มาร์เกรเธอแห่งเดนมาร์ก สมเด็จพระราชินีแห่งสกอตแลนด์
เจ้าหญิงมาร์เกรเธอแห่งเดนมาร์ก หรือ มาร์กาเร็ตแห่งเดนมาร์ก (เดนมาร์ก:Margrete af Danmark; 23 มิถุนายน ค.ศ. 1456 - 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1486) ทรงเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งสกอตแลนด์ตั้งแต่ค.ศ. 1469 ถึง ค.ศ. 1486 จากการอภิเษกสมรสกับพระเจ้าเจมส์ที่ 3 แห่งสกอตแลนด์ พระนางเป็นพระราชธิดาในพระเจ้าคริสเตียนที่ 1 แห่งเดนมาร์ก นอร์เวย์และสวีเดน กับโดโรเธียแห่งบรันเดินบวร์ค
มาร์เกรเธอแห่งเดนมาร์ก | |||||
---|---|---|---|---|---|
สมเด็จพระราชินีแห่งสกอตแลนด์ | |||||
พระสาทิสลักษณ์พระราชินีมาร์เกรเธอบนภาพแท่นบูชาพระตรีเอกานุภาพ วาดโดยฮือโค ฟัน เดอร์คุส ราวค.ศ. 1480 | |||||
สมเด็จพระราชินีแห่งชาวสกอต | |||||
ครองราชย์ | กรกฎาคม ค.ศ. 1469– 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1486 | ||||
ก่อนหน้า | มาเรียแห่งเกลเดอร์ส | ||||
ถัดไป | มาร์กาเร็ตแห่งอังกฤษ | ||||
พระราชสมภพ | 23 มิถุนายน ค.ศ. 1456 ปราสาทโคเปนเฮเกน, โคเปนเฮเกน, เดนมาร์ก | ||||
สวรรคต | 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1486 (พระชนมายุ 30 พรรษา) ปราสาทสเตอร์ลิง, สเตอร์ลิง, สกอตแลนด์ | ||||
ฝังพระศพ | โบสถ์แคมบัสเค็นเน็ท | ||||
คู่อภิเษก | พระเจ้าเจมส์ที่ 3 แห่งสกอตแลนด์ | ||||
พระราชบุตร | |||||
| |||||
ราชวงศ์ | อ็อลเดินบวร์ค(โดยประสูติ) สทิวเวิร์ต (โดยเสกสมรส) | ||||
พระราชบิดา | พระเจ้าคริสเตียนที่ 1 แห่งเดนมาร์ก | ||||
พระราชมารดา | โดโรเธียแห่งบรันเดินบวร์ค | ||||
ศาสนา | โรมันคาทอลิก |
พระชนม์ชีพ
แก้เจ้าหญิงมาร์เกรเธอประสูติในเดนมาร์กเป็นพระราชธิดาในพระเจ้าคริสเตียนที่ 1 แห่งเดนมาร์ก, นอร์เวย์และสวีเดน กับสมเด็จพระราชินีโดโรเธีย ไม่มีการบันทึกถึงพระชนม์ชีพช่วงต้นเท่าไรนัก มีเพียงตอนที่ทรงมีพระชนมายุ 4 พรรษา มีการกล่าวถึงแผนการอภิเษกสมรสของพระนางกับเจ้าชายเจมส์แห่งสกอตแลนด์[1] ในปีค.ศ. 1468 เจ้าหญิงมาร์เกรเธอทรงหมั้นหมายกับเจ้าชายเจมส์แห่งสกอตแลนด์ เพื่อยุติความบาดหมางที่สกอตแลนด์ติดหนี้เดนมาร์กในเรื่องภาษีดินแดนแฮบริดีสและไอล์ออฟแมน การอภิเษกสมรสครั้งนี้จัดขึ้นตามคำแนะนำของพระเจ้าชาร์ลที่ 7 แห่งฝรั่งเศส ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1469 ขณะทรงมีพระชนมายุ 13 พรรษา พระนางได้อภิเษกสมรสกับพระเจ้าเจมส์ที่ 3 แห่งสกอตแลนด์ที่แอบบีย์ฮอลีรูด เมื่ออภิเษกสมรส หนี้ทั้งหมดของสกอตแลนด์ก็ถูกบอกล้าง[1] วิลเลียม ซินแคลร์ เอิร์ลที่ 1 แห่งเคธเนส ในขณะนั้นดำรงเป็นเอิร์ลแห่งออร์กนีย์ของชาวนอร์ส ในปีค.