รัฐบาลโชกุนอาชิกางะ

รัฐบาลโชกุนอาชิกางะ (ญี่ปุ่น: 足利幕府โรมาจิAshikaga bakufu) หรือที่มักรู้จักในชื่อ รัฐบาลโชกุนมูโรมาจิ (ญี่ปุ่น: 室町幕府โรมาจิMuromachi bakufu) เป็นระบอบการปกครองโดยกลุ่มทหารในญี่ปุ่นระหว่างปี ค.ศ. 1338-1573 ซึ่งมีโชกุนจากตระกูลอาชิกางะ เป็นหัวหน้าคณะรัฐบาล

รัฐบาลโชกุนอาชิกางะ

足利幕府
อาชิกางะบากูฟุ
1338–1573
ตราประจำตระกูลอาชิกางะ เป็นตราราชการของรัฐบาลโชกุนอาชิกางะของรัฐบาลโชกุนอาชิกางะ
ตราประจำตระกูลอาชิกางะ
เป็นตราราชการของรัฐบาลโชกุนอาชิกางะ
สถานะรัฐบาลสำเร็จราชการโดยโชกุน
เมืองหลวงเคียวโตะ
ภาษาทั่วไปภาษาญี่ปุ่นยุคกลาง
ศาสนา
ชิมบุตสึชูโง
การปกครองเผด็จการ ศักดินา ทหาร
จักรพรรดิ 
• 1332–1334
โคงง
• 1557–1586
โองิมาชิ
โชกุน 
• 1338–1358
อาชิกางะ ทากาอูจิ
• 1568–1573
อาชิกางะ โยชิอากิ
ประวัติศาสตร์ 
• ก่อตั้ง
11 สิงหาคม 1338
• การยอมแพ้ของ จักรพรรดิโกะ-คาเมยามะ
15 ตุลาคม ค.ศ. 1392
1467–1477
• โอดะ โนบูนางะ ยึดเคียวโตะ
2 กันยายน 1573
สกุลเงินมง
ก่อนหน้า
ถัดไป
การฟื้นฟูเค็มมุ
ตระกูลอาชิกางะ
ยุคอาซูจิ–โมโมยามะ

ห้วงเวลาใต้การปกครองของรัฐบาลโชกุนนี้รู้จักกันในชื่อ ยุคมูโรมาจิ ซึ่งมาจากชื่อถนนมูโรมาจิ ในนครเคียวโตะ

อาชิกางะ ทากาอูจิ สามารถจัดตั้งรัฐบาลโชกุนของเขาได้ อันเนื่องมาจากการต่อต้านของจักรพรรดิต่อรัฐบาลโชกุนคามากูระ รัฐบาลก่อนหน้า ดังนั้นรัฐบาลโชกุนอาชิกางะจึงได้แบ่งอำนาจและหน่วยงานราชการให้แก่ฝ่ายราชสำนักมากกว่าสมัยคามากูระ ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า รัฐบาลโชกุนอาชิกางะ เป็นรัฐบาลโชกุนที่มีอำนาจน้อยกว่ารัฐบาลโชกุนคามากูระ หรือ รัฐบาลโชกุนโทกูงาวะ ซึ่งระบบศักดินาส่วนกลางที่ใช้ในสมัยคามากูระก็ถูกแทนที่ด้วยระบบไดเมียว (ข้าหลวงของแต่ละท้องที่) ดังนั้นอำนาจทางการทหารของรัฐบาลโชกุนอาชิกางะก็ขึ้นอยู่กับความจงรักภักดีของไดเมียว

รัฐบาลโชกุนอาชิกางะประกอบด้วย สถาบันโชกุนเป็นผู้นำสูงสุดของรัฐบาล การปกครองของรัฐบาลโชกุนฯ แบ่งออกเป็นสองฝ่ายได้แก่ การปกครองส่วนกลาง และการปกครองส่วนภูมิภาค

