วัดมัชฌันติการาม

วัดราษฎร์ในเขตบางซื่อ

วัดมัชฌันติการาม หรือ วัดน้อย เป็นวัดราษฎร์ตั้งอยู่ในซอยวงศ์สว่าง 11 เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร มีผู้สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เจ้าจอมมารดาเที่ยง พระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เข้ามาอุปถัมภ์ในปี พ.ศ. 2417 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า "วัดมัชฌันติการาม" เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่เจ้าจอมมารดาเที่ยง

วัดมัชฌันติการาม
แผนที่
ชื่อสามัญวัดน้อย
ที่ตั้งเลขที่ 102 ซอยวงศ์สว่าง 11 ถนนวงศ์สว่าง แขวงวงศ์สว่าง เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร 10800
นิกายเถรวาท (ธรรมยุติกนิกาย)
เจ้าอาวาสพระครูปลัดสุวัฒนวิสาลคุณ (บุญยอด สุเมโธ ดร.)
เว็บไซต์www.watmatchan.net
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

ประวัติ

แก้

วัดมัชฌันติการาม (วัดน้อย) ได้สร้างขึ้นมาเมื่อใดไม่มีหลักฐานปรากฏชัดเจน จึงยากที่จะทราบประวัติความเป็นมาที่ถูกต้อง จากการเล่าสู่กันมาของคนเฒ่าคนแก่ในท้องถิ่นประกอบกับหลักฐานที่พอจะรวบรวมได้ในปัจจุบันคือ วัดนี้เริ่มสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เป็นวัดป่าที่ล้อมไปด้วยสวนทุเรียน สวนกล้วย สวนหมาก สวนส้ม ในสมัยนั้นวัดยังไม่มีชื่ออย่างเป็นทางการ แต่เป็นสถานที่วิปัสสนากรรมฐานของพระธุดงค์ที่ผ่านไปมา มีพระอยู่บ้างไม่มีบ้าง[1]

จนในปี พ.ศ. 2417 เจ้าจอมมารดาเที่ยง ในรัชกาลที่ 4 ได้เป็นองค์อุปถัมภ์ในการก่อสร้างศาสนวัตถุต่างๆ เพื่อจะให้เป็นวัดที่ถูกต้องตามพระวินัยและกฎหมายบ้านเมือง การสร้างวัดได้มาสำเร็จเสร็จบริบูรณ์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 10 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงรับเป็นพระธุระในการผูกพัทธสีมา และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ทรงพระราชนามว่า "วัดมัชฌันติการาม"[1]

เมื่อสิ้นบุญเจ้าจอมมารดาเที่ยงแล้ว เจ้าจอมมารดาแส ในรัชกาลที่ 5 และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอัพภันตรีปชา เป็นผู้ให้การอุปถัมภ์สืบต่อๆกันมาตามลำดับ จนมาถึงประชาชนทั่วไปให้การอุปถัมภ์ดังที่ปรากฏให้เห็นกันในปัจจุบัน เนื่องจากสมัยก่อนการคมนาคมยังไม่สะดวกเหมือนอย่างในปัจจุบัน เมื่อจะเดินทางมาที่วัดมัชฌันติการามจะต้องเดินทางมาทางน้ำ โดยนั่งเรือเข้าคลองบางเขนใหม่ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของวัด จึงเป็นที่มาของการสร้างพระอุโบสถหันหน้าไปทางทิศตะวันตก พระอุโบสถได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. 2418 เขตวิสุงคามสีมากว้าง 40 เมตร ยาว 60 เมตร[1]

ส่วนการตั้งชื่อวัดก็เนื่องมาจาก เจ้าจอมมารดาเที่ยงเป็นผู้อุปถัมภ์ ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามวัดว่า "มัชฌันติการาม" ตามชื่อของผู้อุปถัมภ์วัดคือ "มัชฌันติก" และอารามซึ่งแปลว่า "เที่ยง" และ "วัด" เมื่อรวมกันจึงแปลได้ว่า "วัดของเจ้าจอมมารดาเที่ยง" คนส่วนมากมักจะเรียนว่า "วัดน้อย" เพราะง่ายต่อการออกเสียงมากกว่า สันนิษฐานการเรียกว่าวัดน้อยนี้ เพราะเป็นวัดของเจ้าจอมมารดาในรัชกาลที่ 4 ซึ่งให้การอุปถัมภ์ ชาวบ้านทั่วไปถือว่าเป็นนางสนม เพื่อให้เข้าใจง่ายคู่กับวัดหลวง ซึ่งเป็นวัดที่ภรรยาหลวงให้การอุปถัมภ์เช่นเดียวกัน (อยู่ในซอยวงศ์สว่าง19 ปัจจุบันวัดหลวงไม่มีแล้ว เหลือแต่ที่ดินของวัด ซึ่งสำนักงานศาสนสมบัติ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นผู้ดูแลอยู่) เนื่องจากการคมนาคมไม่สะดวกในสมัยก่อน จึงทำให้มีพระจำพรรษาไม่กี่รูป ต้องไปนิมนต์พระจากวัดอื่นมาอยู่จำพรรษา เช่น วัดราชาธิวาส วัดปทุมวนาราม วัดราชบพิธ และวัดบวรนิเวศ จนต่อมามีการตัดถนนวงศ์สว่างผ่านด้านหลังวัด ทางวัดพร้อมด้วยอุบาสกอุบาสิกา ราษฎรผู้มีจิตศรัทธาช่วยกันบริจาคที่ดินตัดถนนเข้าวัดในสมัย พระครูวิจิตรธรรมสาร (ไขย จนฺทสาโร) เจ้าอาวาสรูปที่ 7[1]

