ภาษีเดี่ยว
บทความนี้ต้องการการจัดหน้า จัดหมวดหมู่ ใส่ลิงก์ภายใน หรือเก็บกวาดเนื้อหา ให้มีคุณภาพดีขึ้น คุณสามารถปรับปรุงแก้ไขบทความนี้ได้ และนำป้ายออก พิจารณาใช้ป้ายข้อความอื่นเพื่อชี้ชัดข้อบกพร่อง |
ภาษีเดี่ยว (Single Tax) คือ ระบบภาษีที่เก็บจากแหล่งที่มาของรายได้จากภาษีเพียงแหล่งเดียว ทั้งนี้เคยมีผู้เสนอให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ หารายได้จากภาษีเพียงแหล่งเดียว เช่น จากการใช้จ่าย จากรายได้ จากทุน หรือ จากอาคารบ้านเรือน แต่ต่อมาคำ “ภาษีเดี่ยว” มักใช้กับแนวคิดของ เฮนรี จอร์จ นักเศรษฐศาสตร์อเมริกันในหนังสือ Progress and Poverty (พิมพ์ครั้งแรก ค.ศ. 1879) ที่เสนอให้เก็บภาษีจากมูลค่าที่ดินเพียงอย่างเดียวโดยมีเหตุผลตามปฐมธาตุหรือรากฐานความคิด (first principles) ว่าสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ รวมทั้งแผ่นดินและทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งมนุษย์มิได้ลงแรงลงทุนผลิตขึ้นมา ควรเป็นกรรมสิทธิ์ของส่วนรวมร่วมกัน อันเป็นการตรงข้ามกับทรัพย์สินอื่น ๆ ซึ่งมนุษย์ต้องลงแรงลงทุนผลิต ผลผลิตของใครก็ต้องเป็นสิทธิ์ส่วนตัวของผู้นั้น รวมทั้งสิทธิ์ที่จะค้าขายแลกเปลี่ยนหรือยกให้แก่ผู้ใดก็ได้ ซึ่งผู้ที่ได้รับก็ควรจะได้สิทธิ์ต่อไป ส่วนค่าวัตถุดิบหรือทรัพยากรธรรมชาติที่นำมาใช้ในการผลิตก็ต้องจ่ายให้แก่รัฐผู้ทำหน้าที่รับแทนส่วนรวม รวมทั้งค่าใช้ที่ดินตามทำเลและสภาพอื่น ๆ ที่ดีเลวแตกต่างกันไป พ้นจากนี้แล้วการลงแรงลงทุนผลิตและค้าไม่ควรถูกเก็บภาษีถ้ายังไม่ได้เก็บภาษีจากสิ่งที่ควรเป็นของส่วนรวมร่วมกันให้เต็มที่เสียก่อน รัฐเองก็ต้องพยายามใช้รายได้จากภาษีอย่างประหยัดที่สุด
ปัจจุบันมีคำหลายคำที่มีความหมายเหมือน ๆ กับ “ภาษีมูลค่าที่ดิน” (Land Value Tax) ในฐานะเป็นแนวคิด หรือระบบ หรือลัทธิ เช่น ลัทธิจอร์จ (Georgism) ภูมิเศรษฐศาสตร์ (Geonomics) ภูมินิยม (Geoism) เศรษฐศาสตร์ที่ดิน (Gaianomics) ภาษีมูลค่าทำเล (Site Value Rating) ภาษีค่าเช่าที่ดิน (Ground Rent Collection) การกลับมายึดมูลค่าที่ดิน (Land Value Recapture) และ ค่าเช่าทรัพยากร (Resource Rentals)
