วิสาหกิจเริ่มต้น
วิสาหกิจเริ่มต้น หรือ บริษัทสตาร์ตอัป (อังกฤษ: startup, startup company) คือ รูปแบบหนึ่งของการประกอบธุรกิจที่ริเริ่มโดยผู้ก่อตั้งหรือผู้ประกอบการรายบุคคลเพื่อคิดค้นตัวแบบที่ทำซ้ำและขยายขนาดได้ วิสาหกิจเริ่มต้นเน้นความสำคัญในการร่วมลงทุนทางธุรกิจ ในระยะเริ่มแรกของการดำเนินกิจการ วัตถุประสงค์หลักของวิสาหกิจเริ่มต้นคือการพัฒนาตัวแบบธุรกิจที่มีศักยภาพในการตอบสนองความต้องการของตลาด และการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตจริงแก่ผู้บริโภค โดยนำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เป็นนวัตกรรม[1] มีการจัดหาพื้นที่ให้เช่าทำงานร่วมกัน บริการจัดส่งชุดวัตถุดิบอาหารพร้อมปรุง และบริการระบุชื่อเพลงผ่านโปรแกรมประยุกต์เป็นอาทิ การลงทุนเหล่านี้มักมีขนาดเล็กโดยธรรมชาติและได้รับเงินทุนจากผู้ก่อตั้งหรือกลุ่มนักลงทุนที่เชื่อมั่นในแนวคิดของวิสาหกิจหรือผู้ก่อตั้ง[1]
วิสาหกิจเริ่มต้นต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนสูง[2] และมีอัตราความล้มเหลวสูง ในกรณีที่มีรายรับน้อยหรือมีค่าใช้จ่ายมาก การประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้นมักไม่ยั่งยืนในระยะยาวหากผลิตภัณฑ์มิได้เป็นที่ต้องการของตลาดอย่างแท้จริง หรือวิสาหกิจไม่ได้รับเงินทุนเพิ่มเติมจากผู้ร่วมลงทุน[3] อย่างไรก็ตาม วิสาหกิจเริ่มต้นส่วนน้อยที่ประสบความสำเร็จก็มีศักยภาพเพียงพอที่จะพัฒนาเป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่เต็มรูปแบบ ซึ่งมีคำสร้างใหม่เรียกว่า "ยูนิคอร์น"[4] สำหรับเรียกวิสาหกิจเริ่มต้นที่มีมูลค่ากิจการตั้งแต่หนึ่งพันล้านดอลลาร์สหรัฐขึ้นไป
การประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น
แก้วิสาหกิจเริ่มต้นมักเริ่มจากผู้ก่อตั้งและผู้ร่วมก่อตั้งที่มีวิธีการแก้ปัญหาเฉพาะเจาะจงอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ก่อตั้งวิสาหกิจเริ่มต้นมักเริ่มการวิจัยความต้องการของตลาด (market validation) โดยสัมภาษณ์ผู้คนที่เป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเกี่ยวกับปัญหาที่ประสบ หนทางแก้ไขปัญหา และการสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบเพื่อพัฒนาและทดสอบตัวแบบธุรกิจของบริษัท กระบวนการในการประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้นอาจใช้ระยะเวลายาวนาน (ในบางกรณีอาจยาวนานกว่า 3 ปี) โดยยิ่งระยะเวลาผ่านไปนานเท่าใด การประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้นอย่างยั่งยืนก็ยิ่งยากขึ้นตามเวลา ซึ่งเป็นผลจากโอกาสล้มเหลวที่สูงและผลลัพธ์ที่ไม่แน่นอนของการประกอบการ
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 "What is a Startup Company?" MyAccountingCourse.com. สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2019.
- ↑ Schmitt, A. (2018). "A Dynamic Model of Entrepreneurial Uncertainty and Business Opportunity Identification: Exploration as a Mediator and Entrepreneurial Self-Efficacy as a Moderator". Entrepreneurship Theory and Practice. 42 (6): 835–859. doi:10.1177/1042258717721482.
- ↑ Erin Griffith (2014). "Why startups fail, according to their founders". Fortune.com. สืบค้นเมื่อ 27 ตุลาคม 2017.
- ↑ unicorn. Oxford Learner's Dictionaries. สืบค้นเมื่อ 5 กันยายน 2022.