พระเจ้าลูทวิชที่ 2 แห่งบาวาเรีย

ลูทวิช ฟรีดริช วิลเฮ็ล์มที่ 2 (เยอรมัน: Ludwig Friedrich Wilhelm II) เป็นกษัตริย์แห่งบาวาเรียระหว่าง ค.ศ. 1864 จนกระทั่งเสด็จสวรรคตอย่างลึกลับในค.ศ. 1886 ซึ่งก่อนสวรรคตเพียงสามวัน ทรงได้รับแจ้งจากรัฐบาลบาวาเรียว่าพระองค์กำลังจะถูกถอดจากราชบัลลังก์

พระเจ้าลูทวิชที่ 2
พระมหากษัตริย์แห่งบาวาเรีย
ครองราชย์10 มีนาคม 1864 – 13 มิถุนายน 1886
ก่อนหน้าพระเจ้ามัคซีมีลีอานที่ 2
ถัดไปพระเจ้าอ็อทโท
พระราชสมภพ25 สิงหาคม ค.ศ. 1845(1845-08-25)
พระราชวังนึมเฟินบวร์ค ราชอาณาจักรบาวาเรียในสมาพันธรัฐเยอรมัน
สวรรคต13 มิถุนายน ค.ศ. 1886(1886-06-13) (40 ปี)
ทะเลสาบชตาร์นแบร์ค ราชอาณาจักรบาวาเรียในจักรวรรดิเยอรมัน
พระนามเต็ม
ลูทวิช อ็อทโท ฟรีดริช วิลเฮ็ล์ม
ราชวงศ์วิทเทลส์บัค
พระบิดาพระเจ้ามัคซีมีลีอานที่ 2
พระมารดามารีแห่งปรัสเซีย
ศาสนาโรมันคาทอลิก
ลายพระอภิไธย

พระเจ้าลูทวิชที่ 2 บางครั้งรู้จักกันในพระนามว่า กษัตริย์หงส์ (Swan King) ในภาษาอังกฤษ และ กษัตริย์เทพนิยาย (der Märchenkönig) ในภาษาเยอรมัน ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ. 1845 ที่พระราชวังนึมเฟินบวร์ค ชานเมืองมิวนิก ราชอาณาจักรบาวาเรีย เป็นพระราชโอรสองค์แรกของพระเจ้ามัคซีมีลีอานที่ 2 แห่งบาวาเรีย และเจ้าหญิงมารีแห่งปรัสเซีย

พระเจ้าลูทวิชทรงเป็นบุคคลที่มีลักษณะนิสัยที่ลึกลับเป็นปริศนาและผู้ที่สวรรคตในสถานการณ์ที่ค่อนข้างมีเงื่อนงำ สุขภาพจิตของพระองค์ในบั้นปลายอาจจะไม่ปกติแต่ก็ไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่เป็นที่ยืนยันได้แน่นอน[1] แต่สิ่งที่ทรงทิ้งไว้เป็นมรดกแก่ชนรุ่นหลังคืองานทางสถาปัตยกรรมที่ทรงก่อสร้างที่รวมทั้งวังและปราสาทใหญ่โตที่ทั้งหรูหราโอ่อ่าและเต็มไปด้วยจินตนาการราวเทพนิยายหลายแห่ง รวมทั้งปราสาทนอยชวานชไตน์ซึ่งเป็นปราสาทที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก และทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ริชชาร์ท วากเนอร์ คีตกวีและนักประพันธ์โอเปร่าคนสำคัญของเยอรมัน

พระราชประวัติ

แก้

พระชนม์ชีพช่วงต้น

แก้

ในยุคที่กษัตริย์มีความรับผิดชอบต่อการปกครองโดยทั่วยุโรป พระองค์มักจะทรงทำพระองค์แบบผู้ไม่โตเต็มที่มาตลอด พระเจ้ามัคซีมีลีอานพระพระชนกมีพระประสงค์ที่จะให้การศึกษาเกี่ยวกับหน้าที่และภาระของการเป็นกษัตริย์กับมงกุฏราชกุมารลูทวิชและเจ้าชายอ็อทโทพระอนุชาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์[2] ลูทวิชถูกตามใจกันมาตั้งแต่เด็กแต่มาถูกควบคุมอย่างเคร่งครัดโดยครูที่บังคับทั้งทางวินัยและการศึกษา กล่าวกันว่าการสาเหตุที่มีพระนิสัยที่ออกจะแปลกอาจจะเป็นผลมาจากความเครียดและความกดดันในการที่ทรงเติบโตขึ้นมาฐานะที่เป็นเจ้านาย ลูทวิชไม่ทรงมีความสัมพันธ์ที่สนิทสนมกับพระบิดาและมารดาเท่าใดนัก ครั้งหนึ่งเมื่อที่ปรึกษาประจำพระองค์ของพระเจ้ามัคซีมีลีอานถวายคำแนะนำระหว่างที่ทรงเดินทุกวันว่าบางครั้งน่าจะชวนลูทวิชผู้ที่จะมาเป็นกษัตริย์สืบต่อจากพระองค์ออกเดินเป็นเพื่อนด้วย พระเจ้ามัคซีมีลีอานทรงตอบว่า “แล้วจะให้ฉันพูดอะไรกับลูทวิชเล่า? ในเมื่อเจ้าลูกชายของฉันไม่เคยสนใจในสิ่งใดที่คนอื่นพูด”[3] ลูทวิชกล่าวเรียกพระมารดาว่า “พระชายาของกษัตริย์องค์ก่อน” (my predecessor's consort) [4] ผู้ที่ทรงมีความสนิทสนมด้วยมากกว่าคือพระเจ้าลูทวิชที่ 1 แห่งบาวาเรียพระอัยยิกา พระเจ้าลูทวิชที่ 1 เองก็ทรงผู้มีชื่อเสียงในทางที่ไม่ดี และมีพระนิสัยที่ออกไปทางลึกลับเป็นปริศนาเช่นกัน ในที่สุดพระเจ้าลูทวิชที่ 1 ก็ทรงถูกบังคับให้สละราชสมบัติเพราะเรื่องฉาวโฉ่

