วัดสุทธิวราราม
บทความนี้ได้รับแจ้งให้ปรับปรุงหลายข้อ กรุณาช่วยปรับปรุงบทความ หรืออภิปรายปัญหาที่หน้าอภิปราย
|
วัดสุทธิวราราม ตั้งอยู่บน ถนนเจริญกรุง แขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน 13 วา ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2424 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงธนบุรี นับเป็นวัดประจำสกุล ณ สงขลา ในกรุงเทพมหานครอีกแห่งหนึ่งนอกจากวัดสุวรรณคีรี จังหวัดสงขลา[1]
วัดสุทธิวราราม | |
---|---|
อุโบสถวัดสุทธิวราราม | |
ชื่อสามัญ | วัดสุทธิวราราม |
ที่ตั้ง | ถนนเจริญกรุง แขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพมหานคร 10120 |
ประเภท | วัดราษฎร์ |
นิกาย | มหานิกาย |
พระประธาน | พระพุทธสุทธิมงคลชัย |
เจ้าอาวาส | พระสุธีรัตนบัณฑิต (สุทิตย์ อาภากโร รศ.ดร. ป.ธ.๗) |
ความพิเศษ | เป็นวัดราษฎร์แห่งแรกที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน, วัดประจำสกุล ณ สงขลา |
จุดสนใจ | อุโบสถหินอ่อนจตุรมุข 2 ชั้น และภาพจิตรกรรมฝาผนังภายใน, รมณียสถาน |
เว็บไซต์ | วัดสุทธิวราราม , Watsuthiwararam |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
ประวัติ
แก้เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงกอบกู้เอกราชแล้ว ได้เสด็จไปปราบหัวเมืองที่ตั้งตนเป็นก๊กต่างๆ และในปี พ.ศ. 2312 ได้ยกทัพทางเรือไปปราบก๊กเจ้านครศรีธรรมราชที่เมืองนครศรีธรรมราช แล้วได้นำตัวพระยานครศรีธรรมราช (หนู) พร้อมภรรยาและธิดามายังกรุงธนบุรี โปรดเกล้าฯ ให้พำนักอยู่ฝั่งธนบุรีประมาณ 2 ปี ต่อมาพระยานครนครศรีธรรมราช ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ย้ายมามาตั้งบ้านพักอยู่ฝั่งพระนคร ตามแนวคลองกรวย ติดแม่น้ำเจ้าพระยา (ปรากฏชื่อว่า “ตรอกพระยานคร” ซอยเจริญกรุง 69 ในปัจจุบัน) ก็ได้รับพระราชทานที่ดินประมาณ 200 ไร่ โดยพระยานครศรีธรรมราช ขอพระราชทานสร้างวัดใกล้ๆ กับวัดคอกควายหรือที่เรียกว่า “วัดยานนาวา” ในปัจจุบัน โดยยกเนื้อที่พระราชทานถวายเป็นที่วัด 48 ไร่ เบื้องต้นไม่ปรากฏชื่อวัดไม่ปรากฏชัดเจน[2] ต่อมาในปี พ.ศ. 2319 สมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงแต่งตั้งให้พระยานครศรีธรรมราช (หนู) กลับไปครองเมืองนครศรีธรรมราชดังเดิม และพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระเจ้านครศรีธรรมราช ให้มีเกียรติเสมอเจ้าประเทศราช มีอำนาจแต่งตั้งขุนนางตามแบบจตุสดมภ์ได้เช่นเดียวกับราชธานี[3] วัดแห่งนี้ก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่าอยู่ในอุปภัมป์ของผู้ใดหลังจากนั้น ต่อมาภายหลังมีชาว "ลาวเวียง" ซึ่งถูกการกวาดต้อนมาจากกรุงเวียงจันทน์ตั้งแต่สงครามเจ้าอนุวงศ์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้กับวัด จึงเป็นที่มาให้คนทั่วไปเรียกวัดแห่งนี้ว่า "วัดลาว"[4]
