พ่อขุนบานเมือง
พ่อขุนบานเมือง (สวรรคตราว พ.ศ. 1822)[1] เป็นพระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรสุโขทัย อาณาจักรโบราณในประเทศไทยปัจจุบัน พระองค์ทรงอยู่ในราชวงศ์พระร่วง[4]
พ่อขุนบานเมือง | |
---|---|
พระรูปพ่อขุนบานเมือง ไม่ปรากฏที่ตั้ง | |
พระมหากษัตริย์สุโขทัย | |
ครองราชย์ | ? – ราว พ.ศ. 1822[1] |
ก่อนหน้า | พ่อขุนศรีอินทราทิตย์[2] |
ถัดไป | พ่อขุนรามคำแหงมหาราช[2] |
สวรรคต | ราว พ.ศ. 1822[1] |
พระราชบุตร | พระยางั่วนำถุม[3] |
ราชวงศ์ | พระร่วง[4] |
พระราชบิดา | พ่อขุนศรีอินทราทิตย์[2] |
พระราชมารดา | นางเสือง[2] |
พระนาม
แก้คำนำพระนามว่า "พ่อขุน" นั้นปรากฏในจารึกบางหลัก เช่น จารึกพ่อขุนรามคำแหง (ราว พ.ศ. 1835) และจารึกวัดศรีชุม (ราว พ.ศ. 1884–1910)[5] ส่วนจารึกสมัยหลัง เช่น จารึกปู่ขุนจิตขุนจอด (พ.ศ. 1935)[6] ใช้คำนำพระนามแบบมอญว่า "พรญา" (พระยา) ขณะที่คำว่า "พ่อขุน" ถูกลดฐานะเป็นคำนำหน้านามขุนนางหรือเจ้าเมือง[5]
พระนาม "บานเมือง" ปรากฏในจารึกพ่อขุนรามคำแหง[7] ส่วนจารึกปู่ขุนจิตขุนจอดเรียกพระองค์ว่า "บาน"[6]
พระนาม "บานเมือง" แปลว่า เบิกบานเมือง (ทำให้เมืองเบิกบาน)[8]
เอกสารภาษาบาลีมักแปลงคำว่า "บาน" เป็น "บาล" (บาลี: ปาล) ทำให้คนทั่วไปเข้าใจผิดว่า พระนามคือ "บาลเมือง"[4][8] ที่แปลว่า "คุ้มครองเมือง"[8]
ปีรัชกาล
แก้เดิมสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเฉลี่ยปีรัชกาลของพระมหากษัตริย์สุโขทัยไว้คร่าว ๆ โดยทรงเชื่อว่า แต่ละพระองค์ทรงครองราชย์ราว 20 ปี จึงทรงกะไว้ว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ทรงครองราชย์ถึง พ.ศ. 1800 และพ่อขุนบานเมืองทรงครองราชย์ต่อตั้งแต่ พ.ศ. 1800 จนถึง 1820[4]
อย่างไรก็ดี ประเสริฐ ณ นคร เห็นควรระบุว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์เสด็จสวรรคตในปีใดไม่ปรากฏ และพ่อขุนบานเมืองจึงทรงขึ้นครองราชย์ต่อจนถึง พ.ศ. 1822 อันเป็นปีที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระอนุชาของพ่อขุนบานเมือง ทรงขึ้นครองราชย์ โดย พ.ศ. 1822 นี้ได้มาจากการเสนอของตรี อมาตยกุล ว่า พ่อขุนรามคำแหงทรงปลูกต้นตาลที่กรุงสุโขทัยใน พ.ศ. 1822 จึงน่าจะขึ้นทรงครองราชย์ในปีนั้น และประเสริฐ ณ นคร พบหลักฐานว่า กษัตริย์ไทอาหมทรงปลูกต้นไทรเมื่อขึ้นครองราชย์อย่างน้อย 7 รัชกาลด้วยกัน เพื่อเป็นเคล็ดลางว่ารัชกาลจะยืนยาวเสมือนต้นไม้ที่ทรงปลูก ทั้งต้นตาลและต้นไทรก็ยังเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ของลังกา[9]
พระชนมชีพ
แก้พระมหากษัตริย์ราชวงศ์พระร่วง | |
---|---|
พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ | |
พ่อขุนบานเมือง | |
พ่อขุนรามคำแหงมหาราช | |
พระยาเลอไทย | |
พระยางั่วนำถุม | |
พระมหาธรรมราชาที่ 1 | |
พระมหาธรรมราชาที่ 2 | |
พระมหาธรรมราชาที่ 3 | |
พระมหาธรรมราชาที่ 4 | |
พ่อขุนบานเมืองเป็นพระโอรสพระองค์ที่สองของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ พระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรสุโขทัย กับนางเสือง พระมเหสี[10] พระองค์ทรงสืบราชสมบัติต่อจากพระบิดา โดยไม่ปรากฏปีที่เสด็จขึ้นครองราชย์ และทรงอยู่ในราชสมบัติไปจนเสด็จสวรรคตในราว พ.ศ. 1822[1]
จารึกพ่อขุนรามคำแหง ซึ่งพรรณนาอัตชีวประวัติของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระอนุชาของพ่อขุนบานเมือง กล่าวว่า
