นายหนหวย
นายหนหวย เป็นนามปากกาของ ศิลปชัย ชาญเฉลิม นักเขียนสารคดีแนวการเมืองและประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียง
นายหนหวย เกิดเมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2465 ที่บ้านถนนพรหมเทพ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจาก โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช หลักสูตรฝ่ายอำนวยการ รุ่นที่ 3 และหลักสูตรผลิตรายการวิทยุ โรงเรียนสงครามจิตวิทยา กรมยุทธการทหาร กองบัญชาการทหารสูงสุด รุ่นที่ 10 ประกาศนียบัตร ภาษาฝรั่งเศส สมาคมฝรั่งเศสในประเทศไทย และอลิย์องฟรังษ์ ปารีส และมหาวิทยาลัยเมืองเบอซองซง ประเทศฝรั่งเศส
รับราชการครั้งแรกเป็นครูประชาบาล ในกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส (พ.ศ. 2483) เป็นตำรวจสนาม ต่อมาได้ถูกเกณฑ์เป็นทหารเข้าร่วมรบในสงครามมหาเอเชียบูรพา ที่เชียงตุง ต่อมาเมื่อสงครามยุติ ได้ปลดกระจำการ จึงหันมาเป็นผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์, บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ และนักเขียนอิสระในนามปากกา "นายหนหวย" (มีความหมายว่า "ความกลัดกลุ้ม" เป็นภาษาอีสาน ซึ่งหมายถึง "ความกลัดกลุ้มของคนไทยทั้งชาติและเจ้าตัว จากกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8"[1]) โดยทำงานกับหนังสือพิมพ์หลายฉบับ เช่น ชาติไทยรายวัน, เผ่าไทยรายวัน, แผ่นดินไทยรายสัปดาห์
จากนั้นได้เข้าทำงานในธนาคารออมสิน ในตำแหน่งหัวหน้าแผนกค้นคว้าและโฆษณาการเป็นคนแรก และรับราชการในสำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี โดยมีหน้าที่ประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข่าวสารเพื่อต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ เช่น ออกอากาศกระจายเสียงทางวิทยุ เป็นเวลานานถึง 32 ปี และได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษาดูงานในหลาย ๆ ประเทศ รวมถึงได้รับการอบรมหลายหลักสูตร จากหลายสถาบัน
ผลงานทางด้านการเป็นนักเขียน นายหนหวย เป็นผู้ที่มีความชำนาญเป็นอย่างดีในภาษาไทย รวมถึงต่างประเทศภาษาต่าง ๆ เช่น ภาษาอังกฤษ และฝรั่งเศส มีผลงานเขียนต่าง ๆ ที่เป็นที่รู้จักกันดี เช่น เจ้าฟ้าประชาธิปก ราชันผู้นิราศ, หมอปลัดเลกับกรุงสยาม, ทหารเรือปฏิวัติ, สามก๊กฉบับนายหนหวย, กบฏนายสิบ ปี ๒๔๗๘ เป็นต้น และสารคดีสั้นอีกหลายร้อยเรื่องในหนังสือพิมพ์รายวันและรายสัปดาห์ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2490-พ.ศ. 2501
ได้รับรางวัลกิตติคุณสัมพันธ์สังข์เงิน สาขาปลุกใจให้รักชาติ จากสมาคมนักการประชาสัมพันธ์แห่งประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2525 และได้รับปริญญาครุศาสตร์บัณฑิตกิตติมศักดิ์ วิชาเอกประวัติศาสตร์ จากวิทยาลัยครูอุบลราชธานี พ.ศ. 2535[2] [1]
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 ประวัติจาก ทหารเรือปฏิวัติ โดย นายหนหวย (สำนักพิมพ์มติชน, 2555) ISBN 978-974-02-1025-2
- ↑ ปราชญ์ชาวบ้าน: อุบลราชธานี[ลิงก์เสีย]