ภาษีมูลค่าที่ดินนี้สหรัฐอเมริกามีประสบการณ์อยู่พอควรในการคิดแยกจากภาษีสิ่งปรับปรุง แม้จะมิใช่ในฐานะภาษีเดี่ยว เช่น รัฐเพนซิลเวเนียได้ให้นครชั้นที่ 2 ซึ่งขณะนั้นมีสองแห่ง คือ พิตต์สเบิร์กและสแครนตัน ค่อย ๆ ปรับแต่งอัตราส่วนระหว่างภาษีมูลค่าที่ดินกับภาษีสิ่งปรับปรุงซึ่งเดิมคิดอัตราเดียวกันถึง ค.ศ. 1913 จนกระทั่งภาษีสิ่งปรับปรุงเป็นครึ่งหนึ่งของภาษีมูลค่าที่ดินใน ค.ศ. 1925 (ใช้เวลา 12 ปี) [1] ใน ค.ศ. 2006 มีนคร 18 นครในรัฐเพนซิลเวเนียคิดภาษีมูลค่าที่ดินในอัตราสูงกว่าสิ่งปรับปรุง และใน ค.ศ. 1909 รัฐแคลิฟอร์เนียได้ให้เขตชลประทาน (irrigation districts) ที่จัดตั้งใหม่เก็บภาษีมูลค่าที่ดินอย่างเดียว โดยยกเว้นสิ่งปรับปรุง พืชผล ฯลฯ ส่วนเขตชลประทานเดิม ๆ มีสิทธิที่จะเลือกใช้แบบเดิมหรือเปลี่ยนเป็นเก็บภาษีมูลค่าที่ดินอย่างเดียวก็ได้ ใน ค.ศ. 2006 มีเขตชลประทานใช้ระบบนี้กว่า 100 เขตรวมพื้นที่ 4 ล้านเอเคอร์ซึ่งเป็นที่ดินไร่นาดีที่สุดและให้พืชผลประมาณ 75% ของทั้งรัฐ [2]
ข้อเขียนของเฮนรี จอร์จที่เป็นสาระสำคัญในบทความ The Single Tax: What It Is and Why We Urge It [3] มีดังนี้:
“เราเสนอให้ยกเลิกภาษีทุกชนิดยกเว้นภาษีอย่างเดียวที่คิดจากมูลค่าที่ดิน (land values) โดยไม่รวมมูลค่าของสิ่งปรับปรุง (improvements) ”
“สิ่งที่เราเสนอมิใช่ภาษีอสังหาริมทรัพย์ (real estate) เพราะอสังหาริมทรัพย์หมายความรวมถึงสิ่งปรับปรุง ทั้งมิใช่ภาษีที่ดิน เพราะเราจะไม่เก็บภาษีจากที่ดินทุกแห่ง จะเก็บภาษีแต่เฉพาะที่ดินซึ่งมีมูลค่าโดยไม่คิดถึงสิ่งปรับปรุง และจะเก็บตามส่วนกับมูลค่านั้น”
“แผนของเรามิใช่การเก็บภาษีชนิดใหม่ เพราะเราได้เก็บภาษีมูลค่าที่ดินอยู่แล้วในภาษีอสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้เป็นไปตามนี้ เราเพียงแต่ต้องยกเลิกภาษีทุกชนิดยกเว้นภาษีอสังหาริมทรัพย์ และยกเลิกภาษีทุกส่วนที่คิดจากโรงเรือนหรือสิ่งปรับปรุง ให้เหลือแต่ส่วนที่คิดจากที่ดินเปล่า ๆ ในขณะนี้เท่านั้น โดยเก็บเพิ่มให้ใกล้เคียงกับค่าเช่าทางเศรษฐกิจทั้งหมด หรือสิ่งที่บางครั้งก็เรียกว่า ‘มูลค่าที่ดินซึ่งเพิ่มขึ้นเองโดยมิได้ลงแรงลงทุน’ (unearned increment of land values) ”
“ถ้าเราเก็บภาษีบ้าน จะมีบ้านน้อยลงและคุณภาพต่ำลง ถ้าเราเก็บภาษีเครื่องจักรกล จะมีเครื่องจักรกลน้อยลง ถ้าเราเก็บภาษีการค้า จะมีการค้าน้อยลง ถ้าเราเก็บภาษีทุน จะมีทุนน้อยลง ถ้าเราเก็บภาษีการออม จะมีการออมน้อยลง ดังนั้นภาษีทั้งปวงที่เราจะยกเลิกก็คือภาษีซึ่งกดขี่ความอุตสาหะและลดทรัพย์สิน แต่ถ้าเราเก็บภาษีมูลค่าที่ดิน ที่ดินจะไม่ลดน้อยลง
“ตรงกันข้าม การเก็บภาษีมูลค่าที่ดินจะมีผลให้อุตสาหกรรมหาที่ดินได้ง่ายขึ้นเพราะภาษีนี้จะทำให้เป็นการยากขึ้นสำหรับเจ้าของที่ดินที่มีมูลค่า (ซึ่งตนเองไม่สนใจที่จะใช้) ที่จะเก็บกักเอาไว้เฉย ๆ เพื่อหวังราคาที่จะสูงขึ้นในอนาคต”
