แหล่งมรดกโลก
แหล่งมรดกโลก (อังกฤษ: World Heritage Site) คือ พื้นที่หรือภูมิสัญลักษณ์ที่ได้รับคัดเลือกจากยูเนสโก เพราะมีลักษณะสำคัญทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือด้านอื่น และได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายตามสนธิสัญญา สถานที่เหล่านี้ถือว่าสำคัญต่อประโยชน์โดยรวมของมนุษยชาติ
ในปัจจุบัน (กรกฎาคม 2567) มีแหล่งมรดกโลกทั้งหมด 1223 แหล่ง ใน 168 ประเทศทั่วโลก แบ่งเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม 952 แหล่ง แหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ 231 แหล่ง และอีก 40 แหล่งเป็นแบบผสมทั้งสองประเภท [1][2] อิตาลีเป็นประเทศที่มีจำนวนแหล่งมรดกโลกมากที่สุดคือ 60 แหล่ง รองลงมาคือจีน (59 แหล่ง) เยอรมนี (54 แหล่ง) ฝรั่งเศส (53 แหล่ง) เยอรมนี (53 แหล่ง) และสเปน (50 แหล่ง)
แหล่งมรดกโลกแต่ละแหล่งเป็นทรัพย์สินของประเทศที่เป็นเจ้าของดินแดนที่แหล่งมรดกโลกนั้นตั้งอยู่ แต่ได้รับการพิจารณาให้เป็นผลประโยชน์ของประชาคมระหว่างประเทศในการอนุรักษ์แหล่งมรดกโลกแหล่งนั้น
ในส่วนของแหล่งมรดกโลกในประเทศไทยนั้น มีแหล่งที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้วทั้งสิ้น 8 แหล่ง ประกอบด้วยแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม 5 แหล่ง และแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติอีก 3 แหล่ง
สถิติ
แก้ตารางจำนวนแหล่งมรดกโลกแบ่งตามทวีป ณ เดือนกรกฎาคม 2567[3][4]
ภูมิภาค | วัฒนธรรม | ธรรมชาติ | ผสม | รวม | % | รัฐ |
---|---|---|---|---|---|---|
แอฟริกา | 61 | 42 | 5 | 108 | 8.83% | 36 |
รัฐอาหรับ | 87 | 6 | 3 | 96 | 7.85% | 18 |
เอเชียแปซิฟิก | 211 | 73 | 12 | 296* | 26.40% | 36 |
ยุโรปและอเมริกาเหนือ | 490 | 71 | 12 | 573* | 46.85% | 50 |
ลาตินอเมริกาและแคริบเบียน | 103 | 39 | 8 | 150* | 12.26% | 28 |
รวม | 952 | 231 | 40 | 1223 | 100% | 168 |
อันดับประเทศที่มีแหล่งมรดกโลกมากที่สุด
แก้ข้อมูล ณ เดือนกรกฎาคม 2567
ขั้นตอนการเสนอชื่อสถานที่
แก้ประเทศที่ต้องการเสนอชื่อสถานที่ในประเทศของตนให้ได้รับการพิจารณาให้ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก อันดับแรกจะต้องจัดทำบัญชีรายชื่อสถานที่ที่มีความสำคัญทางธรรมชาติและวัฒนธรรมทั้งหมดภายในประเทศของตน บัญชีนี้จะเรียกว่า บัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ซึ่งมีความสำคัญมาก เพราะมีเพียงสถานที่ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีนี้เท่านั้นที่จะมีสิทธิได้รับการเสนอชื่อ ขั้นต่อมา ประเทศนั้น ๆ จะต้องเลือกรายชื่อสถานที่ที่ต้องการเสนอชื่อมาจากบัญชีรายชื่อเบื้องต้น เพื่อจัดทำเป็นแฟ้มข้อมูล (Nomination File) โดยทางศูนย์แหล่งมรดกโลกอาจให้คำแนะนำและช่วยเหลือในการจัดทำแฟ้มข้อมูลนี้
เมื่อถึงขั้นตอนนี้ แฟ้มข้อมูลจะได้รับการตรวจสอบและพิจารณาจากองค์การ 2 แห่ง ได้แก่ สภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ (International Council on Monuments and Sites : ICOMOS) และศูนย์ระหว่างประเทศว่าด้วยการศึกษาการอนุรักษ์และปฏิสังขรณ์สมบัติทางวัฒนธรรม (The International Centre for the Study of the Preservation and Restoration of the Cultural Property : ICCROM) ในส่วนของแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature : IUCN)[5] แล้วทั้งสามองค์การนี้จะยื่นข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการมรดกโลก ทางคณะกรรมการจะมีการประชุมร่วมกันปีละหนึ่งครั้ง เพื่อตัดสินว่าสถานที่ที่มีการเสนอชื่อแห่งใดบ้างที่ควรได้ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก หรือทางคณะกรรมการอาจร้องขอให้ประเทศที่เสนอชื่อได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่เพิ่มเติม โดยการพิจารณาว่าจะขึ้นทะเบียนสถานที่แห่งใดจะต้องมีลักษณะตามเกณฑ์มาตรฐานข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อ
ข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้เป็นแหล่งมรดกโลก
แก้กระทั่งปี พ.ศ. 2548 มีข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ทั้งหมด 6 ข้อสำหรับแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม และ 4 ข้อสำหรับแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติในการพิจารณาให้เป็นแหล่งมรดกโลก[6] ดังนี้
