วัดสังฆราชา
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
วัดสังฆราชา หรือ วัดสอง เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่เลขที่ 153 หมู่ที่ 5 ซอยลาดกระบัง 3 ถนนลาดกระบัง แขวงลาดกระบัง เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร
วัดสังฆราชา | |
---|---|
พระอุโบสถ วัดสังฆราชา | |
ที่ตั้ง | 153 หมู่ที่ 5 ซอยลาดกระบัง 3 ถนนลาดกระบัง แขวงลาดกระบัง เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย 10520 |
ประเภท | วัดราษฎร์ |
นิกาย | เถรวาท มหานิกาย |
พระประธาน | พระพุทธราชา พระศรีสรรเพ็ชร |
พระพุทธรูปสำคัญ | หลวงพ่อเพ็ชร |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
อาณาเขต
แก้ทิศตะวันออก | ติดกับคลองสองต้นนุ่นและที่ดินเอกชน |
ทิศเหนือ | ติดที่ดินเอกชน |
ทิศตะวันตก | ติดที่ดินเอกชน |
ทิศใต้ | ติดคลองประเวศบุรีรมย์ |
ประวัติความเป็นมาของวัด
แก้- พ.ศ. 2430 ชาวบ้านบริเวณคลองสองมีความประสงค์จะสร้างวัด เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชน จึงได้พากันไปปรึกษานายกองนาท้วย ซึ่งเป็นผู้เก็บค่าเช่านาให้แก่พระยาเกษมศุขการี (คลับ แพ่งสภา) เมื่อทราบความประสงค์ดังนั้นแล้วนายกองนาท้วยจึงได้พาชาวบ้านส่วนหนึ่งเข้าไปเรียนปรึกษากับพระยาเกษมศุขการีและคุณหญิงไผ่ เกษมศุขการี
เมื่อท่านทั้งสองเห็นว่าชาวบ้านมีความตั้งใจจริง จังแสดงความยินดีพร้อมให้ความช่วยเหลือทุกอย่าง ในเบื้องต้นท่านทั้งสองได้บริจาคที่ดิน 11 ไร่ 1 งาน 49 ตราราวา เพื่อเป็นที่สำหรับสร้างวัด และได้ร่วมมือกับชาวบ้านช่วยกันสร้างเสนาสนะสงฆ์ขึ้น สันนิษฐานว่าเบื้องต้นเสนาสนะน่าจะมีหลังเดียวหรือสองหลัง เพราะพระสงฆ์อยู่จำพรรษามีจำนวนน้อย สำหรับชื่อของวัดนั้นเข้าใจว่าน่าจะเรียกกันว่า วัดสอง หรือ วัดที่สอง ตามชื่อคลอง ส่วนพระสงฆ์ที่ชาวบ้านนิมนต์มาอยู่จำพรรษาที่วัดสองนั้นไม่สามารถทราบได้ว่าเป็นพระสงฆ์จากวัดใด สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นวัดในบริเวณใกล้เคียง ด้วยเหตุผลว่ามีความคุ้นเคยกัน หรือมีความเกี่ยวพันกันโดยความเป็นญาติ
- พ.ศ. 2437 เจ้าอาวาสและพระสงฆ์ พร้อมกับชาวบ้านได้พิจารณาเห็นว่าวัดสองมีพระสงฆ์จำพรรษามากแล้ว เห็นสมควรให้ขอพระราชทานวิสุงคามสีมา เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการทำสังฆกรรมของพระสงฆ์ จึงได้เดินทางไปปรึกษากับพระยาเกษมศุขการีและคุณหญิงไผ่ เกษมศุขการี ท่านทั้งสองก็แสดงความยินดี พร้อมทั้งได้ทำหนังสือขอพระราชทานวิสุงคามสีมาให้แก่วัดด้วย
- พ.ศ. 2447 พระยาเกษมศุขการีและคุณหญิงไผ่ เกษมศุขการีและครอบครัว ได้เดินทางมาเป็นเจ้าภาพทอดกฐินแก่วัดสอง คราวเดียวกันนั้นได้ถวายขันน้ำมนต์ทองเหลืองไว้เป็นอนุสรณ์ด้วย หลักฐานชิ้นนี้สามารถยืนยันได้ว่าวัดสองนั้นมีชื่อเป็นทางการว่า “วัดสังฆราชาราษฎรบำรุง” แต่ชื่อดังกล่าวใครเป็นผู้ตั้งนั้นไม่สามารถสืบทราบได้ สันนิษฐานว่าพระยาเกษมศุขการี ซึ่งมีความคุ้นเคยสนิทสนมกับสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส อาจจะทูลขอให้พระองค์ประทานชื่อให้ เพราะชื่อของวัดมีนัยบอกว่าเป็นวัดพระสังฆราช มีราษฎรช่วยกันดูแลรักษา