โชกุนและคันเร

แก้

เมื่ออาชิกางะ ทากาอูจิ (ญี่ปุ่น: 足利 尊氏โรมาจิAshikaga Takauji ) ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเซอิไทโชกุน (ญี่ปุ่น: 征夷大将軍โรมาจิSeii Taishōgun ) เป็นจุดเริ่มต้นของรัฐบาลโชกุนฯ หรือ บากูฟุ โดยที่โชกุนนั้นมาจากตระกูลอาชิกางะ ซึ่งอ้างสิทธิ์ในตำแหน่งโชกุนผ่านการสืบเชื้อสายจากตระกูลเซวะเก็นจิ (ญี่ปุ่น: 清和源氏โรมาจิSeiwa Genji ) ในช่วงสิบปีแรกของรัฐบาลโชกุนประเทศญี่ปุ่นยังคงตกอยู่ในช่วงสงครามระหว่างพระราชวงศ์ฝ่ายเหนือและฝ่าย ในยุคราชวงศ์เหนือใต้ (ญี่ปุ่น: 南北朝โรมาจิNanboku-chō) มีการแบ่งอำนาจกับระหว่างปฐมโชกุนทากาอูจิและน้องชายคือ อาชิกางะ ทาดาโยชิ (ญี่ปุ่น: 足利 直義โรมาจิAshikaga Tadayoshi) โดยที่โชกุนทากาอูจิดูแลเรื่องการทหารและการสงคราม ในขณะที่ทาดาโยชิน้องชายดูแลเรื่องการบริหาร สองพี่น้องตระกูลอาชิกางะปกครองญี่ปุ่นร่วมกันเป็นเวลาประมาณสิบปีจนกระทั่งสงครามปีคันโน (ญี่ปุ่น: 観応の擾乱โรมาจิKannō no shōran) โชกุนมะกะอุจิได้สร้างตำแหน่งชิตสึจิ (ญี่ปุ่น: 執事โรมาจิShitsuji) หรือผู้สำเร็จราชการแทนโชกุนขึ้นมาแทนที่ทาดาโยชิผู้เป็นน้องชาย ทำหน้าที่ในด้านการบริหารแทนโชกุน

ใน ค.ศ. 1362 โชกุนคนต่อมา อาชิกางะ โยชิอากิระ จัดตั้งตำแหน่ง คันเร (ญี่ปุ่น: 管領โรมาจิKanrei) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนโชกุนแทนที่ชิตสึจิ โดยเพื่อป้องกันไม่ให้ตระกูลใหญ่ตระกูลเดียวมีอำนาจดังที่เป็นในยุคคามากูระ ผู้ดำรงตำแหน่งคันเรจึงเวียนมาจากสามตระกูลใหญ่เรียกว่า ซังกันเร (ญี่ปุ่น: 三管領โรมาจิSankanrei) ได้แก่ โฮโซกาวะ (ญี่ปุ่น: 細川โรมาจิHosokawa) ฮาตาเกยามะ (ญี่ปุ่น: 畠山โรมาจิHatakeyama) และชิบะ (ญี่ปุ่น: 志波โรมาจิShiba) อำนาจของคันเรมีแตกต่างกันไปในแต่ละยุคสมัย ในสมัยของโชกุนอาชิกางะ โยชิมิตสึ (ญี่ปุ่น: 足利 義満โรมาจิAshikaga Yoshimitsu) ซึ่งขึ้นดำรงตำแหน่งโชกุนด้วยอายุเพียงเก้าปี คันเรโฮโซกาวะ โยริยูกิ (ญี่ปุ่น: 細川 頼之โรมาจิHosokawa Yoriyuki) จึงเป็นผู้ปกครองรัฐบาลโชกุนในทางพฤตินัย เมื่อโชกุนโยชิมิตสึเติบโตมีอำนาจเต็มแล้ว อำนาจของคันเรจึงลดลง หลังจากสงครามปีโอนิง (ญี่ปุ่น: 応仁の乱โรมาจิŌnin no Ran) อำนาจของสถาบันโชกุนลดลงมาก คันเรจึงขึ้นมามีอำนาจเหนือโชกุนสามารถปลดเปลี่ยนและตั้งโชกุนใหม่ได้ตามต้องการ

รายนามโชกุน

แก้
  1. อาชิกางะ ทากาอูจิ, ปี 1338–1358
  2. อาชิกางะ โยชิอากิระ, ปี 1359–1368
  3. อาชิกางะ โยชิมิตสึ, ปี 1368–1394
  4. อาชิกางะ โยชิโมชิ, ปี 1395–1423
  5. อาชิกางะ โยชิกาซุ, ปี 1423–1425
  6. อาชิกางะ โยชิโนริ, ปี 1429–1441
  7. อาชิกางะ โยชิกัตสึ, ปี 1442–1443
  8. อาชิกางะ โยชิมาซะ, ปี 1449–1473[1]
  9. อาชิกางะ โยชิฮิซะ, ปี 1474–1489[1]
  10. อาชิกางะ โยชิตาเนะ, ปี 1490–1493, 1508–1521[2]
  11. อาชิกางะ โยชิซุมิ, ปี 1494–1508[2]
  12. อาชิกางะ โยชิฮารุ, ปี 1521–1546
  13. อาชิกางะ โยชิเตรุ, ปี 1546–1565
  14. อาชิกางะ โยชิฮิเดะ, ปี 1568
  15. อาชิกางะ โยชิอากิ, ปี 1568–1573

