ราชวงศ์กรีก
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
พระราชวงศ์กรีก เป็นเชื้อพระวงศ์ที่สืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์ชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์-ซอนเดอร์บวร์ก-กลึคสบวร์กสายตรง โดยพระมหากษัตริย์แห่งกรีซพระองค์แรกแห่งราชวงศ์นี้คือสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 1 แห่งกรีซ โดยที่พระราชวงศ์ส่วนใหญ่ยังคงพระอิสริยยศเจ้าฟ้าชายหรือเจ้าฟ้าหญิงตามเดิมก่อนที่ระบอบกษัตริย์ในกรีซจะสิ้นสุดลงโดยใช้พระอิสริยยศนำหน้าพระนามว่า "สมเด็จเจ้าฟ้า"
แรกเริ่ม
แก้พระราชวงศ์ก้าวขึ้นสู่ราชบัลลังก์กรีกเมื่อพระเจ้าออตโตที่ 1 แห่งกรีซ ประทานพระราชานุญาตให้สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์และจักรวรรดิฝรั่งเศสที่ 2 เข้ายึดครองท่าเรือที่ปิเรอัสแทนเพื่อเป็นการละเว้นการเข้ายึดราชอาณาจักรกรีซจากการที่เป็นฝ่ายพ้ายแพ้ในสงครามไครเมียนร่วมกับจักรวรรดิรัสเซีย จากเหตุการณ์นี้กระตุ้นให้กองทัพเฮลเลนิกเข้ายึดอำนาจจากพระเจ้าออตโตในปี ค.ศ. 1862 และสืบราชบัลลังก์ให้แก่เจ้าชายวิลเลียมแห่งราชวงศ์กลึกสบวร์กของเดนมาร์กโดยเสวยราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 1 แห่งกรีซในปี ค.ศ. 1863 ซึ่งพระราชโอรสและพระราชนัดดาในรุ่นต่อ ๆ มาของพระองค์ได้ครองราชบัลลังก์กรีกเป็นช่วง ๆ จนถึงปี ค.ศ. 1974 ช่วงต้นรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 1 เริ่มต้นขึ้นในช่วงที่กรีซกำลังขยายอาณาเขต อีกทั้งพระราชวงศ์กรีกก็ก้าวผ่านเหตุการณ์และความวุ่นวายต่าง ๆ ของกรีซมามากมาย เช่น สงครามบอลข่าน, สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง, สงครามโลกครั้งที่สองและจากการที่ฝ่ายอักษะเข้ายึดครองกรีซในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง รวมถึงสงครามกลางเมืองกรีกหรือเผด็จการทหารกรีก ค.ศ. 1967-1974
ล่มสลาย
แก้วันที่ 21 เมษายน ค.ศ. 1967 รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งถูกยึดอำนาจโดยกลุ่มเจ้าหน้าที่ทหารระดับกลางนำโดย ผู้พันจอร์จิออส ปาปาโดปูลอส และเผด็จการทหารก็ถูกก่อตั้งขึ้น การเข้าปกครองของทหารในครั้งนี้รู้จักกันดีในนาม ระบอบการปกครองของผู้พัน (The Regime of the Colonels) และบังคับให้สมเด็จพระราชาธิบดีคอนสแตนตินที่ 2 ทรงยอมรับการปกครองนี้ในทางกฎหมาย ในวันที่ 13 ธันวาคม ค.ศ. 1967 สมเด็จพระราชาธิบดีก็ทรงก่อรัฐประหารต่อต้านผู้พันจอร์จิออสแต่ไม่สำเร็จ พระองค์รวมถึงพระราชวงศ์องค์อื่น ๆ จึงเสด็จลี้ภัยไปยังกรุงโรม ต่อมาในวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ. 