เกลือหิน (อังกฤษ: rock salt) คือ ทรัพยากรแร่ตามธรรมชาติชนิดหนึ่ง ที่เกิดจากการตกตะกอนของน้ำทะเล เกลือหินที่พบในประเทศ ไทยแบ่งตามส่วนประกอบทางเคมีออกเป็น 2 ประเภทคือ

  • ส่วนที่เป็นเกลือแกง หรือที่รู้จักกันว่าเกลือสินเธาว์ เรียกว่าแร่ เฮไลต์ (Halite) มีองค์ประกอบทางเคมีคือ โซเดียมคลอไรด์ (NaCl) ประกอบด้วย คลอรีน (Chlorien) ร้อยละ 60.7 และ โซเดียม (Sodium) ร้อยละ 39.3 เกลือมีน้ำหนักโมเลกุลเท่ากับ 58.4 มีรูปผลึกแบบสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ ใสไม่มีสีเมื่อบริสุทธิ์ แต่เมื่อมีมลทินจะมีสีขาว สีเทา สีน้ำตาล และสีส้ม มีความถ่วงจำเพาะ 2.165 ความแข็งตามสเกลของมอร์ (Moh's Scale) 2.5 มีจุดหลอมตัวที่ 800.8 องศาเซลเซียส และน้ำเกลือจะเปลี่ยนเป็นน้ำแข็งที่อุณหภูมิลบ 21.12 องศาเซลเซียส เกลือชนิดนี้มีประโยชน์ที่สำคัญนอกจากใช้ในการปรุงอาหารและถนอมอาหารแล้ว ยังมีประโยชน์อย่างมากในการใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหรรมหลายชนิดเช่นการทำโซดาไฟ (NaOH) โซดาแอช (Na2CO3)
  • ส่วนที่มีส่วนประกอบของธาตุโปแตสเซียม อยู่ด้วยเรียกว่า เกลือโปแตส มีหลายชนิดด้วยกันเช่นแร่ ซิลไวท์ (Sylvite : KCl) แร่คาร์นัลไลท์ (Carnallite : KCl.MgCl2.6H2O) แร่เคนไนท์ (Kainite : MgSO4.KCl.3H2O) และแร่ แลงบิไนท์ (Langbenite : K2SO4.2MgSO4) เป็นต้น เกลือโปแตสมีประโยชน์ในการใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยเคมีโดยเนื่องจากมีธาตุ โปแตสเซียม (K) เป็นส่วนประกอบสำคัญ

แหล่งเกลือหิน

แก้

เกลือหินพบมากในภาคอีสาน ซึ่งเป็นหลักฐานที่บ่งบอกว่า น้ำทะเลที่เคยไหลท่วมภาคอีสานและได้ถูกปิดกั้นด้วยเทือกเขาจากการยกตัวของเทือกเขาภูพานทางตอนกลางของภาคอิสาน ซึ่งได้ทำให้เกิดการแบ่งดินแดนอีสานเป็น 2 ส่วน ทำให้พบแร่เกลือหิน และแร่โปแตชชนิดคาร์นัลไลท์ จำนวนมาก บริเวณที่พบแร่เกลือหินและแร่โปแตช มีลักษณะเป็นแอ่งคล้าย ๆ ก้นกระทะ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 แอ่ง คือ

  • แอ่งเหนือ หรือ แอ่งสกลนคร (Sakonnakhon Basin) อยู่ทางตอนเหนือ ของ ที่ราบสูงโคราช คลุมพื้นที่ของ จังหวัดอุดรธานี หนองคาย สกลนคร และนครพนม เป็นเนื้อที่ประมาณ 17,000 ตารางกิโลเมตร
  • แอ่งใต้ หรือ แอ่งโคราช (Khorat Basin) อยู่ทางตอนใต้ ของที่ราบสูงโคราช คลุมพื้นที่ของจังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร อุบลราชธานี นครราชสีมา ชัยภูมิ สุรินทร์ และบุรีรัมย์ เป็นเนื้อที่ ประมาณ 33,000 ตารางกิโลเมตร

