อำเภอจตุรพักตรพิมาน

อำเภอในจังหวัดร้อยเอ็ด ประเทศไทย

จตุรพักตรพิมาน [จะ-ตุ-ระ-พัก-พิ-มาน][1] เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดร้อยเอ็ด

อำเภอจตุรพักตรพิมาน
การถอดเสียงอักษรโรมัน
 • อักษรโรมันAmphoe Chaturaphak Phiman
คำขวัญ: 
ตำนานเศียรคชสาร เล่าขานปรางค์กู่
เชิดชูวัฒนธรรม งามล้ำหลักเมือง
ลือเลื่องเมืองหงส์ ธำรงงามน้ำใจ
น้ำใสห้วยกุดแดง แดนแห่งพรหมพิมาน
แผนที่จังหวัดร้อยเอ็ด เน้นอำเภอจตุรพักตรพิมาน
แผนที่จังหวัดร้อยเอ็ด เน้นอำเภอจตุรพักตรพิมาน
พิกัด: 15°50′42″N 103°33′24″E / 15.84500°N 103.55667°E / 15.84500; 103.55667
ประเทศ ไทย
จังหวัดร้อยเอ็ด
พื้นที่
 • ทั้งหมด522.0 ตร.กม. (201.5 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (2564)
 • ทั้งหมด79,171 คน
 • ความหนาแน่น151.67 คน/ตร.กม. (392.8 คน/ตร.ไมล์)
รหัสไปรษณีย์ 45180
รหัสภูมิศาสตร์4504
ที่ตั้งที่ว่าการที่ว่าการอำเภอจตุรพักตรพิมาน
ถนนปัทมานนท์ ตำบลหัวช้าง อำเภอจตุรพักตรพิมาน จังหวัดร้อยเอ็ด 45180
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

ประวัติ

แก้

เมืองจตุรพักตรพิมาน ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2425 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 5) จตุรพักตรพิมาน แปลว่า ที่อยู่ของเทพเจ้าผู้มีสี่หน้า ซึ่งตั้งชื่อให้สอดคล้องกับนามเจ้าเมืองจตุรพักตรพิมาน คือ ท้าวพรหม หรือ สุพรหม และชื่อเดิมของชื่อเมืองที่ชื่อว่า “บ้านเมืองหงส์” ท้าวพรหม (สุพรหม) เป็นบุตรของพระรัตนวงศา (คำสิงห์) เจ้าเมืองสุวรรณภูมิรับราชการที่เมืองสุวรรณภูมิ ตำแหน่งผู้ช่วยราชการเมือง มีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงพรหมพิทักษ์ เมื่อบิดาเห็นว่าหลวงพรหมพิทักษ์ มีอายุ 22 ปีเศษ เหมาะสมที่จะเป็นเจ้าเมืองได้ จึงมีใบบอกกราบทูลขอหลวงพรหมพิทักษ์เป็นเจ้าเมือง และยกบ้านเมืองหงส์เป็นเมืองจตุรพักตรพิมานพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านเมืองหงส์เป็นเมืองจตุรพักตรพิมาน ให้หลวงพรหมพิทักษ์เป็นพระธาดาอำนวยเดชเจ้าเมืองจตุรพักตรพิมาน ขึ้นกับเมืองสุวรรณภูมิ เมื่อ พ.ศ. 2425 ดังระบุไว้ในการแต่งตั้งขุนนางไทยในรัชการที่ 5 ว่า “ให้หลวงพรหมพิทักษ์ผู้ช่วยราชการเมืองสุวรรณภูมิเป็น พระธาดาอำนวยเดชเจ้าเมืองจตุรพักตรพิมาน ซึ่งแต่ก่อนเรียกว่าบ้านเมืองหงส์ แขวงเมืองสุวรรณภูมิ โปรดเกล้าฯ ให้ยกเป็นเมืองนั้นขึ้นแก่เมืองสุวรรณภูมิ ได้บังคับบัญชาท้าวเพี้ย กรมการแลราษฎร บรรดาอยู่ในเขตุแขวงเมืองจตุรพักตรพิมานทั้งสิ้นแล ให้ฟังคำบังคับบัญชาพระรัตนวงศา เจ้าเมืองสุวรรณภูมิ แต่ที่เป็นยุติธรรมแลชอบด้วยราชการตั้งแต่วันที่ 2 ฯ 7 ปีมะเมีย จัตวาศก เป็นปีที่ 15 ของดวงตาที่ประทับนี้ ประจำการแผ่นดินสยาม พ.ศ. 2425” หน้าที่ของเจ้าเมืองที่ต้องทำโดยสม่ำเสมอ คือการเก็บภาษีอากรส่งไปยังเมืองสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นเมืองที่เมืองจตุรพักตรพิมานต้องขึ้นสังกัดอยู่ การลงโทษผู้กระทำผิดนั้น ขโมยที่ถูกจับได้และการไปถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาปีละ 2 ครั้ง ที่เมืองสุวรรณภูมิ เมืองจตุรพักตรพิมาน เป็นเมืองขึ้นกับเมืองสุวรรณภูมิ ตั้งแต่ พ.ศ. 2425 จนถึง พ.ศ. 2443 ทางราชการได้ยุบเมืองจตุรพักตรพิมาน ลงเป็นอำเภอขึ้นกับเมืองร้อยเอ็ด เพราะเห็นว่าอยู่ใกล้เมืองร้อยเอ็ด (ประมาณ 26 กิโลเมตร) กว่าเมืองสุวรรณภูมิ (ระยะทางจากเมืองจตุรพักตรพิมานห่างจากเมืองสุวรรณภูมิประมาณ 50 ก.ม.) มีพระธาดาอำนวยเดช เป็นนายอำเภอคนแรก (พ.ศ. 2443) และมีนายอำเภอได้รับแต่งตั้งย้ายสับเปลี่ยนตามระเบียบราชการมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้