การปกครองส่วนกลาง

แก้

รัฐบาลโชกุนอาชิกางะมีฐานที่มั่นตั้งอยู่ที่เมืองเคียวโตะ การปกครองส่วนกลางของรัฐบาลโชกุนฯ มีหน้าที่ดูแลเรื่องเกี่ยวกับโชกุนและนครหลวง การปกครองส่วนกลางของรัฐบาลโชกุนอาชิกางะนั้น ได้รับแบบอย่างโดยส่วนใหญ่มาจากรัฐบาลโชกุนคามากูระ มีองค์กรต่าง ๆ ที่สำคัญดังนี้

  • ซามูไรโดโกโระ (ญี่ปุ่น: 侍所โรมาจิSamurai-dokoro) เป็นสภาซึ่งดูแลกิจการของซามูไรทั้งปวง เป็นตำรวจนครบาลภายในเมืองเคียวโตะ และเกณฑ์ไพร่พลจัดทัพของรัฐบาลโชกุนฯ ในการสู้รบต่าง ๆ สมาชิกในสภาซามูไรโดโกโระได้รับการแต่งตั้งจากโชกุนและมาจากตระกูลใหญ่ที่สำคัญในยุคมูโรมาจิสี่ตระกูลรองลงมาจากซังกันเร เรียกว่า ชิชิกิ (ญี่ปุ่น: 四職โรมาจิShishiki) ได้แก่ ตระกูลอิซชิกิ (ญี่ปุ่น: 一色โรมาจิIsshiki) ตระกูลยามานะ (ญี่ปุ่น: 山名โรมาจิYamana) ตระกูลอากามัตซึ (ญี่ปุ่น: 赤松โรมาจิAkamatsu) และตระกูลเคียวโงกุ (ญี่ปุ่น: 京極โรมาจิKyōgoku) หัวหน้าของสภาซามูไรโดโกโระ เรียกว่าโทนิง (ญี่ปุ่น: 頭人โรมาจิTōnin) ซึ่งมีอำนาจในบากูฟุรองจากโชกุนและคันเร
  • เฮียวโจชู (ญี่ปุ่น: 評定衆โรมาจิHyōjōshū) และ ฮิกิตสึเกะชู (ญี่ปุ่น: 引付衆โรมาจิHikitsuke-shū) มีหน้าตัดสินคดีความฟ้องร้องต่าง ๆ ของซามูไร โดยที่ฮิกิตสึเกะชูส่งสำนวนคดีความให้แก่เฮียวโจชูเป็นผู้ตัดสิน
  • มันโดโกโระ (ญี่ปุ่น: 政所โรมาจิMandokoro) เป็นสภาทำหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารและการเงินของรัฐบาลโชกุนฯ หัวหน้าสภามันโดโกโระ เรียกว่า มันโดโกโระชิตสึจิ (ญี่ปุ่น: 政所執事โรมาจิMandokoro-shitsuji) ซึ่งเป็นตำแหน่งของตระกูลอิเซะ (ญี่ปุ่น: 伊勢โรมาจิIse)
  • มนจูโจ (ญี่ปุ่น: 問注所โรมาจิMonchūjo)

การปกครองส่วนภูมิภาค

แก้

การปกครองส่วนภูมิภาคของญี่ปุ่นในสมัยมูโรมาจิเป็นไปตามระบอบศักดินาสวามิภักดิ์ (Feudalism) เช่นเดียวกับในยุคคามากูระ โดยที่รัฐบาลโชกุนมอบที่ดินให้แก่ซามูไรให้ปกครอง โดยที่ซามูไรเหล่านั้นมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยในดินแดนของตนและเข้าร่วมศึกสงครามของรัฐบาลโชกุนเป็นการตอบแทน