ศ. 1472 ซินแคลร์เสนอแลกเปลี่ยนดินแดนศักดินาออร์กนีย์ของเขาแลกกับปราสาทเรเวนสเครก ดังนั้นราชบัลลังก์สกอตแลนด์จึงได้สิทธิ์เป็นเอิร์ลเหนือหมู่เกาะต่างๆ ด้วย[2]
พระนางถูกเรียกในสกอตแลนด์ฐานะ สมเด็จพระราชินีมาร์กาเร็ตทรงได้รับจอยน์เชอ (ทรัพย์สินที่สามียกให้ภริยาต่อเมื่อตนตายแล้ว) ขนาดใหญ่ที่สุดตามที่กฎหมายสกอตแลนด์อนุญาตในข้อตกลงการอภิเษกสมรสของพระนาง โดยเป็นหนึ่งในสามของรายได้ราชวงศ์ พร้อมด้วยกับพระราชวังลินลิธโกว์และปราสาทดูน พระนางสนพระทัยในฉลองพระองค์และเครื่องประดับ และทรงเป็นที่รู้จักจากการที่ทรงฉลองพระองค์ตามสมัยนิยมตลอดเวลา[3] หลังจากทรงมีพระประสูติกาล เจ้าชายเจมส์ ในปีค.ศ. 1473 พระนางเสด็จจาริกแสวงบุญไปยังโบสถ์วิทธอร์นและเสด็จไปประทับร่วมกับกษัตริย์ที่พระราชวังฟอล์กแลนด์[4] พระราชินีทรงสอนให้พระราชโอรสตรัสภาษาเดนมาร์ก พระนางเป็นพระราชินีที่โด่งดังในสกอตแลนด์และได้รับขนานนามว่าทรงพระสิริโฉม อ่อนโยนและมีเหตุผล[5]
ความสัมพันธ์ระหว่างสมเด็จพระราชินีมาร์กาเร็ตกับพระเจ้าเจมส์ที่ 3 นั้นไม่มีความสุข มีรายงานว่า พระนางไม่พอพระทัยพระราชสวามีมากนัก และทรงมีความสัมพันธ์ทางเพศกับพระองค์เพื่อให้กำเนิดรัชทายาทเท่านั้น แม้ว่าพระนางจะทรงเคารพพระองค์ในฐานะพระมหากษัตริย์ก็ตาม[3] เหตุผลหนึ่งที่แสดงถึงความห่างเหินกันคือ พระเจ้าเจมส์ที่ 3 ทรงโปรดพระราชโอรสองค์รองมากกว่าพระราชโอรสองค์ใหญ่[3] ในปีค.ศ. 1476 พระเจ้าเจมส์ที่ 3 ทรงตัดสินพระทัยว่า พระองค์ประสงค์ตำแหน่งเอิร์ลแห่งรอสเพื่อพระราชทานให้พระราชโอรสองค์รอง และทรงกล่าวหา จอห์น แมคดอนัลด์ ผู้รั้งตำแหน่งเอิร์ลว่าเป็นกบฏ จากนั้นแมคดอนัลด์ถูกนำตัวขึ้นพิจารณาคดีต่อหน้าสภาขุนนาง แต่ด้วยคำขอของสมเด็จพระราชินีมาร์กาเร็ต ทำให้เขายังคงดำรงตำแหน่งลอร์ดแห่งสภาต่อไป[3] ในช่วงวิกฤตการณ์ ค.