อาร์ชดยุกรูดอล์ฟ มกุฎราชกุมารแห่งออสเตรีย-ฮังการี

อาร์ชดยุกรูดอล์ฟแห่งออสเตรีย (อังกฤษ: Archduke Rudolf, Crown Prince of Austria-Hungary, เยอรมัน: Erzherzog Rudolf, Kronprinz von Österreich-Ungarn) (พระนามเต็ม: รูดอล์ฟ ฟรานซ์ คาร์ล โจเซฟ, Rudolf Franz Karl Joseph von Habsburg-Lothringen) เป็นพระราชโอรสองค์เดียวในสมเด็จพระจักรพรรดิฟรานซ์ โจเซฟที่ 1 และสมเด็จพระจักรพรรดินีเอลิซาเบธแห่งออสเตรีย และนอกจากนี้ ทรงเป็นมกุฎราชกุมารแห่งออสเตรีย-ฮังการี จนถึงสิ้นพระชนม์เนื่องจากทรงปลิดพระชนม์ชีพพระองค์เองด้วยพระแสงปืนพร้อมกับนางสนมของพระองค์บารอนเนสแมรี่ เว็ทเซร่า

อาร์ชดยุกรูดอล์ฟแห่งออสเตรีย
มกุฎราชกุมารแห่งออสเตรีย
พระราชกุมารแห่งฮังการีและโบฮีเมีย
พระราชสมภพ21 สิงหาคม พ.ศ. 2401
สวรรคต31 มกราคม พ.ศ. 2432 (30 ปี)
คู่อภิเษกเจ้าหญิงสเตฟานี่แห่งเบลเยียม
พระราชบุตรอาร์ชดัชเชสเอลิซาเบธ มารี
พระนามเต็ม
รูดอล์ฟ ฟรานซ์ คาร์ล โจเซฟ
ราชวงศ์ราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค
พระราชบิดาสมเด็จพระจักรพรรดิฟรานซ์ โจเซฟที่ 1 แห่งออสเตรีย
พระราชมารดาดัชเชสเอลีซาเบ็ทในบาวาเรีย

พระราชประวัติ

แก้

มกุฎราชกุมารรูดอล์ฟประสูติเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2401พระราชวังแล็กเซ็นบูร์ก กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เป็นพระราชโอรสเพียงพระองค์เดียวในสมเด็จพระจักรพรรดิฟรานซ์ โจเซฟที่ 1 แห่งออสเตรีย (พระโอรสในอาร์ชดยุกฟรานซ์ คาร์ลแห่งออสเตรีย และเจ้าหญิงโซฟีแห่งบาวาเรีย) และ สมเด็จพระจักรพรรดินีเอลิซาเบธแห่งออสเตรีย (พระธิดาในดยุกแม็กซีมีเลียน โจเซฟแห่งบาวาเรีย และเจ้าหญิงลูโดวิก้าแห่งบาวาเรีย) เมื่อทรงพระเยาว์ ทรงได้รับการศึกษาจากเฟอร์ดินานด์ วอน ฮอชสเต็ทเทอร์ อาจารย์ที่ได้มาสอนตามพระบรมราชโองการของสมเด็จพระราชชนก ซึ่งต่อมาได้เป็นผู้อำนวยการแห่งพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติอิมพีเรียลแห่งกรุงเวียนนา โดยพระองค์ทรงมีความสนพระทัยในวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ โดยพระองค์ทรงเริ่มสะสมแร่ธาตุตั้งแต่ทรงพระเยาว์ (หลังจากที่พระองค์ทรงสิ้นพระชนม์ แร่ธาตุส่วนใหญ่ที่พระองค์ทรงสะสม ได้ถูกนำมาเป็นสื่อการเรียนการสอนในคณะเกษตรศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเวียนนา)