เมื่อวัดลาวตั้งมาได้เป็นระยะเวลาประมาณ 100 ปี ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิดเพลิงไหม้วัดทั้งหมด จึงต้องย้ายวัดไปสร้างในที่ป่าช้าของวัด ห่างจากแม่น้ำเจ้าพระยาไปทางทิศตะวันออก ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดสุทธิวรารามในปัจจุบัน[5] ที่ตั้งวัดเดิมริมแม่น้ำเจ้าพระยา ก็รกร้างว่างเปล่า ต่อมาบริษัทวินเซอร์โรซ (Windsor, Rose&Co.,) ซึ่งเป็นบริษัทชาวเยอรมัน มาขอเช่าทำที่ดิน โดยทำสัญญาเช่าที่ดินจากกระทรวงธรรมการ ตั้งแต่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา จรด ถนนเจริญกรุง เพื่อสร้างเป็นโกดังเก็บสินค้า เมื่อได้เช่าแล้วก็ได้สร้างรั้วรอบพื้นที่ สร้างท่าเทียบเรือตรงมาจากถนนซอยแสงจันทร์ลงไปแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเรียกชื่อว่า “ท่าเจ้าพระยา” แต่ในฐานะที่ผู้จัดการบริษัทวินเซอร์โรซสวมแว่นตา[ต้องการอ้างอิง] ซึ่งคนไทยในสมัยนั้นยังไม่ค่อยรู้จักแว่นตามากนัก[ต้องการอ้างอิง] จึงเรียกท่าน้ำนี้ว่า “ท่าสี่ตา” จนถึงปัจจุบัน[6][7]
จากจารึกในแผ่นศิลาที่ติดไว้หน้าโบสถ์หลังเก่า ระบุว่า วัดนี้เดิมเป็นวัดร้าง เมื่อปี ร.ศ. 100 ปีมะเส็ง จุลศักราช 1243 ตรงกับพุทธศักราช 2424 ท่านผู้หญิงสุทธิ์ ภริยาเจ้าพระยาสงขลา (เม่น ณ สงขลา) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา ลำดับที่ 6 ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสร้างขึ้นใหม่ และเมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามวัดนี้ว่า “วัดสุทธิวราราม” ตามนามของท่านผู้หญิงสุทธิ์
ต่อมาวัดนี้ทรุดโทรมลง ท่านปั้น หรือ นางอุปการโกษากร (ปั้น ณ สงขลา วัชราภัย) ภรรยาหลวงอุปการโกษากร (เวท วัชราภัย) ซึ่งเป็นบุตรีเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น ณ สงขลา) และท่านผู้หญิงสุทธิ์ มีกตัญญูระลึกถึงคุณบิดา มารดา และเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ได้ปฏิสังขรณ์ก่อสร้างขึ้นบริบูรณ์ ในปี ร.ศ. 118 จุลศักราช 1262 ตรงกับพุทธศักราช 2442[6] และได้รับแต่งตั้งให้เป็นมรรคทายิกาวัดสุทธิวราราม ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2445 โดยให้ความอุปถัมภ์ตลอดมา
และเมื่อท่านปั้น อุปการโกษากร ถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. 2451 ด้วยโรคฝีที่ข้อศอกข้างซ้าย[8] พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาฯ โปรดเกล้าให้ บุตรชายของท่านปั้น พระศิริศาสตร์ประสิทธิ์ (สุหร่าย วัชราภัย) ดำรงตำแหน่งมรรคนายกวัดสุทธิวรารามต่อจากมารดา เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2451[9] บุตรธิดาของท่านปั้น ได้แก่
- คุณหญิงวิเชียรคีรี (สมบุญ วัชราภัย ณ สงขลา) ภริยาพระยาวิเชียรคีรี (ชม ณ สงขลา) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา ลำดับที่ 8
- คุณหญิงสุรบดินทรสุรินทรฦๅชัย (บุญรอด วัชราภัย จารุจินดา) ภริยา เจ้าพระยาสุรบดินทรสุรินทรฦๅชัย (พร จารุจินดา) สมุหพระนครบาล อุปราชมณฑลพายัพ และองคมนตรี
- นางอนันตสมบัติ (เชื้อ วัชราภัย ณ สงขลา) ภริยาพระอนันตสมบัติ (เอม ณ สงขลา) ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา มารดาเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) ประธานองคมนตรี และพระยามานวราชเสวี (ปลอด วิเชียร ณ สงขลา) องคมนตรี