สภาพธรณีวิทยาของในแอ่งส่วนใหญ่จะรองรับด้วยหมวดหินมหาสารคาม หมวดหินมหาสารคามถูกปิดทับด้วยหินตะกอนยุคควอเทอร์นารี ซึ่งเป็นตะกอนน้ำพา ในบริเวณที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึงและที่ราบริมน้ำ หมวดหินมหาสารคาม เป็นชั้นเกลือหินหนา แทรกสลับกับ หินโคลน บางแห่งพบว่ามีชั้นหินเกลือเพียงชั้นเดียว สองชั้นหรือสามชั้น หมวดหินมหาสารคาม นี้วางตัวแบบไม่ต่อเนื่องบนหน่วยหินโคกกรวด

หมวดหินมหาสารคาม ประกอบด้วย หน่วยหินย่อย 7 ชุด เรียงจากชั้นที่แก่สุดถึงอ่อนสุด ดังนี้ หินชั้นสีแดงอายุแก่ ชั้นแอนไฮไดรต์ชั้นฐาน เกลือชั้นล่าง ดินเหนียวชั้นล่าง เกลือชั้นกลาง ดินเหนียวชั้นกลาง เกลือชั้นบน และดินเหนียวชั้นบน ชั้นเกลือหิน ประกอบด้วยแร่เฮไลต์ 80-96% นอกจากนี้บางแห่งยังพบแร่โพแทช (แร่ซิลไวต์และคาร์นัลไลต์) เกิดร่วมในเกลือหินชั้นล่าง ในบางแห่งเกลือหินชั้นบนถูกชะละลาย ทำให้เกิดปัญหาน้ำบาดาลเค็ม น้ำเค็มเมื่อมีระดับสูงใกล้ผิวดินจะพาเกลือมาสะสมผิวดิน ก่อให้เกิดปัญหาดินเค็มตามมา ลำดับชั้นเกลือทั้ง 3 ชั้น โดยมีชั้นดินเหนียวคั่นอยู่ระหว่างชั้นเกลือหิน รวมทั้งชั้นโพแทชพบอยู่ในชั้นเกลือหินชั้นล่างสุด มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

 