ชีวิตของลูทวิชเมื่อยังทรงพระเยาว์เป็นชีวิตที่มีความสุขบ้างเป็นครั้งคราว ในวัยเด็กจะทรงพำนักที่ปราสาทโฮเอินชวังเกาเป็นส่วนใหญ่ โฮเอินชวังเกาเป็นปราสาทแบบเทพนิยายที่พระบิดาเป็นผู้สร้างไม่ใกลจากสวอนเลคใกล้เมืองฟุสเซน การตกแต่งเป็นแบบสถาปัตยกรรมฟื้นฟูกอธิค รวมทั้งจิตรกรรมฝาผนังที่เป็นตำนานของวีรบุรุษเยอรมัน บางครั้งก็จะเสด็จไปทะเลสาบชตาร์นแบร์คกับครอบครัว เมื่อยังเป็นวัยรุ่นทรงเป็นเพื่อนกับเจ้าชายพอล มัคซีมีลีอาน ลาโมราล จากครอบครัวเทิร์นและแท็กซิสผู้มีฐานะดี ชายหนุ่มทั้สองคนมักจะทำอะไรต่างๆด้วยกันเสมอรวมทั้งขี่ม้า, อ่านโคลงกลอน และจัดเล่นโอเปร่าโรแมนติกที่เขียนโดยริชชาร์ท วากเนอร์ แต่มาห่างเหินกันไปเมื่อเจ้าชายพอลทรงหมั้น นอกจากพอลแล้วลูทวิชก็ยังสนิทกับดัชเชสเอลิซาเบธแห่งบาวาเรียผู้เป็นลูกพี่ลูกน้องจนตลอดพระชนมายุ ดัชเชสเอลิซาเบธต่อมาเป็นพระราชินีแห่งออสเตรียเมื่อทรงเสกสมรสกับจักรพรรดิฟรันซ์ โยเซฟที่ 1 แห่งออสเตรีย ทั้งสองพระองค์โปรดธรรมชาติและโคลงกลอนและทรงตั้งพระนามเล่นให้แก่กันว่า “เหยี่ยว” สำหรับลูทวิช และ “นกนางนวล” สำหรับเอลิซาเบธ

กษัตริย์แห่งบาวาเรีย

แก้
 
พระเจ้าลูทวิชที่ 2 แห่งบาวาเรีย

พระเจ้าลูทวิชขึ้นครองราชบัลลังก์บาวาเรียเมื่อพระชันษาได้เพียง 18 ปึหลังจากที่พระบิดาสวรรคต เมื่อทรงขึ้นครองราชย์ลูทวิชยังไม่พร้อมที่จะเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว การสวรรคตของพระเจ้ามัคซีมีลีอานที่ 2 เป็นไปอย่างกะทันหันหลังจากประชวรได้เพียงสามวัน[5] เพราะความที่ยังหนุ่มและมีพระโฉมงามทำให้ทรงเป็นที่นิยมทั้งในบาวาเรียและที่อื่นๆ ในบรรดาสิ่งแรกที่ทรงกระทำคือทรงเรียกตัววากเนอร์มายังราชสำนักมิวนิก [6] ลูทวิชทรงชื่นชมผลงานของวากเนอร์มาตั้งแต่ทรงได้ชมโอเปร่า โลเอินกรีน ของวากเนอร์ วากเนอร์ผู้ซึ่งขณะนั้นอายุ 51 ปีก็ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าลูทวิชเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ค.ศ. 1864 เหตุที่โอเปร่าของวากเนอร์เป็นที่ต้องพระทัยลูทวิชก็เป็นเพราะเนื้อหาของโอเปร่าของวากเนอร์เต็มไปด้วยอุดมคติและจินตนาการแบบเทพนิยาย วากเนอร์มีชื่อเสียงไม่ค่อยดีเรื่องหนี้สินและมักจะมีเจ้าหนี้ไล่ตามอยู่เรื่อยๆ แต่วากเนอร์ก็มาได้พระเจ้าลูทวิชช่วยถ่ายถอนหนี้ให้ วากเนอร์กล่าวถึงลูทวิชว่า:

“อนิจจา ท่านช่างรูปงามปราดเปรื่อง มีชีวิตชีวาและความน่ารัก จนข้าพเจ้านึกกลัวว่าว่าชีวิตของท่านอาจจะละลายหายไปในโลกหยาบช้านี้ เหมือนความฝันชั่วแล่นถึงทวยเทพ”[7]

เป็นที่เชื่อกันว่าถ้าไม่ได้พระเจ้าลูทวิช วากเนอร์คงจะไม่ได้เขียนโอเปร่าชิ้นต่อมา ลูทวิชทรงเรียกวากเนอร์ว่า “เพื่อน” แต่ความที่วากเนอร์มีนิสัยอันโอ่อ่าฟุ่มเฟือยของ จึงทำให้วากเนอร์ไม่เป็นที่ต้องใจของชาวบาวาเรียผู้ยังออกจะหัวโบราณ ในที่สุดลูทวิชก็ต้องขอให้วากเนอร์ออกจากเมือง

สิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดในระยะแรกที่ขึ้นครองราชย์คือความกดดันในการมีผู้สืบราชบัลลังก์ต่อจากพระองค์ และความสัมพันธ์กับปรัสเซีย ทั้งสองสถานการณ์กลายมาเป็นปัญหาใหญ่ในปี ค.ศ. 1867 เมื่อพระเจ้าลูทวิชทรงหมั้นกับดัชเชสโซฟี ชาร์ล็อทเทอ ในบาวาเรีย ผู้เป็นลูกพี่ลูกน้องของลูทวิชเองและเป็นพระขนิษฐาของดัชเชสเอลิซาเบธ การหมั้นประกาศเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 มกราคม ค.ศ. 1867 แต่ทรงเลื่อนวันแต่งงานไปเรื่อยๆ จนในที่สุดก็ทรงถอนหมั้นในเดือนตุลาคม หลังจากการประกาศการถอนหมั้น โซฟีก็ได้รับพระราชสาส์นจากลูทวิชถึง “เอลซา” กล่าวโทษพระบิดาของโซฟีว่าเป็นผู้ที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์กับโซฟีไม่สามารถดำเนินต่อไปได้และทรงลงพระนามว่า “ไฮน์ริช” (“เอลซา” และ “ไฮน์ริช” เป็นตัวละครจากโอเปร่าของวากเนอร์[8] ลูทวิชมิได้ทรงเสกสมรสจนตลอดพระชนมายุ โซฟีต่อมาทรงเสกสมรสกับเฟอร์ดินานด์ ฟิลลีป มารี, ดยุ้คแห่งอาลองชอง