หลักเกณฑ์ทางวัฒนธรรม
แก้- (1) - เป็นตัวแทนในการแสดงผลงานชิ้นเอกที่จัดทำขึ้นด้วยการสร้างสรรค์อันชาญฉลาดของมนุษย์
- (2) - เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลยิ่ง ผลักดันให้เกิดการพัฒนาสืบต่อมาในด้านการออกแบบทางสถาปัตยกรรม อนุสรณ์สถาน ประติมากรรม สวน และภูมิทัศน์ ตลอดจนการพัฒนาศิลปกรรมที่เกี่ยวข้อง หรือการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ซึ่งได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือบนพื้นที่ใด ๆ ของโลกซึ่งทรงไว้ซึ่งวัฒนธรรม
- (3) - เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว
- (4) - เป็นตัวอย่างอันโดดเด่นของประเภทของสิ่งก่อสร้างอันเป็นตัวแทนของการพัฒนาทางด้านวัฒนธรรม สังคม ศิลปกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรม ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
- (5) - เป็นตัวอย่างอันโดดเด่นของวัฒนธรรมมนุษย์ ขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งสถาปัตยกรรม วิธีการก่อสร้าง หรือการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ซึ่งเสื่อมสลายได้ง่ายจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมตามกาลเวลา
- (6) - มีความคิดหรือความเชื่อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์ หรือมีความโดดเด่นยิ่งในประวัติศาสตร์
หลักเกณฑ์ทางธรรมชาติ
แก้- (7) - เป็นตัวอย่างที่เด่นชัดของการเป็นตัวแทนในวิวัฒนาการสำคัญต่าง ๆ ในอดีตของโลก เช่น ยุคสัตว์เลื้อยคลาน ยุคน้ำแข็ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาความหลากหลายทางธรรมชาติบนพื้นโลก
- (8) - เป็นตัวอย่างที่เด่นชัดในการเป็นตัวแทนของขบวนการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทางธรณีวิทยาหรือวิวัฒนาการทางชีววิทยา และปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่กำลังเกิดอยู่ เช่น ภูเขาไฟ เกษตรกรรมขั้นบันได
- (9) - เป็นแหล่งที่เกิดจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่มีเอกลักษณ์หายากหรือสวยงามเป็นพิเศษ เช่น แม่น้ำ น้ำตก ภูเขา
- (10) - เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดสัตว์และพันธุ์พืชที่หายากหรือที่ตกอยู่ในสภาวะอันตราย แต่ยังคงสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ซึ่งรวมถึงระบบนิเวศอันเป็นแหล่งรวมความอุดมสมบูรณ์ของพืชและสัตว์ที่ทั่วโลกให้ความสนใจด้วย
รายชื่อ
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ World Heritage List, UNESCO World Heritage Sites official sites.
- ↑ Twenty-seven new sites inscribed, UNESCO World Heritage Sites official sites.
- ↑ Stats
- ↑ World Heritage List
- ↑ http://www.dnp.go.th/News/Logo_congress.htm ประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เรื่อง การประกวดออกแบบตราสัญลักษณ์ของการประชุมใหญ่สมัชชาการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโลก
- ↑ http://www.thaiwhic.go.th/convention.aspx เก็บถาวร 2010-08-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้เป็นแหล่งมรดกโลก
ดูเพิ่ม
แก้แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- UNESCO World Heritage portal — เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของคณะกรรมการมรดกโลก
- The World Heritage List — หน้าค้นหารายชื่อแหล่งมรดกโลกที่จดทะเบียนไว้
- KML file of the World Heritage List — ไฟล์ KML แสดงตำแหน่งแหล่งมรดกโลกในกูเกิลเอิร์ธและนาซาเวิลด์วินด์
- ศูนย์ข้อมูลมรดกโลก - Thai World Heritage Information Center เก็บถาวร 2013-11-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน — กระทรวงวัฒนธรรม
- แหล่งมรดกโลกในประเทศไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เก็บถาวร 2010-08-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม เก็บถาวร 2012-12-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- WHTour.org เก็บถาวร 2018-04-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน —สำรวจทิวทัศนียภาพแหล่งมรดกโลกแบบ 360 องศา