สตรีสาร
สตรีสาร เป็นนิตยสารรายสัปดาห์สำหรับผู้หญิง และ ครอบครัว ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2491 ปิดตัวในปี พ.ศ. 2539 ก่อตั้งโดย เรวดี เทียนประภาส
มีบรรณาธิการคือ นิลวรรณ ปิ่นทอง
สตรีสาร | |
---|---|
บรรณาธิการ | นิลวรรณ ปิ่นทอง |
ประเภท | ผู้หญิง |
นิตยสารราย | รายสัปดาห์ |
วันจำหน่ายฉบับแรก | พ.ศ. 2491 |
วันจำหน่ายฉบับสุดท้าย — (ฉบับที่) |
มีนาคม พ.ศ. 2539 ? |
บริษัท | บริษัท การพิมพ์สตรีสาร จำกัด |
ประเทศ | ประเทศไทย |
ภาษา | ไทย |
ภายในเล่มประกอบด้วย เรื่องสั้น นวนิยาย และเนื้อหาเกี่ยวกับการเรือน อาหาร การฝีมือ แบบเสื้อ สุขภาพและความงาม ใช้สตรีเป็นภาพปก พิมพ์สีสวยงาม[1] นิตยสารสตรีสารเฟื่องฟูสูงสุดในช่วงปี พ.ศ. 2500-2520 เคยมียอดจำหน่ายสูงถึง 20,000 ฉบับ คอลัมน์ในนิตยสาร จัดได้เป็น 3 วัย คือ มีคอลัมน์ยอดฮิตอย่างถ้อยแถลง โดย บก.นิลวรรณ และนิยายที่แจ้งเกิดนักเขียนดังชั้นครู เช่น กฤษณา อโศกสิน โบตั๋น และ ว.วินิจฉัยกุล เนื้อหาของนวนิยายจะเป็นแนวสะท้อนความเป็นจริงในด้านที่ไม่รันทดเกินไปจนหาทางออกไม่ได้ ไม่ไร้สาระจนหาแก่นสารไม่ได้ ไม่ชิงรักหักสวาทโดยขาดเหตุผล
จากปกฉบับปฐมฤกษ์รูปนางรจนา เพื่อประกาศว่าผู้หญิงควรมองความงามจากภายใน นิลวรรณ ปิ่นทอง ยังต่อยอดการทำนิตยสารเด็ก ดรุณสาร (ปิดตัวในปี 2504)[2]
นิตยสาร สตรีสาร ได้รับเลือกเป็นวารสารดีเด่นในโอกาส 700 ปี ลายสือไทย ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ประจำปี 2527 ได้รางวัลพระเกี้ยวทองคำ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะนิตยสารส่งเสริมภาษาไทยดีเด่น เมื่อปี พ.ศ. 2530
ประวัติ
แก้นิตยสาร สตรีสาร เริ่มจัดพิมพ์และวางตลาด ครั้งแรกเป็นฉบับที่ 1 ปีที่ 1 ปี พ.ศ. 2491 โดยระยะแรกออกเป็นรายปักษ์ แล้วภายหลังเปลี่ยนเป็นรายสัปดาห์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 เป็นต้นมา ผู้ก่อตั้งเริ่มแรกคือคุณเรวดี เทียนประภาส (ผู้เป็นเจ้าของโรงเรียนเรวดี และเป็นมารดาของสุรางค์ เปรมปรีดิ์ อดีตผู้บริหารช่อง 7สี และมีนิลวรรณ ปิ่นทอง ถือเป็นผู้ร่วมก่อตั้งนิตยสารสตรีสารด้วยผู้หนึ่ง และเข้ามารับหน้าที่เป็นบรรณาธิการเป็นคนที่สองรวมทั้งรับหน้าที่บริหารพร้อมกันไปด้วยตั้งแต่ปี 2492
เนื้อหานิตยสาร มีครบทุกเพศ ทุกวัย ให้สาระครบครันทั้งหมวดภาษาและวรรณกรรม หมวดสารัตถคดี หมวดชีวิตครอบครัว หมวดงานอดิเรก หมวดสุขภาพและความงาม และภาคพิเศษสำหรับเด็กซึ่งเป็นนิทานและเรื่องสำหรับเด็ก และยังได้ออกนิตยสารสำหรับเด็กอีกฉบับหนึ่งคือ ดรุณสาร ในปี 2498 โดยทำควบคู่ไปกับสโมสรปรียา ซึ่งเป็นกลุ่มกิจกรรมสำหรับเด็ก แต่ ดรุณสาร ต้องปิดตัวไปในที่สุดในปี 2504 เพราะไม่มีแหล่งเงินสนับสนุนในการจัดทำ แต่ภายหลังปี 2514 ได้นำ ดรุณสาร กลับมา โดยอยู่ในรูปแบบภาคพิเศษสำหรับผู้เยาว์แทรกอยู่ในสตรีสาร นิตยสารสตรีสารเฟื่องฟูสูงสุดในช่วงปี 2500-2520
หลังจากปีนี้จนถึงปี 2539 เริ่มมีนิตยสารสำหรับผู้หญิงเกิดขึ้นมาใหม่มากหลากหลายแนวและเข้าสู่ยุคบริโภคนิยมเต็มที่ ถึงแม้จะมีการปรับตัวมาโดยตลอด ผนวกกับยังมีปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นตลอดเวลา กอรปกับวัยและสุขภาพของคุณนิลวรรณที่ย่างเข้าสู่วัยชราเริ่มมีปัญหาสุขภาพ ท่านจึงตัดสินใจยุติการผลิตนิตยสาร สตรีสาร ฉบับสุดท้ายคือ ฉบับที่ 52 เดือนมีนาคมปี พ.ศ. 2539 ซึ่งครบ 48 ปีพอดี และตัวท่านก็อายุ 80 ปีแล้วเช่นกัน[3]
ดูเพิ่ม
แก้- งามพิศ จากาซินสกี, จารุวรรณ แอ็งเกิล และไทเรล ฮาเบอร์คอร์น (ผู้รวบรวม). เสียงกลอนสะท้อนการณ์: รวมบทกลอนเลือกสรรของนิตยสารสตรีสาร พ.ศ. 2513-2519. เชียงใหม่: ซิลค์เวอร์ม, 2556.
- ชนกพร อังศุวิริยะ. “ความเป็นหญิง” ในนิตยสารสตรีสาร (พ.ศ. 2491-2539): การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างภาษากับอุดมการณ์. วิทยานิพนธ์ อ.ด. (ภาษาไทย). กรุงเทพฯ: ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2541.
- ปวีณา กุดแถลง. มโนทัศน์ความเป็นหญิงและความเป็นชายในนิตยสารสตรีสาร พ.ศ. 2491-2539. วิทยานิพนธ์ อ.ม. (ประวัติศาสตร์). กรุงเทพฯ: ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2561.
- เสนาะ เจริญพร. “ผู้หญิงกับความรักในนิตยสาร สตรีสาร ช่วงทศวรรษ 2490.” วารสารประวัติศาสตร์ 8, 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2564): 92-138.
- หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานปลัดกระทรวง กองกลาง (2)ศธ.26/1699 รับอุปการะโรงพิมพ์บริษัทการพิมพ์สตรีสาร จำกัด (15 ก.พ. 2494).