รูปปั้นโคมเตศวร

รูปปั้นโคมเตศวร (กันนาดา: ಗೊಮ್ಮಟೇಶ್ವರ) เป็นรูปปั้นโมโนลิธความสูง 17.37 เมตร ตั้งอยู่บนเขาวินธยคีรี ในศรวันเพลโคละ ในรัฐกรณาฏกะ เขาวินธยคีรีเป็นหนึ่งในสองเขาในเมืองศรวันเพลโคละ อีกแห่งคือเขาจันทรคีรี ซึ่งก็เป็นสถานที่ตั้งของศาสนสถานในศาสนาเชนอีกแห่งที่เก่าแก่กว่ารูปปั้นโคมเตศวรแห่งนี้ รูปปั้นโคมเตศวรนั้นสร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงเทพเจ้าเชนพระนามว่า พระพาหุพลี สร้างขึ้นราว ค.ศ. 983 และเป็นหนึ่งในรูปปั้นหินเดี่ยวที่สูงที่สุดในโลก[1] การก่อสร้างนั้นริเริ่มในจักรวรรดิคงคาตะวันตก นำโดยขุนนางนามว่า จวุนทราย บริเวณโดยรอบนั้นรายล้อมด้วยเชนสถานที่เรียกว่า “พสาทิ” และรูปเคารพของตีรถังกรองค์ต่าง ๆ ส่วนจันทรคีรีซึ่งเป็นเขาอีกแห่งนั้นสร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงเทพเจ้าเชนอีกองค์หนึ่ง คือ พระเจ้าภรตจักรพรรดิ พี่น้องของพระพาหุพลี และเป็นบุตรของพระอาทินาถ ตีรถังกรองค์แรกเช่นกัน

โคมเตศวร
Gommateshwara statue ಗೊಮ್ಮಟೇಶ್ವರ
รูปปั้นโมโนลิธสูง 57 ฟุต ของพระพาหุพลี
ศาสนา
ศาสนาศาสนาเชน
เทพพระพาหุพลี
ที่ตั้ง
ที่ตั้งศรวันเพลโคละ (Shravanbelagola), เขตฮัสซาน, กรณาฏกะ, ประเทศอินเดีย
รูปปั้นโคมเตศวรตั้งอยู่ในประเทศอินเดีย
รูปปั้นโคมเตศวร
ที่ตั้งในประเทศอินเดีย
รูปปั้นโคมเตศวรตั้งอยู่ในรัฐกรณาฏกะ
รูปปั้นโคมเตศวร
รูปปั้นโคมเตศวร (รัฐกรณาฏกะ)
พิกัดภูมิศาสตร์12°51′14″N 76°29′05″E / 12.854026°N 76.484677°E / 12.854026; 76.484677

เทศกาลมหามัสตกาภิเษก (Mahamastakabhisheka) เป็นเทศกาลสำคัญที่จัดขึ้นบนเขาวินธยคีรีนี้[2] จัดขึ้นทุก 12 ปี ในเทศกาลจะมีพิธีกรรมเจิมน้ำต่าง ๆ เช่นน้ำนม, หญ้าฝรั่น, ฆี (เนยใสอินเดีย), น้ำอ้อย เป็นต้น โดยการรินน้ำต่าง ๆ ลงมาจากยอดบนสุดของรูปปั้นโคมเตศวร ไฮน์ริค ซิมเมอร์ (Heinrich Zimmer) ระบุว่า พิธีนี้จัดขึ้นเพื่อให้รูปปั้นนี้คงความ “สด”[1] พิธีอภิเษกครั้งต่อไปจะจัดขึ้นในปี ค.ศ. 2030[3]

เมื่อปี ค.ศ. 2007 ไทมส์ออฟอินเดียได้ตั้งการลงคะแนนเสียงเพื่อคัดเลือกเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของอินเดีย รูปปั้นโคมเตศวรได้รับลงคะแนนเสียงให้เป็นเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของอินเดียแห่งแรกในเจ็ดแห่ง ผลลงคะแนนมากถึงร้อยละ 49[4]

ประติมานวิทยา

แก้
 
พิธีมหามัสตักภิเษก

รูปปั้นนี้สร้างขึ้นโดยแสดงการทำสมาธิที่ยาวนานของพระพาหุพลี ท่ายืนทำสมาธิที่เรียกว่า “กาโยตสรรค์” (ยืนนิ่ง) จนมีเถาวัลย์เจริญเติบโตและเกี่ยวพันรอบขาของพระองค์[5] ดวงตาของพระองค์นั้นเปิดขึ้นในลักษณะแสดงถึงการละทิ้งชีวิตทางโลก ริมฝีปากยิ้มขึ้นเล็กน้อยแสดงให้เห็นถึงความสงบจากภายใน

รอบ ๆ เถาวัลย์ที่พันเกี่ยวนั้นมีงูและสัตว์เลื้อยไปตามดอกไม้ที่บานประปราย เถาวัลย์นั้นพันขึ้นไปถึงแขนท่อนบนของรูปปั้น ฐานของรูปปั้นเป็นทรงดอกบัวบาน

มหามัสตกาภิเษก

แก้

ในครั้งที่ผ่าน ๆ มา เทศกาลนี้มีผู้เข้าร่วมเป็นบุคคลสำคัญทางการเมือง เช่น กฤษณะ-ราเชนทระ โวเทยัร ในปี ค.ศ. 1910 และครั้งล่าสุดเมื่อปี ค.ศ. 2018 มีนเรนทระ โมที และ รามนาถ โกวินท์เข้าร่วม[6]

ตำนาน

แก้

ตำนานกล่าวว่า หลังการก่อสร้างรูปปั้นโคมเตศวรเสร็จสิ้นแล้ว จวุนทรายได้ประกอบพิธีมหามัสตกาภิเษกโดยใช้น้ำ 5 ชนิด คือ น้ำนม, น้ำมะพร้าว, น้ำอ้อย, น้ำดอกไม้ และน้ำเปล่า เก็บอยู่ในหม้อจำนวนหลายร้อยหม้อ แต่เมื่อเทลงมาแล้วน้ำไม่สามารถไหลลงต่ำกว่าสะดือของรูปปั้นได้ แต่แล้วเทวีอัมพิกา แปลงกายเป็นสตรีชรายากไร้เดินผ่านมา เทนมในเปลือกของผลคุลลิกายี (Gullikayi) สีขาวครึ่งซีก และการอภิเษกก็สำเร็จ น้ำนมไหลจากยอดถึงปลายของรูปปั้น[7]

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 Zimmer 1953, p. 212.
  2. "Official website Hassan District". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-03-16. สืบค้นเมื่อ 2019-11-11.
  3. "Mahamastakabhisheka to be held in February 2018". The Hindu. สืบค้นเมื่อ 2017-06-14.
  4. "And India's 7 wonders are..." The Times of India. August 5, 2007.
  5. Jain, Champat Rai (1929). Risabha Deva - The Founder of Jainism. อัลลอฮบาด: K. Mitra, Indian Press. p. 145.
  6. "Bahubali Mahamastakabhisheka Mahotsav: Here is the history of the Jain festival PM Modi attended today", The Indian Express, 19 February 2018
  7. Deccan Chronicle & 2018 Mahamastakabhisheka.

บรรณานุกรม

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้