"พ่อกูชื่อศรีอินทราทิตย์ แม่กูชื่อนางเสือง พี่กูชื่อบานเมือง ตูพี่น้องท้องเดียวห้าคน ผู้ชายสาม ผู้หญิงโสง พี่เผือผู้อ้ายตายจากเผือเตียมแต่ยังเล็ก...เมื่อชั่วพ่อกู กูบำเรอแก่พ่อกู กูบำเรอแก่แม่กู กูได้ตัวเนื้อตัวปลา กูเอามาแก่พ่อกู กูได้หมากส้มหมากหวานอันใดกินอร่อยดี กูเอามาแก่พ่อกู กูไปตีหนังวังช้างได้ กูเอามาแก่พ่อกู กูไปท่อบ้านท่อเมือง ได้ช้างได้งวง ได้ปั่วได้นาง ได้เงือนได้ทอง กูเอามาเวนแก่พ่อกู พ่อกูตาย ยังพี่กู กูพร่ำบำเรอแก่พี่กูดั่งบำเรอแก่พ่อกู พี่กูตาย จึงได้เมืองแก่กูทังกลม"[7]
พ่อขุนบานเมืองยังทรงได้รับการเอ่ยถึงในจารึกปู่ขุนจิตขุนจอดที่พรรณนาลำดับกษัตริย์ราชวงศ์พระร่วง[6]
ตามที่ระบุในจารึกทั้งสองหลัก เมื่อสิ้นพ่อขุนบานเมืองแล้ว พ่อขุนรามคำแหง พระอนุชาของพระองค์ ทรงสืบราชบัลลังก์ต่อเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรสุโขทัย[1]
เอกสาร ชินกาลมาลีปกรณ์ ระบุว่า พระองค์มีพระโอรสพระองค์หนึ่งพระนามว่า พระยางั่วนำถุม ซึ่งภายหลังได้ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรสุโขทัยเช่นกัน[3]
ด้วยประเพณีการตั้งชื่อบุตรหลานตามนามบรรพบุรุษ พระนามของพระองค์จึงได้รับการตั้งเป็นชื่อเหลนของพระองค์ คือ พระยาบานเมืองผู้ซึ่งภายหลังขึ้นครองราชย์เป็นพระมหาธรรมราชาที่ 4 พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรสุโขทัย[11]
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา (2554, p. 24)
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา (2554, p. 19)
- ↑ 3.0 3.1 มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา (2554, p. 31)
- ↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา (2554, p. 22)
- ↑ 5.0 5.1 วินัย พงศ์ศรีเพียร (2552, p. 9)
- ↑ 6.0 6.1 6.2 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรฯ (2565)
- ↑ 7.0 7.1 ราชบัณฑิตยสถาน (2556, pp. 17–18)
- ↑ 8.0 8.1 8.2 สุจิตต์ วงษ์เทศ (2526, p. 174)
- ↑ มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา (2554, pp. 19–24)
- ↑ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (2539, p. 266)
- ↑ ประเสริฐ ณ นคร (2543, pp. 26–27)
บรรณานุกรม
แก้- ประเสริฐ ณ นคร (2543). ประวัติศาสตร์เบ็ดเตล็ด. กรุงเทพฯ: มติชน. ISBN 9743236007.
- มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, โครงการศูนย์สุโขทัยศึกษา (2539). สารานุกรมสุโขทัยศึกษา (เล่ม 2 ฝ–ฮ). กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. ISBN 9789746149372.
- มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา (2554). นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา. ISBN 9786167308258.
- ราชบัณฑิตยสถาน (2556). ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช หลักที่ 1 ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (3 ed.). กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน. ISBN 9786167073620.
- วินัย พงศ์ศรีเพียร (2552). 100 เอกสารสำคัญ: สรรพสาระประวัติศาสตร์ไทย ลำดับที่ 1. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย. ISBN 9786167070032.
- ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) (2565-05-19). "จารึกปู่ขุนจิดขุนจอด". ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). สืบค้นเมื่อ 2022-08-06.
- สุจิตต์ วงษ์เทศ (2526). สุโขทัยไม่ใช่ราชธานีแห่งแรกของไทย. กรุงเทพฯ: มติชน. ISBN 9748350363.
ก่อนหน้า | พ่อขุนบานเมือง | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ราชวงศ์พระร่วง |
พระมหากษัตริย์แห่ง อาณาจักรสุโขทัย (? – ราว พ.ศ. 1822) |
พ่อขุนรามคำแหง ราชวงศ์พระร่วง |