เจดีย์กุโตดอ
เจดีย์กุโตดอ (พม่า: ကုသိုလ်တော်ဘုရား, ออกเสียง: [kṵðòdɔ̀ pʰəjá]; หมายถึง พระราชกุศล ชื่อเป็นทางการคือ มะฮาโลกะมาระซีนเจดี မဟာလောကမာရဇိန်စေတီ) เป็นเจดีย์พุทธตั้งอยู่เชิงเขามัณฑะเลย์ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า ซึ่งมีหนังสือเล่มใหญ่ที่สุดในโลก[1] สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้ามินดง ตัวเจดีย์ซึ่งปิดทองเหนือฐาน มีความสูง 57 เมตร (187 ฟุต) จำลองตามเจดีย์ชเวซี่โกน เมืองญองอู้ ใกล้พุกาม บริเวณเจดีย์มีซุ้มเจดีย์ขนาดเล็กประดิษฐานหินจารึก 729 แผ่น แต่ละแผ่นจารึกไว้ทั้งสองด้าน มีเนื้อหาเกี่ยวกับพระไตรปิฎกภาษาบาลีของศาสนาพุทธนิกายเถรวาท[2]
เจดีย์กุโตดอ | |
---|---|
เจดีย์กุโตดอด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ | |
ศาสนา | |
ศาสนา | พุทธ |
นิกาย | เถรวาท |
ที่ตั้ง | |
ที่ตั้ง | มัณฑะเลย์ ภาคมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า |
พิกัดภูมิศาสตร์ | 22°00′17″N 96°06′46″E / 22.004712°N 96.112902°E |
สถาปัตยกรรม | |
ผู้ก่อตั้ง | พระเจ้ามินดง |
เสร็จสมบูรณ์ | 4 พฤษภาคม 1868 |
จารึกกุโตดอ * | |
---|---|
ความทรงจำแห่งโลกโดยยูเนสโก | |
ที่เก็บรักษา | เจดีย์กุโตดอ, มัณฑะเลย์ |
ประเทศ | พม่า |
ภูมิภาค ** | เอเชียและแปซิฟิก |
อ้างอิง | [1] |
ประวัติการขึ้นทะเบียน | |
ขึ้นทะเบียน | 2556 |
* ชื่อตามที่ได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีความทรงจำแห่งโลก ** ภูมิภาคที่จัดแบ่งโดยยูเนสโก |
พระราชกุศล
แก้พระเจ้ามินดงได้สร้างเจดีย์ขึ้นโดยเป็นส่วนหนึ่งของรากฐานเดิมเมืองมัณฑะเลย์[2] ซึ่งเป็นเมืองหลวงใหม่ในปี พ.ศ. 2400 ต่อมาพระองค์มีพระราชดำริให้สังคายนาพระไตรปิฎก[1]ใน ปี พ.ศ. 2414 นอกจากนี้พระองค์ต้องการฝากงานพระราชกุศลครั้งใหญ่ไว้ โดยมีพระราชดำริให้จารึกพระไตรปิฎกไว้บนแผ่นหินเพื่ออนุชนรุ่นหลัง ให้สืบเนื่องไปห้าพันปีหลังพระพุทธเจ้า การก่อสร้างเริ่มขึ้นปี พ.ศ. 2403 มีการติดตั้งฉัตรวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2405 และเปิดให้ประชาชนเข้าชมวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2411 จารึกถูกจัดเรียงกันเป็นระเบียบภายในกำแพงล้อมสามชั้น ชั้นแรก 42 แผ่น ชั้นสอง 168 แผ่น และชั้นสาม 519 แผ่น อีกแผ่นหนึ่งตั้งอยู่ที่มุมตะวันออกเฉียงใต้ของกำแพงชั้นแรกทำให้ได้ 730 แผ่น หินแผ่นนี้บันทึกประวัติการสร้าง และมีศาลาพักตั้งเรียงรายอยู่รอบ ๆ เจดีย์[3][2]
ทางเข้าหลักทางทิศใต้ผ่านประตูไม้สักบานใหญ่ที่เปิดกว้าง ซึ่งแกะสลักอย่างวิจิตรด้วยลายดอกไม้และเทวดา ทางเดินมีหลังคาเช่นเดียวกับเจดีย์พม่าส่วนใหญ่ รวมทั้งจิตรกรรมฝาผนังใต้หลังคา ระหว่างแถวของซุ้มหินจารึกจะมีต้นพิกุลที่โตเต็มที่ ซึ่งส่งกลิ่นหอมคล้ายดอกมะลิไปทั่วทั้งบริเวณ ลานด้านในทิศตะวันตกเฉียงใต้มีต้นไม้เก่าแก่ต้นหนึ่งซึ่งเชื่อกันว่ามีอายุ 250 ปี โดยมีกิ่งก้านแผ่ต่ำและมีค้ำยัน[4]
การผนวกและการดูหมิ่น
แก้หลังการผนวกมัณฑะเลย์โดยอังกฤษในปี พ.ศ. 2428 เมืองที่มีกำแพงล้อมอย่างพระราชวังมัณฑะเลย์ ได้กลายเป็นป้อมดัฟเฟริน และกองทหารถูกระดมกำลังไปทั่วเขามัณฑะเลย์ ในอาราม วัด และเจดีย์ ถูกห้ามเข้าสำหรับประชาชน อู้อองบาน นักสำรวจภาษีรายหนึ่งเกิดความคิดที่จะอุทธรณ์โดยตรงต่อสมเด็จพระราชินีวิกตอเรีย เนื่องจากพระองค์สัญญาว่าจะเคารพทุกศาสนาที่ประชากรของพระองค์นับถือ ด้วยความประหลาดใจและยินดียิ่ง สมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษมีพระบัญชาให้ถอนทหารทั้งหมดออกจากเขตศาสนาโดยทันทีใน ปี พ.