เมื่อพระองค์ทรงเจริญพระชนมพรรษาขึ้น สมเด็จพระจักรพรรดิฟรานซ์ โจเซฟ พระราชบิดามีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสถาปนาพระองค์เป็นมกุฎราชกุมารแห่งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (Heir Apparent of the Austro-Hungarian Empire) โดยพระองค์ทรงเป็นรัชทายาททางนิตินัย หรือเปลี่ยนแปลงไม่ได้ หลังจากได้รับการสถาปนาเป็นมกุฎราชกุมารแล้ว พระองค์ทรงเริ่มมีความคิดขัดแย้งกับสมเด็จพระราชบิดา โดยพระองค์ทรงมีอุดมคติทางด้านเสรีนิยม ทรงยึดมั่นทางเสรีภาพเพื่อจะทรงใช้ในการปกครองในอนาคต แต่สมเด็จพระราชบิดาทรงมีอุดมคติตรงกันข้าม ทำให้ทั้ง 2 พระองค์ทรงขัดแย้งกัน แต่พระองค์ก็ทรงมีสมเด็จพระจักรพรรดินีเอลิซาเบธ พระราชมารดาที่ทรงมีอุดมคติเหมือนกับพระองค์ ทำให้ทั้ง 2 พระองค์ทรงมีความสัมพันธ์ดี แต่อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 พระองค์ก็ไม่ทรงประทับอยู่ด้วยกัน เพราะเนื่องจากเมื่อทรงพระเยาว์ พระองค์ทรงได้รับการเลี้ยงดูจากอาร์ชดัชเชสโซฟี พระสัสสุที่ทรงแย่งพระองค์จากสมเด็จผู้เป็นพระราชมารดาไปเลี้ยงดู โดยสมเด็จพระราชมารดาไม่ทรงมีโอกาสเลี้ยงดูพระองค์เลย

อภิเษกสมรส

แก้
 
อาร์ชดยุกรูดอล์ฟและพระชายา

เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2424 พระองค์ทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงสเตฟานี่แห่งเบลเยียม พระราชธิดาในสมเด็จพระราชาธิบดีเลโอโปลด์ที่ 2 แห่งเบลเยียม ทั้ง 2 พระองค์ทรงอภิเษกสมรส ณ มหาวิหารเซนต์ ออกัสติน กรุงเวียนนา ซึ่งงานอภิเษกสมรสครั้งนี้ ถูกจัดขึ้นอย่างเอิกเกริก หรูหรา ท่ามกลางเสียงโห่ร้องยินดีของประชาชน ทั้ง 2 พระองค์มีพระธิดาเพียง 1 พระองค์ คือ

ต่อมาปีพ.ศ. 2430 พระองค์ทรงใช้พระราชทรัพย์ซื้อคฤหาสน์มาเยอร์ลิ่ง รัฐอัปเปอร์ ออสเตรีย เพื่อใช้เป็นพระราชฐานส่วนพระองค์สำหรับฤดูล่าสัตว์ เมื่อถึงฤดูใบไม้ร่วง ปีพ.ศ. 2431 พระองค์ได้ทรงพบกับนางกำนัลวัย 17 ปีบารอนเนสแมรี่ เว็ทเซร่า ซึ่งได้เข้ามาทำงานถวายรับใช้พระองค์ ซึ่งยิ่งทำงานถวายรับใช้พระองค์มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเพิ่มพูนความรักของทั้ง 2 มากยิ่งขึ้น ทำให้บารอนเนสแมรี่ได้กลายเป็นนางสนมลับของพระองค์ในเวลาต่อมา

สิ้นพระชนม์

แก้
 
พระราชหัตถเลขาฉบับสุดท้ายของอาร์ชดยุกรูดอล์ฟถึงอาร์ชดัชเชสสเตฟานี่ พระชายาก่อนที่จะปลิดพระชนม์ชีพตัวเอง

มกุฎราชกุมารรูดอล์ฟ ทรงสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2432 ณ คฤหาสน์ล่าสัตว์มาเยอร์ลิง พร้อมด้วยบารอนเนสแมรี นางสนมของพระองค์ หลังจากที่พระองค์ทรงมีปากเสียงกับอาร์ชดัชเชสสเตฟานี พระชายา ที่ทรงมิให้พระองค์ทรงมีนางสนมใด ๆ ทั้งสิ้น อีกทั้งเมื่อสมเด็จพระจักรพรรดิ พระราชบิดา ทรงรู้เรื่องที่พระองค์ทรงมีนางสนม ทรงกริ้วมาก และมีพระบัญชาให้พระองค์เลิกติดต่อ และเลิกความสัมพันธ์กับบารอนเนสแมรีอย่างเด็ดขาด พระองค์ทรงหมดหนทางแก้ไข จึงทรงใช้ปืนส่วนพระองค์ยิงที่ศีรษะของบารอนเนสแมรีก่อน แล้วจึงทรงยิงพระองค์สิ้นพระชนม์ตาม สร้างความโศกเศร้าแก่ประชาชนเป็นอย่างมาก และนอกจากนี้ การสิ้นพระชนม์ของพระองค์ได้สร้างความอัปยศอดสูมาสู่พระราชวงศ์อิมพีเรียลเป็นอย่างมาก พระศพของพระองค์ถูกจัดขึ้นอย่างสมพระเกียรติ โดยนำไปฝังไว้ที่วิหารฮาพส์บวร์ค ซึ่งเป็นที่ฝังพระศพของพระบรมวงศานุวงศ์ออสเตรียมาช้านาน ส่วนศพของบารอนเนสแรี่ สมเด็จพระจักรพรรดิทรงมีรับสั่งให้นำไปฝังอย่างลับ ๆ ที่วิหารใกล้กับคฤหาสน์มาเยอร์ลิง