เมื่อลูทวิชเป็นพันธมิตรออสเตรียในการต่อสู้กับปรัสเซียในสงครามเจ็ดปี ทรงพ่ายแพ้สงคราม สัญญาสงบศึกบังคับให้พระองค์ต้องยอมรับสนธิสัญญาการรักษาความสงบระหว่างปรัสเซียกับบาวาเรียในปี ค.ศ. 1867 สนธิสัญญาระบุว่าบาวาเรียต้องเข้าข้างปรัสเซียเพื่อต่อสู้กับฝรั่งเศสในสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย นอกจากนั้นในปี ค.ศ. 1870 มุขมนตรีปรัสเซียอ็อทโท ฟ็อน บิสมาร์ค ก็ยังขอให้ลูทวิชเขียนจดหมายสนับสนุนเรียกร้องให้ประกาศพระเจ้าวิลเฮ็ล์มที่ 1 แห่งปรัสเซีย เป็นไคเซอร์ของจักรวรรดิเยอรมันที่เพิ่งก่อตั้งขึ้น ลูทวิชได้รับเงินเป็นการตอบแทนในการสนับสนุนแต่เป็นการกระทำที่ลูทวิชต้องจำยอม การก่อตั้งจักรวรรดิเยอรมันทำให้บาวาเรียที่เคยเป็นแคว้นอิสระกลายมาเป็นแคว้นชั้นรอง เมื่อตั้งจักรวรรดิเยอรมันขึ้น ความเป็นอิสระแก่ตัวของแคว้นบาวาเรียก็สิ้นสุดลงตามไปด้วย ลูทวิชทรงประท้วงโดยการไม่ทรงเข้าร่วมพิธีการสถาปนาพระเจ้าวิลเฮ็ล์มที่ 1 แห่งปรัสเซียขึ้นเป็นจักรพรรดิเยอรมันที่พระราชวังแวร์ซายส์ในปารีส[9]

ตลอดรัชสมัยลูทวิชทรงมีความสัมพันธ์กับผู้ชายต่อเนื่องกันมาตลอด โดยเฉพาะกับริชชาร์ท ฮอร์นิช อัศวินองค์รักษ์, โยเซฟ ไคนซ์ นักแสดงชาวฮังการี, อัลฟอนส์ เวบเบอร์ ข้าราชสำนัก ในปี ค.ศ. 1869 ทรงเริ่มทรงบันทึกประจำวันที่ทรงบรรยายความรู้สึกส่วนพระองค์ และการทรงพยายามหยุดยั้งหรือควบคุมความต้องการทางเพศ และการที่ยังทรงยึดมั่นในความเป็นโรมันคาทอลิกอย่างแท้จริง บันทึกประจำวันฉบับดั้งเดิมสูญหายไประหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 บันทึกที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นสำเนาที่เขียนก่อนสงคราม สำเนาบันทึกประจำวันและจดหมายส่วนพระองค์เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าลูทวิชต้องทรงต่อสู้กับพระองค์เองในความเป็นผู้รักเพศเดียวกันตลอดพระชนมายุ[10]

เมื่อบาวาเรียสิ้นเอกราช ลูทวิชก็ยิ่งกลายเป็นคนสันโดษมากขึ้นจากการออกท้องพระโรงและกับทำหน้าที่การปกครอง ในปี ค.ศ. 1880 ลูทวิชใช้เวลาเกือบทั้งหมดอย่างโดดเดี่ยวที่บริเวณเทือกเขาบาวาเรียแอลป์ซึ่งเป็นที่ทรงสร้างพระราชวังแบบเทพนิยายหลายแห่งโดยความช่วยเหลือของคริสทีอัน ยังค์ ผู้ออกแบบฉากละคร ทรงสร้างปราสาทนอยชวานชไตน์ทางเหนือซอกเขาโพลลัทไม่ไกลจากปราสาทโฮเอินชวังเกาที่เคยทรงพำนักเมื่อยังทรงพระเยาว์ ลินเดอร์โฮฟตั้งอยู่ที่หุบเขากรสแวงที่สร้างแบบหลุยส์ที่ 14 และเป็นปราสาทเดียวในสามปราสาทที่สร้างเสร็จ ปราสาทที่สามที่ทรงสร้างแต่ไม่เสร็จเช่นกันคือพระราชวังเฮเรินคีมเซ ที่ตั้งอยู่บนเกาะเฮเรินในทะเลสาบเคียมเซ บางส่วนสร้างแบบพระราชวังแวร์ซายส์ในฝรั่งเศส ลูทวิชทรงสร้างปราสาททั้งสามเพื่อเป็นเทิดทูนตำนานนอร์ดิคเรื่องโลเอินกรีน (Lohengrin), ทริสทันและอิโซลด์ (Tristan and Isolde) และ แหวนแห่งนีเบอลุง (Der Ring des Nibelungen)