ศ. 1482 พระเจ้าเจมส์ที่ 3 ทรงถูกเจ้าชายอเล็กซานเดอร์ ดยุคแห่งออลบานี พระราชอนุชาของพระองค์ลิดรอนพระราชอำนาจเป็นเวลาหลายเดือน ว่ากันว่า สมเด็จพระราชินีมาร์กาเร็ตทรงห่วงใยสวัสดิภาพของเหล่าพระราชโอรสมากกว่าพระราชสวามี ซึ่งนำไปสู่ความบาดหมางกันอย่างถาวร[3] ในทางการเมือง สมเด็จพระราชินีมาร์กาเร็ตทรงดำเนินการฟื้นฟูพระราชอำนาจของพระราชสวามีในฐานะพระมหากษัตริย์ระหว่างเหตุการณ์นี้[3] หลังจากสิ้นสุดวิกฤต ค.ศ. 1482 ทั้งสองพระองค์ประทับแยกกัน พระเจ้าเจมส์ที่ 3 ประทับในเอดินเบอระ ในขณะที่สมเด็จพระราชินีมาร์กาเร็ตทรงโปรดที่จะประทับในสเตอร์ลิงพร้อมกับเหล่าพระราชโอรส[3]
สวรรคต
แก้สมเด็จพระราชินีมาร์กาเร็ตเสด็จสวรรคตที่ปราสาทสเตอร์ลิงในวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1486 ขณะมีพระชนมายุ 30 พรรษา หลังจากทรงพระประชวร และพระศพได้ถูกฝังที่โบสถ์แคมบัสเค็นเน็ท[6] พระบรมศพของพระเจ้าเจมส์ที่ 3 พระราชสวามีได้ถูกนำมาฝังเคียงข้างกันหลังจากสวรรคตในปีค.ศ. 1488 อารามแห่งนี้กลายเป็นซากปรักหักพังเหลือเพียงแต่หอระฆังที่ตั้งตระหง่านจนทุกวันนี้ หลุมฝังพระบรมศพได้รับการปิดมิดชิดและบูรณะในปีค.ศ. 1865 ด้วยพระราชทรัพย์ของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ผู้สืบเชื้อสายของทั้งสองพระองค์[7]
มีเรื่องราวที่บอกเล่าผ่านพระราชโอรสของพระนางที่ระบุว่า สมเด็จพระราชินีมาร์กาเร็ตทรงถูกลอบปลงพระชนม์จากการเสวยยาพิษที่ทูลเกล้าฯ ถวายโดยจอห์น แรมซีย์ ลอร์ดโบธเวลล์ที่ 1 ผู้นำฝักฝ่ายการเมืองคนหนึ่ง[5] เนื่องจากเขายังคงได้รับความโปรดปรานจากราชสำนักหลังการสวรรคตของพระราชินี เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องน่าสงสัยและอาจเป็นการใส่ความ แม้ว่าเขาจะเป็นคนที่รู้เรื่องยาพิษก็ตาม[5]
เครื่องเพชรและฉลองพระองค์
แก้บันทึกเกี่ยวกับการซื้อฉลองพระองค์และผ้าให้กับมาร์เกรเธอแห่งเดนมาร์กยังเหลือรอดถึงปัจจุบันและอยู่ในบัญชีของเสนาบดีคลังสกอตแลนด์[8] ผ้าและขนสัตว์ถูกซื้อโดยคนรับใช้และเจ้าพนักงานภูษาของพระนาง ได้แก่ แอนดรูว์ บัลโฟร์, คัลด์เวลล์ และแซนดริส วอร์ดร็อป (แซนเดอส์ออฟเดอะวอร์โรป) ซื้อจากพ่อค้าและเจ้าของร้านค้าในเอดินเบอระ รวมทั้ง อีโซเบล วิลเลียมสัน, โทมัส ยาร์และแซนดี ทัวริง รองพระบาทผลิตโดยร้านฮัด โดยอธิบายว่าเป็น "ซูเทอ" (ช่างทำรองเท้า) คนขายเครื่องหนังในสเตอร์ลิงเป็นคนทำถุงพระหัตถ์หนัง[9] ฉลองพระองค์ผลิตในปีค.ศ. 1473 และ 1474 ได้แก่ ฉลองพระองค์กำมะหยี่สีน้ำเงินและผ้าซาตินสีแดง ฉลองพระองค์คลุม ฉลองพระองค์กระโปรงผ้ายกดอกดะแมสกัสสีเขียว ฉลองพระองค์ทรงม้า "สตอมัค" ทำจากผ้าซาตินบุด้วยขนเออร์มิน "บอนเนทประดับ" (หมวกสตรีรูปฝาชีมักมีริบบิ้นผูกใต้คาง) "เทอร์เรท" (ผ้าคลุมศีรษะ) ปลายพระมาลาและปกฉลองพระองค์ทำด้วยกำมะหยี่ขลิบด้วยขนสัตว์ นอกจากนี้ฉลองพระองค์คลุมยังถูกซื้อให้เหล่านางสนองพระโอษฐ์ของพระนาง 6 คน[10]
