มณฑลราชบุรี
มณฑลราชบุรี เป็นมณฑลที่ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2437 ประกอบด้วยเมืองราชบุรี เพชรบุรี กาญจนบุรี ปราณบุรี (ต่อมาใน พ.ศ. 2458 เปลี่ยนชื่อเป็นประจวบคีรีขันธ์) และเมืองสมุทรสงคราม ตั้งอยู่ในภาคกลางของประเทศไทยติดกับพรมแดนพม่าทางทิศตะวันตก จึงมักเรียกหัวเมืองแถบนี้ว่า หัวเมืองฝ่ายตะวันตก (เมืองสมุทรสงครามไม่นับเป็นหัวเมืองฝ่ายตะวันตก) หัวเมืองดังกล่าวตั้งอยู่ลุ่มแม่น้ำที่สำคัญคือ แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำปราณบุรี ส่วนเมืองสมุทรสงครามตั้งอยู่ริมอ่าวไทยเป็นเมืองชายทะเล
มณฑลราชบุรี | |
---|---|
มณฑลเทศาภิบาล | |
พ.ศ. 2437 – 2476 | |
ธง | |
เมืองหลวง | ราชบุรี |
การปกครอง | |
• ประเภท | สมุหเทศาภิบาลต่างพระเนตรพระกรรณ |
สมุหเทศาภิบาล | |
• พ.ศ. 2437–2442 | เจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทศ บุนนาค) (คนแรก) |
• พ.ศ. 2444–2457 | พระยารัตนกุล (จำรัส รัตนกุล) |
• พ.ศ. 2455–2459 | หม่อมเจ้าสฤษดิเดช ชยางกูร |
• พ.ศ. 2459–2460 | หม่อมเจ้าประติพัทธ์เกษมศรี เกษมศรี |
• พ.ศ. 2472–2476 | พระยาสุรพันธ์เสนี (อิ้น บุนนาค) (คนสุดท้าย) |
ยุคทางประวัติศาสตร์ | รัตนโกสินทร์ |
• จัดตั้ง | พ.ศ. 2437 |
• เป็นส่วนหนึ่งของมณฑลภาคตะวันตก | 29 มีนาคม พ.ศ. 2459 - 31 มีนาคม พ.ศ. 2469 |
• รวมมณฑลนครไชยศรีไว้ในปกครอง | 1 เมษายน พ.ศ. 2475 |
• ยกเลิกการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล | 9 ธันวาคม พ.ศ. 2476 |
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ | ไทย |
ภูมิหลัง
แก้ในยามสงบ หัวเมืองฝ่ายตะวันตกใช้เป็นเส้นทางติดต่อค้าขายกับราษฎร แต่ยามสงครามจะใช้เป็นเส้นทางเดินทางเดินทัพ เช่น ด่านเจดีย์สามองค์ และด่านสิงขร เป็นต้น
ประชากรมีหลากหลายเชื้อชาติอยู่ปะปนกันหลายหมู่หลายพวก นอกเหนือจากชาวไทยซึ่งอาศัยอยู่เป็นส่วนใหญ่แล้ว ยังมีชนชาติต่างๆอพยพเข้ามาอยู่จำนวนมากเช่น กะเหรี่ยง มอญ ลาว จีน เขมร มลายู ละว้า และ ขมุ เป็นต้น
ด้านเศรษฐกิจ มีสภาพภูมิศาสตร์เหมาะแก่การเพาะปลูก ทั้งยังเป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุมีค่ามากมาย เช่น ทองคำ ดีบุก ถ่านหิน และวุลแฟรม เป็นต้น มีการทำนา ปลูกยาสูบ มะพร้าว น้ำตาล ผลิตภัณฑ์จากป่า มีการเลี้ยงสัตว์ต่าง ๆ ผลผลิตจากการขุดแร่ การประมง และอุตสาหกรรม เช่น ผลิตปูนขาว ต้มกลั่นสุรา เครื่องปั้นดินเผา เป็นต้น
ด้านการปกครอง ดินแดนหัวเมืองตะวันตกได้มือสมุทรสงครามได้ผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรสุโขทัยในรัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ภายใต้ลักษณะการปกครองแบบเมืองประเทศราช ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา ฐานะของหัวเมืองดังกล่าวถูกกำหนดให้เป็นหัวเมืองชั้นใน มีการปกครองขึ้นตรงต่อราชธานี และกลายเป็นหัวเมืองที่มีความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อยามสงคราม ที่มีหน้าที่ร่วมกับกองทัพหลวงสู้กับพม่า
ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น หัวเมืองตะวันตกและเมืองสมุทรสงครามมีความสำคัญมากขึ้น ที่ราชธานีได้ย้ายมาอยู่ที่กรุงเทพฯ ทำให้หัวเมืองเหล่านี้กลายเป็นเมืองหน้าด่านที่ใกล้ชิดกับราชธานียิ่งขึ้น[1]
