การประกอบพิธีฮัจญ์ หรือ การทำฮัจญ์ ภาษามลายูปัตตานีเรียก บูวะฮายี[1] คือการเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจที่มักกะฮ์[2] ในเดือนซุลฮิจญะฮ์ ตามวันเวลา และสถานที่ต่าง ๆ ที่ทางศาสนาอิสลามกำหนดไว้ ซึ่งศาสนกิจข้อนี้เป็นหน้าที่สำหรับมุสลิมทั้งชายและหญิง ทุกคนที่มีความสามารถในด้านร่างกาย ทรัพย์สิน และการเดินทาง ที่จะต้องปฏิบัติ[3][4][5]

ฮัจญ์
ผู้แสวงบุญที่มัสยิดอัลฮะรอมในช่วงพิธีฮัจญ์ ค.ศ. 2010
สถานะดำเนินการต่อ
ความถี่ทุกปี
ที่ตั้งมักกะฮ์
พิกัดภูมิศาสตร์21°25′22.3″N 39°49′32.6″E / 21.422861°N 39.825722°E / 21.422861; 39.825722
ประเทศประเทศซาอุดีอาระเบีย
ผู้เข้าชม2,489,406 (2019)

ในช่วงฮัจญ์ ชาวมุสลิมทั่วโลกจะเดินทางเข้าสู่อาระเบีย โดยก่อนอื่นจะมีการทำ อิหฺรอม นั่นคือการตั้งใจว่าจะทำพิธีฮัจญ์ ก่อนการเข้าไปในแผ่นดินฮะรอม (แผ่นดินต้องห้าม) โดยจะปฏิบัติตามกฎของหัจญ์ อาทิเช่น การไม่สมสู่ การไม่ล่าสัตว์ในแผ่นดินหะรอม การไม่ตัดเล็บหรือผม การไม่เสริมสวยหรือใช้น้ำหอม ผู้ชายจะเปลี่ยนเครื่องแต่งกาย มาสวมผ้าเพียงสองผืน แล้วต่างก็จะมาชุมนุมกันที่ ทุ่งอะร็อฟะหฺ ในตอนเช้าตรู่ของวันที่เก้าของเดือนซุลฮิจญะฮ์

แล้วพอตกค่ำ ซึ่งตามปฏิทินฮิจญ์เราะหฺจะเป็นคืนที่สิบ เหล่านักแสวงบุญจะเดินทางผ่าน ทุ่งมุซดะลิฟะฮ์ พักชั่วครู่หนึ่งก่อนที่จะมุ่งหน้าสู่ ทุ่งมินา ก่อนเที่ยงของวันต่อไป

ส่วนชาวมุสลิมทั่วโลกที่ไม่ได้ไปประกอบพิธีฮัจญ์ก็จะเฉลิมฉลองทำบุญเลี้ยงอาหารที่บ้าน เรียกวันนี้ว่าวันอีดิลอัฎฮา ทีเรียกว่าอัฎฮาเพราะมีการเชือดสัตว์พลีให้ผู้คนรับประทานในยามดุฮา คือยามสายหลังตะวันขึ้น แต่ก่อนเที่ยง หรือชาวไทยเชื้อสายมลายูในห้าจังหวัดภาคใต้เรียกว่าวันรายอ (รายาฮาญี) ซึ่งแปลเป็นไทยตามตรงก็คือ วันใหญ่ นั่นเอง