- พระศิริศาสตร์ประสิทธิ์ (สุหร่าย วัชราภัย) ต่อมาเป็น ต่อมาเป็น พระยาพิจารณาปฤชามาตย์มานวธรรมศาสตร์สุปฤชา (สุหร่าย วัชราภัย) องคมนตรี
- คุณหญิงเพชรกำแหงสงคราม (เป้า วัชราภัย ยุกตะนันท์) ภริยาพระยาเพชรกำแหงสงคราม (มะลิ ยุกตะนันท์) ผู้สำเร็จราชการเมืองชุมพร ลำดับที่ 12
- หลวงการุญนรากร (แดง วัชราภัย) ต่อมาเป็น พระกรณีศรีสำรวจ (แดง วัชราภัย)
- คุณหญิงศรีสังกร (ตาบ วัชราภัย จารุรัตน์) ภริยาพระศรีสังกร (ตาด จารุรัตน์) ต่อมาเป็นพระยาศรีสังกร (ตาด จารุรัตน์) ประธานศาลฎีกา
มีประสงค์จะสร้างอนุสรณ์สถานเพื่ออุทิศเป็นทักษิณานุปทานแด่มารดา โดยมีพระศิริศาสตร์ประสิทธิ์เป็นหัวหน้า จึงได้รวบรวมทุนทรัพย์จัดสร้างโรงเรียนขึ้นในบริเวณที่ธรณีสงฆ์ซึ่งบริษัทวินเซอร์โรซเช่าอยู่ ทั้งนี้เพื่อให้เป็นสถานที่อบรมและให้การศึกษาแก่เยาวชนของชาติ ใช้ชื่อว่า “โรงเรียนมัธยมพิเศษสุทธิวราราม”
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จมาทรงกระทำพิธีเปิด[ต้องการอ้างอิง] เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 เป็นโรงเรียนแรกที่สร้างขึ้นในรัชกาลของพระองค์ โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำรสชมเชย ให้การสร้างโรงเรียนมัธยมพิเศษสุทธิวราราม เป็นแบบอย่างของการบำเพ็ญกุศลที่ต้องด้วยพระราชนิยมเป็นอย่างยิ่ง[10][11]
ในปี พ.ศ. 2460 ทางบริษัทวินเซอร์โรซ (ห้างสี่ตา) ได้หมดสัญญาเช่าที่ดิน(ด้านหน้า) ท่านขุนสุทธิดรุณเวทย์ (ชื่น วิเศษสมิต) อาจารย์ผู้ปกครองได้ขอสถานที่จากทางวัดสุทธิราราม เพื่อสร้างเป็นโรงเรียนชั้นประถม เมื่อท่านเจ้าอาวาสวัดสุทธิรารามได้กรุณาให้เป็นไปตามความประสงค์ จึงได้รื้อโรงเรียนประถมวัดยานนาวา มาปลูกสร้างต่อจากโรงเรียนเดิมไปทางทิศตะวันตก เมื่อสร้างเสร็จแล้ว กระทรวงธรรมการ เห็นสมควรจะเปิดเป็นโรงเรียนสตรีอีกแผนกหนึ่ง
พ.ศ. 2461 เกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ทรงประกาศสงครามกับประเทศเยอรมัน จึงส่งทหารเข้ายึดโกดังของบริษัทวินเซอร์โรซ ในฐานะเชลยสงคราม เมื่อยึดโกดังทรัพย์สินไปแล้ว ที่ดินวัดซึ่งเป็นที่ธรณีสงฆ์ก็พลอยติดไปด้วย ที่ดินนี้จึงเป็นที่ราชพัสดุ แล้วกลายเป็นที่ตั้งองค์การสะพานปลาในปัจจุบัน โดยมีเนื้อที่ทั้งหมด 18 ไร่
ต่อมาวัดนี้ทรุดโทรมลงอีก ในปี พ.ศ. 2473 เชื้อ ณ สงขลา ภรรยาพระอนันตสมบัติ (เอม ณ สงขลา) บุตรี ท่านปั้นฯ และหลวงอุปการโกษากร (เวท วัชรภัย) ได้จัดการปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ โดยได้รื้อเพิงทั้งด้านและด้านหลังของอุโบสถ เปลี่ยนมุขซ้อนลงมาและได้ปฏิสงขรณ์อุโบสถทั้งหลัง รวมทั้งได้ย้ายแท่นระประธานซึ่งเดิมตั้งอยู่ด้านตะวันตก เปลี่ยนมาเป็นทิศตะวันออกและสร้างพระประธานขึ้นใหม่หันพระพักตร์ไปทางถนนเจริญกรุง
วัดนี้ได้อยู่ในความอุปถัมภ์ของท่านผู้สร้างในครั้งแรก และครั้งต่อ ๆ มา ดังได้ออกนามมาแล้ว ตลอดจนถึงผู้ที่สืบตระกูลของท่านเหล่านั้น เป็นต้นว่า เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) และพระยามานวราชเสวี (ปลอด วิเชียร ณ สงขลา) ผู้เป็นองคมนตรี โดยเป็นผู้ช่วยเหลือ อุปถัมภ์สืบต่อจาก เชื้อ ณ สงขลา ผู้เป็นมารดา
