วัดพระพิเรนทร์

วัดในกรุงเทพมหานคร

วัดพระพิเรนทร์ เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่เลขที่ 326 ถนนวรจักร แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร

วัดพระพิเรนทร์
อุโบสถวัดพระพิเรนทร์
แผนที่
ชื่อสามัญวัดพระพิเรนทร์
ที่ตั้งเลขที่ 326 ถนนวรจักร แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร 10100
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
ก่อตั้งสมัยอยุธยา
พระพุทธรูปสำคัญ- หลวงพ่อดำ
- พระประธานอุโบสถ
เจ้าอาวาสพระครูภัทรกิตติสุนทร (แถม กิตฺติภทฺโท) ป.ธ.4
มหามงคล- รูปเหมือนพระเทพคุณาธาร(ผล ชินปุตฺโต)
- พ่อแก่ บรมครูของศิลปิน
จุดสนใจ- อุโบสถ
- มณฑปพระเทพคุณาธาร (ผล ชินปุตฺโต)
- วิหารหลวงพ่อดำ
- อาศรมพ่อแก่ (สมาคมสงเคราะห์สหายศิลปิน)
หมายเหตุ
ชื่อที่ขึ้นทะเบียนโบราณสถานวัดพระพิเรนทร์
ขึ้นเมื่อ12 มกราคม พ.ศ. 2566
เป็นส่วนหนึ่งของรายชื่อโบราณสถานในกรุงเทพมหานคร (เขตป้อมปราบศัตรูพ่ายและสัมพันธวงศ์)
เลขอ้างอิง0005526
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

ประวัติ

แก้

เป็นวัดโบราณ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา[1] ไม่พบข้อมูลว่าเดิมชื่อวัดอะไร ราว พ.ศ. 2379 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการสร้างและปฏิสังขรณ์วัดทั่วพระนครนั้น พระพิเรนทรเทพ (ขำ ณ ราชสีมา) เจ้ากรมพระตำรวจใหญ่ขวา ได้ปฏิสังขรณ์วัดนี้ และสร้างกุฏิใหม่จำนวน 12 หลัง เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล และได้รับพระราชทานนามว่า วัดขำเขมการาม ตามชื่อผู้ปฏิสังขรณ์ แต่ทั่วไปมักเรียกลําลองว่า วัดพระพิเรนทร์ ตามบรรดาศักดิ์ ซึ่งเป็นที่รู้จักและเข้าใจมากกว่า[2]

ต่อมารัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระพิเรนทรเทพ (ขำ ณ ราชสีมา) ขณะนั้นมีบรรดาศักดิ์ที่ พระยาไชยวิชิต ตำแหน่งผู้รักษากรุงเก่า ไปเป็น พระยานครราชสีมา ตำแหน่งเจ้าเมืองนครราชสีมา (โคราช) พระองค์จึงแปลงนาม วัดขำเขมการาม เป็น วัดขำโคราช ตามชื่อและตำแหน่งซึ่งพระราชทานใหม่[3]

กระทั่งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงปรากฏใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า วัดพระพิเรนทร์ ซึ่งเป็นที่รู้จักและเข้าใจมากกว่า

วัดพระพิเรนทร์ได้รับการทำนุบำรุงโดยราษฎรในพื้นที่ ในระยะเวลาหนึ่งเกิดการทรุดโทรม ถึงราว พ.ศ. 2434–2435 คุณหญิงสมบัตยาธิบาล (เงิน) ภริยาของพระยาสมบัตยาธิบาล (ปาน) จึงดำเนินการปฏิสังขรณ์วัดเป็นการใหญ่ โดยดำเนินการสร้างอุโบสถหลังใหม่ ศาลา กุฎิ หอระฆัง และถนน กับซ่อมแซมสรรพสิ่งต่างๆ ที่ชำรุดทรุดโทรม เสร็จแล้วจึงจัดงานฉลอง ขอพระราชทานถวายเป็นพระราชกุศล โดยกระทรวงธรรมการได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ทรงอนุโมทนาในการกุศลนี้ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2445[4]