การถูกถอดจากบัลลังก์และการสวรรคต

แก้
 
พระเจ้าลูทวิชที่ 2 ในปิจฉิมวัย
 
กางเขนอนุสรณ์ ณ ที่พบพระศพของพระเจ้าลูทวิชที่ทะเลสาบชตาร์นแบร์ค

เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ค.ศ. 1886 รัฐบาลบาวาเรียแถลงข่าวอย่างเป็นทางการว่าพระเจ้าลูทวิชถูกปลดจากการเป็นกษัตริย์เพราะไม่ทรงมีความสามารถใช้อำนาจด้วยพระองค์เองได้ ตามคำรายงานของจิตแพทย์ 4 คนที่บรรยายพระอาการว่าเป็นโรคหวาดระแวงทางจิต[11] แต่ในประกาศมิได้กล่าวถึงการตรวจทางพระวรกาย และแต่งตั้งให้เจ้าชายลุทโพลด์แห่งบาวาเรียพระปิตุลาเป็นผู้สำเร็จราชการแทน ศาสตราจารย์แบร์นฮาร์ท ฟ็อน กุทเทิน เป็นหัวหน้ากลุ่มจิตแพทย์ที่ให้คำบรรยายพระอาการทางจิต โดยใช้ “หลักฐาน” จากรายงานต่างๆ ที่รวบรวมมาจากข้าราชบริพารในพระราชสำนักและศัตรูทางการเมืองที่เกี่ยวกับพระจริยาวัตรที่ถือว่าแปลก หลักฐานที่กล่าวเป็นเพียงคำบอกเล่าซึ่งอาจจะได้มาจากการติดสินบนหรือการขู่เข็ญ ฉะนั้นความน่าเชื่อถือของหลักฐานเหล่านี้จึงยังเป็นที่เคลือบแคลง นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่าพระเจ้าลูทวิชไม่มีอะไรผิดปกติแต่ทรงเป็นเหยื่อทางการเมือง[12] บางคนก็เชื่อว่าพระจริยาวัตรที่แปลกของพระเจ้าลูทวิชอาจจะเป็นผลมาจากการที่ทรงใช้คลอโรฟอร์มในการบำบัดการปวดพระทนต์ที่เกิดขึ้นบ่อยๆ แทนที่จะเป็นอาการผิดปกติทางจิตวิทยาอย่างที่จิตแพทย์อ้าง ดัชเชสเอลิซาเบธแห่งบาวาเรียทรงออกความเห็นว่าพระเจ้าลูทวิชไม่ได้ทรงเป็นโรคจิตแต่เพียงแต่มีพระลักษณะนิสัยที่ออกไปทางลึกลับและเป็นปริศนา (eccentric) และทรงชอบอยู่ในโลกของความฝันและจินตนาการ และทรงกล่าวว่าถ้าพวกที่กล่าวหาจะปฏิบัติต่อพระเจ้าลูทวิชนุ่มนวลกว่านั้น เหตุการณ์ก็คงจะไม่ลงเอยด้วยความเศร้าอย่างที่เกิดขึ้น

หลังการประกาศพระเจ้าลูทวิชก็ถูกนำตัวไปจากนอยชวานชไตน์ที่เป็นที่ประทับในขณะนั้นไปยังปราสาทเบิร์กริมทะเลสาบชตาร์นแบร์คอย่างลับๆ หลังจากที่รัฐบาลพยายามที่จะจับกุมพระองค์หลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ ครั้งแรกที่พยายาม ลูทวิชก็สั่งจับผู้ที่จะมาจับพระองค์และทรงขู่ว่าจะลงโทษผู้ที่ทรงถือว่าเป็นกบฏต่างๆ นาๆ แต่ก็มิได้ทรงทำจริง นอกจากจะขังผู้ที่จะมาจับไว้ในปราสาทแต่ต่อมาก็ถูกปล่อย ต่อมาเมื่อพยายามอีกประชาชนจากหมู่บ้านใกล้ๆ นอยชวานชไตน์ก็ยกกำลังกันมาป้องกันพระองค์ และถวายคำเสนอว่าจะพาพระองค์หนีข้ามพรมแดนแต่ทรงปฏิเสธ และอีกครั้งหนึ่งกองทหารจากเค็มพตันถูกเรียกตัวมานอยชวานชไตน์แต่ก็มาถูกกักโดยรัฐบาล

ลูทวิชทรงพยายามเรียกร้องโดยตรงต่อประชาชนโดยเขียนบทความในหนังสือพิมพ์:

“เจ้าชายลุทโพลด์ทรงตั้งใจจะขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการในแผ่นดินของข้าพเจ้าโดยมิใช่เป็นความตั้งใจของข้าพเจ้า และบรรดารัฐมนตรีต่างกล่าวหาในเรื่องสถานะภาพทางจิตใจของข้าพเจ้าอย่างผิดๆ เพื่อที่จะหลอกลวงประชาชนที่รักของข้าพเจ้า และ (รัฐบาล) พร้อมที่จะเป็นกบฏ [...] ข้าพเจ้าขอให้ชาวบาวาเรียผู้จงรักภักดีให้ช่วยเรียกร้องและสนับสนุนผู้ที่สนับสนุนและมีความจงรักภักดีต่อข้าพเจ้า เพื่อให้แผนในการกบฏต่อกษัตริย์และแผ่นดินประสบความล้มเหลว”

คำประกาศนี้ลงพิมพ์โดยหนังสือพิมพ์ที่เมืองบัมแบร์คเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ปี ค.ศ. 1886 แต่ถูกยึดโดยรัฐบาลเพราะความกลัวจากผลของการเผยแพร่ข้อเขียนนั้น โทรเลขถึงนักหนังสือพิมพ์และเพื่อนของลูทวิชเกือบทุกชิ้นถูกรัฐบาลสั่งสกัดกั้นทั้งสิ้น แต่ลูทวิชได้รับสาส์นจากมุขมนตรีปรัสเซียบิสมาร์ค ให้เดินทางไปมิวนิกเพื่อไปปรากฏพระองค์ต่อประชาชน แต่ลูทวิชทรงมีความรู้สึกว่าไม่สามารถจะทำได้ ซึ่งเป็นการตัดสินชะตาของพระองค์เอง รุ่งขึ้นวันที่ 12 มิถุนายนคณะกรรมการจากรัฐบาลกลุ่มที่สองก็มาถึงปราสาท พระเจ้าลูทวิชทรงถูกจับเมื่อเวลาตีสี่และถูกนำตัวขึ้นรถม้า ทรงถามด็อกเตอร์กุดเด็นผู้เป็นผู้นำคณะกรรมการว่าทำไมจึงประกาศว่าพระองค์วิกลจริตได้ในเมื่อด็อกเตอร์กุดเด็นก็ไม่เคยตรวจพระองค์[13] แต่อย่างไรก็ตามพระเจ้าลูทวิชก็ถูกนำตัวจากนอยชวานชไตน์ไปยังปราสาทเบิร์กบนฝั่งทะเลสาบชตาร์นแบร์คทางใต้ของมิวนิกในวันนั้น

การสวรรคตของลูทวิชที่ทะเลสาบชตาร์นแบร์คเป็นเรื่องที่ยังที่น่าสงสัยกันอยู่ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ปี ค.ศ. 1886 เวลาหกโมงเย็นลูทวิชทรงขอออกไปเดินกับด็อกเตอร์กุดเด็น ด็อกเตอร์กุดเด็นตกลงและสั่งไม่ให้ยามเดินตามไปด้วย ทั้งลูทวิชและด็อกเตอร์กุดเด็นไม่ได้กลับมาจากการเดิน คืนเดียวกันร่างของทั้งสองคนก็พบลอยน้ำใกล้ฝั่งทะเลสาบชตาร์นแบร์คเมื่อเวลาห้าทุ่ม หลังจากที่สวรรคตก็มีการสร้างชาเปลเพื่อเป็นอนุสรณ์ตรงที่พบพระศพ ทุกวันที่ 13 มิถุนายนของทุกปีจะมีพิธีรำลึกถึงพระองค์

