เครื่องกระทบ (อังกฤษ: percussion instruments) เป็นการจัดประเภทเครื่องดนตรีสากล เครื่องดนตรีประเภทเครื่องกระทบนั้นหมายถึง เครื่องดนตรีที่เกิดเสียงดังขึ้นจากการตี กระทบการสั่น การเขย่า หรือ การเคาะ การตีอาจใช้ไม้ตีหรือใช้สิ่งหนึ่งกระทบเข้ากับอีกสิ่งหนึ่งเพื่อทำให้เกิดเสียง เครื่องประเภทนี้มักประกอบขึ้นด้วยวัสดุของแข็งหลายชนิด เช่น โลหะ ไม้ หรือ แผ่นหนังขึงตึง เครื่องประกอบจังหวะอาจมีชื่อเรียกเป็นคำอื่น เช่น เครื่องตี เครื่องประกอบจังหวะ เป็นต้น

ประเภทของเครื่องกระทบ

แก้
  • 1.เครื่องดนตรีมีระดับเสียงแน่นอน เครื่องดนตรีในกลุ่มนี้มีระดับเสียงสูงต่ำ เหมือนกับเครื่องดนตรีประเภทอื่นเกิดเสียงโดยการตีกระทบ ได้แก่
    • 1.1 ระฆังราว (อังกฤษ: Tubular Bells) ในภาษาอังกฤษเรียกระฆังราวว่า “Orchestral Bells” และ “Chimes” เครื่องดนตรีชนิดนี้ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อเลียนเสียงระฆังจริง ๆ ทำด้วยท่อโลหะแขวนเรียงตามลำดับเสียงต่ำไปยังเสียงสูงท่อโลหะที่มีขนาดสั้นจะเป็นเสียงสูงส่วนท่อยาวจะเป็นเสียงต่ำ แขวนกับ โครงโลหะในแนวดิ่ง ใช้ไม้ตีที่ปลายท่อด้านหัวจะเกิดเป็นเสียงเหมือนเสียงระฆัง
    • 1.2 มาริมบา (อังกฤษ: Marimba) เป็นระนาดของดนตรีตะวันตก ลักษณะทั่ว ๆ ไปเหมือนกับไซโลโฟน หรือไวปราโฟนเป็นระนาดไม้ขนาดใหญ่ลูกระนาดทำด้วยไม้ที่มีชื่อว่า “โรสวู้ด” ใต้ลูกระนาดมีท่อโลหะติดอยู่เพื่อเป็นตัวขยายเสียง
    • 1.3 ไซโลโฟน (อังกฤษ: Xylophone) เป็นระนาดไม้ขนาดเล็กของดนตรีตะวันตก ลักษณะทั่วไปคล้ายกับมาริมบาหรือไวบราโฟน ลูกระนาดทำด้วยไม้เนื้อแข็งจัดเรียงลำดับเสียงตามบันไดเสียงโครมาติก (Chromatic) เช่นเดียวกับเปียโนหรือออร์แกน ใต้ลูกระนาดมีท่อโลหะติดอยู่เพื่อเป็นตัวขยายเสียงประกอบด้วย 2 ขนาด
    • 1.4 ไวบราโฟน (อังกฤษ: Vibraphone) เป็นระนาดโลหะของดนตรีตะวันตกลักษณะทั่วไปคล้ายกับมาริมบาหรือไซโลโฟนเป็นระนาดขนาดใหญู่กระนาดทำด้วยโลหะใต้ลูกระนาดมีท่อโลหะเพื่อเป็นตัวขยายเสียง มีแกนใบพัดเล็ก ๆ ประจำอยู่แต่ละท่อใช้ระบบ มอเตอร์หมุนใบพัด ทำให้เกิดเอฟเฟค (Sound Ettect) เสียงสั่นรัวได้
  • 2.เครื่องดนตรีมีระดับเสียงไม่แน่นอน เครื่องดนตรีในกลุ่มนี้ไม่มีระดับเสียงแน่นอน หน้าที่สำคัญก็คือใช้เป็นเครื่องดนตรีประกอบจังหวะเกิดเสียงโดยการตี สั่น เขย่า เคาะ หรือขูด ได้แก่
    • 2.1 ฉาบ (อังกฤษ: Cymbals) มีหลายลักษณะ บางชนิดใช้ตีเป็นคู่ให้เกิดเสียง ฉาบบางชนิดใช้เพียงข้างเดียว ตีด้วยไม้ตี ฉาบประเภทนี้ต้องติดตั้งบนขาตั้ง เช่นฉาบสำหรับกลองชุด ฉาบมีหลายขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางมากก็จะทำ ให้เกิดเสียงดัง และความก้องกังวานมากขึ้นด้วย
    • 2.2 ไทรแองเกิล หรือ กิ่ง (อังกฤษ: Triangle) ทำด้วยแท่งโลหะ ดัดให้เป็นรูปสามเหลี่ยม แท่งโลหะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 ซ.ม. เพื่อให้เสียงดังกังวานต้องแขวนไว้กับเชือกแล้วตีกระทบด้วยแท่งโลหะ ลักษณะเสียงของไทรแองเกิลจะแจ่มใสมีชีวิตชีวา