- พ.ศ. 2467 เจ้าอาวาสนามว่า พระครูผ่อง เจ้าคณะแขวงลาดกระบัง (ต่อมาเป็นพระครูศีลธรรมไพโรจน์) ได้ปรึกษากับชาวบ้านเพื่อจัดงานยกช่องฟ้าอุโบสถ ซึ่งทิ้งค้างไว้มาหลายปี เมื่อชาวบ้านมีมติเป็นเอกฉันท์กลมเกลียวกันดีแล้ว พระครูผ่อง จึงได้ทำหนังสือทูลเชิญสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ เสด็จมาเป็นองค์ประธานยกช่องฟ้าอุโบสถ เหตุที่สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ได้เสด็จมาเป็นองค์ประธานยกช่องฟ้าวัดสังฆราชาราษฎรบำรุงในคราวนั้น เป็นเพราะพระครูผ่องมีความคุ้นเคยใกล้ชิดกับพระองค์ท่านมาก่อนหรืออาจเป็นเพราะพระยาเกษมศุขการีเป็นผู้กราบทูลเชิญพระองค์ท่านก็ไม่ทราบได้
วันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2467 เวลา 08.30 นาฬิกา สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ได้เสด็จมางานยกช่องฟ้าอุโบสถวัดสังฆราชา คราวนั้นพระครูผ่อง เจ้าคณะแขวงพร้อมด้วยคณะสงฆ์และข้าราชการชาวบ้าน โดยการนำของรองอำมาตย์เอก หลวงขจรบุรี นายอำเภอมีนบุรีได้รับเสด็จอยู่ตลอดเวลา จนถึงเวลาเสด็จกลับ
สมัยพระครูศีลธรรมไพโรจน์ (ผ่อง) เป็นเจ้าอาวาสวัดสังฆราชาราษฎรบำรุงนั้น วัดได้รับการพัฒนาจนกลายมาเป็นวัดใหญ่มีพระภิกษุสามเณรมากมาย นอกจากนั้นพระครูศีลธรรมไพโรจน์ ยังได้รับความไว้วางใจจากพระเถระผู้ใหญ่ให้เป็นเจ้าคณะแขวงทำหน้าที่ปกครองดูแลคณะสงฆ์เขตลาดกระบังอีกด้วย หลังจากพระครูศีลธรรมไพโรจน์มรณภาพแล้ว พระชิต อมฺพโร (ต่อมาเป็นพระครูวิชิตสังฆภาร) ลูกศิษย์ของท่านได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าอาวาสสืบแทนต่อจากท่าน สมัยพระครูวิชิตสังฆภารเป็นสมภารเจ้าวัดนี้เอง วัดสังฆราชาได้มีการพัฒนาหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกนักธรรมนั้น องค์การศึกษาแผนกธรรมสนามหลวงให้เปิดสนามสอบธรรมสนามหลวงขึ้นที่วัดสังฆราชา อำเภอลาดกระบัง จังหวัดพระนคร และเป็นสำนักเรียนคณะอำเภอลาดกระบัง เมื่อ พ.ศ. 2477
- พ.ศ. 2486 พระครูวิชิตสังฆภาร ได้รับแต่งตั้งจากสมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์ ให้เป็นเจ้าคณะอำเภอลาดกระบัง จังหวัดพระนคร นอกจากนั้นยังทำหน้าที่เป็นกรรมการสงฆ์อำเภอลาดกระบัง ตำแหน่งองค์การปกครองอีกด้วย
- พ.ศ. 2505 พระประเสริฐ เขมานนฺโท (ต่อมาเป็นพระครูเขมาภิรักษ์) เป็นเจ้าอาวาส ท่านได้ทำหน้าที่บูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะที่สร้างขึ้นมาสมัยพระครูวิชิตสังฆภารเป็นเจ้าอาวาส จนมีสภาพมั่นคงถาวร
- พ.ศ. 2538 พระสายหยุด สุภทฺโท (ต่อมาเป็นพระครูสังฆเสนานุวัตร) ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสสืบแทนพระครูเขมาภิรักษ์ที่มรณภาพไป หลังจากรับหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสแล้วหลวงพ่อพระครูสังฆเสนานุวัฒรได้พัฒนาวัดอย่างเป็นรูปธรรม
ด้านสาธารณูปการ ได้บูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะเก่า ก่อสร้างเสนาสนะถาวรวัตถุใหม่ ปรับปรุงบริเวณวัดให้มีสภาพร่มรื่น เปิดสวนปลาหน้าวัดเพื่อเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของชุมชนและเป็นเขตอภัยทาน ด้านการศึกษา ได้เปิดการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมแผนกธรรมและบาลีขึ้น มีพระภิกษุสามเณรสามารถสอบไล่ได้ในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก ส่วนด้านการเผยแพร่ มีนโยบายส่งพระภิกษุไปอบรมครูสอนศีลธรรม จากนั้นก็สนับสนุนให้ไปสอนตามโรงเรียนทั้งในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาต่าง ๆ หลายแห่ง ทั้งในเขตลาดกระบังและเขตใกล้เคียง