มีประวัติความเป็นมาของอำเภอจตุรพักตรพิมาน มีปรากฏอยู่ใน ประชุมพงศาวดารภาคที่ 4 ว่าพระรัตนวงศา (คำสิงห์ ) เจ้าเมืองสุวรรณภูมิ มีใบบอกขอตั้งเมืองหงส์ เป็นเมืองของหลวงพรหมพิทักษ์ (ท้าวพรหม หรือ สุพรหม) ผู้ช่วยราชการเมือง บุตรของพระรัตนวงศา (คำสิงห์) เจ้าเมืองสุวรรณภูมิ และขอพระศรีวรราช (สอน) ผู้น้องเป็นอุปฮาดเมืองจตุรพักตรพิมาน วันจันทร์ ขึ้น 12 ค่ำ เดือน 7 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้ยกบ้านเมืองหงส์เป็นเมืองจตุรพักตรพิมานให้หลวงพรหมพิทักษ์ (สุพรหม) เป็นพระธาดาอำนวยเดช เจ้าเมือง พระราชทานเครื่องยศตามบรรดาศักดิ์ และพระธาดาอำนวยเดชได้อพยพครอบครัวไปตั้งที่ว่าการเมืองอยู่ที่บ้านเปลือยหัวช้าง ทางห่างกันกับบ้านเมืองหงส์ประมาณ 90 เส้น หาได้ไปตั้งที่ว่าการเมืองอยู่บ้านเมืองหงส์ตามพระกระแสตราโปรดเกล้าฯ ไม่พระธาดาอำนวยเดช (หลวงพรหมพิทักษ์) กับพระศรีราชา(สอน) อุปฮาดพี่น้องทั้งสองนี้ เป็นผู้ตั้งเมืองจตุรพักตรพิมาน และเป็นบุตรพระรัตนวงศา (คำสิงห์) สืบเชื้อสายจากพระขัติยวงศา (สีลัง) เจ้าเมืองร้อยเอ็ดเมืองจตุรพักตรพิมานนี้ ต่อมาได้ยุบลงเป็นอำเภอขึ้นกับจังหวัดร้อยเอ็ด และเรียกว่า อำเภอหัวช้างอยู่ระยะหนึ่ง และได้เปลี่ยนชื่อกับมาเป็นอำเภอจตุรพักตรพิมาน จนทุกวันนี้

ภูมิศาสตร์

แก้

อำเภอจตุรพักตรพิมาน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัดร้อยเอ็ด ห่างจากตัวจังหวัดร้อยเอ็ด ระยะทางประมาณ 26 กิโลเมตร ห่างจากกรุงเทพมหานครระยะประมาณ 490 กิโลเมตร มีเนื้อที่ทั้งหมด 522 ตารางกิโลเมตร

ที่ตั้งและอาณาเขต

แก้

อำเภอจตุรพักตรพิมานตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของจังหวัด มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้

ลักษณะภูมิประเทศ

แก้

สภาพพื้นของอำเภอเป็นที่ราบ ป่าไม้ส่วนใหญ่ในพื้นที่เป็นป่าเบญจพรรณ

ลักษณะภูมิอากาศ

แก้

ลักษณะภูมิอากาศของอำเภอจตุรพักตรพิมาน อยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุมที่พัดประจำเป็นฤดูกาล 2 ชนิด โดยพัดมาจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือในฤดูหนาวเรียกว่า มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ อิทธิพลของลมนี้จะทำให้บริเวณอำเภอจตุรพักตรพิมานประสบกับภาวะอากาศหนาวเย็นและแห้งแล้งมรสุมอีกชนิดหนึ่งคือ มรสุมตะวันออกเฉียงใต้ จะพักจากทิศตะวันออกเฉียงใต้เป็นส่วนใหญ่ในช่วงฤดูฝนทำให้อากาศชุ่มชื้นและมีฝนตกทั่วไปอำเภอจตุรพักตรพิมานตั้งอยู่ในเขตร้อน และแห้งแล้ง มี 3 ฤดูได้แก่