ส่วนคฤหาสน์มาเยอร์ลิง สมเด็จพระจักรพรรดิได้มีพระบรมราชโองการปรับปรุงใหม่เป็นสถานศึกษาของแม่ชีในศาสนจักรจนถึงปัจจุบัน และในปัจจุบันมีแม่ชีบางองค์ได้บอกเล่าว่าเห็นพระวิญญาณของอาร์ชดยุกรูดอล์ฟ และวิญญาณของบารอนเนสแมรีภายในคฤหาสน์ โดยทั้ง 2 ได้เดินด้วยกันไปตามที่ต่าง ๆ ในคฤหาสน์

การสันนิษฐาน

แก้
 
ภาพวาดการสิ้นพระชนม์ของมกุฎราชกุมารรูดอล์ฟ ที่สมเด็จพระจักรพรรดิ สมเด็จพระจักรพรรดินี และพระชายาได้ทรงเข้ามาทอดพระเนตรพระศพ

หลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ ทำให้มีการสันนิษฐาน และตั้งทฤษฎีของสาเหตุการสิ้นพระชนม์ของพระองค์เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน จนได้มีการถกเถียงกันมายาวนาน และมีการตั้งองค์กรประชุมสันนิษฐานการสิ้นพระชนม์อีกด้วย

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 ศพของบารอนเนสแมรี่ เว็ทเซร่าถูกขโมยหายไปจากสุสานในวิหารใกล้คฤหาสน์มาเยอร์ลิ่ง ต่อมาตำรวจก็สามารถจับกุมผู้ขโมยศพได้ และผู้ต้องหายอมนำศพมาคืน แต่ตำรวจก็ไม่แน่ใจว่าจะเป็นศพของบารอนเนสแมรี่หรือไม่ จึงให้สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์เวียนนาได้ทำการตรวจพิสูจน์ดู ปรากฏว่าเป็นศพของบารอนเนสแมรี่จริง และได้พบว่า กะโหลกศีรษะของเธอไม่ได้มีรูที่ถูกกระสุนปืนของอาร์ชดยุกรูดอล์ฟ ก่อนที่จะทรงยิงพระองค์เอง ทำให้มีสันนิษฐานว่า ทั้ง 2 อาจถูกลอบสังหารโดยพวกหัวรุนแรง เมื่อทฤษฎีใหม่เริ่มขึ้น จึงได้มีการขออนุมัตินำพระศพของอาร์ชดยุกรูดอล์ฟมาทำการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ โดยหลังจากการพิสูจน์แล้ว ผลปรากฏว่า พระศพของพระองค์มีร่องรอยการต่อสู้ โดยจุดที่เด่นชัดคือ รูโหว่ในพระศพของพระองค์ แทนที่จะมีเพียงรูเดียวที่พระองค์ทรงใช้ปืนยิงพระองค์เอง แต่กลับมีถึง 6 รูด้วยกัน ซึ่งผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์ออกมาว่าไม่ได้เป็นฝีมือของพระองค์เอง

ส่วนรายงานข้างต้นที่กล่าวว่า พระองค์ได้ทรงใช้ปืนส่วนพระองค์ยิงบารอนเนสเว็ทเซร่าเสียชีวิต ก่อนที่จะทรงยิงพระองค์เอง กลายเป็นทฤษฎีที่ไม่มีแหล่งอ้างอิง กล่าวคือไม่มีข้อเท็จจริงที่สามารถสนับสนุนรายงานนี้ได้ เหตุผลต่าง ๆ ที่สามารถเชื่อมโยงไปถึงการสิ้นพระชนม์นี้ได้ มีอยู่ 2 ทฤษฎีหลัก ๆ ด้วยกัน ที่อาจสามารถไขความกระจ่างได้ว่า ที่แท้จริงแล้ว พระองค์ทรงสิ้นพระชนม์อย่างไร ดังนี้

