สมเด็จพระสังฆราช (ศรี)
สมเด็จพระสังฆราช พระนามเดิม ศรี เป็นสมเด็จพระสังฆราชไทยพระองค์ที่ 2 แห่งกรุงธนบุรี และเป็นพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เสด็จสถิต ณ วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงดำรงตำแหน่งเมื่อปี พ.ศ. 2325 สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2337 ดำรงตำแหน่งอยู่ 12 ปี โดยน่าจะมีพระชันษาถึง 81 ปี
สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) | |
---|---|
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก | |
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก | |
ดำรงพระยศ | พ.ศ. 2325–2337 |
สถาปนา | พ.ศ. 2325 วัดพระศรีรัตนศาสดาราม |
ก่อนหน้า | สมเด็จพระสังฆราช (ดี) (สมัยกรุงธนบุรี) |
ถัดไป | สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) |
สถิต | วัดระฆังโฆสิตาราม |
ศาสนา | พุทธเถรวาท |
ประสูติ | 17 มิถุนายน พ.ศ. 2256 กรุงศรีอยุธยา ศรี |
สิ้นพระชนม์ | 16 สิงหาคม พ.ศ. 2337 (81 พรรษา) วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร |
พระประวัติ
แก้พระประวัติในตอนต้นไม่ปรากฏรายละเอียด พบแต่เพียงว่า เดิมเป็นพระอาจารย์ศรีอยู่วัดพนัญเชิงวรวิหาร หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองในปี พ.ศ. 2310 ได้หนีภัยสงครามไปอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2312 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จไปตีเมืองนครศรีธรรมราช ได้อาราธนาพระองค์ให้มาอยู่ที่วัดบางว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆสิตาราม) และทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช[1] นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 2 แห่งกรุงธนบุรี
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชขึ้นครองราชย์ ณ กรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2325 ได้โปรดเกล้า ฯ ให้คงที่สมณฐานันดรศักดิ์ดังเดิม และไปครองพระอารามตามเดิมด้วย ทรงเห็นว่าเป็นผู้มีความสัตย์ซื่อมั่นคง ดำรงรักษาพระพุทธศาสนาโดยแท้ มิได้อาลัยแก่ร่างกายและชีวิต ควรแก่นับถือเคารพสักการบูชา
พระองค์ทรงเป็นกำลังสำคัญในการชำระและฟื้นฟูพระพุทธศาสนา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ทั้งในด้านความประพฤติปฏิบัติของภิกษุสามเณร การบูรณปฏิสังขรณ์พุทธสถาน การชำระตรวจสอบพระไตรปิฎก ตลอดจนการประพฤติปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป
ทรงถูกถอดจากตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช
แก้ครั้นถึง พ.ศ. 2324 อันเป็นปีสุดท้ายแห่งรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) ได้ถูกถอดจากตำแหน่งเนื่องจากได้ถวายวิสัชนาร่วมกับ พระพุฒาจารย์ วัดบางหว้าน้อย (วัดอมรินทราราม) และพระพิมลธรรม วัดโพธาราม (วัดพระเชตุพนหรือวัดโพธิ์) เรื่องพระสงฆ์ปุถุชนไม่ควรไหว้คฤหัสถ์ที่เป็นอริยบุคคล เนื่องจากคฤหัสถ์เป็นหินเพศต่ำ พระสงฆ์เป็นอุดมเพศที่สูง เพราะทรงผ้ากาสาวพัสตร์และพระจาตุปาริสุทธิศีลอันประเสริฐ ดังความว่า
“ถึงมาตรว่าคฤหัสถ์เป็นพระโสดาก็ดี แต่เป็นหินเพศต่ำ อันพระสงฆ์ถึงเป็นปุถุชน ก็ตั้งอยู่ในอุดมเพศอันสูง เหตุทรงผ้ากาสาวพัสตร์ และพระจตุปาริสุทธิศีลอันประเสริฐ ซึ่งจะไหว้นบคฤหัสถ์ อันเป็นพระโสดานั้นก็บ่มิควร”
ข้อวิสัชนาดังกล่าวนี้ไม่ต้องพระทัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระองค์จึงให้ถอดเสียจากตำแหน่งพระสังฆราช นำไปเฆี่ยนแล้วให้ไปขนของโสโครกที่วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร[1] แล้วทรงตั้งพระโพธิวงศ์ เป็นสมเด็จพระสังฆราช และตั้งพระพุทธโฆษาจารย์ เป็นพระวันรัต