หลังจากนั้นทางวัดได้ขออนุญาตเปิดโรงเรียนพระปริยัติธรรม ทั้งแผนกนักธรรมและบาลีขึ้น โดยเป็นสาขาของวัดบวรนิเวศ จึงเป็นเหตุให้มีพระภิกษุสามเณรเข้ามาศึกษาเล่าเรียนเป็นจำนวนมาก ในแต่ละปีมีพระภิกษุสามเณรสอบได้นักธรรมและบาลีเป็นจำนวนมาก จนได้รับการยกย่องจากพระเถรานุเถระชั้นผู้ใหญ่ตลอดมา[1]

ปัจจุบันวัดมีเนื้อที่โดยประมาณ 24 ไร่ โดยแบ่งออกเป็นพื้นที่ของยกโรงเรียนวัดมัชฌันติการาม 4 ไร่ 4 ตารางวา, สำนักนารีพรต 2 ไร่ 2 งาน นอกนั้นจึงเป็นเนื้อที่ของเขตพุทธาวาส สังฆาวาส ฌาปนสถาน และสวนปฏิบัติธรรม ปัจจุบัน วัดมีโครงการจะซื้อต่อออกไปอีกเพื่อทำสวนปฏิบัติธรรม ซึ่งอยู่ระหว่างรวบรวมปัจจัย[1]

ปูชณียสถานและถาวรวัตถุ

แก้

พระอุโบสถ

แก้

เป็นพระอุโบสถเก่าแก่ สร้างมาตั้งแต่สมัยเริ่มสร้างวัด มาแล้วเสร็จและผูกพัทธสีมาให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัยในปี พ.ศ. 2418 รูปแบบพระอุโบสถเดิมไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ เป็นทรงปั้นหยา แต่เนื่องจากได้รับการบูรณะหลายครั้ง จึงมีรูปแบบอย่างที่เห็นในปัจจุบัน โดยมีความยาว 22.50 เมตร กว้าง 9.80 เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันตกอันมีคลองบางเขนใหม่เป็นทิศเบื้องหน้า หลังคามุงกระเบื้องโบราณ มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันถือปูน มีตรีมูรติอยู่บนพานอันเป็นสัญลักษณ์ของราชวงศ์จักรี ภายใต้มงกุฎคราบ มีฉัตร 5 ชั้น ประดับทั้ง 2 ข้าง [2]

เจดีย์องค์ใหญ่

แก้

เป็นเจดีย์ที่สร้างมาพร้อมพระอุโบสถ เป็นเจดีย์ทรงระฆังคว่ำสีทอง สูง 17 เมตร ภายในมีพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุของพระสาวกขึ้นประดิษฐานอยู่ ในวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2555 เจดีย์แห่งนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกของชาติจากกรมศิลปากร[2]

ศาลาการเปรียญ

แก้

เป็นศาลา 2 ชั้น ผูกเหล็กหล่อปูนใช้เป็นที่ทำบุญในวันพระและวันสำคัญทางพุทธศาสนา ซึ่งแต่เดิมเป็นศาลาการเปรียญไม้ 2 ชั้น โดยข้างบนใช้ประกอบพิธีส่วนชั้นล่างปล่อยโล่ง ได้รับการรื้อและสร้างใหม่ในสมัย พระครูวิจิตรธรรมสาร (ไขย จนฺทสาโร) เจ้าอาวาสรูปที่ 7 ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันเป็นรูปลายไทย มีรูปปั้นเป้นกงล้อ ในวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2553 ได้ทำการบูรณะศาลาการเปรียญให้สูงขึ้น แล้วทำการเทพื้นล่างใหม่ พร้อมทั้งประดับตกแต่งติดไฟ พัดลม ปัจจุบัน จะมีพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาจัดขึ้นทีชั้นล่างของศาลาการเปรียญ แห่งนี้[2]

โรงเรียนพระปริยัติธรรม

แก้

โรงเรียนพระปริยัติธรรม เป็นอาคารเรียน 3 ชั้น ชั้นที่ 1 เป็นห้องประชุมและเป็นที่จัดงานการกุศลต่างๆ ปัจจุบันใช้เป็นสถานที่ประกิบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา ทำบุญในวันพระ สืบเนื่องมาจากมีการบูรณปฏิสังขรณ์ศาลาการเปรียญหลังเก่า ชั้นที่ 2 เป็นห้องเรียนและสำนักงานโรงเรียนพระปริยัติธรรม ทั้งแผนกนักธรรมและบาลี ซึ่งจะจัดให้มีการเรียนการสอนในช่วงเข้าพรรษาของทุกปี ชั้นที่ 3 เป็นห้องสมุด พร้อมห้องอบรมวิบัสสนากรรมฐาน หน้าบันทั้ง 3 ด้าน เป็นภาพเกี่ยวกับพุทธประวัติ [2]