สมัยพระเทพคุณาธาร (ผล ชินปุตฺโต) เป็นเจ้าอาวาส วัดมีความรุ่งเรือง มีพระภิกษุสามเณรและศิษย์วัดจำนวนมาก เป็นแหล่งผลิตบัณฑิต เช่น สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)[5] ที่เคยจำพรรษา และดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดนี้

ที่ดินตั้งวัดมีพื้นที่จำนวน 7 ไร่ 1 งานเศษ ลักษณะรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทิศเหนือเป็นอาคารพาณิชย์ติดถนนหลวง ทิศตะวันออกเป็นอาคารพาณิชย์ติดถนนวรจักร ทิศใต้ติดถนนคลองถมวัดพระพิเรนทร์ ทิศตะวันตกติดชุมชนวังแดง

ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2438 ขนาดกว้าง 9 วา ( 18 เมตร ) ยาว 15 วา ( 30 เมตร)[6]

เป็นโบราณสถาน หมายเลขทะเบียน 0005526 ของกรมศิลปากรที่ขึ้นทะเบียนตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ.2566[7]

ทำเนียบเจ้าอาวาส

แก้

ทำเนียบเจ้าอาวาสวัดพระพิเรนทร์ อดีตถึงปัจจุบัน เท่าที่พบข้อมูล[1][2]

ลำดับ รายนาม เริ่มวาระ สิ้นสุดวาระ หมายเหตุ
1 พระอธิการไกร - - เจ้าอาวาส
2 พระอธิการเอี่ยม - - เจ้าอาวาส , ลาสิกขา
3 พระอธิการเทศ - - เจ้าอาวาส , ทุพพลภาพ
4 พระอธิการเหม - พ.ศ. 2457 เจ้าอาวาส , มรณภาพ
5 พระอธิการปอ ธมฺมกถิโก พ.ศ. 2458 พ.ศ. 2472 เจ้าอาวาส , มรณภาพ
6 พระเทพคุณาธาร (ผล ชินปุตฺโต) ป.ธ.4 พ.ศ. 2473 พ.ศ. 2476 รักษาการ
พ.ศ. 2476 พ.ศ. 2512 เจ้าอาวาส , มรณภาพ
7 พระครูวินัยธร ใช้เลี้ยง จารุวณฺโณ พ.ศ. 2512 พ.ศ. 2515 รักษาการ
8 พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ป.ธ.9 พ.ศ. 2515 พ.ศ. 2521 เจ้าอาวาส , ลาออก
9 พระครูปลัด สมัย กิตฺติทตฺโต พ.ศ. 2521 พ.ศ. 2522 เจ้าอาวาส , มรณภาพ
10 พระครูวรกิจวิจารณ์ (ใช้เลี้ยง จารุวณฺโณ) พ.ศ. 2522 พ.ศ. 2526 เจ้าอาวาส , มรณภาพ
11 พระครูกิตติญาณประยุต (ประสม กิตฺติญาโณ) พ.ศ. 2526 พ.ศ. 2531 เจ้าอาวาส , มรณภาพ
12 พระเทพวิสุทธิโมลี (อุทัย อุทโย) ป.ธ.9 พ.ศ. 2532 พ.ศ. 2555 เจ้าอาวาส , มรณภาพ
13 พระครูภัทรกิตติสุนทร (แถม กิตฺติภทฺโท) ป.ธ.4 พ.ศ. 2555 - เจ้าอาวาส , ปัจจุบัน