    • 2.3 ลูกซัด (อังกฤษ: Maracas) เดิมทำด้วยผลน้ำเต้าแก่จัดทำให้แห้งภายใน บรรจุด้วยเมล็ดน้ำเต้า เมล็ดถั่วต่าง ๆ ต่อด้ามไว้สำหรับถือเวลาเล่น ใช้เขย่าเพื่อให้เกิดเสียงดังซ่า ๆ
    • 2.4 กลองใหญ่ (อังกฤษ: Bass drum) มี 2 หน้าขึงด้วยหนังกลอง กลองใหญ่ที่ใช้ในวงออร์เคสตราจะมีขนาดใหญ่กว่า 32 นิ้ว ถ้าใช้ในวงโยธวาทิตจะมีขนาดตั้งแต่ 24-32
    • 2.5 กลองเล็ก (อังกฤษ: Snare drum) มี 2 หน้า ขึงด้วยหนังกลอง ลักษณะเฉพาะก็คือหน้ากลองด้านล่างขึงคาดไว้ด้วยสายสะแนร์ทำด้วยเอ็นสัตว์
    • 2.6 กลองทิมปานี (อังกฤษ: Timpani) กลองทิมปานีเป็นกลองที่มีลักษณะเหมือนกะทะหรือกาต้ม ในการบรรเลงต้องใช้อย่างน้อย 2 ใบ
    • 2.7 กลองชุด (อังกฤษ: Drum set) คือกลองที่ประกอบด้วยกลองใหญ่ กลองสแนร์ ฉาบ 1 หรือ 2 ใบ กลองทอม 2 หรือ 3 ลูก ไฮแฮท 1คู่ พร้อมทั้งยังเพิ่มเครื่องกระทบจังหวะอื่น ๆ ประกอบเข้า ด้วยกันเป็นพิเศษอีก เช่น คาวเบลส์ เป็นต้น
    • 2.8 คองกา (อังกฤษ: Conga) กลองชนิดหนึ่งมีรูปทรงต่าง ๆ กัน โดยปกติมีความสูง ประมาณ 30 นิ้ว เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 11 นิ้ว ตัวกลองทำด้วยไม้อาจใช้ท่อนไม้นำมาขุดให้กลวง หรือใช้แผ่นไม้ตัดให้เป็นรูปทรงตัวกลองคาดแผ่นโลหะไว้รอบตัวกลองติดยึดด้วยหมุดโลหะ คองก้าเป็น กลองหน้าเดียว ขึงด้วยหนังสัตว์ กลองคองก้ามีหลายขนาด ต่างระดับเสียงกัน จะใช้ 3-5 ใบ
    • 2.9 บองโก (อังกฤษ: Bongos) เป็นกลองคู่ต้องมี 2 ลูกเสมอ เล็ก 1 ลูก ใหญ่ 1 ลูก ระดับเสียงของกลอง 2 ลูกตั้งให้ห่างกันในระยะคู่ 4 หรือคู่ 5
    • 2.10 แทมบูรีน (อังกฤษ: Tambourine) ประกอบขึ้นด้วยขอบกลมเหมือน ขอบกลองขนาดเล็กประมาณ 10 นิ้ว ขอบอาจจะทำด้วยไม้ พลาสติก หรือโลหะ รอบ ๆ ขอบติดด้วย แผ่นโลหะประกบกัน 2 แผ่นหรือติดด้วยลูกกะพรวนเป็นระยะใช้ตีกระทบกับฝ่ามือ หรือสั่นเขย่าให้เกิดเสียงดังกรุ๋งกริ๋งเพื่อประกอบจังหวะ แทมบูรีนบางชนิดขึงด้วยหนัง 1 ด้าน ใช้ฝ่ามือตีที่หนังได้
    • 2.11 คาวเบล (อังกฤษ: Cowbell) พัฒนามาจากกระดิ่งผูกคอวัว รูปทรงคล้ายระฆังมากกว่ากระดิ่ง ตีด้วยไม้ตีกลอง ใช้มากในดนตรีละตินอเมริกา ดนตรีประกอบการเต้นลีลาศหรือเพลงลูกทุ่งของไทย คาวเบลส์ยังใช้เป็นอุปกรณ์ส่วนหนึ่งของกลองชุดอีกด้วย
    • 2.12 มาร์กทรี (อังกฤษ: Mark Tree) ในภาษาอังกฤษเรียกว่า “Mark Tree”, “Chime Tree” หรือ “Bar Chimes” เป็นเครื่องประกอบจังหวะของดนตรีตะวันตก ลักษณะโดยทั่วไปคล้ายระฆังราวแต่มีขนาดเล็ก ประกอบด้วยลูกระฆังจำนวนมากแขวนเรียงตามลำดับความยาว ลูกระฆังมักทำจากอะลูมิเนียมทรงกระบอกตันหรือท่อทองเหลืองกลวง บรรเลงโดยใช้นิ้วมือหรือแท่งโลหะรูดไปตามแนวลูกระฆังหรือที่สายแขวนลูกระฆัง อนึ่ง ในประเทศไทยนิยมเรียกเครื่องดนตรีชนิดนี้ว่า “ราวเบล” ซึ่งไม่ใช่ชื่อที่ถูกต้องและยังสับสนกับ “Round Bell” ซึ่งหมายถึง “กะพรวน”