วิหารหลวงปู่อ่อน

แก้

เป็นวิหารที่ประดิษฐานรูปเหมือนปูนปั้นของพระครูธรรมสารวิจิตร (อ่อน ญาณเตโช) โดยคณะศิษย์สร้างถวายในปี พ.ศ. 2515 เป็นวิหารก่ออิฐถือปูน ตั้งอยู่ทางซ้ายของพระอุโบสถ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ประดิษฐานรูปเหมือนของ พระครูวิจิตรธรรมสาร (ไขย จนฺทสาโร) และพระครูใบฎีกาพันธ์ อาจาโร ในปัจจุบันนี้วิหารหลวงปู่อ่อนได้สร้างขึ้นใหม่เป็นวิหารจัตุรมุข มียอดฟ้าใบระกา ปูพื้นด้วยกระเบื้องแผ่นใหญ่ ประตูหน้าต่างเป็นไม้ มีโรงจอดเรือของหลวงปู่อ่อนอยู่ด้านหลังของวิหาร ติดโคมไฟทั้งข้างใน และรอบวิหาร ปัจจุบันวิหารหลวงปู่อ่อนตั้งอยู่ข้างท่าน้ำทางด้านซ้าย ติดกับต้นโพธิ์ใหญ่ และติดประตูทางเข้าวัด [2]

ซุ้มประตูวัด

แก้

เป็นซุ้มประตูที่ตั้งอยู่บริเวณปากซอยวงศ์สว่าง 11 ถนนวงศ์สว่าง เป็นซุ้มประตูวัดแห่งเดียวในเขตบางซื่อ ที่นำตราคณะธรรมยุติกนิกายมาประดิษฐานบนซุ้ม ทำด้วยหินอ่อนขัดทั้งซุ้ม ต่อมาทรุดโทรมลงมากทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้เป็นผู้บูรณปฏิสังขรณ์ให้ใหม่จนแล้วเสร็จ[2]

หอระฆัง

แก้

เป็นหอระฆัง ๒ ชั้น หลังคาเป็นทรงไทย ก่ออิฐถือปูนทั้งหลัง ชั้นหนึ่งใช้เป็นที่แขวนกลอง ชั้นสองใช้เป็นที่แขวนระฆังเพื่อตีบอกสัญญาณในวันพระและวันสำคัญอื่น ๆ สร้างในสมัยพระครูวิจิตรธรรมสาร อดีตเจ้าอาวาสรูปที่ ๗ ซึ่งหอระฆัง ๒ ชั้นดังกล่าว ได้ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา และไม่มีให้เห็นแล้ว และได้สร้างหอระฆัง ๓ ชั้น หน้าศาลาการเปรียญ แต่ก็ได้รื้อเสียแล้ว และได้สร้างหอระฆัง ๓ ชั้น ขึ้นใหม่แต่ตำแหน่งใกล้เคียงกับหอระฆัง ๒ ชั้น ในอดีต ซึ่งได้สร้างขึ้นในสมัยของพระครูธีรสารปริยัติคุณ เจ้าอาวาสรูปที่ ๘[2]

ทำเนียบเจ้าอาวาส

แก้

อ้างอืง[1]

ลำดับที่ รายนาม เริ่มวาระ สิ้นสุดวาระ
1 พระครูธรรมสารวิจิตร (อ่อน ญานเตโช) พ.ศ. 2440 พ.ศ. 2457
2 พระอาจารย์กล่อม พ.ศ. 2457 พ.ศ. 2460
3 พระอาจารย์สำราญ พ.ศ. 2461 พ.ศ. 2464
4 หลวงตาอินทร์ พ.ศ. 2464 พ.ศ. 2468
5 พระครูชม (วัดราชบพิธ) พ.ศ. 2469 พ.ศ. 2476
6 พระอาจารย์คำภา พ.ศ. 2476 พ.ศ. 2486
7 พระครูวิจิตรธรรมสาร (ไขย จนฺทสาโร) พ.ศ. 2486 พ.ศ. 2540
8 พระพุทธิสารโสภณ (เดช กตปุญฺโญ) รศ.ดร. พ.ศ. 2540 พ.ศ. 2564
- พระราชธีรสารมุนี (เที่ยง ปภาคโม) (รักษาการแทน) พ.ศ. 2564 พ.ศ. 2565
9 พระครูปลัดสุวัฒนวิสาลคุณ (บุญยอด สุเมโธ ดร.) พ.ศ. 2565 ปัจจุบัน

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 ประวัติวัดมัชฌันติการาม เก็บถาวร 2020-07-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เขียน ณ วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2561 โดยหลวงพี่นนท์ สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2563
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 ปูชนียสถานที่สำคัญในวัดมัชฌันติการาม watmatchan.net เขียนเมื่อ 12 มีนาคม พ.ศ. 2561 โดยหลวงพี่นนท์

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้