ที่สำคัญยิ่งเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2511 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดสุทธิวราราม ซึ่งเป็นการทอดผ้าพระกฐินหลวงครั้งแรก ณ วัดที่ไม่ใช่พระอารามหลวง[12] หลังจากถวายผ้าพระกฐินเสร็จแล้ว ได้ตรัสกับเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) ประธานองคมนตรี ผู้รับเสด็จใกล้ชิดว่า
ขอฝากดูแลวัดนี้ด้วย มีโอกาสจะมาอีก
หลังจากนั้น วัดสุทธิวราราม ก็ได้มีการพัฒนาเพื่อเป็นสถานที่พักอาศัยและศึกษาเล่าเรียนของพระภิกษุ สามเณร รวมทั้งเป็นสถานที่บำเพ็ญกุศลของพุทธศาสนิกชนและเป็นสถานที่ศึกษาเล่าเรียนของกุลบุตร กุลธิดา สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน
ปัจจุบันวัดสุทธิวราราม มีรองศาสตราจารย์ ดร. พระสุธีรัตนบัณธิต (สุทิตย์ อาภากโร) ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยและรองคณบดีคณะพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย[13] เป็นเจ้าอาวาส
ถาวรวัตถุภายในวัด
แก้วัดสุทธิวรารามมีที่ดินที่ตั้งวัด โดยมีเนื้อที่ 5 ไร่ 3 งาน 13 วา มีสิ่งปลูกสร้างดังนี้
สิ่งปลูกสร้าง
แก้อุโบสถ
แก้สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2537 เป็นอุโบสถจัตุรมุข กว้าง 9 เมตร ยาว 25 เมตร สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก เสาแกรนิต พื้นทั้ง 2 ชั้น ปูด้วยหินแกรนิต ฝาผนังทั้งด้านในและด้านนอกบุด้วยหินอ่อน
กุฏิสงฆ์สุทธิวราราม
แก้สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2530 กว้าง 9 เมตร ยาว 21 เมตร สูง 4 ชั้น สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก พื้นด้านล่างโล่งเป็นอเนกประสงค์ ชั้นบนทั้ง 3 ชั้นเป็นห้องพักพระภิกษุ-สามเณร 21 ห้อง มีห้องน้ำ – ห้องส้วมในตัว
ศาลา อโศกมหาราช
แก้สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2535 เป็นอาคารตรีมุข 4 ชั้น กว้าง 12 เมตร ยาว 24 เมตร สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก เสาหินอ่อนกลม พื้นแกรนิต ชั้นล่างโล่งเป็นอเนกประสงค์ เช่นเดียวกับชั้นที่ 2 ส่วนชั้นที่ 3-4 เป็นห้องพักสงฆ์มีห้องน้ำ – ห้องส้วมในตัว พื้นปูด้วยหินอ่อน
ศาลา นวมินทรมหาราช
แก้สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2544 เป็นอาคารตรีมุข กว้าง 16 เมตร รวมมุข 5 เมตร ยาว 36 เมตร เสากลมแกรนิต พื้นแกรนิต ชั้นล่างกว้างโล่ง ชั้นที่ 2 เสาหินอ่อน เปิดโล่งตลอดสำหรับเป็นห้องประชุม ชั้นที่ 3-4 เป็นห้องพักสงฆ์ 32 ห้อง มีห้องน้ำครบ
อื่นๆ
แก้- กุฏิ ที่พักสงฆ์ สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2473 เป็นอาคารฝาแฝด 2 ชั้น หันหน้าเข้าหากัน กว้าง 14 เมตร ยาว 24 เมตร สร้างด้วยไม้สัก ผสมคอนกรีต ชั้นล่างเป็นพื้นที่โล่งใช้อเนกประสงค์ ส่วนชั้นที่ 2 มีห้องพักพระภิกษุ-สามเณรจำนวน 16 ห้อง
- ศาลาการเปรียญ สร้างในปี พ.ศ. 2474 เป็นอาคารไม้สักทองทั้งหลัง 2 ชั้น กว้าง 12 เมตร ยาว 12 เมตร
- กุฏิเจ้าอาวาส สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2473 เป็นอาคารไม้สักทอง 2 ชั้น กว้าง 15 เมตร ยาว 15 เมตร สร้างโดยท่านเชื้อ ณ สงขลา