รายนามเจ้าอาวาส
แก้ลำดับ | รายนามเจ้าอาวาส | เริ่มวาระ | สิ้นสุดวาระ | |
1 | พระอาจารย์บุญชู | - | - | |
2 | พระอาจารย์เฟ ไกรแก้ว | - | - | |
3 | พระอาจารย์พุฒ | - | - | |
4 | พระครูศีลธรรมไพโรจน์ (ผ่อง) | พ.ศ. 2441 | พ.ศ. 2470 | |
5 | พระครูวิชิตสังฆภาร (ชิต อมฺพโร แสงฉาย) | พ.ศ. 2472 | พ.ศ. 2502 | |
6 | พระสมุห์ผล อภิธมฺมปาโล (ไกรแก้ว) | พ.ศ. 2502 | พ.ศ. 2503 | |
7 | พระอาจารย์หลี สมตฺโก (วิเชียรขำ) | พ.ศ. 2504 | พ.ศ. 2505 | |
8 | พระอาจารย์ผิว ทิวากโร (เมฆแดง) | พ.ศ. 2505 | พ.ศ. 2505 | |
9 | พระครูเขมาภิรักษ์ (ประเสริฐ เขมานนฺโท ไม้จันทร์) | พ.ศ. 2505 | พ.ศ. 2537 | |
10 | พระครูสังฆเสนานุวัตร (สายหยุด สุภทฺโท คล้ายปาน) | พ.ศ. 2538 | พ.ศ. 2561[1] | |
11 | พระครูภาวนาสุธรรมญาณ วิ. (ศุภชัย ปริชาโน) | พ.ศ. 2562 - ปัจจุบัน |
ปูชนียสถานและปูชนียวัตถุ
แก้พระประธานอุโบสถ
แก้พระประธานในพระอุโบสถมี 2 องค์ องค์บนชื่อว่าพระพุทธราชา และองค์ล่างชื่อว่าพระศรีสรรเพ็ชร เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยทั้ง 2 องค์ สำหรับพระศรีสรรเพ็ชรนั้นเป็นพระประธานในอุโบสถหลังเดิม สันนิษฐานว่าพระยาเกษมศุขการี และชาวบ้านคลองสองช่วยกันสร้างไว้ หลังจากรื้ออุโบสถหลังเก่าลงเพื่อสร้างหลังใหม่ทดแทน ชาวบ้านต้องการสร้างพระวิหารสำหรับพระศรีสรรเพ็ชรโดยเฉพาะ แต่พระเจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ได้แนะนำให้พระครูสังฆเสนานุวัตรว่าควรประดิษฐานไว้ในอุโบสถเช่นเดิม ส่วนพระพุทธราชานั้นเป็นองค์ที่หล่อขึ้นมาใหม่ เพื่อประดิษฐานไว้ในอุโบสถเช่นเดียวกัน ดังนั้นอุโบสถวัดสังฆราชาจังมีพระประธานถึงสององค์ ดังที่กล่าวมา
หลวงพ่อเพ็ชร
แก้หลวงพ่อเพ็ชรเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิเพชร ประวัติความเป็นมาไม่สามารถสืบค้นได้ สันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธรูปรุ่นเดียวกันกับหลวงพ่อเพชรวัดลานบุญ ต่างกันที่วัดลานบุญไม่มีกลีบจีวรปรากฏเหมือนวัดสังฆราชาเท่านั้น เข้าใจว่าอาจจะประดิษฐานมาตั้งแต่เริ่มตั้งวัด เพราะคนสมัยก่อนมีความเชื่อกันว่าเมื่อสร้างวัดเสร็จแล้วควรมีพระศักดิ์สิทธิ์คู่วัด หลวงพ่อเพ็ชรวัดสังฆราชานั้น ชาวบ้านนับถือกันว่า ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก กราบไหว้บูชา และปรารถนาสิ่งใดย่อมสำเร็จตามความปรารถนานั้น นอกจากนี้ภายในวิหารหลวงพ่อเพ็ชร และยังมีพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งได้รับพระราชทานมาจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พร้อมทั้งรูปหล่อหลวงพ่อพระครูวิชิตสังฆภาร (ชิต อมฺพโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดสังฆราชา พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ไว้สำหรับกราบไหว้บูชาอีกด้วย
พระอุโบสถ