  1. แอนไฮไดรต์ชั้นฐาน เป็นชั้นหินเกลือระเหยที่อยู่ล่างสุดในแอ่ง มีความหนาค่อนข้างสม่ำเสมอประมาณ 1-2 เมตร วางตัวอยู่ใต้ชั้นเกลือหินและทับอยู่บนหินทรายเนื้อละเอียด
  2. เกลือหินชั้นล่าง ประกอบด้วยเกลือหินเป็นหลัก มีความหนามากที่สุด และพบแร่โพแทชอยู่ในช่วงบนของชั้นเกลือหินนี้ ในส่วนบนของเกลือหินชั้นนี้จะมีความสะอาดหรือความบริสุทธิ์มาก และมีอินทรียวัตถุเข้ามาปนมากขึ้นในตอนล่าง ๆ ทำให้มีสีเทาดำ พบยิปซั่มและแอนไฮไดรต์ปนบ้างเล็กน้อยประมาณ 2-3 เปอร์เซ็นต์ ความหนาของชั้นเกลือหินนี้ โดยเฉลี่ย 134 เมตร หลุมเจาะที่อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม (K-89) พบเกลือหินหนาที่สุด 1,080 เมตร ซึ่งไม่ใช่ความหนาที่แท้จริง เพราะพบการเอียงเทของชั้นเกลือหินค่อนข้างมากจากแท่งตัวอย่าง เนื่องจากชั้นเกลือหินถูกดันนูนขึ้นเป็นโดมหินเกลือ
  3. ชั้นแร่โพแทช ส่วนใหญ่เป็นแร่คาร์นัลไลต์ (Carnallite-KMgCl3.6H2O) ส่วนน้อยเป็นแร่ซิลไวต์ (Sylvite-KCl) ซึ่งพบวางตัวอยู่ข้างบนชั้นแร่คาร์นัลไลต์ เกิดจากแมกนืเซียมในแร่คาร์นัลไลต์ถูกชะออกไป
    1. แร่คาร์นัลไลต์ มีลักษณะเป็นสีชมพูเรื่อๆ บางครั้งอมม่วงและขาวขุ่น ส่วนน้อยที่มีสีค่อนข้างเข้มไปในทางสีส้มหรือสีแดงเนื่องจากมลทินของแร่ฮีมาไทต์ มีคุณสมบัติละลายน้ำได้ง่ายกว่าเกลือหินและซิลไวต์มาก มีรสเฝื่อน พบเป็นชั้นค่อนข้างหนา พบหนาที่สุดประมาณ 200 เมตร จากการเจาะสำรวจ 118 หลุม พบแร่โพแทซ 61 หลุม อยู่ในระดับลึกตั้งแต่ 75-532 เมตร มีความหนาเฉลี่ย 42 เมตร
    2. แร่ซิลไวต์ ส่วนใหญ่มีสีขาวขุ่นคล้ายเกลือหินมาก อาจพบสีส้ม และสีแดงอมส้ม เกิดเป็นชั้นบางๆสลับกับเกลือหิน พบแร่ซิลไวต์ค่อนข้างหนาประมาณ 12 เมตร อยู่ตื้นประมาณ 75 เมตรจากผิวดิน คือที่อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น และอำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี
  4. เกลือหินหลากสี พบเหนือชั้นโพแทซ มีความหนาเฉลี่ย 3 เมตร มีสีต่างๆ เช่น สีส้ม แดง เทา ดำ และขาว เป็นชั้นสลับกัน และพบเฉพาะบริเวณที่มีชั้นโพแทซเท่านั้น
  5. เกลือหินชั้นกลาง มีสีขาว และบางบริเวณมีสีครีมจนถึงสีน้ำตาลอ่อน พบยิปซัมและแอนไฮไดรต์ สีขาวประมาณ 2%-3% ประอยู่ทั่วไป พบหนาที่สุดที่ อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา คือ สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนา 171 เมตร จากหลุมเจาะทั้งหมด 118 หลุม พบว่ามีเกลือหินชั้นกลางนี้เพียง 56 หลุม มีความหนาเฉลี่ย 70 เมตร
  6. เกลือหินชั้นบน ประกอบด้วยเกลือหินล้วนๆ มียิปซัมเล็กน้อย และบางบริเวณในช่วงกลางๆจะพบชั้นแอนไฮไดรต์ที่หนาประมาณ 2 เมตร ชั้นเกลือหินชั้นบนมีความหนาตั้งแต่ 3-65เมตร บางแห่งพบว่าชั้นนี้ละลายไปหมด พบในหลุมเจาะเพียง 13 หลุมจาก 118 หลุม พบบริเวณกลางๆแอ่งและบางบริเวณเท่านั้น
  7. ชั้นดินเหนียว ชั้นดินเหนียวและชั้นหินโคลนนี้จะมีสีน้ำตาลแดงและมีจุดสีเขียวประอยู่ทั่วไป เป็นชั้นที่เกิดแทรกสลับระหว่างชั้นเกลือหินต่างๆ ชั้นดินเหนียวที่คั่นระหว่างเกลือหินชั้นกลางกับชั้นล่าง มีความหนาตั้งแต่ 8-66 เมตร โดยเฉลี่ย 35 เมตร สำหรับชั้นดินเหนียวที่คั่น ระหว่างเกลือหินชั้นบนกับชั้นกลางนั้นมีความหนาตั้งแต่ 5-83 เมตร โดยเฉลี่ย 43 เมตร

อ้างอิง

แก้
  • กรมทรัพยากรธรณี 2548. โครงการศึกษาปัจจัยทางธรณีวิทยาที่ทำให้เกิดดินเค็มในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พ.ศ. 2547 สำนักทรัพยากรแร่ กรมทรัพยากรธรณี 277 หน้า.
  • เจริญ เพียรเจริญ. 2515. แหล่งเกลือในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. ข่าวารสารกรมทรัพยากรธรณี กรมทรัพยากรธรณี.
  • เด่นโชค มั่นใจ. 2545. ทบทวนงานศึกษาธรณีวิทยา บริเวณที่ราบสูง โคราช รายงานสัมมนา ภาควิชาเทคโนโลยีธรณี คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
  • ธวัช จาปะเกษตร์ 1985. การสำรวจแร่เกลือหินและโพแทชภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย Proceedings of the Conference on Geology and Mineral Resources Development of the Northeast, Thailand. Department of Geotechnology, Khon Kaen University, 26-29 November, Khon Kaen, Thailand.
  • พิทักษ์ รัตนจารุรักษ์. 2542. แหล่งแร่เกลือหินในประเทศไทย. วารสารเศรษฐธรณีวิทยา ปีที่ 1 ฉบับที่ 10.
  • พจนานุกรมศัพท์ธรณีวิทยา ฉบับราชบัณฑิตยสถาน