สุรินทร์ เทพกาญจนา
สุรินทร์ เทพกาญจนา (5 ตุลาคม พ.ศ. 2465 – 5 ธันวาคม พ.ศ. 2541) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในรัฐบาลหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรสาคร 2 สมัย[1] และอดีตนายกเทศมนตรีเมืองสมุทรสาคร
สุรินทร์ เทพกาญจนา | |
---|---|
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม | |
ดำรงตำแหน่ง 17 มีนาคม พ.ศ. 2518 – 20 เมษายน พ.ศ. 2519 | |
นายกรัฐมนตรี | หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช |
ก่อนหน้า | นิธิพัฒน์ ชาลีจันทร์ |
ถัดไป | พลตรี ชาติชาย ชุณหะวัณ |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 5 ตุลาคม พ.ศ. 2465 อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ประเทศสยาม |
เสียชีวิต | 5 ธันวาคม พ.ศ. 2541 (76 ปี) |
พรรคการเมือง | สหประชาไทย (2512–2514) ธรรมสังคม (2518–2519) |
คู่สมรส | วรารัตน์ เทพกาญจนา |
บุตร | เกศินี เดชอมรธัญ พงศ์เทพ เทพกาญจนา |
ประวัติ
แก้สุรินทร์ เกิดเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2465 ที่ ตำบลท่าฉลอม อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมจากโรงเรียนสมุทรสาครวิทยาลัย ปริญญาตรีทางกฎหมาย ธรรมศาสตรบัณฑิต (ธ.บ.) เมื่อปี พ.ศ. 2490 จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง เขามีบุตรเป็นนักการเมืองคือ พงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีหลายกระทรวง
งานการเมือง
แก้สุรินทร์ เทพกาญจนา เป็นนักการเมืองชาวสมุทรสาคร ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรสาคร ครั้งแรกในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2512 สังกัดพรรคสหประชาไทย ซึ่งมีจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นหัวหน้าพรรค และได้รับเลือกตั้งอีกสมัยในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2518 สังกัดพรรคธรรมสังคม[2] นำโดยนายทวิช กลิ่นประทุม และเขาได้รับตำแหน่งเป็นรองหัวหน้าพรรคธรรมสังคม[3]
หลังการเลือกตั้ง พ.ศ. 2518 หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคม ซึ่งมี ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎรเพียง 18 เสียง สามารถรวบรวมเสียงสนับสนุนจากพรรคต่าง ๆ จัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ และนายสุรินทร์ เทพกาญจนา ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม[4] เป็น 1 ใน 9 รัฐมนตรีของพรรคธรรมสังคม ในขณะดำรงตำแหน่งถือได้ว่าเป็นผู้ที่มีบทบาทในการเร่งรัดพัฒนาแก๊สธรรมชาติในอ่าวไทย[5]
ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองสมุทรสาคร และเป็นนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย[6] รวมทั้งเป็นผู้บุกเบิกเมืองมหาชัย
ถึงแก่อนิจกรรม
แก้นายสุรินทร์ ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2541[7] อายุ 76 ปี และได้มีพิธีพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร วันจันทร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2544
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้- พ.ศ. 2518 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)[8]
อ้างอิง
แก้- ↑ ทำเนียบ สส./สว.จากเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดสมุทรสาคร
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-09-21. สืบค้นเมื่อ 2019-09-27.
- ↑ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจัดตั้งพรรคการเมือง เก็บถาวร 2011-11-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนราชกิจจานุเบกษา เล่ม 92 ตอนที่ 193 วันที่ 18 กันยายน 2517
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรี (จำนวน ๒๖ ราย)
- ↑ หนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายสุรินทร์ เทพกาญจนา ป.ช. (2544)
- ↑ "ทำเนียบนายก ส.ท.ท." คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-10-02. สืบค้นเมื่อ 2019-09-27.
- ↑ ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง ตอบรับการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรคกิจสังคม
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-05-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๙๒ ตอนที่ ๒๖๓ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๔๘, ๒๖ ธันวาคม ๒๕๑๘