แก้พระอุโบสถมีเขตวิสุงคามสีมา กว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร วางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2528 โดยมีพระครูเขมาภิรักษ์เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และพลตรี อิสรพงศ์ หนุนภักดี เป็นประธานฝ่ายฆราวาส นายหม่อง ไตรรัตน์ เป็นเจ้าภาพถวายเสาเข็มเป็นปฐม ส่วนผู้ควบคุมการก่อสร้างคือนายละออง (ตอง) พรมเพิ่ม สร้างเสร็จเรียบร้อย เมี่อ พ.ศ. 2538 สำหรับหินอ่อนรอบอุโบสถ พระเจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เป็นผู้มอบถวาย สิ้นงบประมาณทั้งหมดประมาณ 12,000,000 บาท
พ.ศ. 2554 พระเจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร พระครูสังฆเสนานุวัตรเจ้าอาวาสวัดสังฆราชา พระอาจารย์ศุภชัย ปริชาโน ร่วมกับชาวบ้านข้าราชการพ่อค้าและประชาชนทั่วไป ร่วมกันจัดงานผูกพัทธสีมา ปิดทองฝังลูกนิมิตขึ้น เมื่อวันที่ 1 - 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554
พระวิหาร
แก้พระวิหารเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อเพ็ชร หลังเดิมเป็นทรงไทยสองชั้นมีลักษณะเล็กกะทัดรัด ต่อมาพระครูสังฆเสนานุวัตร ร่วมกับคุณแม่ลำไย อ่อนน้อม ได้สร้างวิหารหลังใหม่ขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อเพ็ชร วิหารมีลักษณะทรงไทยประยุกต์ 4 มุข คอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาดกว้างและยาวของฐาน 11 เมตร ตัวมณฑปกว้างและยาว 7 เมตร สิ้นงบประมาณในการก่อสร้าง 3,750,000 บาท
พระปรางค์ และเจดีย์
แก้พระปรางค์และเจดีย์หลังเดิมสร้างโดยโยมปู่มุ้ย และโยมย่าทับ (บรรพบุรุษของพระเจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์) เมื่อ พ.ศ. 2475 ต่อมาพระเจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ได้ปรารภว่าพระปรางค์องค์เดิมที่สร้างไว้นั้นทรุดโทรมคร่ำคร่าลงไปมาก จึงได้บูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2546
ขันน้ำมนต์ทองเหลือง
แก้ขันน้ำมนต์ทำด้วยทองเหลืองขนาดใหญ่ สลักตัวอักษรไว้เป็นหลักฐานว่าพระยาเกษมศุขการี และคุณหญิงไผ่ เกษมศุขการี ได้สร้างถวายวัดสังฆราชาราษฎรบำรุง เมื่อ พ.ศ. 2447 เพื่อเป็นอนุสรณ์เมื่อคราวท่านทั้งสองเดินทางมาเป็นเจ้าภาพถวายกฐินแก่วัดสังฆราชาราษฎรบำรุง
โรงเรียนสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์
แก้พ.ศ. 2523 พระครูวินัยธรสายหยุด สุภทฺโท (ปัจจุบันเป็นพระครูสังฆเสนานุวัตร) ได้ดำเนินการเปิดการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีขึ้น มีนักเรียน 45 รูป โดยเปิดสอนในระดับประโยค 1-2 และประโยค ป.ธ. 3 แต่ปรากฏว่าสถานที่เรียนไม่เพียงพอ จึงได้เสนอโครงการสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ ต่อพระเจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544 พระเจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ได้เมตตาอนุเคราะห์รับเป็นเจ้าภาพสร้างอาคารเรียนหลังใหม่จนแล้วเสร็จ เมื่อเมษายน พ.ศ. 2547 ตัวอาคารมีขนาดกว้าง 9 เมตร ยาว 36 เมตร แบ่งเป็น 18 ห้อง ลักษณะทรงไทยประยุกต์ 3 ชั้น สิ้นงบประมาณในการก่อสร้าง 12,500,000 บาท
สมุดภาพ
แก้-
วิหารและหอระฆัง
อ้างอิง
แก้แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ วัดสังฆราชา
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์