ความเป็นมาของเครื่องกระทบ

แก้
  • ยุคหินเก่าตอนต้น มีการค้นพบเครื่องดนตรีหลายชนิดทั้งที่ทำให้เกิดเสียงโดยการเคาะ เป่า และขัดถู ส่วนเครื่องกระทบที่ค้นพบในยุคนี้ส่วนใหญ่จะเป็นการนำหนังสัตว์มาขึงกับตอไม้ที่เจาะกลวงตรงกลางและใช้กระดูกสัตว์ตี เรียกว่า กลองขึงหนัง
  • ยุคหินใหม่ตอนปลาย ค้นพบ Rattle เป็นการนำเศษก้อนหินหรือเปลือกหอยมาร้อยรวมกันแล้วเขย่าให้เกิดเสียง, ไซโลโฟน การนำเศษไม้หรือเศษกระดูกที่มีขนาดใกล้เคียงกัน นำมาเรียงจากใหญ่ไปหาเล็ก แล้วตีด้วยไม้หรือกระดูก, กลองขึงหนัง และไม้ตีชนิดต่างๆ
  • ยุคกลาง ดนตรีถูกจำกัดอยู่เพียงการร้องเพลงเพื่อศาสนาเท่านั้น ทำให้เครื่องดนตรีประเภทเครื่องกระทบไม่เป็นที่รู้จักกันมากนัก แต่จะพบในลักษณะที่เป็นของเล่น หรือเครื่องส่งสัญญาณต่างๆ เช่น กระดิ่ง หรือระฆัง
  • ยุคกลางตอนปลาย เพลงนอกศาสนาเริ่มมีถือกำเนิดขึ้น แต่เครื่องกระทบยังคงไม่ได้รับความนิยม ที่พอจะรู้จักและพบในช่วงนี้คือ กลองTabor (เป็นกลองขนาดเล็กที่ใช้ตีประกอบการเป่าขลุ่ย ที่ได้รับอิทธิพลจากตุรกี), แทมบูรีน (Tambourine) และกลองทิมปานี (Timpani) หรือเรียกว่า แคทเทิลดรัมส์ (Kettledrums) ซึ่งจะใช้ในราชสำนักและพิธีกรรมทางศาสนา ต่อมาปีค.ศ. 1670 มีการนำเครื่องกระทบเข้ามาใช้ในวงออร์เคสตรา โดยกลองทิมปานีได้รับการยอมรับมากที่สุด เครื่องกระทบจึงเริ่มมีบทบาทมากขึ้น
  • ยุคโรแมนติก เครื่องกระทบมีบทบาทมากขึ้น และได้รับการพัฒนาขึ้นด้วย โดยมีการเปลี่ยนแปลงให้มีหลายขนาด และหลายๆ เสียง เช่น แทมบูรีน, ไซโลโฟน, ระฆังราว (Tubular Bell), คัสทาเนท (Castanets) หรือกรับสเปน
  • ยุคสมัยใหม่ (Modern) ใยยุคนี้มีการปรับปรุงและก่อสร้างกลไกต่างๆ ให้กับเครื่องกระทบเพื่อตอบสนองการใช้งานของคีตกวี เช่น การเปลี่ยนเสียงของกลองทิมปานี
  • ศตวรรษที่ 20 กลองหนังถูกพัฒนาเป็นกลองชุด (Drums Set) และไซโลโฟน ได้รับการพัฒนาให้มีรูปแบบแตกต่างไปจากเดิมเรียกว่า ไวบราโฟน (Vibraphone) และมาริมบา (Marimba)