รัฐบาลประกาศว่าการสวรรคตของลูทวิชเป็นการฆ่าตัวตายโดยการจมน้ำตาย ซึ่งไม่เป็นความจริง[14] [15] สาเหตุการสวรรคตของลูทวิชไม่เคยมีการอธิบายอย่างเป็นจริง เป็นที่ทราบกันว่าพระเจ้าลูทวิชทรงว่ายน้ำแข็งและที่บริเวณที่พบพระศพน้ำก็ลึกเพียงแค่เอว รายงานการชันสูตรพระศพก็บ่งว่าไม่มีน้ำในปอด จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะสวรรคตโดยการจมน้ำตาย[16] สาเหตุการสวรรคตยังคงเป็นปริศนามาจนทุกวันนี้เพราะราชวงศ์วิทเทลส์บัคยังไม่ยอมให้แก้ปัญหา[17] สาเหตุการสวรรคตจึงมีด้วยกันหลายทฤษฏี ทฤษฏีเชื่อกันว่าลูทวิชถูกลอบปลงพระชนม์โดยศัตรูขณะที่ทรงพยายามหนีจากเบิร์ก และอ้างกันว่าทรงถูกยิงตาย[18] แต่เจคอป ลิเดิลนักตกปลาประจำพระองค์กล่าวว่าสามปีหลังจากที่สวรรคต ลิเดิลถูกบังคับให้สาบานว่าจะไม่เอ่ยปากกับใครถึงเรื่องที่เกิดขึ้น ลิเดิลก็ไม่ได้กล่าวอะไรกับใครแต่ทิ้งบันทึกที่มาพบเอาหลังจากที่ลิเดิลเสียชีวิตไปแล้ว ในบันทึกกล่าวว่าตัวลิเดิลเองซุ่มรอลูทวิชอยู่ในเรือที่จะพาพระองค์ไปกลางทะเลสาบเพื่อจะไปสมทบกับผู้ที่จะช่วยหลบหนีคนอื่นๆ แต่เมื่อทรงก้าวมาทางเรือ ลิเดิลก็ได้ยินเสียงปืนจากฝั่ง ลูทวิชล้มลงมาในเรือและสวรรคตทันที[19] [20] อีกทฤษฏีหนึ่งสันนิษฐานว่าลูทวิชสวรรคตตามธรรมชาติอาจจะจากหัวใจวายหรือเส้นโลหิตในสมองแตก ระหว่างที่ทรงพยายามหลบหนีเพราะอากาศที่ทะเลสาบเย็น[21] บางคนก็เชื่อว่าสิ่งที่ง่ายที่สุดในการเฉลยปัญหานี้คือการชันสูตรพระศพใหม่ เพื่อจะได้รู้กันเป็นที่แน่นอน เพราะถ้าทรงถูกยิงจริงก็เป็นสิ่งที่ง่ายที่จะพบแม้ว่าจะเกิดขึ้นนานมาแล้วก็ตาม

ร่างของลูทวิชทรงเครื่องแบบเต็มยศของ Order of the Knights of St. Hubert และตั้งที่ชาเปลหลวงที่วังหลวงที่มิวนิก ในมือขวาทรงถือช่อดอกมะลิที่ดัชเชสเอลิซาเบธทรงเก็บให้[22] หลังจากพิธีที่จัดอย่างสมพระเกียรติร่างของลูทวิชยกเว้นหัวใจก็ถูกนำไปไว้ในคริพต์ที่วัดเซนต์ไมเคิลที่มิวนิก ตามประเพณีของบาวาเรียหัวใจของกษัตริย์จะใส่ในผอบเงินและส่งไปที่ชาเปลกนาเด็น (Gnadenkapelle) ที่ Chapel of the Miraculous Image ที่อาลเทิททิง ผอบของลูทวิชตั้งอยู่ข้างพระบิดาและพระอัยยิกาภายในชาเปล

พระราชกรณียกิจ

แก้
 
ภาพวาดท้องพระโรงของปราสาทนอยชวานชไตน์

พระเจ้าลูทวิชที่ 2 แห่งบาวาเรียทรงเป็นกษัตริย์ที่เป็นที่รักของประชาชนและไม่ทรงเหมือนกษัตริย์องค์ใดในประวัติศาสตร์ของบาวาเรีย สาเหตุที่ทรงเป็นที่ชื่นชมของประสกนิกรมีด้วยกันสามประการ ประการแรกทรงเลี่ยงสงครามซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้บาวาเรียมีความสงบร่มเย็นอยู่ระยะหนึ่ง แต่การเลี่ยงสงครามของลูทวิชจะเป็นเพราะทรงเป็นผู้เชื่อในลัทธิสันตินิยมหรือจะเป็นเพราะความไม่ทรงสนพระทัยกับเรื่องการเมืองเป็นที่ถกเถียงกันได้ แต่ลูทวิชทรงมีความเชื่อเสมอว่าบาวาเรียควรที่จะมีความใกล้ชิดกับออสเตรียมากกว่าปรัสเซีย ประการที่สองลูทวิชทรงสร้างปราสาทต่างๆ ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์โดยไม่ใช้งบประมาณของรัฐ ซึ่งทำให้ประชาชนมีงานทำและทำให้มีเงินเข้ามาหมุนเวียนในบริเวณที่มีการก่อสร้าง ประการที่สามพระลักษณะนิสัยที่ไม่เหมือนกันใครและที่เห็นกันว่าแปลกอาจจะเป็นลักษณะที่เป็นดึงดูกความจงรักภักดีของประชากร ลูทวิชไม่โปรดชุมชนและงานที่เป็นทางการ แต่ไม่ได้ทำพระองค์อยู่เหนือการใกล้ชิดกับไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน โปรดการเดินทางไปตามชนบทในบาวาเรียและเมื่อทรงพบชาวนาและกรรมกรระหว่างทางก็จะทรงสนทนาด้วย นอกจากนั้นก็โปรดการให้ของขวัญมีค่าผู้ที่มีความเอื้ออารีต่อพระองค์ในระหว่างการเสด็จประพาสตามชนบท ลูทวิชไม่ค่อยประทับในราชสำนักและมักจะออกประพาสไปตามชนบท ชาวบาวาเรียเรียกพระองค์ด้วยความเอ็นดูว่า “Unser Kini” (our darling king) ในภาษาเยอรมันแบบบาวาเรีย