- หอระฆัง สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2475 อุปถัมภ์โดยคุณหญิงจำเริญ พิจารณาปรีชามาตย์
- เจดีย์ สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2480
- เมรุเผาศพ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2529 ใช้เตาเผาระบบป้องกันมลภาวะ 2 หัวเตา
- ศาลาบำเพ็ญกุศล 3 หลัง
ปูถุชนียวัตถุที่สำคัญ
แก้องค์พระประธานในอุโบสถ ปางมารวิชัย ศิลปะแบบสุโขทัย โดยท่านผู้หญิงสุทธิ์ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6
เจดีย์ทรงลังกา 1 องค์ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 7 เป็นแบบศิลปะไทยประยุกต์ โดยสร้างครอบเจดีย์องค์เก่า ซึ่งเรียกว่าเจดีย์ดำ
พระพุทธบาทจำลอง ยาวขนาด 1 เมตร สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 9 มีความสวยงามตามลักษณะแห่งพระมหาบุรุษ
อ้างอิง
แก้- ↑ หนังสือเวียนฉบับที่ 4 / 2556 การทำบุญในโอกาสครบ 100 ปีวันพระราชทานนามสกุล ณ สงขลา ชมรมสายสกุล ณ สงขลา
- ↑ วัดสุทธิวราราม, ประวัติวัดสุทธิวรารามโดยสังเขป, หน้า15
- ↑ ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 2 [เรื่องตั้งพระเจ้านครศรีธรรมราชครั้งกรุงธนบุรี] วิกิซอร์ซ มีงานต้นฉบับเกี่ยวกับ:
- ↑ เสถียรโกเศศ, ฟื้นความหลัง, หน้า 26
- ↑ วัดสุทธิวราราม, ความรู้เรื่องพระราชพิธีที่ระลึกในการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดสุทธิวราราม 12 ตุลาคม 2533, ไม่ปรากฏเลขหน้า
- ↑ 6.0 6.1 วัดสุทธิวราราม, ประวัติวัดสุทธิวรารามโดยสังเขป, หน้า 16
- ↑ กาญจนาคพันธุ์ (ขุนวิจิตรมาตรา), กรุงเทพฯ เมื่อ 70 ปีก่อน, หน้า 326
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 25, แจ้งความกระทรวงธรรมการ [เรื่อง ปั้นมรรคนายิกาวัดสุทธิวรารามป่วยถึงแก่กรรม] หน้า 116
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 25, พระราชทานสัญญาบัตรมรรคนายก [พระศิริศาสตร์ประสิทธิ์เป็นมรรคนายกวัดสุทธิวราราม] หน้า 585
- ↑ สำนักจดหมายเหตุแห่งชาติ มร. 6ศ/5, เรื่องโรงเรียนวัดสุทธิวรารามแลประกาศพระราชนิยมในการสร้างโรงเรียน, หน้า 10-11
- ↑ สำนักจดหมายเหตุแห่งชาติ มร. 6ศ/5, ทูลเกล้าถวายร่างประกาศพระราชนิยมเรื่องบำเพ็ญกุศลในวิธีสร้างโรงเรียน
- ↑ ตอนบ่ายวันที่ 12 ตุลาคม 2511 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม, วัดมหาพฤฒารามและวัดสุทธิวราราม -- สำนักพระราชวัง[ลิงก์เสีย]
- ↑ http://www.mcu.ac.th/site/director1.php เก็บถาวร 2017-07-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ผู้อำนวยการ - มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
บรรณานุกรม
แก้- ศตวัชรบงกช 100 ปี โรงเรียนวัดสุทธิวราราม.-- กรุงเทพฯ : โรงเรียนวัดสุทธิวราราม, 2554.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- วัดสุทธิวราราม
- Watsuthiwararam
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ วัดสุทธิวราราม
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์