พิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพล
พิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพล หรือภาษาปากว่า พิธีสาบานธง เป็นพิธีการทางทหารซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในวันกองทัพไทย และวันสำคัญของแต่ละเหล่าทัพ ผู้ที่เป็นทหารทุกคนจะต้องผ่านการเข้าร่วมพิธีดังกล่าว เพื่อแสดงถึงความเป็นทหารอย่างสมบูรณ์[1] พิธีนี้เรียกชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า "The Ceremony of Taking the Oath of Allegiance to the Colours"[ต้องการอ้างอิง]
ประวัติ
แก้-
ธงชัยเฉลิมพลของหน่วยทหารบก
-
ธงชัยเฉลิมพลของหน่วยทหารเรือ
-
ธงชัยเฉลิมพลของหน่วยทหารอากาศ
-
ธงชัยเฉลิมพลของหน่วยทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์
พิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพล สันนิษฐานว่ามีขึ้นครั้งแรกเท่าที่ปรากฏหลักฐานเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2470 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยจัดขึ้นที่พระลานพระราชวังดุสิต ในครั้งนั้นเป็นการประกอบพิธีของหน่วยทหารบก ทหารรักษาวัง และทหารเรือ ที่ประจำอยู่ในกรุงเทพ ฯ ซึ่งพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานพิธีสวนสนามครั้งนี้ [2]
การจัดหน่วยสวนสนามในครั้งนั้นประกอบด้วย
- กองบังคับการกองผสม
- กองแตรวงผสม (แตรวงกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ฯ แตรวงกรมทหารรักษาวัง และแตรวงทหารเรือ)
- นักเรียนนายร้อย นักเรียนนายเรือ นักเรียนนายดาบ นักเรียนนายดาบแพทย์ (จัดรวมเป็น 1 กองพัน)
- กองบังคับการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์
- กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ฯ (จัดเป็นกรม 3 กองพัน)
- กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (จัดเป็นกรม 3 กองพัน)
- กรมทหารรักษาวัง จัดเป็น 1 กองพัน (ปัจจุบันคือกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์)
- กรมทหารราบที่ 2 (จัดเป็น 1 กองพัน)
- กรมทหารราบที่ 3 (จัดเป็น 1 กองพัน)
- กรมทหารม้าทุกกรมในกองทัพน้อยที่ 1 (จัดเป็นกรม 2 กองพัน)
- กรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ (จัดเป็นกรม 2 กองพัน)
- กรมทหารช่างที่ 1 รักษาพระองค์ พลเสนารักษ์แผนกโรงเรียนแพทย์ทหารบก และพลเสนารักษ์ทหารรักษาวัง (จัดรวมกันเป็นกรม 2 กองพัน)
- กองสัมภาระที่ 1 กองสัมภาระที่ 2 กองเสนารักษ์ที่ 1 กองเสนารักษ์ที่ 2 และหมวดหมู่สัมภาระ หมวดหมู่เสนารักษ์ และหมวดหมู่สัตวรักษ์ของกองทหารในกรุงเทพ (จัดรวมกันเป็น 1 กองพัน)
- ทหารเรือ (จัดเป็นกรม 3 กองพัน)
ต่อมาในปี พ.ศ. 2493 กระทรวงกลาโหมได้สั่งการให้แต่ละเหล่าทัพแยกกันทำพิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพล สำหรับกองทัพบกได้จัดให้มีขึ้นในวันที่ 8 พฤศจิกายน ของทุกปี
พ.ศ. 2500 ได้มีการประกอบพิธี กระทำสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพลของทหารทั้งสามเหล่าทัพ ในเขตพระนครและธนบุรีร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง และต่อมาก็ได้กำหนดให้หน่วยทหารในแต่ละพื้นที่จัดทำพิธี ฯ ภายในหน่วย เพื่อลดปัญหาการจราจร
พิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนฯ เดิมกระทำในวันที่ 25 มกราคม ของทุกปี เนื่องจากวันดังกล่าวเป็นวันกองทัพไทย และในวันดังกล่าวทหารใหม่ได้ฝึกเสร็จสิ้นแล้วตามหลักสูตร และพร้อมที่จะทำการรบได้ นอกจากนี้ยังเป็นวันระลึกถึงวีรกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงกระทำยุทธหัตถีได้รับชัยชนะต่อข้าศึกด้วย[3] ต่อมาเมื่อนักประวัติศาสตร์ได้ตรวจสอบวันกระทำยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชใหม่จึงพบว่า วันกระทำยุทธหัตถีที่ถูกต้องนั้น ตรงกับวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2135 กองบัญชาการทหารสูงสุดจึงมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงวันกองทัพไทยมาเป็นวันที่ 18 มกราคม ของทุกปีแทน โดยเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2550 เป็นต้นไป[4][5]
สถานที่ทำพิธีฯ ของแต่ละเหล่าทัพ (พ.ศ. 2567)
แก้- กองบัญชาการกองทัพไทย กระทำพิธี ณ กองพันทหารสื่อสาร แขวงสีกัน เขตดอนเมือง
- กองทัพบก กระทำพิธี ณ ลานสวนสนาม ศูนย์การทหารม้า ค่ายอดิศร ตำบลปากเพรียว อำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี
- กองทัพเรือ กระทำพิธีที่ลานอเนกประสงค์ หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
- กองทัพอากาศ กระทำพิธี ณ ลานอเนกประสงค์ อุทยานการบินกองทัพอากาศ เขตดอนเมือง
กรุงเทพมหานคร สำหรับหน่วยทหารอื่นที่มีที่ตั้งนอกเขตจังหวัดทหารบกกรุงเทพฯ ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดใกล้เคียงกัน กระทำพิธีรวมกันหรือจะกระทำพิธี ณ ที่ตั้งหน่วยทหาร หรือพื้นที่ที่เหมาะสม
คำปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพล
แก้- ข้าพเจ้า (เอ่ยยศ นาม และนามสกุล) ขอกระทำสัตย์ปฏิญาณว่า
- ข้าพเจ้า จักยอมตาย เพื่ออิสรภาพ และความสงบแห่งประเทศชาติ และประชาชน
- ข้าพเจ้า จักอยู่ในศีลธรรมของศาสนา และจรรยาบรรณ
- ข้าพเจ้า จะเทิดทูนและรักษาไว้ ซึ่งพระบรมเดชานุภาพแห่งพระมหากษัตริย์เจ้า
- ข้าพเจ้า จักรักษาไว้ ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
- ข้าพเจ้า จักเชื่อถือผู้บังคับบัญชา และปฏิบัติตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด ทั้งจักปกครองแก่ผู้ใต้บังคับบัญชาด้วยความยุติธรรม
- ข้าพเจ้า จะไม่แพร่งพรายความลับของราชการทหารเป็นอันขาด[3]
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ "ทหารเปลี่ยนใหม่ "วันกองทัพไทย" ยึด 18 มกราคม โดย พันเอก (พิเศษ) สุรัตน์ บรรเทาทุรามัย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-27. สืบค้นเมื่อ 2007-05-09.
- ↑ ข่าวพิธีกระทำสัตย์สาบานต่อธงชัยเฉลิมพล ของทหารที่กรุงเทพ ฯ ซึ่งได้กระทำหน้าพระที่นั่ง พ.ศ. 2470 ตีพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 44 ตอน ง วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2470 หน้า 2129
- ↑ 3.0 3.1 "ธงชัยเฉลิมพล จากหอมรดกไทย กระทรวงกลาโหม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-07-07. สืบค้นเมื่อ 2007-05-09.
- ↑ "หัวโขน หัวคน / วันกองทัพไทย - สยามรัฐออนไลน์ ฉบับวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2550". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-07. สืบค้นเมื่อ 2007-05-09.
- ↑ "ทหารเปลี่ยนใหม่ "วันกองทัพไทย" ยึด 18 มกราคม โดย พันเอก (พิเศษ) สุรัตน์ บรรเทาทุรามัย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-27. สืบค้นเมื่อ 2007-05-09.