เขื่อนรัชชประภา

(เปลี่ยนทางจาก อ่างเก็บน้ำรัชชประภา)

เขื่อนรัชชประภา มีชื่อเรียกดั้งเดิมว่า เขื่อนเชี่ยวหลาน[1] เป็นเขื่อนอเนกประสงค์แห่งที่สองของภาคใต้ อยู่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อก่อนสร้างแล้วเสร็จได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานนามให้ใหม่ว่า “เขื่อนรัชชประภา” มีความหมายว่า “แสงสว่างแห่งราชอาณาจักร”

เขื่อนรัชชประภา
แผนที่
ชื่อทางการเขื่อนรัชชประภา
ที่ตั้งจังหวัดสุราษฎร์ธานี
เริ่มก่อสร้างพ.ศ. 2525
เปิดดำเนินการ8 ตุลาคม พ.ศ. 2531
ผู้ดำเนินการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
เขื่อนและทางน้ำล้น
ปิดกั้นคลองพระแสง
ความสูง94 เมตร
ความยาว716 เมตร
อ่างเก็บน้ำ
อ่างเก็บน้ำเขื่อนดิน
ปริมาตรกักเก็บน้ำ5,638.6 ล้าน ลบ.ม.
พื้นที่กักเก็บน้ำ185 ตร.กม.
ทัศนียภาพภายในเขื่อนรัชชประภาเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2562
การล่องเรือภายในเขื่อนรัชประภา

เขื่อนรัชชประภา สร้างปิดกั้นคลองพระแสงลำน้ำสาขาของแม่น้ำพุมดวง ที่บ้านเชี่ยวหลาน ตำบลเขาพัง อำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานีโดยพื้นที่ส่วนใหญ่ติดอุทยานแห่งชาติเขาสกเกือบทั้งหมด เป็นเขื่อนหินถมแกนดินเหนียว สูง 94 เมตร ความยาวสันเขื่อน 761 เมตร และมีเขื่อนปิดกั้นช่องเขาขาดอีก 5 แห่ง มีความจุ 5,638.8 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่อ่างเก็บน้ำ 185 ตารางกิโลเมตร ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเฉลี่ยปีละ 3,057 ล้านลูกบาศก์เมตร ติดตั้งเครื่องผลิตไฟฟ้า เครื่องละ 80,000 กิโลวัตต์ จำนวน 3 เครื่อง รวมกำลัง การผลิต 240,000 กิโลวัตต์ ให้พลังงานไฟฟ้าเฉลี่ยปีละประมาณ 554 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง

เขื่อนรัชชประภา เริ่มดำเนินการก่อสร้าง เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2525 แล้วเสร็จในเดือนกันยายน พ.ศ. 2530 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรพร้อมด้วย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินเปิดเขื่อนรัชชประภา และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ เมื่อวันพุธที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2530 แต่เดิมนั้นสามารถเดินทางได้โดยจาก อำเภอพนม แต่เนื่องจากเส้นทางดังกล่าวมีความสลับซับซ้อนประกอบด้วยเหวจำนวนมากเส้นทางดังกล่าวจึงต้องปิดตัวลงโดยปัจจุบันสามารถเดินทางโดยผ่านอำเภอบ้านตาขุน เขื่อนรัชชประภาเป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่สำคัญแห่งหนึ่งในภาคใต้ ที่สร้างความมั่นคงให้แก่ระบบไฟฟ้า และความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศชาติ นอกจากนี้ยังเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ ในปี พ.ศ. 2530 และพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก ในปี พ.ศ. 2531

