach de Gotha ฉบับปี ค.ศ. 1903 กล่าวว่าทั้งสองพระองค์ทรงหย่าร้างกันในวันที่ 13 ธันวาคม ค.ศ. 1900 ส่วนในหนังสือ Whitaker's Alamanac ฉบับปี ค.ศ. 1904 ก็กล่าวว่า "การสมรสสิ้นสุดลงโดยความประสงค์ร่วมกันตามกฎหมายครอบครัวฉบับใหม่ของราชวงศ์ดยุคนั้น" มาร์ลีน เอ. ไอเลอร์ นักวงศ์วานวิทยาราชวงศ์รายงานว่าเจ้าชายอาริเบิร์ตทรงถูกเห็นขณะทำประเจิดประเจ้อกับบุรุษอีกคนหนึ่ง สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 พระมาตุลาทรงสรุปเหตุการณ์ในครั้งนี้ โดยตรัสว่า "โธ่ หลุยส์ที่น่าสงสาร หล่อนกลับมาแบบสาวบริสุทธิ์เหมือนตอนที่ไปเลย"
  2. ในฐานะที่เป็นพระนัดดาในดยุคครองนครแห่งชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์ ผ่านทางพระโอรส เจ้าหญิงเฮเลนา วิกตอเรียจะต้องทรงมีฐานันดรศักดิ์ชั้น "Serene Highness" อย่างไรก็ดีในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1866 สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียพระราชทานฐานันดรศักดิ์ชั้น "Highness" ให้แก่พระโอรสธิดาอันประสูติแต่เจ้าชายและเจ้าหญิงคริสเตียนแห่งชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์ นอกจากนั้นพระโอรสและธิดาก็ยังคงเป็นเจ้าชายหรือเจ้าหญิงแห่งชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์ และฐานันดรศักดิ์ Highness สามารถใช้ได้แค่ในประเทศอังกฤษ ไม่ใช่ประเทศเยอรมนี ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1917 ประกาศในข่าวพระราชสำนักได้มีพระราชโองการหนึ่งจัดเตรียมไว้เพื่อพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พระญาติทั้งสองเลิกใช้ "แห่งชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์-ซอนเดอร์บูร์ก-ออกัสเต็นบูร์ก" ในพระอิสริยยศของพระองค์ อย่างไรก็ตามยังไม่มีพระราชโองการใดจัดเตรียมไว้ในการนี้เลยและทั้งสองพระองค์ไม่ได้ทรงรับพระราชทานพระอิสริยยศเจ้าหญิงแห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์อย่างเป็นทางการด้วย
  • Marlene A. Eilers, Queen Victoria’s Descendants (Rosvall Royal Books, Falköping, 2nd Edition, 1997).
  • Ronald Allison and Sarah Riddell, eds., The Royal Encyclopedia (London: Macmillan, 1992).
  • Princess Marie Louise (née Princess of Schleswig-Holstein-Sonderburg-Augustenberg), My Memories of Six Reigns (London: Evans Brothers, 1956).
  • "Obituary: Princess Marie Louise, Patron of Social Services," The Times 10 ธันวาคม ค.ศ. 1956, หน้า 14.