การปฏิรูป
แก้มณฑลราชบุรีจัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2437 มีที่ทำการอยู่ที่เมืองราชบุรี โดยมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้พระยาสุรินทรฦๅชัย ดำรงตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาลประจำวันทนราชบุรีคนแรก
พระยาสุรินทรฦๅชัยได้ยกเลิกการปกครองแบบกินเมือง แล้วจัดรูปแบบการปกครองมณฑลเทศาภิบาลขึ้น ประกอบด้วย หน่วยงานและตำแหน่งทางราชการ กระจายอำนาจการปกครองไปสู่ภูมิภาคอย่างแท้จริง มีตำแหน่งผู้ว่าราชการเมือง ซึ่งแต่เดิมเรียกว่าเจ้าเมือง เป็นตำแหน่งสูงสุดในเมือง แต่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของข้าหลวงเทศาภิบาลด้วย ได้ยกเลิกอำนาจของเจ้าเมือง คือ การเก็บภาษีอากร ส่วนแบ่งจากภาษีอากร และอำนาจในการพิจารณาคดีของเจ้าเมือง[2] ตำแหน่งสำคัญอื่น ๆ ได้แก่ ตำแหน่งกรมการเมือง ทำหน้าที่ผู้ช่วยผู้ว่าราชการ อาทิ ปลัดเมือง ยกกระบัตร ฯลฯ ตำแหน่งเหล่านี้ได้รับเงินเดือนเป็นค่าตอบแทนในการปฏิบัติหน้าที่ การจัดการปกครองตำบลและหมู่บ้าน กำหนดให้กำนันและผู้ใหญ่บ้านเป็นหัวหน้าหน่วยการปกครอง แต่ไม่อยู่ภายใต้ข้อบังคับที่จะได้รับเงินเดือน จะได้รับผลประโยชน์อย่างอื่นตอบแทน เช่น ได้รับส่วนแบ่งจากค่าธรรมเนียม หรือได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีอากรบางอย่าง[3]
มณฑลราชบุรีมีคดีความโจรผู้ร้ายมากมาย ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหานี้ เช่น กำนันผู้ใหญ่บ้านเป็นตัวแทนดูแลตรวจตรารักษาความสงบ ยกเลิกโรงรับจำนำ ควบคุมโรงฝิ่นเเละบ่อนเบี้ย จัดทำตั๋วรูปพรรณสัตว์พาหนะ สำรวจบัญชีสำมะโนครัวเมื่อ พ.ศ. 2448 ออกกฎระเบียบข้อบังคับในการป้องกันเหตุร้ายต่าง ๆ[4]
การปรับปรุงด้านเศรษฐกิจ มีการขุดคลองส่งน้ำเพื่อให้มีน้ำใช้เพียงพอในการทำนา จัดตั้งกรรมการที่ปรึกษาขึ้นประจำแขวงเมืองต่าง ๆ ขุดคลองดำเนินสะดวกให้ใช้เป็นเส้นทางลำเลียงสินค้าเข้ากรุงเทพฯได้สะดวก ด้านการปรับปรุงการโยธา ได้จัดการก่อสร้างสถานที่ราชการต่าง ๆ เช่น สร้างที่ทำการไปรษณีย์ถาวรที่เมืองสมุทรสงคราม และสร้างที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขที่เมืองปราณบุรี มีการจัดตั้งโรงเรียนขึ้นที่วัดช่องลม วัดโชติทายการาม ในเมืองราชบุรี[1]
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 วุฒิชัย มูลศิลป์. "มณฑลเทศาภิบาล : วิเคราะห์เปรียบเทียบ" (PDF). สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-07-16. สืบค้นเมื่อ 2021-07-21.
- ↑ ร.ศ. จักรกฤษณ์ นรนิติผดุงการ. สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพกับกระทรวงมหาดไทย. วิทยานิพนธ์ รป.ม. คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หน้า 196-198
- ↑ เพชรรุ่ง เทียนปิ๋วโรจน์. "รายงานตรวจราชการเมืองราชบุรีและเมืองสมุทรสงคราม ร.ศ. 117 : เอกสารประวัติศาสตร์ราชบุรีและสมุทรสงครามในสมัยรัชกาลที่ 5".
- ↑ กจช. เอกสาร ร.5 ม. 55/16. รายงานราชการมณฑลราชบุรี. หนังสือสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ กราบบังคมทูล เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2443