ปูชนียวัตถุและปูชนียสถาน

แก้

อุโบสถ

แก้

อุโบสถ หลังเดิมไม่พบข้อมูลการสร้าง ต่อมาทรุดโทรม ราว พ.ศ. 2434–2435 จึงดำเนินการรื้อแล้วสร้างใหม่ ณ พื้นที่เดิม ปรับขยายขนาดให้ใหญ่กว่าเดิม โดยมีพระอาจารย์เขียว เป็นผู้นำการก่อสร้าง พระยาราชสงคราม (ทัด หงสกุล) เป็นผู้กำกับการก่อสร้าง คุณหญิงสมบัตยาธิบาล (เงิน) เป็นผู้ออกทรัพย์ก่อสร้างและเป็นผู้กราบบังคมทูลขอพระราชทานวิสุงคามสีมา ได้รับพระราชทานเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2438 ขนาดกว้าง 9 วา (18 เมตร) ยาว 15 วา (30 เมตร)[6] แต่ทำพิธีผูกพัทธสีมาขนาดกว้าง 9 เมตร ยาว 17 เมตร ส่วนที่เหลือเป็นเขตอุปจาร[1]

ลักษณะอุโบสถ เป็นฝีมือช่างหลวง โดดเด่นด้วยการผสมผสานสถาปัตยกรรมแบบตะวันออกกับตะวันตก ตัวอุโบสถยกพื้นสูง ไม่มีเสาหารและคันทวย แต่ดัดแปลงเป็นซุ้มแบบกอทิกรับพาไล ช่อฟ้าลักษณะเป็นหัวพญานาคอ้าปากเห็นเขี้ยว ซุ้มประตูและหน้าต่างเป็นปูนปั้นลายกนก บานประตูไม้แกะสลักลายใบเทศฝีมือช่างจีน ซุ้มอาคารด้านหน้าและด้านหลังประดิษฐานพระพุทธรูปยืนด้านละ 1 องค์ ภายในอาคารประดิษฐานพระพุทธรูปปางสมาธิ เป็นพระประธานประจำอุโบสถ จำนวน 1 องค์ แวดล้อมด้วยพระพุทธรูปนั่งจำนวน 6 องค์ และพระพุทธรูปยืนจำนวน 6 องค์

มณฑปพระเทพคุณาธาร (ผล ชินปุตฺโต)

แก้

ตั้งอยู่ระหว่างอุโบสถกับวิหาร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2530 ภายในประดิษฐานรูปเหมือนพระเทพคุณาธาร (ผล ชินปุตโต) อดีตเจ้าอาวาสวัดพระพิเรนทร์ ผู้พัฒนาวัดให้มีความเจริญและมีชื่อเสียง เป็นพระนักพัฒนา นักก่อสร้าง มีผลงานด้านสาธารณูปการ เช่น วัด โรงพยาบาล โรงเรียน ฌาปนสถาน ฯลฯ และให้การส่งเสริมการศึกษา สงเคราะห์พระภิกษุสงฆ์ สามเณร นักเรียน นักศึกษา ศิลปิน พ่อค้าแม่ค้า อีกเป็นจำนวนมาก[2]

เก๋งจีน

แก้

ตั้งอยู่หน้ามณฑปพระเทพคุณาธาร (ผล ชินปุตฺโต) สร้างโดยชาวไทยเชื้อสายจีนซึ่งพำนักอาศัยอยู่บริเวณวัด เมื่อ พ.ศ. 2508 ภายในประดิษฐานพระสังกัจจายน์ และยังเป็นที่ตั้งศูนย์บูชาวัตถุมงคลวัดพระพิเรนทร์[2]

วิหารหลวงพ่อดำ

แก้

วิหารหลังเดิมไม่พบข้อมูลการสร้าง ตัวอาคารหันหน้าเข้าสู่คลองวัดพระพิเรนทร์ (ถนนคลองถมวัดพระพิเรนทร์ในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นหน้าวัด ต่อมาทรุดโทรม ราว พ.ศ. 2460 สมัยพระอธิการปอเป็นเจ้าอาวาส จึงดำเนินการรื้อแล้วสร้างใหม่ ณ พื้นที่เดิม แต่ปรับเปลี่ยนทิศทางหันหน้าไปยังทิศตะวันออก ขนานเคียงคู่กับอุโบสถ

ภายในอาคารประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น ปางมารวิชัย ศิลปะช่างพื้นบ้าน พระนามว่า "หลวงพ่อดำ" เป็นพระพุทธรูปโบราณ มีอายุเก่าแก่คู่วัดมาช้านาน ประชาชนนิยมนับถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก นอกจากนี้ยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปโลหะ ปางมารวิชัย ศิลปะเชียงแสน (จำลอง) พระนามว่า "หลวงพ่อเพชร"[2]

เจดีย์

แก้

ตั้งอยู่บริเวณทิศใต้ของวิหาร เป็นเจดีย์ทรงลังกา สร้างขึ้นเมื่อใดไม่พบข้อมูล ราวสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ชำรุดเสียหาย ทางวัดจึงดำเนินการบูรณะมีรูปทรงที่ปรากฏในปัจจุบัน

สมาคมสงเคราะห์สหายศิลปิน (ส.ส.ศ.)

แก้

จัดตั้งโดยกลุ่มศิลปิน เพื่อช่วยเหลือและส่งเสริมศิลปะ ศิลปิน โดยได้รับการอุปถัมภ์จากทางวัดให้ใช้สถานที่ดำเนินการสมาคมและเป็นอาศรมพ่อแก่ บรมครูของศิลปิน ซึ่งประชาชนนิยมมาสักการะบูชา[2]

เทศกาล และงานประจำปี

แก้
  • พิธีบำเพ็ญกุศล สวดพระอภิธรรมและฌาปนกิจศพพระภิกษุไร้ญาติ จากโรงพยาบาลสงฆ์ (จัดต่อเนื่องมากว่า 60 ปี) วันที่ 13 เมษายน ของทุกปี
  • พิธีไหว้ครู สมาคมสงเคราะห์สหายศิลปิน (ส.ส.ศ.) วัดพระพิเรนทร์ วันพฤหัสบดีแรกของเดือนกันยายน ของทุกปี
  • พิธีบำเพ็ญกุศลทักษิณานุปทาน อุทิศถวายอดีตเจ้าอาวาส บูรพาจารย์ และผู้มีพระคุณต่อวัด (วัดบูรพาจารย์) วันที่ 7 ตุลาคม ของทุกปี

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 คณะสงฆ์วัดพระพิเรนทร์. ประชุมพระนิพนธ์เกี่ยวกับตำนานทางพระพุทธศาสนา ของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระเทพคุณาธาร (ผล ชินปุตฺโต). พระนคร : โรงพิมพ์รุ่งเรืองธรรม, 2514.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 วัดพระพิเรนทร์. ประวัติสังเขป วัดพระพิเรนทร์. กรุงเทพมหานคร : [ม.ป.พ.], 2566.
  3. ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ), เจ้าพระยา,. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ 4 พศ 2394-2411 ฉะบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงธรรมสารเนติ (อบ บุนนาค). [ม.ป.ท.] : โรงพิมพ์พระจันทร์, 2477.
  4. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกพยาบาล ,แผนกสังฆการี ,แผนกกรมศึกษาธิการ [สภาอุณาโลมแดงส่งยาแก่ทหาร, รายงานปลูกไข้ทรพิษ, บริจาคเงินแก่โรงพยาบาล, การปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ ศาลากุฎี หอระฆังและถนน, เปลี่ยนไวยาวัจกร, บริจาคทรัพย์บำรุงให้แก่ครูโรงเรียน], เล่ม 19 ตอนที่ 53 หน้า 1026, 22 มีนาคม 2445
  5. "วัดพระพิเรนทร์ วัดเล็กๆ แต่ผลิตบัณฑิตมาก". โพสต์ทูเดย์. 8 ตุลาคม 2560.
  6. 6.0 6.1 ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานวิสุงคามสีมาสามัญ, เล่ม 12 ตอนที่ 39 หน้า 362, 28 ธันวาคม 2438
  7. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกรมศิลปากร เรื่อง รายชื่อโบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานคร ฉบับที่ 2, เล่ม 140, ตอนพิเศษ 149 ง, 23 มิถุนายน 2566, หน้า 22