เครื่องกระทบในวงดนตรีประเภทต่างๆ

แก้

เครื่องกระทบในวงออร์เคสตรา

แก้
 
เครื่องกระทบแบบมีระดับเสียงในวงออร์เคสตรา โครเทล (บน) และกลอกเคนสปีล (ล่าง)

ในวงออร์เคสตรา เครื่องกระทบถือเป็นหนึ่งในสี่ส่วนประกอบอันได้แก่ เครื่องสาย เครื่องเป่าลมไม้ เครื่องเป่าลมทองเหลือง และเครื่องกระทบ เครื่องกระทบที่มักจะใช้ในวงออร์เคสตราได้แก่ ทิมปานี กลองสแนร์ กลองใหญ่ ฉาบ ไทรแองเกิล แทมแทม กลอกเคนสปีล ไซโลโฟน เซเลสทา และไชมส์ นอกจากนี้ ฝ่ายเครื่องกระทบยังรับผิดชอบการสร้างเสียงอื่นๆ เช่น คาวเบลล์ วูดบลอก และเครื่องดนตรีแปลกๆอีกหลายชนิด โดยทั่วไปนักเพอร์คัชชันจะถูกฝึกให้เล่นได้ทุกเครื่อง แต่นักทิมปานีมักจะเล่นทิมปานีเป็นหลักแม้ว่าจะถูกฝึกมาแบบนักเพอร์คัชชันก็ตาม นอกจากนักทิมปานี ผู้เล่นคนอื่นจะต้องพร้อมกับการเล่นทุกเครื่อง รวมถึงเครื่องดนตรีแปลกๆอย่างกลองบองโกหรือลูกซัด ในหนึ่งเพลงผู้เล่นอาจจะต้องเล่นมากกว่าหนึ่งเครื่องดนตรี ซึ่งหลายครั้งต้องเปลี่ยนระหว่างเครื่องอย่างรวดเร็ว หรือแม้แต่เล่นสองเครื่องในเวลาเดียวกัน

เครื่องกระทบในวงโยธวาทิต

แก้
 
เครื่องกระทบในวงโยธวาทิต โดยเครื่องดนตรีจะติดกับตัวผู้เล่น

เครื่องกระทบที่ใช้บรรเลงในวงโยธวาทิต จะถูกออกแบบมาเป็นพิเศษสำหรับการเล่นในขณะที่มีการเคลื่อนไหว คือจะมีส่วนที่ช่วยยึดติดเครื่องดนตรีกับร่างกาย และมีเสียงดัง เพราะการบรรเลงของวงโยธวาทิตมักจะอยู่กลางแจ้งภายนอกอาคาร และมีการแปลขบวนแถวด้วย

เครื่องกระทบที่นิยมนำมาใช้ในวงโยธวาทิต ได้แก่ กลองสแนร์ กลองเทเนอร์ เบสดรัม (กลองใหญ่) ฉาบ เป็นต้น ในวงโยธวาทิตมักมีการใช้เบสดรัม 4-5 ใบ โดยจะเรียกรวมกันว่า กลองคอร์ด ส่วนกลองสแนร์จะใช้ 3 ใบขึ้นไป เพื่อให้เสียงดัง และมีความหนักแน่น นอกจากนั้นยังมีการนำเฉพาะเครื่องกระทบที่อยู่วงโยธวาทิตมารวมวงรู้จักกันในชื่อดรัมไลน์