1973 สมเด็จพระราชาธิบดีก็ทรงถูกถอดถอนพระอิสริยยศจากคณะเผด็จการทหารและผู้พันจอร์จิออสก็ได้แต่งตั้งตนขึ้นเป็นประธานาธิบดีแห่งกรีซในวันที่ 29 กรกฎาคม ปีเดียวกัน ต่อมาการลงประชามติที่ถูกตั้งข้อสงสัยถึงความโปร่งใสก็ถูกจัดขึ้นโดยคณะเผด็จการทหารเพื่อยืนยันถึงความล่มสลายของระบอบกษัตริย์ ซึ่งคณะเผด็จการทหารล้มเหลวในการปกครองลงในปี ค.ศ. 1974 ซึ่งต่อมาระบอบสาธารณรัฐก็ถูกจัดตั้งขึ้นจากการลงประชามติในวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 1974 โดยยืนยันถึงการล่มสลายของระบอบกษัตริย์ เป็นการลงประชามติครั้งที่สมเด็จพระราชาธิบดีคอนสแตนตินที่ 2 มิทรงเคยข้องใจถึงเหตุผลของมันเลย
ปัจจุบัน
แก้ปัจจุบันพระราชวงศ์แต่ละพระองค์ในอดีตของกรีซทรงพำนักกระจัดกระจายไปในแต่ละพระองค์ สมเด็จพระราชาธิบดีและสมเด็จพระราชินีรวมถึงพระราชโอรสและพระราชธิดาที่ยังไม่เสกสมรสต่างก็ทรงพำนักอยู่ในกรุงลอนดอน, สหราชอาณาจักร ซึ่งพระราชวงศ์แต่ละพระองค์ยังคงดำรงพระอิสริยยศเดิมแต่มิใช่ในนามประเทศกรีซ ซึ่งพระราชวงศ์ทุกพระองค์ต่างสืบเชื้อสายมาจากสมเด็จพระราชาธิบดีคริสเตียนที่ 9 แห่งเดนมาร์ก แต่ละพระองค์จึงมีสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมายที่จะใช้พระอิสริยยศแห่งราชอาณาจักรเดนมาร์ก เพราะต่างก็เป็นเชื้อพระวงศ์เดนมาร์กเช่นกันทำให้เจ้าฟ้าชายและเจ้าฟ้าหญิงต่างมีคำว่า แห่งกรีซและเดนมาร์ก ต่อท้ายพระนาม
สมาชิกราชวงศ์กรีซ
แก้- มกุฎราชกุมารปัฟโลสและมกุฎราชกุมารีมารี-แชนทัลแห่งกรีซ
- เจ้าหญิงมาเรีย-โอลิมเปียแห่งกรีซและเดนมาร์ก (พระราชธิดาพระองค์เดียว)
- เจ้าชายคอนสแตนติน อเล็กซิออสแห่งกรีซและเดนมาร์ก (พระราชโอรสพระองค์แรก)
- เจ้าชายอาชิเลียส-อันเดรียสแห่งกรีซและเดนมาร์ก (พระราชโอรสพระองค์รอง)
- เจ้าชายโอดีสซีส-คีโมนแห่งกรีซและเดนมาร์ก (พระราชโอรสพระองค์ที่สาม)
- เจ้าชายอริสทิเดส สตาวรอสแห่งกรีซและเดนมาร์ก (พระราชโอรสพระองค์เล็ก)
- สมเด็จพระราชินีแอนน์-มารีแห่งเฮลเลนส์ (พระราชมารดา)
- เจ้าหญิงอเล็กเซียแห่งกรีซและเดนมาร์ก (พระเชษฐภคินี)
- เจ้าชายนิโกเลาส์และเจ้าหญิงตาเตียนาแห่งกรีซและเดนมาร์ก (พระอนุชาพระองค์รองและพระชายา)
- เจ้าหญิงเธโอโดราแห่งกรีซและเดนมาร์ก (พระกนิษฐภคินี)
- เจ้าชายฟิลิปปอสและเจ้าหญิงนีนาแห่งกรีซและเดนมาร์ก (พระอนุชาพระองค์เล็กและพระชายา)
- สมเด็จพระราชินีโซเฟียแห่งสเปน (พระราชปิตุจฉา)
- เจ้าหญิงไอรีนแห่งกรีซและเดนมาร์ก (พระราชปิตุจฉา)
- มารีนา กาเรลลา (พระชายาม่ายในเจ้าชายไมเคิล)
- เจ้าหญิงอเล็กซันดราแห่งกรีซ (พระญาติชั้นพระปิตุจฉา)
- เจ้าหญิงโอลกา ดัชเชสแห่งออสตา (พระญาติชั้นพระปิตุจฉา)