วัดประตูป่า
วัดประตูป่า เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลประตูป่า อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน ที่ตั้งวัดมีเนื้อที่ 4 ไร่ และที่ดินของวัดจำนวน 8 แปลงอยู่รอบบริเวณวัด จำนวน 16.1 ไร่ เป็นที่ตั้งของโรงเรียนวัดประตูป่ารวมอยู่ด้วยในปัจจุบัน
วัดประตูป่า | |
---|---|
หอไตร | |
ที่ตั้ง | ตำบลประตูป่า อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน |
ประเภท | วัดราษฎร์ |
นิกาย | มหานิกาย |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
ประวัติ
แก้วัดประตูป่าตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2301 เป็นชุมชนชาวยองประตูป่าที่อพยพจากการที่พม่ายกทัพมาตีเมืองเหนือ นครหริภุญไชย เมื่อประมาณ พ.ศ.2300 โดยกลุ่มเจ้านายเมืองลำพูนที่อพยพหนีภัยสงครามไปหลบซ่อนตัวอยู่ที่บ้านประตูป่าต่อมาจึงมีการสร้างวัดและหอไตร[1]
ชื่อของวัดตั้งตามที่หมู่บ้าน วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2464[2] สมัยครูบาธรรมชัย เป็นเจ้าอาวาส[3]
อาคารเสนาสนะ
แก้อาคารเสนาสนะที่สำคัญ คือ หอพระไตรปิฏกซึ่งกรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เป็นอาคารไม้สักทั้งหลัง จำนวนเสาทั้งหมด 24 ต้น ยกพื้นเป็น 2 ชั้น ชั้นบนบริเวณที่เก็บ คัมภีร์ มีการยกขึ้นสูงอีกชั้น ด้านหน้าบันแกะสลักลวดลายดอกไม้ ฝังกระจกแก้วตะกั่ว อ่อนช้อยงดงาม ตามแบบฝีมือช่างชาวยอง ฝาผนังไม้ด้านใน และลูกฟักด้านนอกเขียนลายทองเป็นรูป นกยูง และเทวดา รอบทั้งหมด ด้านในห้องเก็บหีบธรรม มีหีบธรรม 9 หีบ
วิหารมีขนาดใหญ่ เป็นรูปทรงล้านนา หน้าบันแกะสลักไม้ปิดทองประดับกระจก เสาวิหารเป็นไม้ ลงลายรดน้ำปิดทอง มีจิตรกรรมฝาผนัง วิหารเดิมหลังเล็ก ไม่ทราบปีก่อสร้างแน่ชัด เคยบูรณะสมัยครูบาธรรมชัยเมื่อ พ.ศ. 2494 โดยก่อเสริมมุขด้านหน้าเพิ่มเติม บูรณะครั้งที่ 2 สมัยพระครูสถิตธรรมากร เมื่อ พ.ศ. 2537
เจดีย์เป็นศิลปะช่างชาวยอง ลักษณะคล้ายองค์พระธาตุหริภุญชัย มีฐานกว้าง 10 เมตร สูง 20 เมตร หุ้มทองจังโก๋ ภายในองค์เจดีย์บรรจุของมีค่า ยอดเจดีย์รูปหม้อคว่ำบรรจุพระตระกูลลำพูน ทั้ง 4 มุมมีเจดีย์เล็ก 4 องค์เสริมรับองค์เจดีย์ให้สูงเด่นเป็นสง่า ภายในรั้วมีกู่บรรจุอัฏฐิครูบาธรรมชัย และกู่พระครูสถิตธรรมากรปิดทองคำเปลว ไม่ทราบปีที่สร้างแน่ชัด บูรณะครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2437 สมัยครูบาอริยะ บูรณะครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2487 สมัยครูบาธรรมชัย ล่าสุดเมื่อ พ.ศ. 2542 สมัยพระครูสถิตธรรรมากรเป็นเจ้าอาวาส[4]
อ้างอิง
แก้- ↑ "วัดประตูป่า". ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม.
- ↑ "รายงานทะเบียนวัดจังหวัดลำพูน".
- ↑ "พาเที่ยวชมตลาดวัดประตูป่า วิถีชีวิตชุมชนชาวยองเก่าแก่ที่ยังคงอยู่อย่างเหนียวแน่นของเมืองลำพูน". เชียงใหม่นิวส์.
- ↑ "วัดประตูป่า จ.ลำพูน กับตำนานและปูชนียสถาน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-07-12. สืบค้นเมื่อ 2021-07-12.