รายการทรัพย์สินของหีบหรือ "คิสท์" (กำปั่นใส่เงิน) และกำปั่นที่ถูกเรียกว่า "การ์เดอเวียน" จากปราสาทสเตอร์ลิงบรรจุอัญมณีบางส่วนของมาร์เกรเธอแห่งเดนมาร์ก ถูกสร้างขึ้นในปีค.ศ. 1488 หลังจากยุทธการที่ซอชีเบิร์น สิ่งที่อยู่ภายในประกอบด้วย รัดพระองค์ที่ทำด้วยทองคำและผ้าสีแดงเข้ม พร้อมข้อต่อทองคำ[11] มีสายประคำและสายสร้อยทอง สายสร้อยแคลเซโดนีพร้อมจี้ที่บรรจุน้ำหอมกลิ่นชะมด ตาข่ายคลุมพระเกศาไข่มุก สายสร้อยหงส์ กระเป๋าทรงใบเล็กที่ประดับอัญมณีที่ไม่ได้เจียระไนเก้าชิ้น และถุงดอกลาเวนเดอร์หนึ่งถุง มีลิ้นงูพิษ (เป็นฟอสซิลฟันฉลามที่เชื่อกันว่าป้องกันพิษได้) และเขาม้ายูนิคอร์นทำจากทองคำ ใช่เพื่อตรวจวิเคราะห์พิษในมื้ออาหาร พระนางยังทรงเป็นเจ้าของพระธำมรงค์ที่ประดับด้วยหินลาย หินลายซึ่งมีสรรพคุณในการถอนพิษ มีหนังสือแผ่นทองคำเปลวใช้สำหรับปิดทอง และผ้าม่านแท่นบรรทมสีม่วง และผ้าปูแท่นบรรทมปักลายดอกทิสเซิลและยูนิคอร์น พระนางทรงมีจี้ที่ออกแบบเป็นรูปตัว "M" ประดับด้วยมุกเม็ดใหญ่หนึ่งเม็ด[12]
พระราชโอรส
แก้- พระเจ้าเจมส์ที่ 4 แห่งสกอตแลนด์ (17 มีนาคม ค.ศ. 1473 - 9 กันยายน ค.ศ. 1513)[13]
- เจ้าชายเจมส์ ดยุคแห่งรอส (มีนาคม ค.ศ. 1476 - มกราคม ค.ศ. 1504)[14]
- เจ้าชายจอห์น สทิวเวิร์ต เอิร์ลแห่งมาร์ (ธันวาคม ค.ศ. 1479 - ค.ศ. 1503)[15]
ภาพ
แก้-
พระเจ้าเจมส์ที่ 3 และสมเด็จพระราชินีมาร์กาเร็ต ภาพในฟอร์มานอาร์มอเรียล ในปีค.ศ. 1562
-
หน้าต่างกระจกสี ห้องโถงใหญ่ ปราสาทสเตอร์ลิง ห้องโถงใหญ่สร้างโดยพระเจ้าเจมส์ที่ 4 พระราชโอรสองค์ใหญ่ของสมเด็จพระราชินีมาร์กาเร็ต
-
ภาพวาดในสมัยต่อมาของพระราชินีมาร์กาเร็ตจากกระดาษพิมพ์หน้าเดียวของฝ่ายแจกเคอไบต์ อ้างอิงจากภาพของฮือโค ฟัน เดอร์คุส
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 "Margaret of Denmark, Queen of Scots". The Freelance History Writer (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 4 December 2012. สืบค้นเมื่อ 15 September 2017.