ลูทวิชทรงมีความสนใจและความเชื่อในเทคโนโลยีและความก้าวหน้า[ต้องการอ้างอิง] สิ่งหนึ่งที่ทรงมีความสนพระทัยมากคือการรถไฟ ทรงสนับสนุนการขยายเส้นทางรถไฟไปทั่วบาวาเรียจนกรมรถไฟหลวงแห่งบาวาเรียเป็นกรมรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปและในที่สุดก็รวมกับกรมรถไฟเยอรมัน นอกจากนั้นก็ทรงมีรถไฟส่วนพระองค์ที่เรียกกันว่ารถไฟหลวงซึ่งทรงใช้ในการประพาสส่วนพระองค์หรือบางครั้งก็จะทรงเดินทางโดยไม่เปิดเผยว่าพระองค์เป็นใคร และบางครั้งก็จะไปขับรถไฟกับวิศวกร[ต้องการอ้างอิง]

แม้ว่าการสร้างปราสาทของลูทวิชเกือบจะทำให้ราชวงศ์วิทเทลส์บัคหมดตัวแต่ลูทวิชไม่ได้ใช้เงินจากคลังของบาวาเรียมาสร้าง [23] และสิ่งที่น่าคิดก็คือแม้ว่าการสร้างปราสาทของลูทวิชเป็นการทำลายเศรษฐกิจส่วนพระองค์ ซึ่งเป็นการนำมาของการสูญเสียราชบัลลังก์และความหายนะต่อพระองค์เอง แต่ในปัจจุบันปราสาทที่ทรงสร้างทุกปราสาทกลับกลายมาเป็นสิ่งที่รู้จักกันและเป็นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวไม่เฉพาะจากเยอรมนีเองเท่านั้นแต่จากทั่วโลกและแป็นสิ่งหนึ่งทำเงินให้บาวาเรียมากที่สุด

ลูทวิชและศิลปะ

แก้

พระเจ้าลูทวิชทรงเป็นผู้อุปถัมภ์คีตกวีริชชาร์ท วากเนอร์ และทรงสละพระราชทรัพย์เพื่อช่วยในการสร้างโรงอุปรากรบายรอยท์ เป็นที่เชื่อกันว่าถ้าวากเนอร์ไม่ได้รับการอุปถัมภ์จากลูทวิชก็คงไม่ได้เขียน แดร์ริงเด็สนีเบอลุงเงิน จนจบสมบูรณ์ ซึ่งเป็นโอเปร่าชิ้นสำคัญที่สุดของวากเนอร์ หรือพาร์ซิฟาล (Parsifal) ซึ่งเป็นโอเปร่าชิ้นสุดท้าย

ปราสาทของลูทวิช

แก้
 
ปราสาทนอยชวานชไตน์ คริสต์ทศศควรรษ 1890
 
ลินเดอร์โฮฟ
 
พระราชวังเฮเรินคีมเซ

พระเจ้าลูทวิชทรงมีความสนพระทัยในการสร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆ ซึ่งอาจจะทรงได้มาจากพระเจ้าลูทวิชที่ 1 พระอัยยิกาผู้เป็นผู้สร้างมิวนิกใหม่เกือบทั้งหมดจนเป็นที่รู้จักกันในนาม “เอเธนส์บนฝั่งแม่น้ำอิซาร์” พระเจ้ามัคซีมีลีอานที่ 2 พระบิดาทรงดำเนินการสร้างมิวนิกต่อและทรงก่อสร้างปราสาทโฮเอินชวังเกา ซึ่งเป็นปราสาทที่ลูทวิชใช้เวลาส่วนใหญ่เมื่อยังทรงพระเยาว์ ที่อยู่ไม่ใกลจากนอยชวานชไตน์ของลูทวิชที่ 2 ที่มาสร้างทีหลัง ลูทวิชทรงวางแผนที่จะสร้างโรงละครโอเปร่าใหญ่บนฝั่งแม่น้ำอิซาร์ที่มิวนิก แต่แผนถูกยับยั้งโดยรัฐบาลบาวาเรีย[24] ลูทวิชจึงทรงนำผังเดียวกันนั้นไปสร้างโรงละครที่เบย์รึทด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์

หลังจากสวรรคตลูทวิชทรงทิ้งผังการออกแบบสำหรับปราสาทอื่นๆ ที่ยังไม่ได้สร้างไว้มาก รวมทั้งผังสำหรับห้องต่างๆ ในปราสาทที่สร้างเสร็จแล้ว ผังเหล่านี้ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ลูทวิชที่ 2 ที่พระราชวังเฮเรินคีมเซ ผังเหล่านี้ออกแบบในปลายรัชสมัยของลูทวิชราวปี ค.ศ. 1883 และออกแบบในขณะที่พระราชทรัพย์เริ่มร่อยหลอลง สถาปนิกทราบว่าในเมื่อไม่มีทางที่จะสร้างปราสาทเหล่านี้ได้จึงได้ออกแบบกันอย่างหรูหราพิสดารโดยไม่ต้องคำนึงถึงงบประมาณ

สิ่งก่อสร้างโดยพระเจ้าลูทวิช:

