หยดเย็น[] หรือที่ในทางอุตุนิยมวิทยาเรียกว่า หย่อมความกดอากาศต่ำที่ถูกตัดขาดในระดับสูง[] คือความปั่นป่วนของบรรยากาศนอกเขตร้อนที่ไม่เกี่ยวข้องกับแนวปะทะอากาศ ปรากฏการณ์นี้อาจก่อให้เกิดฝนตกหนักมากเป็นเวลาหลายชั่วโมงหรือหลายวันร่วมกับพายุฟ้าคะนองและลูกเห็บ แม้จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ขนาดเล็กมาก แต่ก็พยากรณ์ทิศทางการเคลื่อนที่ได้ยาก[1] ศัพท์ หยดเย็น ในประเทศสเปนเป็นการยืมคำแบบดัดแปลงมาจากศัพท์ หยดอากาศเย็น (Kaltlufttropfen) ซึ่งนักอุตุนิยมวิทยาชาวเยอรมันบัญญัติขึ้น ศัพท์นี้ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในประเทศสเปนช่วงคริสต์ศตวรรษ 1980 โดยในช่วงแรกใช้เรียกเหตุการณ์ฝนตกหนักใด ๆ ก็ตามที่ส่งผลกระทบรุนแรง[2]

เมืองบาเลนเซียในช่วงน้ำท่วมใหญ่จากปรากฏการณ์หยดเย็นเมื่อ พ.ศ. 2500 ภาพทั้งสองแสดงให้เห็นสภาพพื้นที่ก่อนและหลังจากระดับน้ำลดลง

ที่มาของปรากฏการณ์หยดเย็นมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกระแสลมกรดในเขตละติจูดสูง หากเส้นทางของกระแสลมกรดมีลักษณะคดเคี้ยวมากผิดปกติ อาจทำให้ร่องความกดอากาศถูกบีบจนเป็นคอคอดและหลุดออกเป็นอิสระ มวลอากาศเย็นจัดที่ถูกตัดขาดนั้นจะแผ่ลงมาปะทะกับมวลอากาศร้อนและชื้นในเขตละติจูดต่ำกว่า หยดเย็นซึ่งยังคงหมุนวนในทิศทางทวนเข็มนาฬิกาจะพัฒนาเป็นระบบความกดอากาศต่ำในระดับสูง[1] นำไปสู่การขาดเสถียรภาพในบรรยากาศและการพาความร้อนในที่สุด ยิ่งอุณหภูมิของผิวพื้นด้านล่าง (ไม่ว่าจะเป็นผืนดินหรือผืนทะเล) สูงขึ้นเท่าไร ผลกระทบของหยดเย็นก็จะยิ่งรุนแรงขึ้นเท่านั้น เนื่องจากความไม่เสถียรจะผลักดันให้ไอน้ำยกตัวขึ้นอย่างกะทันหัน ก่อนจะควบแน่นและก่อตัวเป็นเมฆอย่างรวดเร็ว แม้จะไม่แผ่กว้างนักแต่ก็อาจสูงถึง 10 กิโลเมตรหรือมากกว่านั้น

แม้ว่าปรากฏการณ์หยดเย็นจะพบได้ทั่วไปในเขตละติจูดกลาง[3] แต่ก็มีความสำคัญเป็นพิเศษในบริเวณเมดิเตอร์เรเนียนซึ่งมีอากาศอบอุ่นและมีความชื้นสูงจากทะเล และเนื่องจากมักเกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงเวลาสั้น ๆ จึงกลายเป็นลักษณะเฉพาะอย่างหนึ่งของรูปแบบการตกของหยาดน้ำฟ้าในเขตภูมิอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียน[4][5] ความปั่นป่วนทางบรรยากาศเช่นนี้พบได้บ่อยในแถบชายฝั่งเมดิเตอร์เรเนียนของประเทศสเปนและทั่วประเทศฝรั่งเศสในช่วงเปลี่ยนฤดู โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูใบไม้ร่วงระหว่างเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม[6]

หมายเหตุ

แก้
  1. กาตาลา/บาเลนเซีย: gota freda; บาสก์: tanta hotz; ฝรั่งเศส: goutte froide; สเปน: gota fría
  2. กาตาลา/บาเลนเซีย: depressió aïllada a nivells alts, DANA; สเปน: depresión aislada en niveles altos, DANA

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 "Gota freda o DANA? Què és?". betevé (ภาษาคาตาลัน). 30 October 2024. สืบค้นเมื่อ 4 November 2024.
  2. National Geographic Spanish edition article about DANA)
  3. "gota freda". enciclopèdia.cat (ภาษาคาตาลัน). Grup Enciclopèdia. สืบค้นเมื่อ 4 November 2024.
  4. "Los episodios de lluvias intensas otoñales en Francia: el cévenol". Tiempo.com (ภาษาสเปนแบบยุโรป). 14 October 2016. สืบค้นเมื่อ 13 September 2019.
  5. Cold drop meteorologiaenred.com
  6. Martín León, Francisco (2003). "LAS GOTAS FRÍAS / DANAS IDEAS Y CONCEPTOS BÁSICOS" (PDF). Servicio de Técnicas de Análisis y Predicción, INM (ภาษาสเปนแบบยุโรป). สืบค้นเมื่อ 13 September 2019.