นักแสวงบุญจะพักอยู่ที่ ทุ่งมีนา เป็นเวลาสามวัน เพื่อขอพรและบำเพ็ญตนตามพิธีฮัจญ์ หลังจากนั้นจึงเดินทางเข้ากรุงมักกะหฺ เพื่อฏอวาฟเวียนรอบ กะอฺบะฮฺ หรือที่เรียกว่า บัยตุลลอฮ์ อันเป็นเสมือนเสาหลักของชุมทิศ ซึ่งตั้งอยู่ใน มัสยิดอัลฮะรอม (มัสยิดต้องห้าม) หลังจากนั้นผู้แสวงบุญก็จะเดินจากเนินเขาศอฟา สู่เนินเขามัรวะหฺ ซึ่งมีระยะทาง 450 เมตร ไปมาจนครบเจ็ดเที่ยว ระหว่างที่เดินก็จะกล่าวคำขอพรและคำวิงวอนต่อพระผู้เป็นเจ้า เมื่อเสร็จพิธีนี้แล้วก็จะขริบผมหรือโกนหัว และผู้แสวงบุญก็จะหลุดพ้นจากภาวะ อิฮฺรอม

การทำฮัจญ์เป็นพิธีกรรม ทางศาสนาที่เก่าแก่ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยศาสดาอิบรอฮีม การทำฮัจญ์เริ่มต้นขึ้นเมื่ออัลลอฮได้บัญชาให้ศาสดาอิบรอฮีม และศาสดาอิสมาอีล ผู้เป็นลูกชายร่วมกันทำนุบำรุง บัยตุลลอฮฺ ขึ้นมาเพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับการเคารพบูชาอัลลอฮ เมื่อซ่อมแซมเสร็จแล้ว พระองค์ก็ทรงบัญชาให้ศาสดาอิบรอฮีม เรียกร้องให้มนุษย์ชาติมาร่วมกันแสดงความจงรักภักดีต่อพระองค์ เมื่อกาลเวลาผ่านไป ชนรุ่นหลังได้อุตริรูปแบบการทำฮัจญ์ จนมันได้เปลี่ยนแปลงไปจากรูปแบบเดิมที่อัลลอหฺได้ทรงกำหนดไว้ เช่น มีการนำ เทวรูปต่าง ๆ มาตั้งรอบ ๆ กะอฺบะหฺ เพื่อบูชาในระหว่างการทำหัจญ์และมีการเปลือยกายในยามทำพิธีฏอวาฟ พร้อมกับกู่ร้องและปรบมือ

จนกระทั่ง มาถึงสมัยของศาสดามุฮัมมัด สิ่งแรกที่ท่านปฏิบัติก็คือการทุบทำลายเทวรูปและเจว็ดรอบข้างกะอฺบะหฺจนหมดสิ้น และท่านก็ได้แสดงแบบอย่างของการทำฮัจย์ที่ถูกต้องให้บรรดาผู้ศรัทธาได้ปฏิบัติสืบทอดกันมาจนถึงวันนี้

กฎของพิธีฮัจญ์ [6] ชาวมุสลิมจะไม่สมสู่ ไม่ล่าสัตว์ในแผ่นดินหะรอม การไม่ตัดเล็บหรือผม ฯลฯ โดยจะปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

อ้างอิง

แก้
  1. แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง. ทักษะวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2552, หน้า 52
  2. Mohammad Taqi al-Modarresi (26 March 2016). The Laws of Islam (PDF) (ภาษาอังกฤษ). Enlight Press. p. 471. ISBN 978-0-9942409-8-9. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-08-02. สืบค้นเมื่อ 22 December 2017.
  3. Long, Matthew (2011). Islamic Beliefs, Practices, and Cultures. Marshall Cavendish Corporation. p. 86. ISBN 978-0-7614-7926-0. สืบค้นเมื่อ 2 September 2014.
  4. Nigosian, S. A. (2004). Islam: Its History, Teaching, and Practices. Bloomington, Indiana: Indiana University Press. p. 110. ISBN 0-253-21627-3.
  5. Berkley Center for Religion, Peace, and World Affairs - Islam เก็บถาวร 2 ตุลาคม 2011 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน See drop-down essay on "Islamic Practices"
  6. "พิธีฮัจญ์ กฎ ข้อห้าม พิธีฮัจญ์". Komchadluek. 24 June 2024.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้