  • สวนฤดูหนาว, พระราชฐานมิวนิกกลางเมืองมิวนิก - เป็นสวนที่หรูหราสร้างบนหลังคาวัง ประกอบด้วยทะเลสาบเทียม, สวน และจิตรกรรมฝาผนัง สวนมีหลังคาคลุมที่ทันสมัยทำด้วยโลหะและแก้ว[25] หลังจากลูทวิชสวรรคตสวนก็ถูกรื้อทิ้งในปี ค.ศ. 1897 เพราะน้ำจากทะเลสาบเทียมรั่วลงมาห้องข้างล่าง จากรูปถ่ายที่หลงเหลืออยู่แสดงถึงสิ่งก่อสร้างที่เต็มไปด้วยจินตนาการที่น่าทึ่งรวมทั้งถ้ำและศาลาแบบมัวร์, กระโจมแบบอินเดีย, และสายรุ้งส่องแสงและพระจันทร์[26] [27]
  • ปราสาทนอยชวานชไตน์ - หรือปราสาทหงส์หินใหม่เป็นปราสาที่สร้างตามแบบป้อมโรมาเนสก์ผสมไบแซนไทน์ ภายในเป็นแบบโรมาเนสก์และกอธิคสร้างเหนือปราสาทโฮเอินชวังเกาของพระราชบิดา ภายในเป็นจิตรกรรมฝาผนังจากโอเปราของวากเนอร์ รูปสัญลักษณ์ส่วนใหญ่เป็นการสรรเสริญความเกียรติศักดิ์อย่างคริสเตียนและความรักอันบริสุทธิ์ซึ่งอาจจะเป็นสี่งที่ช่วยให้ลูทวิชยึดมั่นใน อุดมคติของความเป็นคริสเตียน ปราสาทนี้ยังสร้างไม่เสร็จเมื่อลูทวิชสวรรคต ผู้ชมสามารถเข้าชมบริเวณที่พักอาศัยของลูทวิช, ห้องมหาดเล็ก, ห้องครัว และท้องพระโรงใหญ่ภายในปราสาทได้ แต่ตัวบัลลังก์ยังทำไม่เสร็จแต่แบบที่ออกแสดงให้เห็นถึงภาพถ้าสร้างเสร็จ [28] ปราสาทนอยชวานชไตน์เป็นสัญลักษณ์ของเยอรมนีที่เป็นที่รู้จักกันดีสัญลักษณ์หนึ่ง และถูกนำไปใช้เป็นแบบอย่างในการสร้างปราสาทเจ้าหญิงนิทราของดิสนีย์แลนด์
  • ลินเดอร์โฮฟ - เป็นวังแบบโรโคโคแบบฝรั่งเศสพร้อมทั้งสวนแบบภูมิทัศน์ ในบริเวณสวนมีถ้ำวินัสซึ่งเป็นใช้เป็นที่แสดงโอเปร่าในขณะที่ลูทวิชนั่งเรือรูปหอยบนผิวน้ำในทะเลสาบใต้ดิน ที่ส่องสว่างด้วยไฟฟ้าซึ่งเป็นของใหม่ในสมัยนั้น แสงไฟสามารถเปลี่ยนจากแดงเป็นน้ำเงิน นอกจากนั้นก็มีกระท่อมคนตัดไม้ที่ทำจากต้นไม้เทียม รูปสัญลักษณ์ที่ใช้ตกแต่งภายในแสดงให้เห็นถึงความสนใจของลูทวิชในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของฝรั่งเศสโบราณ ทรงเห็นพระองค์เองว่าเป็น “จันทรกษัตริย์” ซึ่งเป็นเหมือนเงาของ พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสผู้เป็น “สุริยกษัตริย์” จากลินเดอร์ฮอฟลูทวิชชอบเล่นรถลากเลื่อนอย่างหรูหราบนหิมะกลางแสงจันทร์ รถลากเลื่อนมาจากคริสต์ศตวรรษ 18 พร้อมด้วยมหาดเล็กในเครื่องทรงจากคริสต์ศตวรรษเดียวกัน และเป็นที่ทราบกันว่าทรงหยุดทักทายกับชาวบ้านที่พบระหว่างทางซี่งทำให้เป็นที่ชื่นชมของประชาชน ปัจจุบันรถลากเลื่อนคันนี้ตั้งแสดงอยู่ที่พิธภัณฑ์รถม้าในวังนึมเฟินบวร์คที่มิวนิก นอกจากนั้นลินเดอร์โฮฟยังมีศาลาแบบมัวร์
  • พระราชวังเฮเรินคีมเซ - ตั้งอยู่ที่เกาะเฮเรินกลางทะเลสาบเคียมเซ สร้างตามแบบส่วนกลางของพระราชวังแวร์ซายส์ที่ฝรั่งเศสที่มีพระประสงค์จะสร้างให้เด่นและดีกว่าแวร์ซายส์ทั้งขนาดและความหรูหรา แต่สร้างไม่เสร็จเพราะขาดกำลังเงิน นักท่องเที่ยวฝรั่งเศสมักจะมาชมบันไดทูต (Ambassador's staircase) เพราะบันไดทูตที่แวร์ซายส์ถูกริ้อทิ้งในปี ค.ศ. 1752[29]
  • ลูทวิชทรงตกแต่งราชสถานชาเคิน (Königshaus am Schachen) เป็นแบบอาหรับรวมทั้งบัลลังก์นกยูง มีข่าวลีอว่าเมื่อทรงมีงานเลี้ยงหรูหราที่นี่ลูทวิชก็จะนอนเอนอย่างสุลต่านตุรกีล้อมรอบด้วยผู้รับใช้หน้าตาดีที่นุ่งน้อยห่มน้อย
  • ปราสาทฟัลเคินชไตน์ (Castle Falkenstein) – ทรงซื้อซากปราสาทซึ่งเป็นที่ตั้งปราสาทที่สูงที่สุดในเยอรมนีและมีพระราชประสงค์ที่จะสร้างปราสาทใหม่ตามแผนที่วาดโดยของคริสทีอัน ยังค์ ที่จะเป็นแบบเทพนิยายที่ยิ่งไปกว่านอยชวานชไตน์ตั้งอยู่บนผาเหนือนอยชวานชไตน์ แต่ก็สร้างไม่เสร็จ