ศ. 2433 อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้กลับกลายเป็นความเสียใจอย่างยิ่งเมื่อพบว่าฉัตรเจดีย์ถูกปล้น ส่วนเหลือถูกทิ้งอยู่บนพื้น ปราศจากระฆัง ทอง เงิน เพชร ทับทิม และอัญมณีล้ำค่าอื่น ๆ ไปจนถึงกระเบื้องหินอ่อนอิตาลีจากขั้นเจดีย์ ศาลาที่พักกำลังพังลง และอิฐถูกใช้เพื่อสร้างถนนให้กับกองทหาร ระฆังทองเหลืองจากซุ้มเจดีย์แผ่นหินจารึกหายไปทั้งหมด ซุ้มหนึ่งมีระฆัง 9 ใบ รวมเป็น 6,570 ใบ หมึกสีทองจากตัวอักษรด้านข้างและด้านบนของแผ่นหินอ่อนแต่ละแผ่นหายไปเช่นกัน ยักษ์อสูรทั้งหมดตามทางเดินสูญเสียหัว ดวงตาและกรงเล็บหินอ่อนของสิงห์ก่ออิฐก็สูญหาย[3][4]
การบูรณะ
แก้พ.ศ. 2435 คณะกรรมการพระภิกษุอาวุโส สมาชิกในราชวงศ์และอดีตเจ้าหน้าที่ของกษัตริย์ รวมทั้ง อะตุมะชิ ซายาดอ (เจ้าอาวาสวัดอะตุมะชิ) กินหวุ่นมินจี (อัครเสนาบดี) เลทิน อะตวินหวุ่น (รัฐมนตรีทัพเรือหลวง) เจ้าฟ้าซอมองและโม่-บแย ซิแก (นายพลกองทัพหลวง) ก่อตั้งขึ้นเพื่อเริ่มงานบูรณะ พร้อมด้วยความช่วยเหลือและการบริจาคจากครอบครัวผู้บริจาคเดิมตามประเพณีและจากสาธารณชนด้วยเช่นกัน[3][4]
ซิแกเป็นผู้ขออนุญาตพระภิกษุอาวุโสให้ปลูกต้นพิกุล และต้นมะซางอินเดีย (Madhuca longifolia)[5] ตัวอักษรสีทองถูกแทนที่ด้วยหมึกสีดำซึ่งทำให้อ่านง่ายขึ้น ฉัตรโลหะซุ้มเจดีย์หินจารึกถูกสวมใหม่ร่วมกับหินที่บริจาคโดยราชวงศ์ (155 คัน) อดีตทหารกองทัพหลวง (58 คัน) เจ้าฟ้าไทใหญ่และเจ้าเมือง (102 คัน) และประชาชนบริจาค (414 คัน) ในปี พ.ศ. 2456 โบ้ตา พ่อค้าข้าวแห่งเมืองย่างกุ้งได้บูรณะและปิดทองเจดีย์ ปีต่อมาสมาคมหินจารึกพระปิฎกมอบประตูเหล็กด้านทิศใต้ ซึ่งเปิดทิ้งไว้เนื่องจากแผงไม้แกะสลักถูกทำลายโดยทหาร ปีถัดมาประตูทิศตะวันตกได้รับบริจาคโดยโบ้เซน (นักแสดงละครเวที) และปี พ.ศ. 2475 ประตูทิศเหนือและทิศตะวันออกโดยลูกหลานของพระเจ้ามินดง ปี พ.ศ. 2462 ฤๅษีอู้คันดี เป็นผู้นำในการสร้างทางเข้ามีที่คลุมด้านทิศใต้และทิศตะวันตก[3][4]
จารึกยูเนสโก
แก้พ.ศ. 2556 ป้ายยูเนสโก ระบุว่า มะฮาโลกะมาระซีน หรือ จารึกกุโตดอ ที่เจดีย์กุโตดอ เป็นหนังสือเล่มใหญ่ที่สุดในโลกในรูปแบบจารึกแผ่นหินอ่อน 729 แผ่น โดยจารึกเกี่ยวกับพระไตรปิฎก และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นความทรงจำแห่งโลก
คลังภาพ
แก้-
เจดีย์กุโตดอในคริสต์ทศวรรษ 1870
-
เจดีย์กุโตดอและเจดีย์ซานดามุนิ
-
ทางเข้าเจดีย์กุโตดอ
-
ซุ้มเจดีย์ที่ประดิษฐานหินจารึก 729 แผ่น
-
หินจารึกเดิมเป็นอักษรสีทองและมีขอบ
-
ที่พักลานทิศตะวันออกเฉียงใต้
-
ป้ายประกาศจากยูเนสโก
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 วัดกุโสดอ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
- ↑ 2.0 2.1 2.2 Asian Historical Architecture Kuthodaw Temple
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 Ludu Daw Amar - English translation by Prof. Than Tun (1974). The World's Biggest Book. Mandalay: Kyipwayay Press. pp. 6, 9–10, 16, 22, 24–31, 35.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 Kuthodaw Pagoda researchgate
- ↑ มะทราง (มะซาง) น้ำปานะ ในพระไตรปิฎก, มติชนสุดสัปดาห์
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- Asian Historical Architecture: Kuthodaw Temple (1857 and later) Prof. Robert D. Fiala, 2002, Concordia University, Nebraska, USA, Retrieved on 2006-08-27
- Mimusops elengi: star flower tree
- Photos of Kuthodaw Pagoda at Have Camera Will Travel
- Allon et al. 2016 Conservation and project report