 
แผนที่แสดงการแบ่งแคว้น หรือ คุนิ ของประเทศญี่ปุ่นในยุครัฐบาลโชกุนอาชิกางะ ยกเว้นเกาะฮกไกโดซึ่งยังไม่เป็นส่วนหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น

รัฐบาลโชกุนอาชิกางะแบ่งประเทศญี่ปุ่นออกเป็น 66 แคว้น เรียกว่า คุนิ (ญี่ปุ่น: โรมาจิkuni) ดังเช่นที่เคยเป็นมาแต่ก่อน ซึ่งในแต่ละคุนิรัฐบาลโชกุนฯ แต่งตั้งเจ้าซามูไรเข้าไปปกครองเรียกว่า ชูโงะ (ญี่ปุ่น: 守護โรมาจิShugo) หรือ ชูโงะไดเมียว (ญี่ปุ่น: 守護大名โรมาจิShugo-daimyō) ชูโงะในยุคอาชิกางะนั้นมีอำนาจเหนือดินแดนของตน เป็นอิสระจากรัฐบาลโชกุนส่วนกลางมากกว่าในยุคคามากูระ โดยที่ชูโงะสามารถเก็บภาษีในดินแดนของตน และส่งทอดตำแหน่งของตนเองต่อให้ลูกหลานได้

นอกเหนือจากชูโงะแล้ว ยังมีองค์กรส่วนภูมิภาคซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแทนสาขาย่อยของรัฐบาลโชกุนฯ ในแต่ละภูมิภาค ซึ่งตัวแทนเหล่านี้มีอาณาเขตอำนาจที่กว้างใหญ่และในเวลาต่อมาพัฒนากลับกลายเป็นศัตรูทางการเมืองของรัฐบาลโชกุนอาชิกางะ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การล่มสลายของอำนาจของรัฐบาลโชกุนในยุคเซ็งโงกุ

เนื่องจากชูโงะมักจะพำนักอาศัยอยู่ภายในนครหลวงเคียวโตะ เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อโชกุนและเพื่อติดตามข่าวสารการเมือง การบริหารงานภายในแคว้นของตนนั้นชูโงะจึงดำเนินการผ่านผู้แทน เรียกว่า ชูโงะได (ญี่ปุ่น: 守護代โรมาจิShugo-dai)

คันโตคุกูโบ และ คันโตกันเร

แก้

ใน ค.ศ. 1349 โชกุนคนแรก อาชิกางะ ทากาอูจิ แต่งตั้งให้บุตรชายของตนคือ อาชิกางะ โมโตอูจิ (ญี่ปุ่น: 足利基氏โรมาจิAshikaga Motouji) ดำรงตำแหน่งเป็น คันโตกันเร (ญี่ปุ่น: 関東管領โรมาจิKantō kanrei) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนโชกุนในภูมิภาคตะวันออกของญี่ปุ่น พำนักอยู่ที่เมืองคามากูระและมีอำนาจเหนือซามูไรในภูมิภาคคันโตทั้งมวล เมื่ออาชิกางะ โมโตอูจิถึงแก่กรรม ตำแหน่งคันโตกันเรจึงตกทอดแก่ลูกหลานของโมโตอูจิ และเนื่องจากผู้ดำรงตำแหน่งคันโตคันเรเป็นสมาชิกตระกูลอาชิกางะระดับสูง ตำแหน่งนี้จึงได้รับการขนานนามว่า คันโตกูโบ (ญี่ปุ่น: 関東公方โรมาจิKantō kubō) หรือ โชกุนแห่งภูมิภาคคันโต คันโตคุโบมีผู้ช่วยเป็นผู้สำเร็จราชการอีกทอดหนึ่ง เรียกว่า ชิตสึจิ เป็นตำแหน่งของตระกูลอูเอซูงิ (ญี่ปุ่น: 上杉โรมาจิUesugi)

ตำแหน่งคันโตกูโบกลับทำให้เสถียรภาพทางการเมืองของภูมิภาคคันโตตกต่ำลง เนื่องจากคันโตคุโบมักมีความขัดแย้งกับตระกูลอูเอซูงิซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนตนอยู่เนือง ๆ และนอกจากนี้คันโตกูโบยังมีความพยายามที่จะตั้งตนขึ้นเป็นอิสระจากรัฐบาลโชกุนฯ ที่เคียวโตะนำไปสู่สงคราม หลังจากที่คันโตกูโบคนสุดท้ายถูกตระกูลอูเอซูงิขับไล่ออกจากเมืองคามากูระไปใน ค.ศ. 1455 ไม่มีการแต่งตั้งสมาชิกตระกูลอาชิกางะมาดำรงตำแหน่งนี้อีก ตำแหน่งคันโตกูโบจึงถูกล้มเลิกไป จากนั้นตระกูลอูเอซูงิขึ้นเถลิงอำนาจในภูมิภาคคันโตโดยดำรงตำแหน่งเป็นคันโตคักันเรในยุคเซ็งโงกุ