ลูทวิชและวัฒนธรรมร่วมสมัย

แก้
  • ค.ศ. 1955 “ลูทวิชที่ 2” (ภาพยนตร์) กำกับโดยเฮลมุท เคาทเนอร์ แสดงโดยโอ ดับเบิลยู ฟิชเชอร์เป็นพระเจ้าลูทวิชที่ 2 และรูธ ลูวเวริคเป็นดัชเชสเอลิซาเบธแห่งบาวาเรีย
  • ค.ศ. 1972: “ลูทวิช” (ภาพยนตร์) กำกับโดยลูเชียโน วิสคอนติ (Luchino Visconti) เป็นประวัติชีวิตที่เริ่มตั้งแต่ขึ้นครองราชย์จนสวรรคต แสดงโดยเฮลมุท เบอร์เกอร์ป็นพระเจ้าลูทวิชที่ 2 และโรมี ชไนเดอร์เป็นดัชเชสเอลิซาเบธแห่งบาวาเรีย
  • ค.ศ. 1972: “ลูทวิช - เพลงมรณะสำหรับกษัตริย์บริสุทธิ์” (Requiem für einen jungfräulichen König) (ภาพยนตร์เยอรมัน) เขียนและกำกับโดยฮันส์-เยอร์เก็น ไซเบอร์เบิร์ก (Hans-Jürgen Syberberg) เป็นประวัติชีวิตที่เริ่มตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์จนสวรรคตแสดงภาพพจน์ในทางดีของพระองค์ แสดงโดยแฮรี แบร์เป็นพระเจ้าลูทวิชที่ 2
  • ค.ศ. 1983: “วากเนอร์” (ภาพยนตร์) กำกับโดยโทนี พาล์มเมอร์ เป็นประวัติชีวิตของวากเนอร์ แสดงโดยริชชาร์ท เบอร์ตันเป็นวากเนอร์ ลาสซโล กาลฟฟิเป็นพระเจ้าลูทวิชที่ 2
  • คริสต์ทศศตวรรษ 2000: “Valhalla” (ละคร) โดยพอล รัดนิค มีลูทวิชเป็นตัวละครเมื่อเริ่มเรื่องในบาวาเรียในคริสต์ศตวรรษที่ 19 และเท็กซัสในคริสต์ทศศตวรรษ 1940
  • ค.ศ. 2007: “Doris to Darlene, a cautionary valentine” (ละคร) โดยจอร์แดน แฮร์ริสัน แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างลูทวิชและวากเนอร์
  • ค.ศ. 2007: “Gabriel Knight: The Beast Within” (คอมพิวเตอร์เกม) ซึ่งประกอบด้วยสถานที่ต่างๆ ของลูทวิช แต่เรื่องเกี่ยวกับชีวประวัติของพระองค์รวมทั้งองค์ประกอบอื่นๆ ที่เป็นจินตนาการ
  • ค.ศ. 2012: “Ludwig II” (ภาพยนตร์) ภาพยนตร์ดราม่าเล่าเรื่องราวชีวประวัติของพระเจ้าลูทวิชที่ 2 แห่งบาวาเรีย ตั้งแต่เรื่องราวการขึ้นครองราชย์ตั้งแต่พระชนมายุ 18 พรรษา ความหลงไหลในโอเปร่าของวากเนอร์ เรื่องราวการสร้างปราสาทแห่งเทพนิยาย ไปจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต กำกับโดย Marie Noelle และ Peter Sehr

พระราชวงศ์

แก้
 
 
 
 
8. มัคซีมีลีอาน โจเซฟที่ 1 แห่งบาวาเรีย
 
 
4. ลูทวิชที่ 1 แห่งบาวาเรีย
 
 
 
 
 
 
9. วิลเฮ็ล์มีนแห่งเฮสส์-ดาร์มชตัท
 
 
2. มัคซีมีลีอานที่ 2 แห่งบาวาเรีย
 
 
 
 
 
 
10. ฟรีดริชแห่งซัคเซิน-อัลเต็นเบิร์ก
 
 
5. เทอรีสแห่งซัคเซิน-ฮิลด์เบิร์กเฮาเซิน
 
 
 
 
 
 
11. ชาร์ล็อทเทอ จอร์เจียนแห่งเมคเลินบวร์ค-ชเตรลิทซ์
 
1.พระเจ้าลูทวิชที่ 2 แห่งบาวาเรีย
 
 
 
 
 
12. ฟรีดริชที่ 2 แห่งปรัสเซีย
 
 
6. วิลเลียมแห่งปรัสเซีย
 
 
 
 
 
 
13. ฟรีดริคาแห่งเฮสส์-ดาร์มชตัท
 
 
3. มารีแห่งปรัสเซีย
 
 
 
 
 
 
14. ฟรีดริชที่ 5 แห่งเฮสส์-ฮอมเบิร์ก
 
 
7. มารี แอนนาแห่งเฮสส์-ฮอมเบิร์ก
 
 
 
 
 
 
15. คาร์โรไลน์แห่งเฮสส์-ฮอมเบิร์ก
 

สมุดภาพ

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. Wahnsinn oder Verrat - war König Ludwig II. von Bayern geisteskrank? by Julius Desing
  2. Hans Nohbauer, p.6
  3. Hans Nohbauer, Ludwig II, p.12
  4. Hans Nohbauer, Ludwig II, p.12
  5. Han Nohbauer, Ludwig II, p.12
  6. Han Nohbauer, Ludwig II, p.25
  7. Hans Nohbauer, Ludwig II, p.25
  8. Hans Nohbauer, Ludwig II, p.40
  9. Hans Nohbauer, Ludwig II, p.37
  10. McIntosh, pp 155–158.
  11. Hans Nohbauer, Ludwig II, p.82
  12. Wahnsinn oder Verrat - war König Ludwig II. von Bayern geisteskrank? by Julius Desing
  13. Hans Nohbauer, Ludwig II, p.82
  14. Hans Nohbauer, Ludwig II, p.88
  15. Katerina von Burg, Ludwig II of Bavaria, p.315
  16. Hans Nohbauer, Ludwig II, p.88
  17. Katerina von Berg, Ludwig II of Bavaria, p.308
  18. Hans Nohbauer, Ludwig II, p.88
  19. Hans Nohbauer, Ludwig II, p.88
  20. Katerina von Burg, Ludwig II of Bavaria, p.311
  21. Hans Nohbauer, Ludwig II, p.88
  22. Hans Nohbauer, Ludwig II, p.86
  23. Hans Nohbauer, Ludwig II, p.73
  24. Ludwig II. und seine Schloesser by Michael Petzet and Werner Neumeister, p.24
  25. Hans Nohbauer, Ludwig II, p.18
  26. Past and present Castles of Bavaria by Paolo Calore, pp.164-165
  27. Hans Nohbauer, Ludwig II, p.18
  28. ibid, p.89
  29. Past and present Castles of Bavaria by Paolo Calore, p.60

ดูเพิ่ม

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

  วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ พระเจ้าลูทวิชที่ 2 แห่งบาวาเรีย   วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ปราสาทโฮเอินชวังเกา   วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ปราสาทนอยชวานชไตน์   วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ลินเดอร์โฮฟ   วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ พระราชวังเฮเรินคีมเซ

ก่อนหน้า พระเจ้าลูทวิชที่ 2 แห่งบาวาเรีย ถัดไป
พระเจ้ามัคซีมีลีอานที่ 2   กษัตริย์แห่งบาวาเรีย
(ค.ศ. 1864 - ค.ศ. 1886)
  พระเจ้าอ็อทโทที่ 1