วันนวมินทรมหาราช
วันนวมินทรมหาราช [อ่านว่า นะ-วะ-มิน-ทระ-มะ-หา-ราด][1] ตรงกับวันที่ 13 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี
วันนวมินทรมหาราช | |
---|---|
จัดขึ้นโดย | รัฐบาลไทย |
สีมงคล | สีเหลือง |
ประเภท | วันหยุดราชการ |
ความสำคัญ | วันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร |
วันที่ | 13 ตุลาคม |
ครั้งหน้า | 13 ตุลาคม พ.ศ. 2568 |
ความถี่ | ทุกปี |
ครั้งแรก | 21 เมษายน พ.ศ. 2560 |
ริเริ่มโดย | คณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 61 |
ส่วนเกี่ยวข้อง | วันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันปิยมหาราช |
เมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2560 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 61 กำหนดให้วันที่ 13 ตุลาคม ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันสวรรคตของรัชกาลที่ 9 เป็นวันหยุดราชการ[2] และออกเป็นประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดเวลาทำงานและวันหยุดราชการ ฉบับที่ 23 ลงวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2560 และในวันเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 10) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระบรมราชานุญาตกำหนดให้เป็น "วันสำคัญของชาติไทย" และให้จัดกิจกรรมในลักษณะเดียวกับวันปิยมหาราช[3]
เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2566 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 63 มีมติเห็นชอบให้กำหนดชื่อวันดังกล่าวตามที่ได้ขอพระราชทานชื่อจากรัชกาลที่ 10 ซึ่งสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อมฺพรมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ได้ประทานชื่อเพื่อประกอบพระบรมราชวินิจฉัยมาด้วย โดยใช้ชื่อว่า "วันนวมินทรมหาราช"[4] แปลว่า วันที่ระลึกถึงพระมหาราชรัชกาลที่ 9 ผู้ยิ่งใหญ่ โดยมีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 29 กันยายน เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2566[5]
ในวันนวมินทรมหาราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทุกรัชกาล พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ จะเสด็จฯ ไปทรงวางพวงมาลา ณ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ภายในอุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (อดีตสนามม้านางเลิ้ง) เป็นประจำทุกปี
กิจกรรม
แก้รัฐบาลได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดกิจกรรมเนื่องในวันนวมินทรมหาราช ดังนี้
- จัดพิธีสวดพระพุทธมนต์และทำบุญตักบาตรถวายพระราชกุศล ส่วนกลาง จัดพิธี ณ ท้องสนามหลวง โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานพร้อมภริยา, ในส่วนภูมิภาค ทุกจังหวัดจัดพิธี ณ ศาลากลางจังหวัดหรือสถานที่ที่เหมาะสม และในต่างประเทศ ให้สถานเอกอัครราชทูต และสถานกงสุลจัดพิธีตามที่เห็นสมควรและเหมาะสม รวมทั้งเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วประเทศจัดพิธีตามที่เห็นสมควรและเหมาะสม
- จัดตั้งโต๊ะหมู่ประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมเครื่องราชสักการะ ตามอาคารสถานที่ กำหนดระหว่างวันที่ 1 - 31 ตุลาคม ของทุกปี โดยเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วประเทศดำเนินการ
- จัดกิจกรรมเทิดพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศลตามที่เห็นสมควรและเหมาะสม โดยเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วประเทศจัดกิจกรรมในโอกาสพิเศษดังกล่าว
- คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ เผยแพร่สารคดีโทรทัศน์เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ[6]
ทั้งนี้ จะมีหน่วยงานราชการ เอกชน พ่อค้า แม่ค้า และประชาชนจากทั่วประเทศ นำพวงมาลาหรือพุ่มดอกไม้มาถวายสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ อุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร อีกด้วย
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ "วันนวมินทรมหาราช". สำนักงานราชบัณฑิตยสภา.
- ↑ "มติ ครม.ยกเลิกวันหยุด 5 พ.ค. เพิ่ม 28 ก.ค.และ 13 ต.ค.เป็นวันหยุดราชการ". ไทยพีบีเอส. 11 เมษายน 2017. สืบค้นเมื่อ 26 กันยายน 2023.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "กำหนดให้ 28 ก.ค.และ 13 ต.ค.เป็นวันสําคัญของชาติ". พีพีทีวี. 25 เมษายน 2017. สืบค้นเมื่อ 26 กันยายน 2023.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "ครม.เห็นชอบประกาศให้วันที่ 13 ตุลาคมของทุกปี เป็น'วันนวมินทรมหาราช'". แนวหน้า. 26 กันยายน 2023. สืบค้นเมื่อ 26 กันยายน 2023.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การกำหนดให้วันที่ ๑๓ ตุลาคม ของทุกปี เป็น "วันนวมินทรมหาราช"" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 140 (พิเศษ 244 ง): 2. 2 ตุลาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 3 ตุลาคม 2023.
- ↑ ฐานเศรษฐกิจ (2023-10-10). "รัฐบาลเตรียมจัดกิจกรรมเนื่องใน "วันนวมินทรมหาราช" 13 ตุลาคม 2566". thansettakij.