เจฟฟรีย์ ฮินตัน
เจฟฟรีย์ เอเวอร์เรสต์ ฮินตัน (อังกฤษ: Geoffrey Everest Hinton, 6 ธันวาคม ค.ศ. 1947 –) เป็นนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์และนักประสาทวิทยาการรับรู้ชาวอังกฤษ มีผลงานโดดเด่นด้านโครงข่ายประสาทเทียม ปัจจุบันทำงานให้กับกูเกิลและมหาวิทยาลัยโทรอนโต เป็นหนึ่งในผู้คิดค้นอัลกอริทึมการแพร่กระจายย้อนกลับและการลู่ออกเชิงเปรียบเทียบซึ่งเป็นอัลกอริทึมที่สำคัญของการเรียนรู้เชิงลึกในสาขาปัญญาประดิษฐ์[1]
เจฟฟรีย์ ฮินตัน | |
---|---|
เจฟฟรีย์ ฮินตัน ในปี 2024 | |
เกิด | วิมเบิลดัน ลอนดอน | 6 ธันวาคม ค.ศ. 1947
มีชื่อเสียงจาก | การแพร่กระจายย้อนกลับ, เครื่องจักรโบลทซ์มันน์, การเรียนรู้เชิงลึก |
รางวัล |
|
อาชีพทางวิทยาศาสตร์ | |
สาขา | โครงข่ายประสาทเทียม, ปัญญาประดิษฐ์, การเรียนรู้ของเครื่อง |
วิทยานิพนธ์ | Relaxation and its role in vision (1977) |
เว็บไซต์ | www |
ในปี 2024 ฮินตันได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ร่วมกับจอห์น ฮอปฟีลด์ นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน จากผลงานการค้นพบและการประดิษฐ์ ซึ่งช่วยให้เกิดการเรียนรู้ของเครื่องด้วยโครงข่ายประสาทเทียม[2]
ประวัติ
แก้ฮินตันจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในปี ค.ศ. 1970 ทางด้านจิตวิทยาการทดลอง และจบการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านปัญญาประดิษฐ์จากมหาวิทยาลัยเอดินบะระในปี ค.ศ. 1978 ได้ทำงานให้กับมหาวิทยาลัยซัสเซกซ์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย แซนดีเอโก มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน เป็นผู้ก่อตั้งหน่วยวิจัยประสาทวิทยาคำนวณแกตสบีที่มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอนอีกด้วย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ที่ภาควิชาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยโทรอนโต นอกจากนี้ยังทำงานร่วมกับกูเกิลมาตั้งแต่เดือนมีนาคม ค.ศ. 2013 หลังจากที่กูเกิลเข้าซื้อกิจการบริษัท DNNresearch ที่ฮินตันได้ตั้งขึ้น ปัจจุบันได้แบ่งเวลาทำงานในมหาวิทยาลัยและทำงานให้กับกูเกิล[3]
งานวิจัย
แก้ฮินตันเป็นผู้ศึกษาการใช้โครงข่ายประสาทเทียมในการเรียนรู้ ความจำ การรับรู้ และการประมวลผลสัญลักษณ์ มีผลงานการตีพิมพ์ในสาขามากกว่า 200 ฉบับ เป็นหนึ่งในผู้ที่เสนออัลกอริทึมการแพร่กระจายย้อนกลับและการสอนโครงข่ายประสาทเทียมแบบหลายชั้น ที่กลายมาเป็นอัลกอริทึมที่ถูกใช้งานมากในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังเป็นผู้คิดค้นเครื่องจักรโบลทซ์มันน์ร่วมกับเทอร์รี เซชนอฟสกี้ ปัจจุบันเน้นการทำวิจัยเกี่ยวกับการใช้โครงข่ายประสาทเทียมกับการเรียนรู้แบบไม่มีผู้สอนเมื่อมีข้อมูลขาเข้าจำนวนมาก
อ้างอิง
แก้- ↑ "How a Toronto professor’s research revolutionized artificial intelligence". Toronto Star, Kate Allen, Apr 17 2015
- ↑ "The Nobel Prize in Physics 2024". Nobelprize.org. สืบค้นเมื่อ October 8, 2024.
- ↑ "U of T neural networks start-up acquired by Google" (Press release). Toronto, ON. 12 March 2013. สืบค้นเมื่อ 13 March 2013.