สุภาว์ เทวกุล
สุภาว์ เทวกุลฯ เป็นนามปากกาของ สุภาว์ เทวกุล ณ อยุธยา (7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2471 - 5 กันยายน พ.ศ. 2536) นักเขียนนวนิยาย และเรื่องสั้น เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และดำรงตำแหน่งเลขาธิการสมาคมติดต่อกันมาหลายปี และได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย คนที่ 6 ต่อจากครูแก้ว อัจฉริยะกุล ระหว่างปี พ.ศ. 2521 - 2525 จำนวน 2 สมัย
สุภาว์ เทวกุล ณ อยุธยา | |
---|---|
เกิด | 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2471 จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม |
เสียชีวิต | 5 กันยายน พ.ศ. 2536 (65 ปี) กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย |
นามปากกา | สุภาว์ เทวกุลฯ รจนา, ศิระ ส., ส. สุภารัตน์ |
อาชีพ | นักเขียน |
แนว | เรื่องสั้น นวนิยาย บทละครโทรทัศน์ |
คู่สมรส | หม่อมราชวงศ์ทัดเทพ เทวกุล |
บุตร | 5 คน |
ประวัติ
แก้สุภาว์ เทวกุล ณ อยุธยา เดิมชื่อ สุภาว์ ภูมิรัตน เกิดที่กรุงเทพ เป็นบุตรคนสุดท้องของหลวงประกาศโกศัยวิทย์ (เสริม ภูมิรัตน) กับนางพิศ ภูมิรัตน ศึกษาชั้นต้นจากโรงเรียนสตรีจุลนาค โรงเรียนราชินีบน และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา สอบเข้าแผนกสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ แต่ไม่ได้เรียน
สุภาว์เป็นครูสอนหนังสือที่โรงเรียนราชินีอยู่ระยะหนึ่ง แล้วสมรสกับหม่อมราชวงศ์ทัดเทพ เทวกุล มีบุตรธิดา 5 คน คือ
- หม่อมหลวงสุภรัตน์ เทวกุล
- หม่อมหลวงภาว์รัตน์ จารุจินดา (สมรสกับพันโทสนิทพงศ์ จารุจินดา)
- หม่อมหลวงกุลรัตน์ อึ้งอร่าม (สมรสกับนายอภิสิทธิ์ อึ้งอร่าม)
- หม่อมหลวงเทพรัตน์ เทวกุล
- หม่อมหลวงเบ็ญจารัตน์ โควินท์ทวีวัฒน์ [1]
โดยสามีเสียชีวิตตั้งแต่บุตรสาวคนโตอายุเพียง 10 ปี และบุตรสาวคนสุดท้องอายุเพียงสิบเดือน สุภาว์ต้องเลี้ยงดูลูกๆ ทั้งห้าคนตามลำพัง โดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานเงินเพิ่มเป็นค่าเลี้ยงดูบุตรธิดาทุกเดือน
สุภาว์ เริ่มงานเขียนเรื่องสั้นครั้งแรก ตีพิมพ์ในนิตยสาร "โบว์แดง" รายสัปดาห์ และนิตยสาร "ศรีสัปดาห์" หลังจากสามีเสียชีวิต ได้เริ่มเขียนนวนิยายเป็นอาชีพ เริ่มตั้งแต่เรื่อง สะใภ้จ้าว และมีผลงานเรื่องสั้นกว่า 300 เรื่อง [2]
ในระยะหลัง สุภาว์หันมาเขียนบทละครโทรทัศน์ อีกทั้งยังเป็นอาจารย์พิเศษ ผู้บรรยายเรื่องการเขียนบท ให้กับคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ผลงานที่เป็นที่รู้จัก เช่น บทละครเรื่อง "ประตูสีเทา" และ "ปริศนา"
นอกเหนือจากงานที่สมาคมนักเขียนแล้ว สุภาว์ เทวกุล ยังร่วมทำงานในคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ [2]
สุภาว์ เทวกุล ณ อยุธยา เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจล้มเหลว เมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2536 อายุ 65 ปี ขณะที่นวนิยายเรื่องสุดท้าย ชื่อ "วันวารที่ผ่านไป" เพิ่งเผยแพร่ได้เพียงตอนเดียว ทางสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยได้จัดตั้งกองทุนชื่อ "กองทุนรางวัล สุภาว์ เทวกุล" เพื่อประกวดรางวัลวรรณกรรมดีเด่นประเภท นวนิยาย เรื่องสั้น และบทละคร เป็นประจำทุกปี โดยพิธีมอบรางวัลกระทำในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของสุภาว์ เป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2538
รายชื่อผลงาน
แก้- ไม้แปลกป่า
- แค่เอื้อม
- ละอองเทศ
- ไฟ
- เยี่ยมวิมาน
- มนุษย์
- ไฟใต้น้ำ
- บางส่วนของหัวใจ
- รักต้องห้าม
- หัวใจไม่มีประตู
- ถนนชีวิต
- สะใภ้จ้าว (สร้างเป็นละครโทรทัศน์ 2 ครั้ง 2545 และ 2558 ช่อง3)
อ้างอิง
แก้- ↑ สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย. เสี้ยวศตวรรษ สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์สามัคคีสาร (ดอกหญ้า), พ.ศ. 2539. 263 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-89658-0-5
- ↑ 2.0 2.1 ประทีป เหมือนนิล. 100 นักประพันธ์ไทย. กรุงเทพ : สุวีริยาสาส์น, 2542. หน้า 479. ISBN 974-8267-78-4