อุทยานแห่งชาติโกโมโด
อุทยานแห่งชาติโกโมโด (อินโดนีเซีย: Taman Nasional Komodo) เป็นอุทยานแห่งชาติในประเทศอินโดนีเซีย ตั้งอยู่ใกล้หมู่เกาะซุนดาน้อย ระหว่างจังหวัดนูซาเติงการาตะวันออกกับจังหวัดนูซาเติงการาตะวันตก อุทยานประกอบด้วยเกาะใหญ่ 3 เกาะ คือ เกาะโกโมโด เกาะรินจา และเกาะปาดาร์ รวมทั้งยังมีเกาะเล็ก ๆ อีกมากมาย ซึ่งเกาะเหล่านี้กำเนิดขึ้นจากการระเบิดของภูเขาไฟ มีพื้นที่รวมทั้งหมด 1,817 ตารางกิโลเมตร หรือ 1,135,625 ไร่ (ส่วนที่เป็นแผ่นดิน 603 ตารางกิโลเมตร หรือ 376,875 ไร่) มีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 4,000 คน ก่อตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อ พ.ศ. 2523 เพื่ออนุรักษ์มังกรโกโมโด ซึ่งเป็นสัตว์เฉพาะถิ่น ภายหลังยังจัดเป็นพื้นที่สำหรับอนุรักษ์สัตว์ป่าและสัตว์ทะเลชนิดอื่น ๆ อีกด้วย ใน พ.ศ. 2534 อุทยานได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การยูเนสโกให้เป็นมรดกโลก[1] และถูกจัดให้เป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกทางธรรมชาติยุคใหม่อีกด้วย[1][2]
อุทยานแห่งชาติโกโมโด * | |
---|---|
แหล่งมรดกโลกโดยยูเนสโก | |
มังกรโกโมโดในเขตอุทยาน | |
พิกัด | 8°36′00.1″S 119°25′16.3″E / 8.600028°S 119.421194°E |
ประเทศ | อินโดนีเซีย |
ภูมิภาค ** | เอเชียและแปซิฟิก |
ประเภท | มรดกทางธรรมชาติ |
เกณฑ์พิจารณา | (vii), (x) |
อ้างอิง | 609 |
ประวัติการขึ้นทะเบียน | |
ขึ้นทะเบียน | 2534 (คณะกรรมการสมัยที่ 15) |
* ชื่อตามที่ได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีแหล่งมรดกโลก ** ภูมิภาคที่จัดแบ่งโดยยูเนสโก |
อุทยานแห่งชาติโกโมโด | |
---|---|
ไอยูซีเอ็นกลุ่ม 2 (อุทยานแห่งชาติ) | |
ที่ตั้ง | อินโดนีเซีย |
พื้นที่ | 1,735 กม² [1], 2,193.22 กม² (มรดกโลก) |
จัดตั้ง | พ.ศ. 2523 |
กิจกรรมดำน้ำเป็นที่นิยมในอุทยานแห่งชาติโกโมโด เนื่องจากเป็นสถานที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลสูง มีสัตว์ทะเลอาศัยอยู่หลายชนิด เช่น ฉลามวาฬ ปลาแสงอาทิตย์ กระเบนราหู กระเบนนก ม้าน้ำแคระ ปลากบตัวตลก ทากเปลือย หมึกวงแหวนสีน้ำเงิน ฟองน้ำ เพรียงหัวหอม และปะการัง[3]
รวมถึงเส้นทางเดินสำรวจธรรมชาติ ทางอุทยานได้แบ่งเส้นทางเดินออกเป็น 3 สาย คือ สายไกล, สายกลาง และสายสั้น โดยมากนักท่องเที่ยวจะนิยมดูและถ่ายภาพมังกรโกโมโด ซึ่งทางเจ้าหน้าที่อุทยานจะเดินตามไปด้วยเพื่อป้องกันอันตรายจากมังกรโกโมโดที่จะทำร้ายนักท่องเที่ยว โดยใช้เพียงไม้ง่ามเพียงชิ้นเดียว หากมังกรโกโมโดเข้าใกล้จะใช้ไม้นี้แยงตา ก็จะล่าถอยไป[1]
ตั้งแต่ พ.ศ. 2538 ทางอุทยานได้รับการสนับสนุนจาก The Nature Conservancy (TNC) ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมจากสหรัฐอเมริกา มีการวางแผนการจัดการอุทยานใหม่ร่วมกัน และนำไปใช้ในปี พ.ศ. 2543 เพื่อรับมือกับปัญหาการใช้ทรัพยากรทั้งทางบกและทางทะเลที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัญหาของทรัพยากรทางทะเลส่วนใหญ่เริ่มมาจากชุมชนชาวประมงและบริษัทเชิงพาณิชย์ภายนอกอุทยาน แต่อย่างไรก็ตาม การควบคุมและจำกัดการใช้ทรัพยากรจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณอุทยาน ซึ่งมีทางเลือกในการดำรงชีวิตน้อยนอกจากต้องรอรับสิ่งที่ทางอุทยานจัดหาให้ จึงมีแผนการวางแนวทางเลือกในการดำรงชีวิตที่เป็นส่วนหนึ่งของแผนการจัดการอุทยาน แต่ชุมชนภายในอุทยานยังต้องการได้รับผลประโยชน์ตามมาตรฐานที่ตรงกับความต้องการของผู้อยู่อาศัย [4]
มรดกโลก
แก้อุทยานแห่งชาติโกโมโดได้รับขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 15 เมื่อปี พ.ศ. 2534 ที่เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนิเซีย ด้วยข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ในการพิจารณา ดังนี้
- (vii) - เป็นตัวอย่างที่เด่นชัดของการเป็นตัวแทนในวิวัฒนาการสำคัญต่าง ๆ ในอดีตของโลก เช่น ยุคสัตว์เลื้อยคลาน ยุคน้ำแข็ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาความหลากหลายทางธรรมชาติบนพื้นโลก
- (x) - เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดสัตว์และพันธุ์พืชที่หายากหรือที่ตกอยู่ในสภาวะอันตราย แต่ยังคงสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ซึ่งรวมถึงระบบนิเวศอันเป็นแหล่งรวมความอุดมสมบูรณ์ของพืชและสัตว์ที่ทั่วโลกให้ความสนใจด้วย
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 1.2 "สุดหล้าฟ้าเขียว: Indonesia". ช่อง 3. 29 November 2014. สืบค้นเมื่อ 29 November 2014.
- ↑ New 7 Wonders of the world, retrieved 29 December 2011
- ↑ Novia D. Rulistia, 'Under the seas in Komodo,' The Jakarta Post, 26 June 2013.
- ↑ WALHI 2003, Dhume, 2000, Jurassic Showdown’, Far Eastern Economic Review, March 16th, pp.50-52