สมเด็จพระสังฆราชครั้งที่ 2
แก้ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงปราบดาภิเษกและสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2325 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คืนสู่สมณฐานันดรศักดิ์และพระอารามตามเดิม และสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทตรัสสรรเสริญว่าพระองค์ท่านซื่อสัตย์มั่นคงที่จะรักษาพระศาสนาโดยไม่อาลัยชีวิต ควรเป็นที่นับถือ ต่อไปหากมีข้อสงสัยใดในพระบาลี ก็ให้ถือตามถ้อยคำพระองค์ท่าน แล้วให้รื้อตำหนักทองของเจ้ากรุงธนบุรีนั้นไปปลูกเป็นกุฎีถวาย ณ วัดบางว้าใหญ่[2]
สิ้นพระชนม์
แก้ถึงเดือน 5 ปีขาล จ.ศ. 1156 (พ.ศ. 2337) สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) ประชวรถึงสิ้นพระชนม์ จึงโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาสมเด็จพระวันรัต (ศุข) วัดพระศรีสรรเพชญ์ (ปัจจุบันคือวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร)เป็นสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายกพระองค์ใหม่[3]
การทำสังคายนาครั้งแรกในสมัยรัตนโกสินทร์
แก้งานสังคายนาพระไตรปิฎกในครั้งนี้ นับเป็นการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 2 ของราชอาณาจักรไทย กระทำเมื่อปี พ.ศ. 2331 โดยนำพระไตรปิฎก ที่รวบรวมบรรดาพระไตรปิฎกฉบับที่เป็นอักษรลาว อักษรรามัญ ตรวจชำระแล้วแปลงเป็นอักษรขอม จารึกลงลานประดิษฐานไว้ ณ หอพระมณเทียรธรรม และสร้างคัมภีร์พระไตรปิฎกถวายพระสงฆ์ ไว้ศึกษาทุกพระอารามหลวง เมื่อตอนต้นรัชกาล มาตรวจชำระ โดยอาราธนาสมเด็จพระสังฆราช พระราชาคณะให้ดำเนินการ สมเด็จพระสังฆราชได้เลือกพระราชาคณะฐานานุกรม เปรียญอันดับที่เล่าเรียนพระไตรปิฎกได้พระสงฆ์ 218 รูป กับราชบัณฑิตยาจารย์ 32 คน ทำการสังคายนาที่วัดนิพพานาราม แบ่งพระสงฆ์ออกเป็น 4 กอง ดังนี้
- สมเด็จพระสังฆราช เป็นแม่กองชำระพระสุตตันปิฎก
- พระวันรัต เป็นแม่กองชำระพระวินัยปิฎก
- พระพิมลธรรม เป็นแม่กองชำระพระสัททาวิเศส
- พระธรรมไตรโลก (ชื่น)เป็นแม่กองชำระพระปรมัตถปิฎก
การชำระพระไตรปิฎกครั้งนี้ใช้เวลา 5 เดือน ได้จารึกพระไตรปิฎกลงลานใหญ่ แล้วปิดทองทึบ ทั้งปกหน้าปกหลัง และกรอบ เรียกว่า ฉบับทอง ทำการสมโภช แล้วอัญเชิญเข้าประดิษฐานในตู้ประดับมุก ตั้งไว้ในหอพระมณเทียรธรรม กลางสระในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
อ้างอิง
แก้- เชิงอรรถ
- ↑ 1.0 1.1 เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑, หน้า 51
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ : ๗. ตั้งตำแหน่งพระราชาคณะ
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ : ๗๒. ตั้งสมเด็จพระสังฆราช (ศุข) ทรงผนวชสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ และนักองเอง
- บรรณานุกรม
- ทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา (11 สิงหาคม พ.ศ. 2531). "พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑". ห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2560.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
และ|date=
(help) - สมมอมรพันธุ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2545. 428 หน้า. หน้า 51. ISBN 974-417-530-3
ก่อนหน้า | สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
สมเด็จพระสังฆราช (ดี) | สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงธนบุรี (พ.ศ. 2319 - 2324) |
สมเด็จพระสังฆราช (ชื่น) | ||
สมเด็จพระสังฆราช (ชื่น) (สมัยกรุงธนบุรี) |
สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2325 - พ.ศ. 2337) |
สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) |