การใช้ประโยชน์

แก้
 
ชะแง่นผาภูเขาหินปูนและผืนน้ำ ซึ่งอยู่ในเขตความรับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติเขาสก
  • การชลประทานเพื่อการเพาะปลูก ปริมาณน้ำที่ปล่อยจากเขื่อนให้ประโยชน์ต่อการเพาะปลูกพืช บริเวณสองฝั่งแม่น้ำในตอนล่าง เป็นผลให้พื้นที่ประมาณ 100,000 ไร่ ในเขตท้องที่ตำบลตาขุน อำเภอคีรีรัฐนิคม และอำเภอพุนพิน สามารถทำนาปรัง และปลูกพืชในฤดูแล้งได้ผลดี
  • บรรเทาอุทกภัย การกักเก็บน้ำของเขื่อนในฤดูฝน จะช่วยลดความรุนแรงของสภาวะน้ำท่วมในพื้นที่ตอนล่างได้เป็นอย่างดี
  • การประมง อ่างเก็บน้ำของเขื่อนรัชชประภาเป็นแหล่งประมงน้ำจืดที่สำคัญ ทุกๆ ปี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้ปล่อยพันธุ์ปลาและกุ้งเป็นจำนวนมากลงไปในอ่างเก็บน้ำ สามารถให้ผลผลิตทางด้านการประมงเฉลี่ยปีละ 300 ตัน ซึ่งเป็นการส่งเสริมรายได้ให้กับราษฎรในพื้นที่ได้อีกทางหนึ่ง
  • การท่องเที่ยว ทัศนียภาพโดยรอบบริเวณเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ สวยสดงดงาม และสงบร่มรื่น เหมาะแก่การไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ และสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวปีละกว่า 70,000 คน ให้เดินทางมาเยี่ยมชมเขื่อนรัชชประภา พื้นที่อ่างเก็บน้ำมีทัศนียภาพอันงดงาม ประกอบด้วยยอดเขาหินปูนที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมามากมาย จนได้รับฉายาว่า "กุ้ยหลินเมืองไทย" ซึ่งพื้นที่น้ำเกือบทั้งหมด อยู่ในความดูแลของอุทยานแห่งชาติเขาสก (เว้นเพียงพื้นที่น้ำในเขตทุ่นลอย อันได้แก่ รอบพระตำหนักเรือนรับรองที่ประทับ หน้าช่องระบายน้ำ และตลอดแนวสันเขื่อน อยู่ในความรับผิดชอบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย)[2]
  • การผลิตไฟฟ้า พลังน้ำจากเขื่อนสามารถนำมาผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ปีละ 315 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง ช่วยเสริมระบบไฟฟ้าในภาคใต้ให้มั่นคงยิ่งขึ้น นอกจากนี้น้ำที่ปล่อยผ่านเครื่องผลิตไฟฟ้า ยังส่งต่อเพื่อใช้ประโยชน์ในด้านเกษตรกรรม บริเวณพื้นที่ท้ายน้ำอีกด้วย
  • แก้ไขน้ำเสียและผลักดันน้ำเค็ม สภาพน้ำที่มีบปริมาณน้อยของลำน้ำพุมดวง-ตาปี ในฤดูแล้ง ทำให้เกิดภาวะน้ำเน่าเสียได้ง่าย ขณะเดียวกันบริเวณปากแม่น้ำจะมีน้ำเค็มรุมล้ำเข้ามาตามลำน้ำ น้ำที่ปล่อยจากเขื่อนรัชชประภาจะช่วยเจือจางน้ำเสียในลำน้ำ และต้านทานการรุกล้ำของน้ำเค็มที่ปากแม่น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ [1]

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 "เขื่อนรัชชประภา หรือ เขื่อนเชี่ยวหลาน". ทัวร์ดอย.คอม. 2005.
  2. joy_jihyun (20 กรกฎาคม 2011). "เที่ยวเขื่อนเชี่ยวหลาน (กุ้ยหลินเมืองไทย) แพทะเลใน 500ไร่ จ.สุราษฎร์ธานี สวยมากจริงๆ (1)". MThai.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-02-19. สืบค้นเมื่อ 2013-02-27.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

9°04′16″N 98°38′56″E / 9.071°N 98.649°E / 9.071; 98.649