  • ทฤษฎีที่ 1 กล่าวว่า ทั้ง 2 ได้ถูกฆาตกรรม โดยขัดแย้งจากที่รายงานกล่าวว่า พระองค์ได้ทรงยิงนางสนมก่อนที่จะยิงพระองค์เองโดยสิ้นเชิง ซึ่งผู้นำเสนอทฤษฎีนี้ได้กล่าวถึงรายงานนั้นว่า พระองค์จะทรงยิงตัวพระองค์เองถึง 6 นัดได้อย่างไร และนอกจากนี้ ผู้เสนอได้กล่าวว่า ปืนที่พระองค์ทรงยิง ไม่ใช่ปืนส่วนพระองค์อีกด้วย
  • ส่วนอีกทฤษฎีหนึ่งได้มีเค้าโครงคล้ายคลึงกับทฤษฎีแรก แต่จะแตกต่างกันเล็กน้อย คือ อาจจะมีบุคคลที่ 3 ซึ่งไม่อาจทราบได้ว่าเป็นผู้ใด ได้เข้ามาลอบสังหารบารอนเนสเว็ทเซร่าก่อน แล้วจึงมาลอบปลงพระชนม์มกุฎราชกุมาร โดยผู้นำเสนอทฤษฎีนี้ได้คล้ายคลึงกับทฤษฎีที่ทรงได้รับการยืนยันจากสมเด็จพระจักรพรรดินีซีต้า ซึ่งขณะนั้นทรงเป็นมกุฎราชกุมารีตั้งแต่ปีพ.ศ. 2457 ถึงพ.ศ. 2459 โดยทรงได้รับความไว้วางใจจากสมเด็จพระจักรพรรดิฟรานซ์ โจเซฟ โดยหลังจากทฤษฎีของพระองค์ถูกเปิดเผย ศาลสูงออสเตรีย-ฮังการีจึงได้นัดประชุมด่วน เพื่อทบทวนกรณีการสิ้นพระชนม์ของอาร์ชดยุกรูดอล์ฟ

มันอาจจะยากเกินไปที่สมเด็จพระจักรพรรดิจะทรงรับได้ ที่พระราชโอรสเพียงพระองค์เดียวของพระองค์ ซึ่งเป็นถึงองค์รัชทายาทจะสามารถทำการฆาตกรรมหญิงสาว และจากนั้นก็ทรงปลิดพระชนม์ชีพตัวเอง ถ้ามีแหล่งสนับสนุนทฤษฎีที่กล่าวถึงบุคคลที่ 3 เข้ามาลอบสังหาร ประเด็นนี้ก็อาจจะผ่านการสรุปในที่ประชุมได้ ดังนั้น จวบจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า พระองค์และนางสนมถูกลอบปลงพระชนม์ หรือปลิดชีพตนเอง

ผลกระทบหลังจากสิ้นพระชนม์

แก้

หลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ ทำให้ชีวิตครอบครัวของสมเด็จพระจักรพรรดิ และสมเด็จพระจักรพรรดินี ผู้ทรงเป็นพระราชบิดา และพระราชมารดาได้พังทลายลง โดยสมเด็จพระจักรพรรดินีได้ทรงประพาสต่างประเทศทุกเวลา โดยแทบจะไม่เสด็จกลับกรุงเวียนนาเลย ส่วนสมเด็จพระจักรพรรดิก็ยังทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอย่างเดิม โดยไม่ทรงสนพระทัยพระบรมวงศานุวงศ์ใดเลย แม้กระทั่งพระราชธิดาของพระองค์เอง แต่ถึงอย่างไรก็ตาม พระองค์ก็ยังทรงรักพระมเหสีของพระองค์เสมอ

ส่วนลำดับการสืบสันตติวงศ์แห่งราชบัลลังก์อิมพีเรียลออสเตรีย-ฮังการีนั้น ได้เลื่อนจากรัชทายาทลำดับที่ 2 ขึ้นมาเป็นองค์รัชทายาทแทน ซึ่งก็คือ อาร์ชดยุกคาร์ล ลุดวิก พระราชอนุชาของพระองค์ แต่อาร์ชดยุกคาร์ล ลุดวิกทรงปฏิเสธที่จะรับตำแหน่งองค์รัชทายาท โดยทรงมอบตำแหน่งให้กับพระโอรสองค์โตของพระองค์ อาร์ชดยุกฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์ ดังนั้น อาร์ชดยุกฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์จึงทรงได้รับการสถาปนาเป็นองค์รัชทายาทองค์ใหม่ โดยทรงเป็นองค์รัชทายาททางพฤตินัย (Heir Presumptive) ทรงดำรงตำแหน่งจนถึงการลอบปลงพระชนม์ที่เมืองซาราเยโว บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา อันเป็นสาเหตุนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 1

