มานุษยดนตรีวิทยา

มานุษยดนตรีวิทยา (อังกฤษ: Ethnomusicology) เป็นศัพท์บัญญัติขึ้นในปี ค.ศ.1950 (พ.ศ. 2493) โดย Jaap Kunst ซึ่งนำคำนี้มาใช้แทนคำว่า Comparative Music (ดนตรีเปรียบเทียบ) เป็นสาขาหนึ่งของวิชาดนตรี และมีนิยามว่า "การศึกษาการณ์ลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรมของดนตรีและการเต้นรำในบริบทท้องถิ่นและบริบทสากล"[1] หรือที่เจฟฟ์ ทอดด์ ติตอนกล่าวว่าเป็น "การศึกษาผู้สร้างดนตรี"[2]

มนุษยดนตรีวิทยาเป็นการศึกษาดนตรีพื้นเมือง ศิลปะดนตรีตะวันออก และดนตรีร่วมสมัยในวิธีการสืบทอดแบบมุขปาฐะ (Oral Tradition) โดยมีประเด็นในการศึกษา อาทิเช่น รากฐานการก่อเกิดดนตรี การพัฒนาและความเปลี่ยนแปลงทางดนตรี สัญลักษณ์และลักษณะดนตรี เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับดนตรีโดยรอบ (บริบท) บทบาทของหน้าที่ของดนตรีต่อสังคม โครงสร้างของดนตรี วิถีการดำรงอยู่ของดนตรี และดนตรีที่เกี่ยวข้องกับการเต้นรำ รวมถึงศิลปะดนตรีประจำท้องถิ่นหรือดนตรีพื้นเมือง (Folk Song) ของตะวันตกด้วย

นักมานุษยดนตรีวิทยาจะมุ่งเน้นในการศึกษาดนตรีที่ยังคงอยู่ (Living Music) ของวัฒนธรรมที่ใช้การถ่ายทอดด้วยปากเปล่า ไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร มุ่งศึกษาดนตรีของผู้ไม่รู้หนังสือ ดนตรีของชนกลุ่มน้อย ดนตรีที่ถ่ายทอดด้วยปากเปล่าของชาติที่มีวัฒนธรรมอันเก่าแก่ในซีกโลกตะวันออกและดนตรีพื้นเมือง ใช้การรวบรวมข้อมูลในแง่พฤติกรรมของมนุษย์เพื่ออธิบายว่า มนุษย์เล่นดนตรีเพื่ออะไร อย่างไร และวิเคราะห์บทบาทของดนตรีกับพฤติกรรมของมนุษย์ในสังคมนั้น ๆ ดำเนินการศึกษาโดยการลงพื้นที่ภาคสนามเพื่อเก็บข้อมูลและการบันทึกดนตรีที่พบเพื่อนำมาจดบันทึก วิเคราะห์ และเก็บเป็นหลักฐาน

การจดบันทึกดังกล่าวทำได้ 2 วิธี คือ

  1. การบันทึกโน้ตอย่างพอสังเขป (Prescriptive) เป็นการบันทึกโน้ตอย่างคร่าว ๆ ใช้เก็บเป็นหลักฐานประกอบมากกว่านำมาวิเคราะห์ทางทฤษฎีดนตรี
  2. การบันทึกโน้ตอย่างละเอียด (Descriptive) เป็นการบันทึกเสียงและจังหวะที่ได้ยินอย่างละเอียดที่สุดเท่าที่จะทำได้

การวิเคราะห์ดนตรีทำได้ 2 แบบ คือ

  1. ทำการศึกษาโครงสร้างโดยสังเขปของดนตรีชนิดนั้น ๆ
  2. ทำการศึกษาโดยลงลึกในแต่ละวัฒนธรรมดนตรี ซึ่งการศึกษาลักษณะลงลึกนี้ ในบางครั้งผู้ศึกษาสามารถรวบรวมเป็นทฤษฎีดนตรีโดยเฉพาะของชนชนาตินั้น ๆ ได้เลย การศึกษาดนตรีแล้วลงลึกถึงวัฒนธรรมถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของการศึกษามานุษยดนตรีวิทยา เพราะจะทำให้ทราบถึงประวัติศาสตร์ของประเทศ ประวัติศาสตร์ดนตรี ความเปลี่ยนแปลงของดนตรีที่สอดคล้องกับสภาพสังคมและวัฒนธรรม สิ่งที่ยังคงอยู่ ที่กำลังพัฒนา และที่กำลังหมดสิ้นไป