- ↑ UK Royal website, James III
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 3.6 Elizabeth Ewan, Sue Innes and Sian Reynolds, The Biographical Dictionary of Scottish Women: From Earliest Times to 2004 (Edinburgh: Edinburgh University Press, 2006). ISBN 978-0748617135.
- ↑ Thomas Dickson, Accounts of the Treasurer, vol. 1 (Edinburgh, 1877), pp. 29, 44.
- ↑ 5.0 5.1 5.2 "121 (Dansk biografisk Lexikon / XI. Bind. Maar – Müllner)". Runeberg.org. สืบค้นเมื่อ 5 January 2011.
- ↑ Henderson 1893.
- ↑ จารึกหลุมพระบรมศพของพระเจ้าเจมส์ที่ 3
- ↑ The Wardrobe of Margaret of Denmark, Queen of Scotland, Susan Abernethy
- ↑ Rosalind Marshall, Scottish Queens, 1034–1714 (John Donald, 2007), pp. 75–77.
- ↑ Thomas Dickson, Accounts of the Treasurer, vol. 1 (Edinburgh, 1877), pp. 29–39.
- ↑ Rosalind Marshall, Scottish Queens, 1034–1714 (John Donald, 2007), pp. 77–78.
- ↑ Thomas Dickson, Accounts of the Treasurer, vol. 1 (Edinburgh, 1877), pp. 83–85: Thomas Thomson, A Collection of Royal Inventories (Edinburgh, 1815), pp. 8–11
- ↑ Oxford Reference website, Overview James IV
- ↑ The Stewart Society website, History of the Stewarts, King James III of Scotland
- ↑ "Margaret of Denmark: Biography on Undiscovered Scotland". www.undiscoveredscotland.co.uk. สืบค้นเมื่อ 2023-05-02.
- ที่มา
This article incorporates text from a publication now in the public domain: Henderson, Thomas Finlayson (1893). "Margaret (1457?–1486)". ใน Lee, Sidney (บ.ก.). Dictionary of National Biography (ภาษาอังกฤษ). Vol. 36. London: Smith, Elder & Co.
- Marshall, Rosalind, Scottish Queens, 1034–1714
- Richard Oram: The Kings and Queens of Scotland
- Timothy Venning: The Kings and Queens of Scotland
- Mike Ashley: British Kings and Queens
- Elizabeth Ewan, Sue Innes and Sian Reynolds: The Biographical Dictionary of Scottish Women
ก่อนหน้า | มาร์เกรเธอแห่งเดนมาร์ก สมเด็จพระราชินีแห่งสกอตแลนด์ | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
ว่าง ลำดับก่อนหน้า มาเรียแห่งเกลเดอร์ส |
สมเด็จพระราชินีแห่งสกอตแลนด์ (ราชวงศ์สทิวเวิร์ต) (ค.ศ. 1469 – ค.ศ. 1486) |
ว่าง ลำดับถัดไป เจ้าหญิงมาร์กาเร็ตแห่งอังกฤษ |