หลังจากที่อาร์ชดยุกฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์ทรงสิ้นพระชนม์แล้ว ตำแหน่งรัชทายาททางพฤตินัยจึงตกเป็นของพระราชปนัดดาในสมเด็จพระจักรพรรดิ อาร์ชดยุกคาร์ล ซึ่งยังได้รับการสถาปนาเป็นอาร์ชดยุกแห่งออสเตรีย-เอสต์ และดยุกแห่งโมเดน่า ต่อจากอาร์ชดยุกฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์อีกด้วย เมื่อพระองค์ทรงขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระจักรพรรดิแห่งออสเตรีย พระองค์ทรงได้รับพระสมญานามว่า จักรพรรดิผู้รักสันติ (The Peace Kaiser) แต่พระองค์ก็ไม่สามารถปกครองจักรวรรดิได้ดี เพราะเนื่องจากแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 จึงถูกยุบจักรวรรดิ และถูกล้มล้างพระราชอำนาจของพระราชวงศ์ไปในที่สุด

ราชตระกูล

แก้
พระราชตระกูลในสามรุ่นของอาร์ชดยุกรูดอล์ฟ มกุฎราชกุมารแห่งออสเตรีย-ฮังการี
อาร์ชดยุกรูดอล์ฟแห่งออสเตรีย พระชนก:
สมเด็จพระจักรพรรดิฟรานซ์ โจเซฟที่ 1 แห่งออสเตรีย
พระอัยกาฝ่ายพระชนก:
อาร์ชดยุกฟรานซ์ คาร์ลแห่งออสเตรีย
พระปัยกาฝ่ายพระชนก:
สมเด็จพระจักรพรรดิฟรานซ์ที่ 2 แห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์
พระปัยยิกาฝ่ายพระชนก:
เจ้าหญิงมาเรีย เทเรซ่าแห่งทู ซิชิลีส์
พระอัยยิกาฝ่ายพระชนก:
เจ้าหญิงโซฟีแห่งบาวาเรีย
พระปัยกาฝ่ายพระชนก:
สมเด็จพระราชาธิบดีแม็กซีมีเลียนที่ 1 โจเซฟแห่งบาวาเรีย
พระปัยยิกาฝ่ายพระชนก:
เจ้าหญิงแคโรไลน์แห่งบาเดน
พระชนนี:
ดัชเชสเอลิซาเบธแห่งบาวาเรีย
พระอัยกาฝ่ายพระชนนี:
ดยุกแม็กซีมีเลียน โจเซฟแห่งบาวาเรีย
พระปัยกาฝ่ายพระชนนี:
ดยุกพิอุส ออกัสตัสแห่งบาวาเรีย
พระปัยยิกาฝ่ายพระชนนี:
ดัชเชสอเมลี่ หลุยส์แห่งอาเรนเบิร์ก
พระอัยยิกาฝ่ายพระชนนี:
เจ้าหญิงลูโดวิก้าแห่งบาวาเรีย
พระปัยกาฝ่ายพระชนนี:
สมเด็จพระราชาธิบดีแม็กซีมีเลียนที่ 1 โจเซฟแห่งบาวาเรีย
พระปัยยิกาฝ่ายพระชนนี:
เจ้าหญิงแคโรไลน์แห่งบาเดน

อ้างอิง

แก้
  • Rudolf, Crown Prince of Austria. Majestät, ich warne Sie... Geheime und private Schriften. Edited by Brigitte Hamann. Wien: Amalthea, 1979
  • Barkeley, Richard. The Road to Mayerling: Life and Death of Crown Prince Rudolph of Austria. London: Macmillan, 1958.
  • Franzel, Emil. Crown Prince Rudolph and the Mayerling Tragedy: Fact and Fiction. Vienna : V. Herold, 1974.
  • Hamann, Brigitte. Kronprinz Rudolf: Ein Leben. Wien: Amalthea, 2005,
  • Listowel, Judith Márffy-Mantuano Hare, Countess of. A Habsburg Tragedy: Crown Prince Rudolf. London: Ascent Books, 1978.
  • Lonyay, Károly. Rudolph: The Tragedy of Mayerling. New York: Scribner, 1949.
  • Salvendy, John T. Royal Rebel: A Psychological Portrait of Crown Prince Rudolf of Austria-Hungary. Lanham, MD: University Press of America, 1988.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้
ก่อนหน้า อาร์ชดยุกรูดอล์ฟ มกุฎราชกุมารแห่งออสเตรีย-ฮังการี ถัดไป
อาร์ชดยุกฟรานซ์ โจเซฟ   องค์รัชทายาทแห่งออสเตรีย-ฮังการี
(ค.ศ. 1873 - 1889)
  อาร์ชดยุกฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์