วรรณกรรมไทย
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
วรรณกรรมหรือวรรณคดี คือ งานเขียนที่แต่งขึ้นทุกชนิด ทั้งประเภทร้อยแก้วและร้อยกรอง โดยมีคุณค่าทาง “วรรณศิลป์” ที่ทำให้งานเขียนนั้นเป็นวรรณกรรม ซึ่งแตกต่างจากงานเขียนประเภทอื่น ๆ วรรณกรรมเป็นความหมายกว้างที่หมายถึง งานเขียนทุกประเภท เมื่อมีการประเมินค่าจึงมีการแบ่งประเภทเป็นวรรณกรรมและวรรรคดี
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554[1] ให้ความหมายของ วรรณคดี ไว้ว่า “วรรณกรรมที่ได้รับการแต่งดี มีคุณค่าเชิงวรรณศิลป์ถึงขนาด” และความหมายของ วรรณกรรม ไว้ว่า “งานหนังสือ งานประพันธ์ทุกชนิดทั้งที่เป็นร้อยแก้วและร้อยกรอง”
ความแตกต่างระหว่างวรรณกรรมและวรรณคดี[2]
วรรณกรรม คือ งานเขียน งานหนังสือ บทประพันธ์ทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นร้อยแก้ว ร้อยกรอง เช่น หนังสือ จุลสาร สิ่งพิมพ์ เหล่านี้ล้วนเป็นวรรณกรรมทั้งสิ้น
วรรณคดี คือ วรรณกรรมที่ได้รับการยกย่องว่า มีกลวิธีการแต่งที่ดี มีคุณค่าเชิงวรรณศิลป์ เช่น เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน พระอภัยมณี เป็นต้น
การแบ่งยุควรรณกรรม
วรรณคดีไทยมีประวัติยาวนานนับได้ตั้งแต่ก่อนการตั้งอาณาจักรสุโขทัยนั้น ซึ่งมีอยู่ในรูปแบบแห่งวรรณกรรมมุขปาฐะ (คือวรรณกรรมที่เล่าสืบต่อกันมา) และวรรณกรรมลายลักษณ์ (คือวรรณกรรมที่เขียนไว้เป็นตัวอักษร) ในที่นี้สมควรกล่าวถึงเฉพาะวรรณกรรมลายลักษณ์ ที่นักวรรณคดีไทยยอมรับกันทั่วไปว่าเป็นของไทยแท้ ๆ โดยแบ่งได้เป็น 5 สมัย ดังนี้
- วรรณคดีสมัยสุโขทัย (ราว พ.ศ. 1781 - 1920)
- วรรณคดีสมัยอยุธยาตอนต้น (ราว พ.ศ. 1893 - 2072)
- วรรณคดีสมัยอยุธยาตอนปลาย (ราว พ.ศ. 2163 - 2310)
- วรรณคดีสมัยธนบุรี (ราว พ.ศ. 2311 - 2324)
- วรรณกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ (ราว พ.ศ. 2325 - ปัจจุบัน)
วรรณคดีสมัยสุโขทัย
แก้วรรณคดีสมัยสุโขทัย (พ.ศ. 1781 - 1920) สร้างขึ้นในระหว่างสมัยที่มีกรุงสุโขทัยเป็นเมืองหลวงแห่งแรกของประเทศ ตั้งขึ้นราว พ.ศ. 1781 โดยนับจากปีครองราชย์ของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์พระร่วง จนถึง พ.ศ. 1920 อันเป็นปีที่กรุงสุโขทัยเสียอิสรภาพแก่กรุงศรีอยุธยา ในระยะที่คนไทยเริ่มตั้งตัวใหม่นี้ ได้เกิดวรรณกรรมที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความเป็นเอกลักษณ์ของชาติ ทั้งทางความมั่นคงด้านการเมืองและด้านจิตใจ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้นำในทุกด้าน ได้ทรงศึกษาวิชาการทางอักษรศาสตร์ ศาสนา และรัฐศาสตร์ ดังจะเห็นได้จากศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง และศิลาจาริกหลักอื่น ๆ ซึ่งเล่าเรื่องราวการดำเนินชีวิตและกฎหมายของสังคม อันมีลักษณะเป็นสังคมเกษตร ประชาชนมีชีวิตอยู่ร่วมกันในฐานะเครือญาติ
วรรณคดีสุโขทัยที่สำคัญ ได้แก่ ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ศิลาจารึกวัดศรีชุม ศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง สุภาษิตพระร่วง ไตรภูมิกถา ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ เป็นต้น
ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ถือว่า เป็นวรรณกรรมชิ้นแรกของประเทศไทยที่ตกมาถึงมือคนไทยในสมัยปัจจุบัน เป็นศิลาจารึกที่เขียนด้วยอักษรไทยพ่อขุนราม เขียนเป็นภาษาไทย คงแต่งขึ้นระหว่าง พ.ศ. 1826 - 1917 มีเนื้อความกล่าวถึงชีวประวัติของพระเจ้ารามคำแหงมหาราช ชีวิตคนไทย กฎหมาย ศาสนา และความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเมือง
ไตรภูมิพระร่วง เป็นวรรณคดีที่ดีที่สุดในประวัติวรรณคดีไทยยุคสุโขทัย แต่งเมื่อ พ.ศ. 1888 โดยพญาลิไทย กษัตริย์องค์ที่ 5 แห่งกรุงสุโขทัย เป็นวรรณกรรมปรัชญา แห่งศาสนาพุทธ ซึ่งเขียนขึ้นจากการศึกษาค้นคว้าอย่างละเอียดลึกซึ้ง โดยอาศัยเอกสารอ้างอิงเป็นจำนวนมากในการนิพนธ์ขึ้น (เป็นคัมภีร์ต่าง ๆ ไม่ต่ำกว่า 30 คัมภีร์) นับเป็นวิทยานิพนธ์ชิ้นแรกของไทย เขียนเป็นความเรียงด้วยถ้อยคำภาษาที่ประณีตงดงามด้วยลีลาการพรรณนาและเปรียบเทียบและการใช้ภาพพจน์ มีเนื้อความกล่าวถึง จักรวาลวิทยา ปรัชญา จริยศาสตร์ ชีววิทยา และความคิดความเชื่อทางพุทธศาสนา ซึ่งแสดงให้เห็นแจ้งถึงวิถีชีวิตของคนไทยในยุคสมัยที่แรกเริ่มก่อตั้งราชอาณาจักรในดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบัน และวิถีชีวิตดังกล่าวได้เป็นรากฐานสืบทอดลักษณะไทยต่อมาจนถึงปัจจุบัน
อ้างอิง
แก้- ↑ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554. (2556). พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิต
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-05-17. สืบค้นเมื่อ 2019-05-17.