ความเป็นมาของการศึกษาสาขาวิชามานุษยดุริยางควิทยา

แก้

การศึกษาสาขาวิชานี้เกิดขึ้นเมื่อศตวรรษที่ 16 โดยเริ่มมีการศึกษาดนตรีต่างฃาติ หรือดนตรีต่างถิ่น พบหลักฐานเมื่อ ค.ศ.1768 และยังพบหลักฐานทางวรรณคดีตะวันตกในศตวรรษที่ 18 โดยเป็นการศึกษากนตรีพื้นเมืองของชาวจีน แคนนาดา อินเดีย และฟินแลนด์ด้วย ในศตวรรษที่ 19 กลุ่มนักดนตรีวิทยาเริ่มใช้การบันทึกเสียงลงกระบอกเสียงเพื่อเป็นตัวอย่างสั้น ๆ และเก็บเป็นข้อมูลทางดนตรี

ในปีค.ศ.1901 คาร์ล สตัมฟ์ (Carl Stumpf) ร่วมกับ อ๊อตโต อับบราฮัม (Otto Abraham) ได้ศึกษาดนตรีไทยจากการบันทึกกระบอกเสียงที่ประเทศเยอรมัน และได้สรุประบบเสียงดนตรีไทยไว้ในหนังสือชื่อ Tonsystem and Musik der Siamese

ในปีค.ศ.1955 ได้มีการศึกษาทางมานุษยดนตรีวิทยาอย่างจริงจัง โดยการตั้งเป็นสมาคมด้านมานุษยดนตรีวิทยาขึ้น (Society for Ethnomusicology) มีการจัดประชุมกันของผู้เชี่ยวชาญดนตรีพื้นเมืองและนักมานุษยดนตรีวิทยา โดยมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนางานดนตรีของซีกโลกตะวันออกอย่างมาก

ในช่วงปีค.ศ.1970-1980 มีการสรางทฤษฎีด้านมานุษยดนตรีวิทยาและระเบียบวิธีวิจัยขึ้น ในช่วงนี้ความสนใจในการศึกษาเปลี่ยนจากส่วนต่าง ๆ ของดนตรีไปยังกรรมวิธีการสร้างดนตรีและการปฏิบัติดนตรี โดยเฉพาะในด้านการประพันธ์และแนวคิดทางดนตรี

ดนตรีวิทยา (Musicology) จึงเป็นสาขาวิชาหลักทางด้านดนตรี ที่นอกเหนือจากสาขาวิชาทฤษฎีและปฏิบัติ ซึ่งจะเป็นสาขาวิชาที่ศึกษา รวบรวมข้อมูล และวิเคราะห์ องค์ความรู้ที่เกี่ยวกับดนตรี บริบททางด้านดนตรี และบริบททางด้านวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับดนตรี โดยใช้กระบวนการทางการวิจัย ที่เกี่ยวเนื่องกับองค์ความรู้หลายๆด้านในเชิงวิชาการ เพื่อให้ได้ข้อมูล องค์ความรู้ที่มีคุณภาพ และเป็นประโยชน์ต่อกระบวนการศึกษา กระบวนการเรียนรู้ และการพัฒนาทางด้านดนตรีในสาขาวิชาต่างๆ ให้เติบโตไม่มีที่สิ้นสุด และมีฐานที่มั่นคง เหมือนกับต้นไม้ใหญ่ ที่เติบโตยิ่งใหญ่ แตกกิ่งก้านสาขาสร้างร่มเงา มีดอกผลเพื่อขยายพันธุ์ มีรากแก้วที่หยั่งลึก สร้างความมั่นคง แข็งแรง ยืนหยัดต่อไปอย่างทรงคุณค่า

อ้างอิง

แก้
  1. Pegg, Carole: 'Ethnomusicology', Grove Music Online ed. L. Macy (Accessed February 3, 2008), <http://www.grovemusic.com เก็บถาวร 2008-05-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>
  2. Titon, Jeff Todd: Worlds of Music, 2nd ed. New York: Schirmer Books, 1992, p. xxi.