ทรัพยากรธรรมชาติ

แก้

อำเภอจตุรพักตรพิมาน มีแร่ธาตุที่สำคัญ คือ หินเกลือ ฟอสเฟต และแทนตาไลท์ ส่วนใหญ่จะอยู่แถบบ้านหนองตอ ตำบลหัวช้าง ทรัพยากรจะเป็นป่าเบญจพรรณป่าไม้ส่วนใหญ่จะเป็นไม้ยาง ไม้เหียง ไม้ตะแบก และไม้ประดู่ ลักษณะดินส่วนใหญ่จะเป็นดินร่วนปนทรายและบางแหล่งจะพบดินลูกรัง ซึ่งเกิดจากการสลายตัวของหินดินดาน ลำน้ำเสียวถือว่าเป็นสายน้ำที่สำคัญของอำเภอซึ่งจะไหลผ่าน 3 อำเภอด้วยกันคือ อำเภอปทุมรัตต์ อำเภอจตุรพักตรพิมาน และอำเภอเกษตรวิสัย แล้วไหลลงสู่แม่น้ำมูลที่อำเภอสุวรรณภูมิ ในฤดูแล้งน้ำจะแห้งมีน้ำขังเป็นช่วงๆ

การแบ่งเขตการปกครอง

แก้

การปกครองส่วนภูมิภาค

แก้

อำเภอจตุรพักตรพิมานแบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 12 ตำบล 150 หมู่บ้าน ดังนี้

 
ตำบลของอำเภอจตุรพักตรพิมาน
ลำดับ อักษรไทย อักษรโรมัน หมู่บ้าน ประชากร [a] [2]
1 หัวช้าง Hua Chang 15 12,897
2 หนองผือ Nong Phue 11 7,532
3 เมืองหงส์ Mueang Hong 17 7,303
4 โคกล่าม Khok Lam 16 7,412
5 น้ำใส Nam Sai 10 4,848
6 ดงแดง Dong Daeng 16 8,852
7 ดงกลาง Dong Klang 10 5,906
8 ป่าสังข์ Pa Sang 14 5,887
9 อีง่อง I Ngong 9 4,284
10 ลิ้นฟ้า Lin Fa 9 4,511
11 ดู่น้อย Du Noi 14 6,624
12 ศรีโคตร Si Khot 9 4,301
รวม 150 80,357
  1. ข้อมูลวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2562

การปกครองส่วนท้องถิ่น

แก้

ท้องที่อำเภอจตุรพักตรพิมานประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 13 แห่ง ได้แก่

  • เทศบาลตำบลจตุรพักตรพิมาน ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลหัวช้าง (หมู่ที่ 1-3 บางส่วน)
  • เทศบาลตำบลหนองผือ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองผือทั้งตำบล
  • เทศบาลตำบลหัวช้าง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหัวช้าง (เฉพาะนอกเขตเทศบาลตำบลจตุรพักตรพิมาน)
  • เทศบาลตำบลดงแดง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลดงแดงทั้งตำบล
  • เทศบาลตำบลโคกล่าม ครอบคลุมพื้นที่ตำบลโคกล่ามทั้งตำบล
  • เทศบาลตำบลเมืองหงส์ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเมืองหงส์ทั้งตำบล
  • เทศบาลตำบลลิ้นฟ้า ครอบคลุมพื้นที่ตำบลลิ้นฟ้าทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลน้ำใส ครอบคลุมพื้นที่ตำบลน้ำใสทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลดงกลาง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลดงกลางทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลป่าสังข์ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลป่าสังข์ทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลอีง่อง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลอีง่องทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลดู่น้อย ครอบคลุมพื้นที่ตำบลดู่น้อยทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลศรีโคตร ครอบคลุมพื้นที่ตำบลศรีโคตรทั้งตำบล

ประชากร

แก้
  • ประชากร มีจำนวน 81,441 คน เป็นชาย 40,325 คน เป็นหญิง 41,116 คน (พ.ศ. 2553)
  • ครัวเรือน มีจำนวน 19,198 หลังคาเรือน

ชาวอำเภอจตุรพักตรพิมานที่มีชื่อเสียง

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. ราชบัณฑิตยสถาน. อ่านอย่างไร และ เขียนอย่างไร ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. พิมพ์ครั้งที่ 16. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2546.
  2. กระทรวงสาธารณสุข (1 มกราคม 2562). "จำนวนประชากรทะเบียนราษฏร์ ย้อนหลัง 3 ปี". hdcservice.moph.go.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-05-08. สืบค้นเมื่อ 30 กันยายน 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)