คีวชูทันได

แก้

ในสมัยราชวงศ์เหนือใต้ เกาะคีวชูเป็นฐานที่มั่นของกองกำลังของพระราชวงศ์ฝ่ายใต้ โชกุนทากาอูจิตั้งตำแหน่งคีวชูทันได (ญี่ปุ่น: 九州探題โรมาจิKyūshū-tandai) ขึ้นใน ค.ศ. 1336 เพื่อดูแลปกครองเกาะคีวชูและปราบปรามกองกำลังของฝ่ายใต้ โดยมีฐานการบัญชาการอยู่ที่เมืองฮากาตะ (ญี่ปุ่น: 博多โรมาจิHakata จังหวัดฟูกูโอกะในปัจจุบัน) โดยตำแหน่งคีวชูทันไดในยุคต้นเป็นของตระกูลอิซชิกิ แต่ทว่าตระกูลอิซชิกิไม่สามารถปราบปรามกองกำลังของฝ่ายใต้ได้ ใน ค.ศ. 1370 สมัยของโชกุนโยชิมิตสึ คันเรโฮโซกาวะ โยริยูกิซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทน แต่งตั้งให้ อิมางาวะ ซาดาโยะ (ญี่ปุ่น: 今川 貞世โรมาจิImagawa Sadayo) ดำรงตำแหน่งเป็นคีวชูทันได อิมางาวะ ซาดาโยะ สามารถปราบกองกำลังของฝ่ายใต้ซึ่งนำโดยเจ้าชายคาเนโยชิ (ญี่ปุ่น: 懐良親王โรมาจิKaneyoshi shinnō) ได้สำเร็จ แต่ทว่าหลังจากสูญสิ้นอำนาจของคันเรโฮโซกาวะ โยริยูกิ โชกุนโยชิมิตสึมองว่า อิมางาวะ ซาดาโยะ เป็นคู่แข่งทางการเมือง จึงปลดอิมางาวะ ซาดาโยะ ออกจากตำแหน่งคีวชูทันไดไปใน ค.ศ. 1395 หลังจากนั้นตำแหน่งคีวชูทันไดเป็นของตระกูลชิบูกาวะ (ญี่ปุ่น: 渋川โรมาจิShibukawa) หลังจากที่เกาะคีวชูสงบเรียบร้อยแล้ว ตำแหน่งคีวชูทันไดจึงมีความสำคัญและอำนาจลดลง บรรดาชูโงะไดเมียวเจ้าครองแคว้นต่าง ๆ บนเกาะคีวชูปฏิบัติตามคำสั่งของโชกุนที่เมืองเคียวโตะโดยตรง

โอชูทันได

แก้

ภูมิภาคโทโฮะกุนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของคันโตคุโบ ใน ค.ศ. 1392 โชกุนโยชิมิตสึตั้งตำแหน่ง โอชูทันได (ญี่ปุ่น: 奥州探題โรมาจิŌshū-tandai) ขึ้นเพื่อดูแลภูมิภาคโทโฮะกุ แต่ตำแหน่งโอชูทันไดนั้นในทางปฏิบัติมีอำนาจไม่มากและเป็นเพียงแค่ชูโงะตำแหน่งหนึ่งเท่านั้น

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 Ackroyd, p. 298; n.b., Shogun Yoshimasa was succeeded by Shogun Yoshihisa (Yoshimasa's natural son), then by Shogun Yoshitane (Yoshimasa's first adopted son), and then by Shogun Yoshizumi (Yoshimasa's second adopted son)
  2. 2.0 2.1 Ackroyd, p. 385 n104; excerpt, "Some apparent contradictions exist in various versions of the pedigree owing to adoptions and name-changes. Yoshitsuna (sometimes also read Yoshikore) changed his name and was adopted by Yoshitane. Some pedegrees show Yoshitsuna as Yoshizumi's son, and Yoshifuyu as Yoshizumi's son."

ข้อมูลเพิ่มเติม

แก้