“เมื่อเราเก็บภาษีจากบ้าน พืชผล เงิน เครื่องเรือน ทุน หรือทรัพย์สมบัติในรูปแบบใด ๆ นั่นคือเราเอามาจากปัจเจกบุคคลซึ่งสิ่งอันเป็นของเขาโดยชอบ เราละเมิดสิทธิในทรัพย์สิน และทำการชิงทรัพย์ในนามของรัฐ แต่เมื่อเราเก็บภาษีมูลค่าที่ดิน เราเอามาจากปัจเจกบุคคลซึ่งสิ่งอันมิใช่ของเขา แต่เป็นของประชาคม และซึ่งมิสามารถปล่อยให้เป็นของปัจเจกบุคคลโดยไม่เป็นการชิงทรัพย์ของปัจเจกบุคคลอื่น ๆ”
“จะเกิดผลอะไรขึ้นในสวรรค์เองถ้ากลุ่มผู้ไปอยู่ก่อนได้สถาปนาระบบกรรมสิทธิ์เอกชนในดินแดนของสวรรค์แล้วแบ่งเนื้อที่ให้เป็นสิทธิ์ขาดในกลุ่มของตนเองเหมือนกับที่พวกเราแบ่งแผ่นดินโลก”
“โดยที่เราไม่อาจคิดได้ถึงสวรรค์ที่ลูก ๆ ของพระเป็นเจ้าถูกปฏิเสธสิทธิเท่าเทียมกันในพระกรุณาของพระบิดา ดังที่เราปฏิเสธพวกเขาในโลกนี้อยู่ขณะนี้ อะไรคือหน้าที่ของชาวคริสต์ดังบทสวดประจำวันที่ว่า: ‘ขอให้แผ่นดินของพระองค์มาตั้งอยู่ พระทัยของพระองค์สำเร็จในสวรรค์อย่างไร ก็ให้สำเร็จในแผ่นดินโลกเหมือนกัน’ ? ”
หลักบัญญัติแห่งการภาษี (Canons of Taxation)
แก้เฮนรี จอร์จ ได้กำหนดหลักบัญญัติแห่งการภาษี หรือลักษณะภาษีที่ดี ไว้ 4 ข้อดังนี้ [4]
- เป็นภาระแก่การผลิตน้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้
- เก็บได้โดยง่ายและเสียค่าใช้จ่ายน้อย และเป็นภาระโดยตรงแก่ผู้ที่จะต้องจ่ายจริงเท่าที่จะทำได้
- มีความแน่นอน – เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีโอกาสกดขี่หรือคดโกงได้น้อยที่สุด และเพื่อให้ผู้เสียภาษีอยากละเมิดกฎหมายและหลีกเลี่ยงแต่น้อยที่สุด
- เป็นภาระแก่ทุกคนเท่าเทียมกัน – เพื่อมิให้มีพลเมืองผู้ใดได้เปรียบหรือเสียเปรียบเมื่อเทียบกับผู้อื่น
หลังจากได้พิจารณาเปรียบเทียบภาษีมูลค่าที่ดินกับภาษีอื่น ๆ ตามหลักบัญญัตินี้แล้ว เฮนรี จอร์จก็สรุปตอนท้ายของบทที่ว่าด้วยหลักบัญญัติแห่งการภาษีไว้ว่า
“เพราะฉะนั้นภาษีที่เก็บจากมูลค่าที่ดินจึงนับว่ายุติธรรมและเท่าเทียมกันที่สุดในบรรดาภาษีทั้งหลาย มันจะตกเป็นภาระเฉพาะแก่ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์อันมีลักษณะพิเศษและมีค่าจากสังคมเท่านั้น และจะเป็นภาระแก่เขาตามส่วนของผลประโยชน์ที่เขาได้รับด้วย มันเป็นมูลค่าที่ประชาคมก่อให้เกิดขึ้นและประชาคมรับมา เพื่อใช้ประโยชน์สำหรับประชาคม มันเป็นการนำเอาทรัพย์สินร่วมกันมาใช้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน ต่อเมื่อมีการเก็บค่าเช่าทั้งหมดมาเป็นภาษีเพื่อประโยชน์ของประชาคมแล้วนั่นแหละ เราจึงจะได้รับความเท่าเทียมกันตามประกาศิตของธรรมชาติ จะไม่มีพลเมืองผู้ใดได้เปรียบพลเมืองผู้อื่น นอกจากที่ได้รับจากความอุตสาหะ ความเชี่ยวชาญ และสติปัญญาของเขาเอง และแต่ละคนจะได้รับสิ่งที่เขาลงทุนลงแรงหามาได้อย่างเป็นธรรม เมื่อนั้นแหละ และต่อเมื่อนั้นเท่านั้น แรงงานจึงจะได้รับรางวัลโดยเต็มที่ และทุนก็จะได้รับผลตอบแทนตามธรรมชาติ”
ยังมีข้อเขียนของเฮนรี จอร์จจากที่อื่นซึ่งสรุปลักษณะภาษีที่ดีของภาษีมูลค่าที่ดินไว้อย่างกระชับ ดังนี้
“ในบรรดาภาษีทั้งหลาย ภาษีมูลค่าที่ดินมีคุณสมบัติครบถ้วนที่สุดตามข้อกำหนดแห่งภาษีที่ดี โดยที่ที่ดินนั้นไม่สามารถซ่อนเร้นหรือพาหนีไปได้ ภาษีที่ดินจึงสามารถประเมินได้แน่นอนกว่า และเก็บได้ง่ายกว่าโดยสิ้นเปลืองน้อยกว่าภาษีอื่น ๆ ขณะเดียวกันก็ไม่มีผลถ่วงการผลิตหรือลดแรงจูงใจในการผลิตเลย ที่จริงแล้วมันเป็นภาษีเพียงในรูปแบบ แต่โดยสภาพแล้วมันคือค่าเช่าที่ดิน – คือส่วนที่เก็บจากมูลค่าอันมิได้เกิดจากความพยายามของแต่ละบุคคล แต่เกิดจากการเจริญเติบโตของประชาคม เพื่อนำมาใช้ประโยชน์สำหรับประชาคม เพราะสิ่งที่เจ้าของหรือผู้ใช้ที่ดินแต่ละคนทำนั้นมิได้ไปทำให้ที่ดินมีมูลค่าขึ้น มูลค่าที่แต่ละคนก่อคือมูลค่าที่เกิดกับสิ่งปรับปรุง มูลค่านี้ ซึ่งเป็นผลแห่งการใช้ความพยายามของแต่ละบุคคล ย่อมเป็นของแต่ละบุคคลโดยชอบ” [5]
อ้างอิง
แก้- ↑ หนังสือความก้าวหน้ากับความยากจน, คำนำฉบับครบ 75 ปี หน้า xxviii เก็บถาวร 2009-08-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เรียกข้อมูลวันที่ 8 พค. 2550.
- ↑ บทความเรื่อง Land Value Taxation Around the World. เรียกข้อมูลวันที่ 8 พค. 2550.
- ↑ The Single Tax: What It Is and Why We Urge It, An article by Henry George, published in The Christian Advocate in 1890 เก็บถาวร 2011-06-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เรียกข้อมูลวันที่ 29 พค. 2550.
- ↑ หนังสือความก้าวหน้ากับความยากจน, หน้า 408 เก็บถาวร 2009-08-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เรียกข้อมูลวันที่ 29 พค. 2550.
- ↑ หนังสือ Protection or Free Trade, Chapter XXVI True Free Trade, para. 40 เก็บถาวร 2007-06-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เรียกข้อมูลวันที่ 4 มิย. 2550.
ดูเพิ่ม
แก้- แอดัม สมิธ ตอน หลักการภาษีของแอดัม สมิธ
- เฮนรี จอร์จ
- The New Physiocratic League